7 มี.ค. 2021 เวลา 13:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Bond Yield ขาขึ้น QE ขาลง ??
การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจหลัก 2 ตัว คือ อัตราเงินเฟ้อ (Core PCE ที่ได้จากการสำรวจยอดค้าปลีกภาคธุรกิจ) และอัตราการว่างงาน
โดยเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2% ขึ้นไป ส่วนอัตราการว่างงานนั้น Fed ต้องการให้อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด
1
เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังไม่ถึงเป้าของ Fed
ถึงแม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังไม่ถึงเป้าหมายที่ Fed ตั้งใจไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่ผู้คนคาดว่าจะเกิดขึ้น)
1
กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากฝั่งของต้นทุน (cost push) จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นกลับมาที่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดโควิด ทำให้ตลาดมองข้ามช็อตไปล่วงหน้าว่าเงินเฟ้อกำลังจะมาและเศรษฐกิจจะฟื้นเร็วกว่าที่คิด
โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นพร้อมกับความคาดหวังเงินเฟ้อ
สินทรัพย์ที่นักลงทุนไม่อยากถือลงทุนมากที่สุดหากภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริง คงหนีไม่พ้นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำแพ้อัตราเงินเฟ้อ พันธบัตรจึงเป็นเป้าหมายแรกของการโดนขายทิ้งอย่างไม่ใยดี เมื่อขายมากกว่าซื้อ ราคาพันธบัตรลดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาแทนก็คือผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield ที่ตลาดกำลังกังวลอยู่ในตอนนี้
Bond yield ในโลกของการลงทุนที่เค้านิยมดูกัน ก็คือ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่เค้าให้เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ปลอดภัย เพราะประเทศสหรัฐฯมีความน่าเชื่อถือสูง พูดง่ายๆก็คือถ้าเราถือพันธบัตรของสหรัฐฯอายุยาว 10 ปี โอกาสที่เราจะขาดทุนมีน้อยมาก
ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาดอกเบี้ยพันธบัตรมันต่ำ คนก็ทนดอกเบี้ยต่ำๆไม่ไหว ก็ย้ายไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นแทน เพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เลยทำให้หุ้นมีความน่าสนใจน้อยลง ก็เลยเกิดแรงขายทำกำไรหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปมาก
1
หลังซับไพรม์ Bond Yield ปรับขึ้นกดดันตลาดหุ้น
หากย้อนดูอดีตที่ผ่านมาอย่างช่วงวิกฤตซับไพรม์ หรือ แฮมเบอร์เกอร์ไคสิส ปี 2009 ตอนที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด จะตามมาด้วยดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นมาพร้อมกัน โดยเวลาที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นมาใกล้ระดับเดิมเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต ตลาดหุ้นมักจะปรับฐานแทบทุกครั้ง (ระดับก่อนวิกฤตซับไพรม์ 3.85%)
1
ในตอนนี้ก็ให้ภาพเดียวกันกับช่วงซับไพรม์ คือ ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค. ตามมาด้วยดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นชนระดับก่อนวิกฤตโควิดที่ระดับ 1.53% จนทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานอย่างที่เราเห็น
ปัจจุบันหลังวิกฤตโควิด Bond Yield ปรับขึ้นกดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยพันธบัตรที่มันปรับตัวขึ้น จะทำให้ตลาดหุ้นในภาพรวมปรับตัวลง แต่มันก็มีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นในตอนนี้ อย่างหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical Stock) ที่ราคาซื้อขายขึ้นลงตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ โดยเมื่อใดที่ภาวะเศรษฐกิจดีผลประกอบการของบริษัทก็จะดีตามไปด้วย
เช่น หุ้นกลุ่มธุรกิจการเงิน อย่างธนาคาร หุ้นกลุ่มพลังงาน ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือพวกกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ราคาปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ เช่นพวก น้ำมันดิบ ยางพารา ที่ตอนนี้ถ้าบ้านใครทำสวนยาง น่าจะรู้ดีเลยว่าราคากำลังขึ้น
หุ้นกลุ่มวัฏจักร และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น
ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดเล็กที่ราคาปรับตัวขึ้นมามากเนี่ย ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนขายทำกำไร เนื่องจากราคาแพงเกินเมื่อเทียบกับผลประกอบการที่บริษัททำได้ รวมถึงแรงกดดันของต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เพราะหุ้นเทคส่วนใหญ่ที่อยู่ในเฟสการลงทุนตอนแรกยังขาดทุนอยู่และจะใช้เงินกู้มาลงทุนเยอะ พอดอกเบี้ยมันกลับมาเป็นขาขึ้นก็จะกระทบต่อกำไรบริษัทโดยตรง เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ราคาแพงเกินพื้นฐานปรับตัวลง
เมื่อดูจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า Fed จะเริ่มลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 โดยจะใช้เวลาทยอยลดปริมาณ QE ประมาณ 7-12 เดือน ก่อนที่จะหยุดทำ QE ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ตลาดตื่นตระหนก รวมถึงการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปและไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2023
2
ทำให้ผมมองว่าโอกาสที่ Fed จะเริ่มลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ในช่วงครึ่งปีแรกยังมีน้อยอยู่เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงประเภทหุ้นยังมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ในตอนนี้
คาด Fed จะเริ่มลดปริมาณ QE ไตรมาส 1 ปี 2022
แต่ในครึ่งปีหลังเราไม่ควรประมาทหากเงินเฟ้อกับ Bond Yield ยังขึ้นเร็ว ก็มีโอกาสเหมือนกันที่ Fed จะเริ่มลดปริมาณ QE ในครึ่งปีหลังของปีนี้เลยก็เป็นได้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงไตรมาส 1 ปี 2022
1
เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนต้องระวังให้มากในครึ่งปีหลังก็คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่เคยขึ้นดีในปีที่เกิดวิกฤตโควิด 2020 และหันมาเริ่มต้นใหม่กับสินทรัพย์ที่เคยแย่ในปีที่ผ่านมาแทน
โฆษณา