Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
28 ก.พ. 2021 เวลา 13:08 • ประวัติศาสตร์
“อดีตว่าที่” พระบรมราชินี
ในรัชกาลที่ 5 พระองค์แรก
หากกล่าวถึงพระภรรยาเจ้า เจ้าจอม หม่อมห้าม ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีในบันทึกทั้งหมด 153 คน ความสำคัญของหลายๆคนถูกกลบเลือนหายไปกับพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง 4 พระองค์
“พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง” หมายถึง ภรรยาของรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องเป็นลูกของรัชกาลที่ 4 เพราะฉะนั้นผู้ที่มาก่อนจะเสกสมรส จึงเป็นได้เพียง “เจ้าจอม”
โดยพระภรรยาเจ้า 4 พระองค์ได้แก่
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี)
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) ,สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา)
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่งพระราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี)
แต่ในบรรดาเจ้าจอมทั้งหมด มีผู้ที่มีศักดิ์เป็น ว่าที่ “พระบรมราชินีนาถ” มาก่อนพระภรรยาเจ้าทุกพระองค์ คนนั้นคือ “เจ้าจอมมารดาแสง”
ความสัมพันธ์ระหว่าง รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กับ เจ้าจอมมารดาแสง ประการแรกคืออายุไล่เลี่ยกัน
รัชกาลที่ 5 ประสูติเมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ส่วนเจ้าจอมมารดาแสงเกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397
เจ้าจอมมารดาแสง เป็นธิดาพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร) ผู้รักษากรุงเก่า (พระยาไชยวิชิตเป็นบุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร ซึ่งมีนามเดิมว่า "เจ้าสัวโต" ผู้สร้างวัดกัลยาณมิตร หาใช่เป็นคนไร้หัวนอนปลายเท้า
พระยาไชยวิชิต รับราชการช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ทำหน้าที่รักษากรุงเก่า ในฐานะเมืองหน้าด่าน มีราชทินนามเป็น "ไชยวิชิตสิทธิสงคราม" ซึ่งบริเวณที่ตั้งวัดขณะนี้ อาจเป็นจวนของพระยาไชยวิชิตสิทธิสงคราม ผู้รักษาการกรุงเก่า ที่ต่อมาขยับขยายไปปลูกจวนในบริเวณที่ไกลออกไป และยกที่บริเวณนี้ สร้างวัดขึ้นใหม่ หรือไม่ก็บุตรหลานพระยาไชยวิชิต สร้างวัดถวายเป็นอนุสรณ์ จึงมีชื่อนามปรากฎว่า " วัดใหม่ไชยวิชิต"
คาดคะเนว่าวัดที่พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ สร้างปลายรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2384 - 2394 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สันนิษฐานว่าเป็นช่วงเวลาอนิจกรรมของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาการกรุงเก่าคนสุดท้ายของสร้อยราชทินนาม ในชั้นยศพระยา ก่อนจะเปลี่ยนแปลงราชทินนามและสร้อยอีกหลายครั้งหลายคนในภายหลัง
กลับมาที่เจ้าจอมมารดาแสง ผู้เป็นธิดา ท่านได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน และได้ให้ประสูติกาลพระราชโอรสพระราชธิดา 4 พระองค์ ได้แก่
1.พระองค์เจ้าชายอิศรวงศ์วรราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2413 เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่ประสูติหลังจากขึ้นครองราชสมบัติ ภายใต้เศวตฉัตร
2.พระองค์เจ้าชายนภางค์นิพัทธพงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2417
3.พระองค์เจ้าหญิงบีเอตริศภัทรายุวดี หรือ พระองค์เจ้าหญิงภัทรายุวดี ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2419
4.พระองค์เจ้าหญิงเจริญศรีชนมายุ ประสูติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2421
ความสำคัญของเจ้าจอมมารดาแสงคือ ประสูติพระราชโอรสภายใต้เศวตฉัตรให้กับรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรก
เหตุผล 2 ประการที่ทำให้เจ้าจอมมารดาแสงไม่ได้ทรงพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีคือ ...ไม่ได้เป็นพระธิดาของรัชกาลที่ 4
อีกเหตุผล พระราชโอรสพระองค์แรกภายใต้เศวตฉัตรทรงมีพระชันษาสั้นเหลือเกิน เพียง 1 ปีกับอีก 200 กว่าวันเท่านั้น
ในขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2407 หรือห่างจากเจ้าจอมมารดาแสงถึง 10 ปี และมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2421
พระราชธิดาพระองค์แรก ยังประสูติหลังพระราชโอรสพระองค์แรกในเจ้าจอมมารดาแสงนานถึง 8 ปี
เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ก็มีพระประสูติกาลหลังพระราชโอรสพระองค์แรก 8 ปี (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421)
อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์เจ้าชายอิศรวงศ์วรราชกุมาร จะมีชันษายืนยาวแต่พระยศก็คงไม่ไกลไปกว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ไม่สามารถเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าได้ เพราะแม่ไม่ได้เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง
ยกเว้นแต่มีจะมีปาฏิหาริย์พระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น และยากมาก ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงนั้นต่อมาก็กลายเป็นพระราชประเพณี
เจ้าจอมมารดาแสง ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2441 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย