Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิบเบียร์ เชียร์บอล
•
ติดตาม
2 มี.ค. 2021 เวลา 10:43 • กีฬา
[ การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จาก 4-4-2 สู่หน้าเป้าธรรมชาติตัวเดียว และ 4-3-3 สู่แชมป์ยุโรปปี 2008 ]
▪️
19 เมษายนปี 2000
วันนั้นเกมแชมเปี้ยนส์ ลีก ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด จบลงด้วยชัยชนะของเรอัล มาดริด ด้วยสกอร์ 2-3 ประตู ซึ่งเกมนัดนั้นถือเป็นหนึ่งในเกมคลาสสิค
ตลอดกาลเกมหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรป
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นำทีมมาเล่นรายการนี้ในฐานะของแชมป์เก่า โดยเกมเลกแรกที่เบอร์นาบิว เสมอกันมา 0-0
แม้ต้องตกรอบ แต่ในคืนนั้นมีจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องทัศนคติการทำทีมของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
เกิดขึ้นมาหนึ่งอย่าง นั่นคือมันถือเป็นเกมแรกที่เขาทดลองเปลี่ยนระบบการเล่นจาก 4-4-2 มาเป็น 4-5-1
ซึ่งในเกมที่โรงละครแห่งความฝัน ด้วยแผนการเล่นใหม่นี้ เฟอร์กี้พบว่าทีมสามารถสร้างสรรค์โอกาสในการเข้าทำได้เยอะขึ้น แถมภาพรวมการเล่นของทีมก็ดีมาก (แต่แพ้ความหนึบของอีเกร์ กาซิยาส)
พอจบซีซั่นนั้น ปีศาจแดง หันกลับมาใช้ 4-4-2
แต่ทว่าฤดูกาลต่อมาพอลงเล่นในเกมยุโรปกลับต้องแพ้ให้พีเอสวีไอน์โฮเฟ่น กับ อันเดอร์เลช
จุดนี้เองที่ทำให้เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หวนกลับมาคิดถึงแผนการเล่น 4-5-1 อีกครั้ง เพราะทั้งสองเกมที่ปีศาจแดงแพ้ไปนั้น พวกเขามีปัญหาเรื่องการครองบอลอย่างชัดเจนและพอเสียบอลเมื่อไรก็โดนจู่โจมกลับอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
เพราะ 4-4-2 โดยทางปฎิบัติถือว่าแพ้ทางฟอร์เมชั่น
อย่าง 4-3-3 และ 4-1-2-1-2 (4-4-2 ไดม่อนด์)
เนื่องจากไม่มีตัวผู้เล่นแดนกลางที่จะชะลอจังหวะการเล่นของคู่แข่งในสองรูปแบบดังกล่าว
“พวกเราถูกสอนบอลจากสองเกมนั้น เราเล่น 4-4-2 และเราตกเป็นรองคู่แข่งชนิดที่ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ถึงตรงนั้นผมเองก็เริ่มพูดคุยกับผู้เล่นและทีมสตาฟฟ์ว่าเราต้องเพิ่มผู้เล่นในแดนกลางให้มากขึ้น และที่สุดเราก็เปลี่ยนมาเล่นแบบมีกองกลาง 3 คน” นั่นคือสิ่งที่เฟอร์กี้กล่าวไว้
▪️
ต่อมาในช่วงกลางซีซั่น 2000-2001 ท่านเซอร์มุ่งเข็มทิศให้ทีมหันมายึดระบบการเล่น 4-5-1 แบบเต็มตัวก่อนที่ในซีซั่น 2001-2002 มันจะกลายเป็นฟอร์เมชั่นหลักของสโมสร
การลดผู้เล่นแดนหน้าและเอามาเติมแดนกลาง นี่คือสิ่งที่ท่านเซอร์ตั้งใจทำ เพราะเฟอร์กี้เชื่อมั่นว่าการกุมความได้เปรียบในแดนกลางจะทำให้สามารถครองภาพรวมของเกมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ผู้เล่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดคือเท็ดดี้ เชอริงแฮม
ที่ก้าวไปเป็นดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรในซีซั่น 2000-2001 ที่จำนวน 21 ประตูรวมทุกรายการ จนถูกโหวตให้เป็นทั้งนักเตะยอดเยี่ยมของ PFA และจากการโหวตโดยผู้สื่อข่าวอังกฤษ เรียกว่าควบรางวัลสองสถาบันด้วยวัยมากถึง 35 ปี
แต่พอสิ้นฤดูกาล 2000-2001... เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่สามารถต่อสัญญากับน้าหมีได้ สุดท้ายก็ปล่อยกลับไปร่วมทีมท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเฟอร์กี้มองว่านักเตะรูปแบบเชอริงแฮมไม่น่าจะยืนเป็นกองหน้าตัวเดียวในระบบการเล่นอย่าง 4-5-1 ที่เขาคิดจะใช้งานจริงจังในซีซั่นต่อไปได้(ทั้งที่ความจริงเชอริงแฮมทำได้ดีในบทบาทหน้าต่ำ)
ต่อมาปีศาจแดงไปดึงตัวรุด ฟาน นิสเตลรอย ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติการซื้อตัวแพงสุดของเกาะอังกฤษ
Ruud Van Nistelrooy : ย้ายจากพีเอสวี ไอน์โฮเฟ่น มาร่วมทีมปีศาจแดง ด้วยค่าตัวราว 19 ล้านปอนด์
ก่อนที่ต่อมาเฟอร์กี้จะทำลายตัวเลขที่ซื้อรุด ฟาน นิสเตลรอย ด้วยการนำเข้าผู้เล่นอีกคนหนึ่งเข้ามา เพราะมองว่านักเตะคนนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญกับระบบการเล่น 4-5-1
🇦🇷ฮวน เซบาสเดียน เวรอน🇦🇷
Juan Sebastien Veron : ย้ายมาจากลาซิโอ ด้วยค่าตัวเป็นสถิติผู้เล่นแพงสุดของฟุตบอลอังกฤษในตอนนั้นที่จำนวน 28.1 ล้านปอนด์ ทำลายสถิติที่ซื้อรุด ฟาน นิสเตลรอย ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ซึ่งหลังปิดสองดีลดังกล่าวลงได้ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถึงกับพูดออกสื่อว่าไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าตนเองจะใช้เงินมือเติบในตลาดนักเตะแบบนั้น แต่เพื่อให้สอดรับกับแผนงานในหัว เขาจึงต้องตัดสินใจทำมัน
▪️
ฤดูกาล 2001-2002
รุด ฟาน นิสเตลรอย เป็นผู้เล่นประเภทหน้าเป้าโดยธรรมชาติที่สามารถยืนค้ำแดนหน้าได้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งเหมาะมากกับระบบการเล่นแบบใหม่ที่ห้อยหน้าคนเดียวอย่าง 4-5-1
ขณะเดียวกันการมาของฮวน เซบาสเตียน เวรอน ก็ตอบโจทย์ตรงที่เขาเป็นมิดฟิลด์สร้างสรรค์เกมคลาสระดับโลก ซึ่งผ่านการพิสูจน์ผลงานในลีกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งของยุคอย่างกัลโช เซเรีย อา อิตาลี มาแล้ว
แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบ 4-5-1 ซึ่งเฟอร์กี้นำมาใช้เป็นเมนหลักครั้งแรกในซีซั่น 2001-2002 ไม่เวิร์ก
เกิดจาก ...
1.การประกาศล่วงหน้าของเฟอร์กี้ว่าจะวางมือเมื่อจบฤดูกาลทำให้ผู้เล่นหลายคนขาดแรงจูงใจ
2.การเสียยาป สตัม ออกไปทำให้สมดุลในเกมรับปั่นป่วน
และพอเริ่มต้นฤดูกาลด้วยผลงานที่ไม่ค่อยดี แผนการเล่น 4-5-1 ของเฟอร์กี้ก็ถูกโจมตีหนักว่าไม่เวิร์ก เพราะมันทำให้เทมโป้การขึ้นเกมของทีมช้าลงกว่าที่เคยเป็น
แล้วลองทายดูว่าใครจะเป็นแพะรับบาปที่สื่ออังกฤษรุมขย้ำมากที่สุด ?
คำตอบ : ฮวน เซบาสเตียน เวรอน
▪️
อันที่จริงนั้นดาวเตะอาร์เจนไตน์ถือเป็นผู้เล่นที่มีทักษะฝีเท้าในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางบอลระยะไกลที่แม่นยำอย่างมาก แต่ข้อเสียที่ทำให้เขาไม่สามารถระเบิดฟอร์มการเล่นที่ดีออกมากับสีเสื้อปีศาจแดงในซีซํ่นแรกได้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เวลานั้น
ทั้งระบบการเล่นที่คนอยู่มาก่อนก็ยังต้องปรับตัว , การเสียกองหลังคนสำคัญ บวกกับการประกาศวางมือล่วงหน้าที่เฟอร์กี้ยอมรับในภายหลังด้วยตัวเองว่าเป็นเรื่องผิดพลาดมหันต์
แต่แม้จะพูดเข้าข้างฮวน เซบาสเตียน เวรอน ยังไงก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดเช่นกันก็คือตัวของเขาเอง
ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบความผิดด้วย เนื่องจากตัวเขาเองไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงวิถีฟุตบอล ยังคงคุ้นชินและดึงดันจะเล่นฟุตบอลแบบเนิบนาบช้าๆเหมือนเช่นบอลอิตาลี
ประมาณกลางฤดูกาล หรือประมาณช่วงเดือนธันวาคมปี 2001 (ของฤดูกาล 2001-2002)
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตัดสินใจครั้งใหม่ ด้วยการปรับระบบทีมกลับมาที่แบบ 4-4-2 เวลาเล่นในลีกและใช้แผน 4-5-1 สำหรับลงเล่นในฟุตบอลระดับทวีปเท่านั้น (บวกด้วยการประกาศกลับลำไม่รีไทร์หลังจบซีซั่น)
ขณะที่ความเป็นไปของฮวน เซบาสเตียน เวรอน ในระบบการเล่นของแมนฯยูฯ ดูกระท่อนกระแท่น
กลับกันมันกลายเป็นแผนการเล่นที่ขับเน้นให้รุด ฟาน นิสเตลรอย โดดเด่นอย่างมากในบทบาทของกองหน้าตัวเป้าคนเดียว ซึ่งฟุตบอลอังกฤษในยุคนั้นไม่คุ้นชิน(เพราะแทบไม่เคยมีทีมใดใช้แผนที่วางกองหน้าตัวเดียวมาก่อน ยกเว้นทีมขนาดเล็ก
ที่ต้องการความแน่นหนาในเกมรับ)
รุด ฟาน นิสเตลรอย เหมือนเกิดมาเพื่อเล่นเป็น
กองหน้าตัวเดียวอย่างแท้จริง สิ่งที่ชัดเจนคือคำพูดของโค้ชสมัยที่รุด ฟาน นิสเตลรอย เล่นอยู่ในฮอลแลนด์ ซึ่งเล่าถึงรุด ฟาน นิสเตลรอยเอาไว้ว่า "สำหรับรุด ฟาน นิสเตลรอย เขาไม่ใช่ผู้เล่นที่เกิดมาเพื่อเล่นเป็นทีม เรื่องทีมเวิร์กคือจุดด้อยของเขา เทคนิคเขาก็ไม่ได้สูงอะไร แต่จุดเด่นคือเขาต้องการบอลตลอดเวลา และเมื่อเท้าของเขามีบอล เขาจะทำสิ่งต่างๆออกมาได้ดี"
ฤดูกาล 2001-2002 เป็นปีแรกที่รุด ฟาน นิสเตลรอย มาเล่นในอังกฤษ และเขาก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย
จากผลงานการยิงไปมากถึง 36 ลูกรวมทุกรายการ แบ่งมาเป็น 23 ประตูในพรีเมียร์ลีก
ผลงานดังกล่าวส่งให้รุด ฟาน นิสเตลรอย คว้ารางวัลส่วนบุคคลมาครองได้...
1.PFA Fan's Player of the Year
2.PFA Players'Player of the Year
3.PFA Team of the Year
4.Sir Matt Busby Player of the Year
แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนั้นกลับมือเปล่าทุกถ้วยที่ลงแข่ง จากการจบอันดับ 3 ในลีก , เอฟเอ คัพ จอดรอบสี่ , ลีก คัพ จบรอบสาม และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จอดรอบรองฯ
▪️
นิยามคำว่า"เกิดมาเพื่อเป็นกองหน้าคนเดียว" ของ รุด ฟาน นิสเตลรอย และเป็นเพชฌฆาตในกรอบเขตโทษ ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่นๆ เพราะมีหลักฐานรองรับชัดเจน จากจำนวน 150 ประตูตลอดการเล่นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นเวลา 5 ปี
ดาวยิงหน้าอาชา คือผู้เล่นที่ทุกคนลงความเห็นว่าเกิดมาเพื่อเล่นฟุตบอลคนเดียวในกรอบเขตโทษ จากสถิติที่นำมาประกอบในบทความจะเห็นได้ชัดว่าเพราะอะไร?
มีเพียงลูกเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นนอกกรอบเขตโทษ ซึ่งเกิดขึ้นในเกมสั่งลานัดสุดท้ายของเขากับทีมเกมที่พบกับชาร์ลตัน
คือถ้ามองว่าเขาเก่งแค่ในกรอบเขตโทษแล้วจะทำให้เขาโดนจับทางง่ายๆ ก็ถือเป็นเรื่องผิด เพราะจุดเด่นของรุด ฟาน นิสเตลรอย คือจังหวะการเข้าฮอสที่เฉียบขาด บวกกับเซนส์ในการหาจังหวะเข้าถึงลูกบอลที่ครอสมาจากนอกกรอบที่เขาทำได้เก่งกว่าใคร แถมยังอ่านจังหวะการออกตัวของผู้รักษาประตูได้เก่งมากๆ ซึ่งแทบจะไม่มีกองหน้าคนใหนในพรีเมียร์ลีกเก่งในจังหวะแบบนี้เท่ารุด ฟาน นิสเตลรอย อีกแล้ว(ก็คงมีแหละ แต่หายาก)
แต่ทว่า...
▪️
ในความโดดเด่นแบบข้ามาคนเดียวของรุด ฟาน นิสเตลรอย ในเวลานั้น ก็มีราคาที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องจ่ายและราคามันก็แพงมากด้วย
เนื่องจากตลอดเวลาที่รุด ฟาน นิสเตลรอย สวมเสื้อแมนฯยูฯ เขาพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้แค่ครั้งเดียว
บวกกับเอฟเอ คัพ และ ลีก คัพ อีกรายการละสมัย
ถามว่าความจริงตรงนี้มันบ่งบอกอะไร ?
คำตอบ : มันบ่งบอกว่าการเล่นที่โดดเด่นของรุด ฟาน นิสเตลรอย นั้นไม่ได้ซัพพอร์ทให้เพื่อนร่วมทีมยกระดับการเล่นตามไปด้วยได้
ราคาที่แมนฯยูฯต้องจ่าย จากการเล่นแบบข้ามาคนเดียวของพี่ม้านั้นแสนแพง
และพอรุด ฟาน นิสเตลรอย ย้ายออกจากทีมไป แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็กลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ 3 สมัยติดต่อกัน นี่คือคำตอบที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อาจโต้แย้งได้จริงๆ หรือกระทั่งเพื่อนร่วมทีมก็เห็นด้วยกับเหตุผลนี้
ไรอัน กิ๊กส์ 🗣️
"เขาเป็นผู้เล่นที่เก่ง แต่อย่างหนึ่งที่แปลกคือแม้ทีมชนะ 3-0 ถ้าเขาทำประตูไม่ได้เขาก็จะหงุดหงิด"
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 🗣️
"สิ่งหนึ่งที่ป๋าเจอคือความยากในการพยายามทำให้คนอื่นๆเล่นให้เข้ากับรุด แม้กระทั่งดีเอโก้ ฟอร์ลัน
ก็ไม่สามารถเชื่อมกับฟุตบอลแบบเขาได้ เวลาลงเล่นด้วยกันพวกเขาก็มักมองไม่เห็นการเคลื่อนไหวของกันและกัน"
หลุยส์ ซาฮา🗣️
"รุด ไม่สนใจการมีส่วนร่วมในการเซ็ตอัพเกมของทีม เขามุ่งมั่นจะทำประตูอย่างเดียว"
หรือหากเหตุผลแค่นั้นยังไม่เพียงพอ ให้ลองมองภาพในทีมชาติฮอลแลนด์ว่าตัวของรุด ฟาน นิสเตลรอย
ไม่เคยสามารถเล่นร่วมกับยอดกองหน้าอีกคนของประเทศอย่างพาทริค ไคลเวิร์ต ได้เลยมันก็ยิ่งชัดว่า
รุดเกิดมาเพื่อเล่นคนเดียว
▪️
ช่วงท้ายๆของรุด ฟาน นิสเตลรอย ในโรงละครแห่งความฝัน เขากลายเป็นเหมือนส่วนเกินในทีม
ส่วนหนึ่งจากสไตล์การเล่นของเขาเอง และอีกส่วนหนึ่งคือการกระทำของเขาที่เริ่มมองไม่เห็นหัวเพื่อนร่วมทีม
อีกทั้งเมื่อเขาบาดเจ็บหนักต้องหายไปนาน ทีมก็ทำผลงานได้ดีกับผู้เล่นเลือดใหม่อย่างเวย์น รูนี่ย์ , คริสเตียโน่ โรนัลโด้และหลุยส์ ซาฮา ที่เป็นกองหน้าซึ่งมีบทบาทการเล่นประสานกับเพื่อนร่วมทีมได้ดีกว่ารุด ฟาน นิสเตลรอย
ยิ่งความสัมพันธ์ของรุด ฟาน นิสเตลรอย กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าย่ำแย่ขนาดใหน
เพราะเวลานั้นคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นผู้เล่นที่ชอบจะลากเลี้ยงไปกับบอลด้วยตัวเองมากกว่าจะเปิดป้อนบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ
บางครั้งเวลาที่รุด ฟาน นิสเตลรอย วิ่งเข้าจุดประจำการในกรอบเขตโทษ เขากลับพบว่าโรนัลโด้ยังมัวม้วน มัวคลึงกับลูกบอลอยู่ยิ่งทำให้เขาหงุดหงิด จนสุดท้ายก็เกิดกรณีพิพาทถึงขั้นด่าพ่อล่อแม่คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในระหว่างการซ้อม
ตรงจุดนี้ต้องเล่าแบบให้ความเป็นธรรมกับรุด ฟาน นิสเตลรอย ว่าตอนนั้นเขาด่าโรนัลโด้ว่า “ถ้ามึงไม่พอใจก็ไสหัวไปฟ้องพ่อมึงไป!!!”
ซึ่งในความหมายที่รุดจะสื่อถึงก็คือคาร์ลอส เคยรอช ผู้ช่วยกุนซือที่เป็นคนโปรตุเกส บ้านเดียวกับโรนัลโด้ ไม่ได้หมายความถึงพ่อบังเกิดเกล้าของโรนัลโด้ ...
แม้จะจากกันแบบไม่สวยงาม แต่ในเวลาต่อมารุด ฟาน นิสเตลรอย ก็สำนึกผิดทุกอย่างทั้งการกระทำต่อคริสเตียโน่ โรนัลโด้และครั้งที่เขาเคยด่าเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เนื่องจากไม่พอใจ ซึ่งรุดได้กล่าวขอโทษทั้งสองคนด้วยตัวเอง
▪️
การจากไปของรุด ฟาน นิสเตลรอย ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการพับโปรเจคท์ 4-5-1
ของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันที่ยุติการมองหากองหน้าตัวเป้าไปเลยเป็นเวลา 2 ปี
และหันมาปลุกปั้นเวย์น รูนี่ย์ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ให้กลายเป็นสุดยอดตัวรุกที่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งในแดนหน้ากันได้ตลอดเวลา โดยมีคาร์ลอส เตเบซ ที่ได้มาจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เป็นอีกหนึ่งส่วนผสมที่ลงตัว
เวย์น รูนี่ย์ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ คือความหวังของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่หันมาให้ความสำคัญในการวางเป็นแกนหลักของทีม พร้อมทั้งปล่อยรุด ฟาน นิสเตลรอย ออกจากทีมไป
และมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงของการกลับมานั่งบัลลังก์แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2008
ซึ่งถือเป็นปราถนาสูงสุดของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มาตลอด นับตั้งแต่คว้ามาครองได้เมื่อปี 1999
สุดท้าย ตรงจุดนี้น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่งที่ช่วงเวลาพีคสุดๆของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปลายยุคทศวรรษที่ 2000's จนเข้าต้นทศวรรษที่ 2010's เฟอร์กี้พาทีมเข้าชิงฯฟุตบอลแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ตั้ง 3 ครั้งในรอบ 4 ฤดูกาล
2007-2008 : แชมป์
แชมป์ถ้วยใหญ่ยุโรปในปี 2008 คือแชมป์สมัยที่ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร และเป็นสมัยที่ 2 ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
2008-2009 : รองแชมป์
พ่ายแพ้ในนัดชิงฯปี 2009 ด้วยน้ำมือบาร์เซโลน่า ขิงเป๊ป กวาร์ดิโอล่า
2010-2011 : รองแชมป์
และอีกครั้งในปี 2011 ที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ทำให้ปีศาจแดงต้องผิดหวัง
โดยที่สองครั้งหลังสุดที่แพ้ให้บาร์ซ่าในรอบชิงฯ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดีเลยว่าฟุตบอลของบาร์เซโลน่า ของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า นั้นเหนือกว่าทุกกระบวนท่าจริงๆ
🙏🙃♥️
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย