1 มี.ค. 2021 เวลา 13:13 • ประวัติศาสตร์
สวัสดี ชาว TALK ABOUT ทุกคนนะคะ วันนี้แอดก็มีเรื่องที่น่าสนใจ มาให้ทุกคนได้อ่านอีกแล้วค่ะ เกิดจากแอดได้ฟังรายการเดอะช๊อค เรื่อง ประเทศไทย เล่าโดยคุณบอล โดยมีการกล่าวถึงกระทรวงเวทมนต์ของไทย ที่มีชื่อว่า “กระทรวงแพทยาคม” แอดเลยหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วมาเรียบเรียงให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับกระทรวงเวทมนต์แห่งประเทศไทย หรือ กระทรวงแพทยาคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการตรากฎหมาย
วิธีสบัญญัติกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2165 ซึ่ง ในกฎหมายตราสามดวงเรียกกฎหมายดังกล่าวว่า “พระธรรมนูญ” จากกฎหมายฉบับนี้ทําให้ทราบได้ว่า สมัยกรุงศรี อยุธยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ สมัยพระเจ้าทรงธรรม เป็นต้นมา
1
มีศาลที่พิจารณาอรรถคดีต่าง ๆ 14 ประเภทดังนี้
1. ศาลความอุทธรณ์หรือศาลหลวง พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับตระลาการ
2. ศาลอาชญาราษฎร์ หรือศาลราษฎร์ พิจารณาความอาชญาประเภทข่มเหงรังแกกัน
3. ศาลอาชญาจักร พิจารณาคดีว่าความแทนกัน
4. ศาลความนครบาลหรือกระทรวงนครบาล พิจารณาความนครบาล
5. ศาลแพ่งวัง พิจารณาคดีด่า สบประมาท แทะโลม ล้วงแย่งเมียและลูกสาวผู้อื่น ข่มขืนมิให้ถึงชําเรา ทุบถอง ตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน เป็นต้น
6. ศาลแพ่งกลาง พิจารณาความแพ่งที่จําเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหาในสถานเบา
7. ศาลแพ่งเกษม พิจารณาความแพ่งที่จําเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหาในสถานหนัก
8. ศาลกรมมรฎกหรือกระทรวงมรฎก พิจารณาความของผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป
9. ศาลความต่างประเทศ หรือกระทรวงกรมท่ากลาง พิจารณาความระหว่างชาวไทยกับชาวต่างประเทศหรือ ระหว่างชาวต่างประเทศด้วยกัน
10. ศาลกรมนาหรือกระทรวงกรมนา พิจารณาความโภชากร
11. ศาลกรมพระคลังหรือศาลคลังมหาสมบัติ พิจารณาความเกี่ยวกับพระราชทรัพย์
12. ศาลกระทรวงธรรมการ พิจารณาความพระภิกษุสามเณร
13. ศาลความสังกัด หรือศาลกระทรวงสัสดี พิจารณาความพิพาทเกี่ยวกับหมู่หมายของบ่าวไพร่
14. ศาลความเวทมนต์ หรือศาลกระทรวงแพทยา พิจารณาความ ความกล่าวหาว่าเป็นกระสือกระหัง
จากข้อที่ 14 แอดจะอธิบายเพิ่มเติม ศาลความเวทมนต์ หรือศาลกระทรวงแพทยานั้น จะพิจารณาหลังจากที่ไม่สามารถพิจารณาได้โดยศาลข้างต้นทั้ง 13 ประเภท โดยจะพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวกับ ไสยศาสตร์ การทําเวทมนต์ อาคม ใส่ว่านยา ทําเสน่ห์ยาแฝดยาเมา รีดลูก โดยผู้เสียหายไม่ถึงตาย หรือคดีพราหมณ์โยคีเป็นโจทก์จําเลยหาความกัน เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมือง ขุนหมื่นกรมแพทยาหัวเมืองจะเป็นผู้พิจารณา
ตามระบบการศาลสมัยกรุงศรีอยุธยาถือว่าเมื่อมีคําพิพากษาของศาลแล้วคดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดเลย ไม่มีการฟ้องร้อง ระหว่างคู่ความเดิมในศาลชั้นสูงอีก ยกเว้นกรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าตระลาการ ผู้ถามความ ผู้ถือสํานวน พยาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีของตนกระทํามิชอบหรือไม่ให้ความยุติธรรมแก่ตนก็อาจฟ้องร้องกล่าวหาตระลาการ ผู้ถามความผู้ถือ สํานวน พยานนั้น ๆ ต่อศาลหลวง คดีในลักษณะเช่นนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานับว่าเป็นความอุทธรณ์ และศาลหลวงก็คือ ศาลอุทธรณ์ในสมัยนั้น ส่วนศาลฎีกานั้นยังไม่มี แต่อาจมีราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์บ้าง
ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้มีการตราพระไอยการลักษณะอุทธรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2176 เพื่อเป็น แนวทางการพิจารณาคดีในศาลความอุทธรณ์ที่คู่ความฟ้องร้องกล่าวหาตระลาการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรม กล่าวคือ ถ้า ตระลาการหรือเจ้าหน้าที่แพ้ความในชั้นอุทธรณ์จะต้องถูกปรับไหมลงโทษและให้ออกค่าธรรมเนียมในการขึ้นศาลแก่ผู้ฟ้องร้อง
ในสมัยกรุงธนบุรี ระบบศาลในสมัยกรุงธนบุรีคงเป็นเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ทรงครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นช่วงสมัยทําศึกสงครามกับพม่าตลอดเวลา จึงมิได้ปรับปรุงด้านการศาลเลย.
1
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กระทรวงแพทยาคม ได้ถูลดบทบาทลงในรัชกาลที่3 ปี 2380 โดยถูกลดบทบาทและอำนาจจากศาลกระทรวงแพทยา เป็นศาลกรมแพทยา จนกระทั่งในรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ทำให้ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2434 ศาลกรมแพทยา ก็ถูกยุบลง เพราะถูกมองว่าไม่ทันสมัย และล้าหลัง
สรุปได้ว่ากระทรวงแพทยาคมนั้น ได้ก่อตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา ดำรงอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี ตอนต้นของสมัยกรุงรัตโกสินทร์ และถูกลดบทบาท อำนาทลง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเกิดการปฏิรูปในรัชกาลที่5 จนถูกยุบลง โดยคำว่าแพทยาคม มาจากคำว่า `แพทย’ ซึ่งแปลว่า หมอรักษาโรค ส่วนคำว่า `คม’ มาจากคำว่า `อาคม’ ที่แปลว่า เวทมนต์ รวมเป็น “แพทยาคม” ซึ่งมีความหมายว่า หมอที่รักษาโรคเกี่ยวกับเวทมนต์
ที่มา: รายงานการวิจัย เรื่อง โครงการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองของไทย ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถาบันฝ่ายตุลาการ
โฆษณา