28 ก.พ. 2021 เวลา 05:00 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี
ปางเสด็จประเวศด้าว ชลาลัย
ทรงรัตนพิมานไชย กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว เพริศพริ้งพายทอง ๚
พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน
ทุกครั้งที่มีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค .. เสียงเห่กล่อมกระบวนเรือที่ดังไปทั่วผืนลำน้ำเจ้าพระยา ได้นำคลื่นมหาชนออกมาเรียงรายอยู่ตลอดทั้งสองฝั่งน้ำกันอย่างเนืองแน่น เพื่อชมความยิ่งใหญ่อลังการของเรือลำต่างๆ ที่สรรสร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจงตามเอกลักษณ์ของไทย แปรเปลี่ยนเป็นความวิจิตรอลังการกลางลำน้ำที่จะหาชมไม่ได้จากที่ใดอีกแล้วในโลกใบนี้
ทันทีที่ฝีพายจ้วงน้ำครั้งแรก ภาพอันงดงามและน่าประทับใจก็ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ... แม้กระทั่งชาวต่างชาติที่ไม่รู้อะไรเลยก็ยังเฝ้าติดตามชมด้วยใจจดจ่อ บ้างก็ลงทุนบินลัดฟ้าเพื่อมาชมวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองสยามนี้โดยเฉพาะ
เรือพระราชพิธี ... แต่ละลำเรือโดดเด่น และจะยังคงอวดโฉมอยู่ แม้ในวันที่ไม่มีพระราชพิธีกลางลำน้ำ ณ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ริมเส้นเลือดใหญ่ของประเทศบริเวณปากคลองบางกอกน้อย
...ในวันสบายๆเมื่อไม่นานมานี้ เราจึงรวมตัวกันไปชื่นชมเอกลักษณ์ของงานศิลป์ชั้นสูงของไทยอย่างใกล้ชิด ..
พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี
“พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี” ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากคลองบางกอกน้อยที่เชื่อมออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยเดิมเป็นอู่หรือโรงเก็บเรือพระราชพิธีโดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณบางกอกน้อยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ตกเป็นเป้าโจมตี ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าได้ถูกทิ้งลงมายังบริเวณนี้ และบางส่วนก็ได้สร้างความเสียหายให้กับโรงเก็บเรือพระราชพิธีรวมไปถึงเรือบางลำด้วย (พ.ศ. 2487) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซมตัวเรือที่ได้รับความ เสียหายจากระเบิด
เรือพระราชพิธีเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและประเมินค่ามิได้ ปัจจุบันนี้ชิ้นส่วนเรือบางส่วนที่ได้รับความเสียหายยังคงเก็บเอาไว้ให้ชมที่บริเวณเดียวกันเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงผลร้ายของสงคราม
เรือพระราชพิธีเป็นเรือที่มีความสำคัญและมีประวัติการจัดสร้างมายาวนานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความวิจิตรงดงามในฝีมือเชิงช่างอันล้ำเลิศ ทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม และยังคงถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญในโอกาสต่างๆ มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
จากความสำคัญของโรงเก็บเรือพระราชพิธีดังกล่าว นี้เอง กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่างๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมทั้งยกฐานะของอู่เก็บเรือขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ในปี พ.ศ. 2517 เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมอันล้ำค่าสู่ชนรุ่นหลังสืบต่อไป
อาคารขนาดใหญ่โตหลังนี้ มองจากภายนอกแล้ว แทบไม่รู้เลยว่ามีสิ่งล้ำค่าอยู่ภายในหากมาจากทาง ถนนก็จะเป็นซอยของชุมชนเล็กๆ ที่อยู่หลังค่ายทหาร เรือ แต่การเดินทางอย่างเป็นทางการและนิยมมากเพื่อ มาถึงที่นี่ก็คือทางเรือ วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาปาก คลองบางกอกน้อยเข้ามาไม่ไกล
เมื่อได้เข้ามาเห็นใกล้ๆในระยะประชิด ความรู้สึกเป็นบุญตาก็บังเกิดขึ้นแทบจะในทันที ยามที่ลอยอยู่กลางลำน้ำก็แลดูเด่นเป็นสง่ายามจอดสงบนิ่งก็ดูยิ่งใหญ่อลังการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีโขน (หัวเรือ) สูงเด่นจนต้องแหงนคอตั้งบ่าเพียงแค่ทำให้เรือลอยอยู่กลางลำน้ำได้ก็ต้องใช้ฝีมือชั้นครู
แต่เรือขนาดใหญ่และสูงแบบนี้นึกภาพตอนสร้างไม่ออกเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ความรู้สึกว่าเป็นบุญตาเท่านั้น อีกความรู้สึกที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือเลือดรักและภาคภูมิใจในชาติไทยที่เรามี
วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ให้ใครต่อใครต้องทึ่งก็ฉีดซ่านไปทั่วร่างกายฝีมือเชิงช่างทางศิลปะที่สลักเสลาไปตามลำเรือ พระราชพิธีเหล่านี้ไม่ว่ากล้องชั้นเทพคนชั้นเซียนแค่ไหนก็ไม่สู้การมาเห็นของจริงด้วยตาตนเอง น่ายินดีเป็นยิ่งนัก ที่เรามีบรรพบุรุษที่เก่งกาจสามารถถึงเพียงนี้
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
สุพรรณหงส์ หรือ สุวรรณหงส์ เป็นชื่อของเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในกระบวนเรือพระราชพิธี หรือกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นกระบวนเรือ ในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
“เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” มีชื่อปรากฏครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.2091 ครั้งนั้นมีชื่อว่า “เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์” จากพงศาวดารกล่าวว่า เป็นเรือพระที่นั่งที่ขุนพิเรนทรเทพได้จัดส่งไปเพื่ออัญเชิญพระเฑียรราชา ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ทูลอาราธนาให้ทรงลาผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ … ต่อมาปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งนี้อีกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ชื่อเรือเปลี่ยนเป็น “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”
บทเห่เรือ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทำให้ชื่อ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในกระบวนพยุหยาตรา ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท และเรียกชื่อว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ดังความว่า
สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
อย่างไรก็ดี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในสมัยรัตนโกสินทร์ บางครั้งเปลี่ยนจากเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระที่นั่งไชย โดยจัดเป็นเรือพระที่นั่งลำทรง หรือเรือพระที่นั่งรอง สลับเปลี่ยนกับเรือเหราข้ามสมุทร … คือ ถ้าใช้เรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ก็จะใช้เรือเหราข้ามสมุทรเป็นเรือพระที่นั่งรอง ซึ่งการใช้พายในเรือพระที่นั่งรองจะใช้พายทองล่องชาด ส่วนเรือพระที่นั่งลำทรงใช้พายทองในพิธีลอยพระประทีป
ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ใช้เรือรูปสัตว์แต่งเป็นกระทงหลวง ในรัขกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ใช้เรืออนันตนาคราชประดิษฐานพระพุทะสิหิงค์ ส่วนเรือใหญ่ตั้งพานพุ่ม ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แต่งแทนกระทงหลวงตั้งพานพุ่ม
ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏชื่อเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค 67 ลำ และชื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ปรากฏอยู่ด้วยลำหนึ่ง กล่าวว่าเป็นเรือพระที่นั่งที่มีรูปโขนเรือรูปหงส์ตกแต่งด้วยสีทอง บนพื้นเรือสีดำ เรือลำนี้มีขนาดเรือยาว 18 วา กว้าง 5 ศอก 2 คืบ 6 นิ้ว ลึก 1 ศอก 7 นิ้ว กำลัง 7 ศอก
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เป็นเรือสำคัญลำหนึ่งมาตลอดจนเสื่อมสภาพลง และปลดระวางเมื่อ พ.ศ. 2455 กล่าวได้ว่า เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำที่กล่าวนี้ได้เป็นต้นแบบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นสถาปนิกต่อเรือนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามเรือว่า “สุพรรณหงส์”
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 น้ำหนัก 15.6 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 44.70 เมตร ลึก .90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายในท่านกบิน และถือเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าจะเปลี่ยนท่าพาย เป็นพายธรรมดา หรือพายกระเดียด จะต้องรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตสียก่อนจึงจะเปลี่ยนท่าพายได้
1
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพระยานาค 7 เศียร จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งลำเรือ ภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร กำลัง 3.02 เมตร ฝีพาย 54 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี หัวเรือจำหลักเป็นรูปพระยานาคเล็กๆจำนวนมาก
ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 45.50 เมตร กว้าง 3.15 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร กำลัง 3.50 เมตร ใช้ฝีพาย 61 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน
เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี
เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษ์ เรือ 2 ลำนี้เป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 มีรูปหัวเรือเป็นรูปนกหน้ายักษ์
เรืออสุรวายุภักษ์ จะเป็นตัวที่ใส่เสื้อลายสีม่วง มือและเท้าเป็นสีคราม ส่วนอสุรปักษี จะใส่เสื้อข้างหน้าสีม่วง ข้างหลังสีเขียว มือและเท้าเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ 30 gมตร กว้าง 2 เมตร ใช้ฝีพาย 40 คน
เรือครุฑเหินเห็จ
เรือครุฑเหินเห็จ ลำเดิมสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเรือรูปสัตว์พื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว กำลัง ๕ ศอก ๑ คืบ ๑๑ นิ้ว แต่ได้ถูกระเบิดเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ และสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๕ น้ำหนัก ๗ ตัน กว้าง ๑.๕๙ เมตร ยาว ๒๗.๕๐ เมตร ลึก ๐.๕๙ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๒ เมตร ฝี พาย ๓๘ คน นายท้าย ๒ คน
เรือครุฑเหินเห็จ ลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ โดยใช้หัวเรือเดิมนำมาซ่อมแซม ท้ายเรือทำใหม่เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๑ แล้วช่างแกะสลักลวดลายทำงานประมาณ ๑๘ เดือน ช่างรักทำงาน ๖ เดือน ช่างเขียนลวดลายรดน้ำทำ งานประมาณ ๖ เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ ๔ เดือน
ทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่ตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๔ จนถึง ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๔ โดยมีบริษัท สำนักงานเกษรดอกประดู่ เป็นผู้ทำ
ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทองทาสีใหม่ ๆและอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕
เรือเอกไชยเหินหาว และเอกไชยหลาวทอง
เรือเอกไชยเหินหาว และเอกไชยหลาวทอง เรือ 2 ลำนี้เป็นเรือคู่ชัก ใช้นำหน้าเรือชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ เป็นเรือกระบวน ลงรักปิดทอง วาดลายเป็นรูปเหราหรือจระเข้ สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เรือทั้ง 2 ลำ มีความยาวประมาณ 27.50 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ใช้ฝีพาย 36 คน
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
ลำเดิมเป็นเรือพื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก กำลัง ๕ ศอก ๔ นิ้ว ลำเดิมถูกระเบิดเสียหาย กรมศิลปากรเก็บหัวเรือท้ายเรือไว้ ในพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑
ส่วนลำปัจจุบันสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ โดยใช้หัวเรือเดิมนำมาซ่อมแซม ช่างแกะสลักลวดลายทำงานประมาณ ๑๒ เดือน ช่างรักทำงานประมาณ ๔ เดือน ช่างเขียนทำงานประมาณ ๖ เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ ๔ เดือน
น้ำหนัก ๕.๖๒ ตัน ยาว ๒๖.๘๐ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ลึก ๐.๕๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๒๕ เมตร ฝีพาย ๓๖ นาย นายท้าย ๒ นาย หัวเรือมีช่องสำ หรับติดตั้งปืนใหญ่ ๑ กระบอก ขนาด ๖๕ มม. เหนือช่องปืนและเป็นรูปขุนกระบี่สีขาว
พ.ศ. ๒๕๑๒ จัดทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่ตั้งแต่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๓ โดยบริษัท สำนักงานเกษรดอก ประดู่ เป็นผู้ทำ
พ.ศ.๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุหรือชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่และอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทเรือรูปสัตว์ กล่าวคือ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพนิยาย เรือรูปสัตว์ปรากฏขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือไชยและเรือรุ)สัตว์ต่างๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ เรือรูปสัตว์มาจากตราประจำตำแหน่งของเสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ นอกจากนี้ เรือพระที่นั่งก็มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร เช่น เรือครุฑ อย่างพระราชลัญจกร “พระครุฑพ่าห์” หัวเรือแต่เดิมทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หมายถึง เรือพระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ในฐานะสมมุติเทพนั่นเอง
ความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น มีชื่อเดิมว่า “มงคลสุบรรณ” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า “ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน”
ลักษณะของลำเรือ มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกทาสีแดง กำลังฝีพาย 65 คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุดนาคเท่านั้น มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ
จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ถูกต้องตามคติในเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี 4 พระกร ทรงเทพศาสตราในกรทั้ง 4 คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์และเมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้ว โปรดเกล้าฯให้ขนานเรือลำนี้เสียใหม่ว่า “นารายณ์ทรงสุบรรณ”
ในบันทึกการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ หรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำนี้เข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องในพระราขชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ซึ่งในขณะนั้น เรือลำนี้ยังไม่มีกาเสริมรูปพระนารายณ์ ทั้งยังคงมีชื่อ มงคลสุบรรณ
อีกครั้งหนึ่ง ในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราขชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2429 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เครื่องแต่งกายของฝีพายและเจ้าพนักงานประจำเรือนั้น มีปรากฏข้อความในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ตอนที่ว่าด้วยการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ใน พ.ศ. 2394 ว่า “เรือมงคลสุบรรณ เรือศณีสุพรรณหงส์ นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือ ท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงินลำละ 5 คน เจ้าพนักงานเป็นนายกำกับลำนุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพายลำละ 65 คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิง ใช้พายทอง”
สันนิษฐานว่า ตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงไม่พบหลักฐานการนำออกมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลต่อๆมา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งตามประวัติทราบว่ากระทรวงทหารเรือเก็บรักษาไว้จนถึงปี พ.ศ. 2496 จึงมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน … ต่อมาในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกจึงมีการสร้างเรือลำนี้ขึ้นใหม่ เพื่อน้อมเกล้าฯถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามเรือว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9”
นอกจากตัวเรือพระราชพิธีแล้ว บริเวณโดยรอบ ยังจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธี เรือจำลองขนาดเล็กแบบต่างๆ ส่วนประกอบของลำเรือ รวมไปถึงประเพณีและเครื่องแต่งกายของฝีพายอีกด้วย
สถานที่แห่งนี้คืออีกหนึ่งเครื่องมือ หยุดเวลา ซึ่งได้หยุดผลงานทรงคุณค่าเอาไว้ให้ผู้ถือกำเนิดมาทีหลังได้ชม รอยแกะสลักทุกรอย ฝีแปรงทุกเส้น กระจกประดับทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราว และความหมายที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากเรือพระที่นั่งและเรือต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว ยังมีเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ จัดแสดงอยู่ด้วย เช่น บัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา พายชนิดต่าง ๆ และเครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย
ค่าบำรุงในการเข้าชมในอัตราชาวไทยคนละ 20 บาท การนำกล้องเข้าไปถ่ายภาพมีค่าธรรมเนียมกล้องละ 100 บาท ... จัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับความทรงจำที่เราได้บันทึกผลงานแห่งแผ่นดินในระดับนี้
..อยากจะเชิญชวนให้ทุกท่าน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกคุณค่าแห่งสายน้ำของสยามกันค่ะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา