3 มี.ค. 2021 เวลา 06:55 • ประวัติศาสตร์
• 👨‍🏫 ทำไมเราถึงเรียกกระดานที่อยู่ในห้องเรียนว่า "กระดานดำ" ทั้ง ๆ ที่มันมีสีเขียว?
ในสมัยที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียน เชื่อเลยว่าใครหลาย ๆ คน น่าจะเคยมีความสงสัยว่า ทำไมเราถึงเรียกกระดานที่อยู่ในห้องเรียนว่า "กระดาษดำ" (Blackboard) ด้วย ทั้ง ๆ กระดานนี้มันมีสีเขียว
ดังนั้นในบทความนี้ เราก็จะมาอธิบายถึงเรื่องราวนี้ ในแบบคร่าว ๆ กันครับ
สำหรับเรื่องราวจุดเริ่มต้นของกระดานดำนั้น นักเขียนชาวอเมริกัน ลิวอิส บัซบี (Lewis Buzbe) ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ Blackboard: A Personal History of the Classroom ของเขาว่า กระดานดำได้ถูกใช้งานในห้องเรียนครั้งแรก ในช่วงทศวรรษที่ 1800 ส่วนคำว่า "Blackboard" หรือกระดานดำ ก็ได้ถูกเรียกครั้งแรกในปี 1815
โดยกระดานดำในช่วงเวลานั้น จะทำมาจากวัสดุอย่างเช่นหินชนวน (แบบเดียวกันที่ทำกระดานชนวนของเด็กนักเรียนไทยในสมัยก่อน) ซึ่งเป็นแผ่นหินที่มีลักษณะผิวเรียบและมีสีดำ
ซึ่งนอกจากหินชนวนซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระดานดำแล้ว กระดานดำในยุคสมัยนั้น ก็อาจจะทำมาจากแผ่นไม้ที่ถูกทาด้วยสีดำที่มีส่วนผสมของไข่ไก่รวมไปถึงเปลือกไม้ที่ถูกเผาอีกด้วย
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกระดานดำถึงถูกเรียกว่ากระดานดำ นั้นก็เพราะในสมัยก่อนกระดานดำมันเป็นสีดำจริง ๆ นั่นเอง
แต่แล้วเมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ 1930 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับกระดานดำ
โดยในช่วงเวลานั้น บริษัทผลิตกระดาษดำหลาย ๆ เจ้าในสหรัฐอเมริกา ได้เปลี่ยนแปลงสีของกระดานดำ จากสีดำให้กลายเป็นสีเขียว
รวมไปถึงเปลี่ยนวัสดุในการผลิตจากหินชนวน (และไม้) ให้เป็นแผ่นเหล็กที่ถูกเคลือบด้วยพอร์ซเลน (Porcelain) แทน
สาเหตุที่ทำให้กระดานดำถูกเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว นั่นก็เพราะในตอนนั้นได้มีการวิจัยพบว่า สีเขียวเป็นสีที่ทำให้เด็กนักเรียนมองกระดานได้สบายตามากกว่าสีดำ และยังเป็นสีที่สามารถลดแสงสะท้อนและแสงแดดจากภายนอกได้อีกด้วย
2
ด้วยเหตุนี้หลังจากนั้นมา หลาย ๆ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา จึงได้เปลี่ยนกระดานดำที่อยู่ในห้องเรียนจากสีดำให้เป็นสีเขียวแทน
ก่อนที่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 กระดานดำที่มีสีเขียวจะกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปของทุก ๆ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา (รวมไปถึงของประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา)
และถึงแม้กระดานดำจะถูกเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวแล้ว แต่เราก็ยังคงเรียกว่ากระดานนี้ว่า "กระดานดำ" เหมือนเดิมมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
1
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา