1 มี.ค. 2021 เวลา 02:01 • การตลาด
เฉาก๊วยชากังราว | กลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ยอดขายแสนถุงต่อวัน (ที่คุณไม่มีทางลืมเสียงนั้นได้)
.
“กลับมาพบอีกเช่นเคยครับ สำหรับท่านที่เดินผ่านไปผ่านมา วันนี้เฉาก๊วยชากังราวก็ได้มาบริการท่านพ่อแม่พี่น้องกันอีกแล้วนะครับ…”
นี่คือท่อนแรกของเสียงที่ใครหลายคน คงเคยได้ยินกันบ้าง โดยเฉพาะเวลาเดินตามตลาดนัด
ต่อให้คุณจะพยายามหูทวนลมหรือแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินเท่าไหร่
หากคุณพลั้งเผลอเดินเข้าไปเฉียดร้านเฉาก๊วยชากังราว...มันก็ยากเหลือเกินที่จะไม่สอดส่ายสายตามองต้นตอของเสียงนั้น
เฉาก๊วยชากังราว คือ แบรนด์สินค้าโอท็อปจากจังหวัดกำแพงเพชร ก่อตั้งโดย เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ ชายผู้มีปูมหลังชีวิตน่าสนใจ
ครอบครัวเขายากจนมาก ทำให้ เสริมวุฒิ ถูกส่งมาเป็นเด็กวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ อาศัยข้าวก้นบาตรพระกิน จบการศึกษาแค่เพียงชั้น ป.4 (ภายหลังกลับมาเรียนต่อจนได้เป็น ดร.)
เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มก็หางานรับจ้างในเมืองกรุง แต่เกเรจนเคยถูกจับติดคุกติดตาราง
กระทั่งจุดเปลี่ยนชีวิตเกิดขึ้น เมื่อภรรยาของเสริมวุฒิ สอบบรรจุข้าราชการ จึงย้ายไปตั้งรกรากที่ จังหวัดกำแพงเพชร
“เสริมวุฒิ” ทำงานเป็นโชเฟอร์ขับรถยนต์ของ กศน.กำแพงเพชร เงินเดือนสตาร์ทแค่ 1,000 บาทต้น ๆ ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูก 3 คน เขาจึงเริ่มมองหาลู่ทางในการทำมาหากินอื่น ๆ
ตอนนั้นใครจ้างทำอะไรเอาหมด เสริมวุฒิ เก็บหอมรอบรินจนได้เงินทุนก้อนหนึ่งมาเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ แต่ทำได้แค่ปีเดียวต้องปิดกิจการ เนื่องจากกำไรไม่ดีนัก
ก่อนมาคิดทำ “เฉาก๊วย” ขาย เพราะได้ไอเดียมาจากตอนที่ลูกชายไปทำงานโรงงานเฉาก๊วย
เสริมวุฒิ ทดลองผิดทดลองถูกหลายครั้ง แต่ไม่เขาเคยหยุดทำ พยายามแสวงศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ
จนมาเจอข้อมูลในวารสารวิชาการของจุฬาฯ ที่เขียนเกี่ยวกับ “เฉาก๊วย” ทำให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับอาหารชนิดนี้ลึกซึ้งมากขึ้น ควรต้องนำเข้าจากแหล่งผลิตไหน ? ใช้กระบวนผลิตอย่างไรให้ได้มีประสิทธิภาพ และรสชาติตรงตามที่ตนต้องการ
ในที่สุด “เฉาก๊วยชากังราว” ก็ถูกวางจำหน่ายสู่ท้องตลาด โดยใช้เงินทุนตั้งต้นและอุปกรณ์การผลิตชุดแรก มาจากการกู้ยืม
ต่อมาเริ่ม เฉาก๊วยชากังราว มียอดขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จนปลายปี 2544 เสริมวุฒิ ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทุ่มเทกับธุรกิจเต็มตัว
ช่วงเริ่มต้นเอาจริงเอาจังด้านนี้ “เสริมวุฒิ “ลงทุนลงแรงด้วยตัวเองค่อนข้างหนัก ทั้ง ควบคุมการผลิตไปจนถึงการลงหน้างานขายจริง เพื่อพูดเชิญชวนให้คนผ่านไปผ่านมารู้จัก และหันมาสนใจแบรนด์ เฉาก๊วยชากังราว
ที่บ้าระห่ำสุด ๆ คือ เสริมวุฒิ เคยสร้างรถเข็นเดินทางไปขายในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ระยะทางนับ 1,000 กิโลเมตร เป็นเวลาหลายเดือน เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงมองหาตัวแทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด
 
ประสบการณ์ที่ เสริมวุฒิ ได้รับจากการลงแรงเหนื่อยลำบากด้วยตัวเอง ทำให้เขาเข้าใจความต้องการลูกค้า และมองเห็นช่องว่างของตลาด
เขาค้นพบสิ่งที่เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขาว่า "คนไทยชอบกินเฉาก๊วย แต่กลับไม่เคยรู้ว่า เฉาก๊วยทำมาจากอะไร และมีหน้าตาอย่างไร ?"
ก่อนจะถอดเอาไอเดียนั้น มาแปลงเป็นแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้คนรู้จักแบรนด์เขา
ลองคิดดูว่ามันจะดีแค่ไหน ? หากร้านค้าของเขาสามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์แปลกใหม่เห็นต้นเฉาก๊วย หรือยางเฉาก๊วย (แม้ผู้เขียนไม่เคยเห็นจากตอนไปซื้อกินก็ตาม)
นั่นจึงเป็นที่มาของสปอตโฆษณาที่ตามหลอกหลอนโสตประสาทของใครหลายคน
อีกอย่าง เฉาก๊วยชากังราว เป็นธุรกิจที่แรกเริ่มไม่มีทุนหนานัก ครั้นจะไปโปรโมตตามสื่อมวลชน คงเป็นเรื่องไกลตัว เพราะจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล
การประชาสัมพันธ์ที่ดีสุดของแบรนด์โลคั่ลเจ้านี้ จึงเป็นการให้ทุกตัวแทนจำหน่าย ติดเครื่องขยายเสียงและเปิดสปอตโฆษณาที่อัดไว้วนไป โดยใช้เสียงของ เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ เจ้าของกิจการที่มาพูดอธิบายสรรพคุณด้วยตัวเอง
เชื่อว่าก่อนที่ทุกคนจะรู้จัก เฉาก๊วยชากังราว ก็คงคิดว่า “เฉาก๊วยร้านไหนก็เหมือนกันทั้งนั้น”
แต่โฆษณาที่กระจายผ่านเสียงของแบรนด์นี้ กำลังจะเปลี่ยนความเชื่อให้ผู้คนรู้สึกว่า “เฉาก๊วยชารังกาว” ไม่เหมือนใคร ทั้งรสสัมผัส, คุณภาพ รวมถึงประสบการณ์แปลกใหม่ที่ธุรกิจนำมอบให้ลูกค้าตื่นตาตื่นใจ ด้วยการเอาต้นเฉาก๊วยมาตั้งโชว์ หรือเคี่ยวโชว์สดๆ ในงานแฟร์
ลองพิจารณาดูจากคำโฆษณาลักษณะที่ว่า “เฉาก๊วยชากังราวเป็นเฉาก๊วยแท้ ? เอ๊ะ มันต่างกับเฉาก๊วยเทียมอย่างไร ? คุณเคยเห็นต้นเฉาก๊วยกันหรือยังล่ะ ? วันนี้เรามีต้นเฉาก๊วยมาให้พ่อแม่พี่น้องได้ดูได้ชมกันด้วยนะครับ”
ใครที่ได้ยินได้ฟังและเคยเชื่อว่า เฉาก๊วยตามท้องตลาดนัดเจ้าไหนก็เหมือนกัน ? ยังไงก็ต้องหันกลับมาให้ความสนใจมองไปที่กับ บู๊ทตัวแทนจำหน่ายของ เฉาก๊วยชากังราว
แถมสปอตโฆษณาเหล่านั้นยังถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก วนเวียนไปมา (ผมสงสารคนขายจริง ๆ ที่ต้องทนฟังวันละนับพันครั้ง 😂 แต่ก็อาชีพเขาอ่ะนะ) จนผู้บริโภคสลัดเสียงนั้นออกจากหูไม่ได้ เกิดการจดจำแบรนด์ในที่สุด
ยิ่งถ้าคุณประทับใจในรสชาติเฉาก๊วยพวกเขาด้วยแล้วล่ะก็... โอกาสที่จะซื้อซ้ำยามได้ยินคลื่นเสียงนี้อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ย่อมมีสูงมาก
"การตลาดของผมยึดหลักที่ว่าผมจะไปในที่ที่ไม่มีใครดัง และจะเด่นในที่ไม่มีใครเด่น" เสริมวุฒิ เจ้าของกิจการที่สามารถสร้างกำลังผลิตได้นับแสนถุงต่อวัน กล่าวเริ่ม
"ผมให้ความสำคัญกับการตลาดและเรื่องของแบรนด์ก็จะตามมาเพราะถ้าเราประสบความสำเร็จทางการตลาดชื่อเสียงของแบรนด์ย่อมได้รับการยอมรับไปด้วย”
“เฉาก๊วยชากังราวเริ่มต้นจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สินค้าที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างกับคู่แข่งอย่างที่ลูกค้าทุกคนรู้สึกได้ ถ้าเขาเคยชิมของเราจะรู้เลยว่านี่คือเฉาก๊วยชากังราวและถ้าต้องการเฉาก๊วยรสชาติเช่นนี้ก็มีแบรนด์เดียวคือของเราเท่านั้น"
.
.
.
#alongwrite #สนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน #เฉาก๊วยชากังราว
ไม่อยากพลาดบทความสนุกๆ อย่าลืมกดติดตามเราทาง www.facebook.com/alongwriter
โฆษณา