3 มี.ค. 2021 เวลา 12:30 • ครอบครัว & เด็ก
รู้หรือไม่การแหย่เด็กไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ
เรื่องเล่น ๆ ที่หลายคนอาจมองข้ามไป!!!
เชื่อไหมครับว่าครั้งหนึ่งผมไม่ชอบให้สาว ๆ มาหอมแก้ม?
1
หือมีงี้ด้วย?
ว่าแต่ทำไมอะ?
คิดว่าหลายคนน่าจะสงสัยเนอะ!!!
งั้นมาครับ ผมจะเล่าอะไรให้ฟัง
พิกัดที่เกิดเหตุคือบ้านเกิดในจังหวัดเชียงใหม่ของผมเองครับ
ไทม์แมชชีนมา!!!
ถ้าพร้อมแล้วขอพาทุกท่านย้อนกลับไปตอนผมกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมต้นกันครับ (นานจัดเลยล่ะ ดังนั้นโปรดอย่าถามว่ากี่ปี!!!)
ที่บ้านของลุงที่อยู่ใกล้กันกับบ้านของผมแค่เพียงหนึ่งก้าวเท้ายาว ๆ ทุกปิดเทอมใหญ่จะมีญาติจากอำเภอฝาง (อำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่) มาเยี่ยมท่านอยู่เสมอ
ญาติที่ว่าน่ะเป็นลูกสาวของน้องลุงครับ
ใช่แล้วครับ!!! พวกเธอนี่แหละจุดเริ่มต้นในการกลัวการถูกหอมแก้มของผม!!!
คนพี่ชื่อ ‘แยม’ เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
คนน้องชื่อ ‘ยีนส์’ เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น
สองพี่น้องนี่รูปร่างหน้าตาจัดได้ว่าสวย และน่ารักได้อย่างไม่ขัดเขินกันเลยทีเดียว
แต่กิจกรรมโปรดของเธอนี่สิ สำหรับผมในตอนนั้น เรียก “ไม่น่ารัก” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยล่ะ
กล่าวคือพวกเธอสองคนชอบรุมหอมแก้มผมครับ!!!
มุกถนัดก็จะประมาณ คนหนึ่งชวนคุยอีกคนหอมแก้ม ไม่ก็ชี้ให้สนใจอีกทางพอเราหันไปจริง ๆ ก็โดนขโมยหอมแก้ม และอีกสารพัดวิธี แล้วก็พากันหัวเราะชอบใจอยู่สองคน โดยไม่สนว่าผมจะหน้ามุ่ยขนาดไหน!!!
ครั้นจะหนี หรือหลบซ่อน แน่นอนว่าพวกเธอมักจะตามหาผมจนเจอ และนำกลับมาเล่นด้วยทุกครั้ง!!! (เหมือนของเล่นเลยเนอะ)
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ โดยเฉพาะท่านชาย อาจจะบอกว่า ดีสิมีสาวสวยมารุมหอมแก้ม ผมนี่ลุกขึ้นเถียงเลย (คอเป็นเอ็นด้วย อิอิ) อย่าลืมนะครับ ว่าผมในตอนนั้นอายุหก-เจ็ดขวบ ไอ้อาการเสน่หา หรือพิศวาสสาว ๆ น่ะมันไม่มีหรอก!!!
ในตอนนั้นผมก็คิดแค่ว่า
รำคาญว้อย!!! จะหอมแก้มอะไรกันนักหนา และจะหัวเราะชอบใจอะไรกันขนาดนั้น?
น่าสงสารจริง ๆ เนอะทุกท่าน!!!
เอ่อ... เด็กน้อยคนนี้ล่ะครับที่งานเข้า!!!
ข้อความย้อนอดีตยาวพรืดข้างต้นนี้มีที่มานะครับ
กล่าวคือ สืบเนื่องมาจากโพสต์
8 เหตุผลทางจิตวิทยาที่บอกได้ว่าทำไมใครบางคนถึงได้ตกหลุมรักคุณ
คุณโต๊ะ จากเพจ เพจนี้... มีแต่เพลง ได้ขอมาว่าอยากให้ผมทำบทความ ด้วยเรื่องที่ว่า “ทำไมถึงชอบแกล้งเด็กน่ารัก ๆ ให้ร้องไห้”
ที่มาที่ไปของบทความนี้ครับผม
ผมเองก็ใช่ว่าจะใจไม้ไส้ระกำอะไร
ในเมื่อขอมา ก็จัดไปครับ!!!
ผมคิดว่าผู้ใหญ่หลายคนเวลาเจอเด็ก ๆ วัยอนุบาลหรือประมาณประถมต้นตัวเล็ก ๆ ที่เริ่มรู้ความ ไอ้ความรู้สึกว่าทำไมน้องช่างน่ารักน่าเอ็นดู อยากเล่นด้วย นี่เกิดขึ้นในใจแน่นอน ทีนี้ก็มักจะสรรหาวิธีการที่จะทำให้เด็กสนิทสนมกับเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นวิธีการง่าย ๆ อาทิ พูดจากระเซ้าเย้าแหย่ หรือสารพัดหาวิธีมาหยอกล้อเพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน มีอารมณ์ร่วมไปกับเรา
(Teasing) คือการหยอกล้อหรือแหย่เด็ก เป็นพฤติกรรมการแสดงออกโดยทั่วไปที่ผู้ใหญ่มักใช้ในการสร้างสีสัน และความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าตาหรือท่าทางประหลาด ๆ เพื่อล้อเลียน การตั้งชื่อหรือฉายาในทางขำขัน การเล่นหยิกแก้มหรือจั๊กจี้เอว การเล่นแย่งอาหารหรือสิ่งของเด็ก ๆ ฯลฯ หลากหลายวิธีการที่เอ่ยมาล้วนทำเพื่อสร้างความใกล้ชิด และผูกสัมพันธ์กับเด็กภายใต้ขอบเขตของการสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
มองไปแล้วพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นของผู้ใหญ่ดูเหมือนจะเป็นการแสดงความรู้สึกดี ๆ ต่อกันเสียซะมากกว่านะ แต่เมื่อใดก็ตามที่การหยอกล้อ ไม่ว่าจะกับเด็กเล็กหรือว่าเด็กโต ได้ข้ามเส้นแบ่งของความสนุกสนานไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจ โกรธหรืออับอาย และไม่ได้สนุกร่วมไปด้วยกันแล้ว เมื่อนั้นการแหย่เด็กโดยไม่คิดให้รอบคอบ และระมัดระวังถึงผลกระทบต่อเด็กที่ตามมามากมาย เมื่อนั้นสิ่งที่ทำก็ย่อมจะไม่ใช่วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกต่อไป
เหล่านี้คือตัวอย่างการก้าวข้ามขอบเขตที่เหมาะสมนะครับ โดยเด็กที่ถูกกระทำไม่รู้สึกสนุกไปกับการหยอกล้อ ก็มักจะมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
หยอกล้อเรื่องผลการเรียนไม่ดี ผลกระทบคือทำให้เด็กสูญเสียกำลังใจ
หยอกล้อเรื่องเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมไม่เก่ง ผลกระทบคือทำให้เด็กไม่ต้องการร่วมทำกิจกรรมเหล่านั้นอีก
หยอกล้อเรื่องรูปร่างหน้าตา ไม่ว่าจะ สูง-ต่ำ ดำ-ขาว อ้วน-ผอม ฯลฯ ผลกระทบคือทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นปมด้อย
หยอกล้อเรื่องฐานะทางครอบครัว บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว และมุมมองความคิดที่แตกต่าง ผลกระทบคือทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยก และเหมือนกับเป็นการปิดกั้นช่องทางในการสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเด็กออกมา
แหย่มากเกินไปเด็กรู้สึกแย่แน่นอน
และการหยอกล้อโดยไม่คิดหน้าคิดหลังดังตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมการเข้าสังคมของเด็กใน 3 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1. ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ การถูกเย้าแหย่ที่เกินเลยเป็นประจำ เช่น ถูกล้อเลียนว่าอ้วนเหมือนหมู หลอกให้กลัวว่าถ้าดื้อผีจะมาจับตัวไปหรือถูกแอบเอาของเล่นที่ชอบไปซ่อนบ่อย ๆ มักทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และคับข้องใจ เนื่องจากเรื่องที่ตัวเองไม่พอใจนั้นถูกมองเป็นเรื่องสนุก และเป็นที่ขบขันในสายตาของคนอื่น และด้วยความเป็นเด็กจึงถูกดึงเข้าสู่ภาวะเครียด และกดดันโดยที่ไม่สามารถบอกหรือแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
โดยปกติแล้วความมั่นคงทางอารมณ์นั้นจะสะท้อนออกมาจากความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต เด็กที่ตกอยู่ในภาวะเครียด และกดดัน หรือมีความฝังใจในเรื่องใด ๆ ก็ตาม มักจะไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองในทิศทางที่เหมาะสมได้ บางคนฉุนเฉียว และโมโหง่าย บางคนอยู่กับความกลัวตลอดเวลา หรือวิตกกังวลอย่างหนัก บางคนอยู่กับความทุกข์ใจที่มากมาย ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
และแล้วความเครียดก็มาเยือนจนได้!!!
2. ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การถูกล้อเลียนเกี่ยวกับความสามารถหรือตัวตนของเด็กด้วยความสนุกปากของผู้ใหญ่ เช่น การบ้านง่าย ๆ แค่นี้ก็ทำไม่ได้ เด็กอนุบาลยังทำได้เลย, ทำไมไม่เป็นเหมือนเด็กบ้านนั้นล่ะ เขาเก่งกว่าเราตั้งเยอะ หรือ เจ้าเตี้ย กินนมเยอะ ๆ สิจะได้โตทันเพื่อน เหล่านี้คือการทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า ทำให้คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ดีเหมือนคนอื่น อีกทั้งทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรัก และความหวังดีจากผู้ใหญ่รอบตัวแต่อย่างใด
กล่าวคือเด็กที่ถูกทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองจะเติบโตบนความรู้สึกผิดหวัง มีมุมมองต่อตัวเองในด้านลบ และรู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สุดท้ายเก็บตัว และไม่ต้องการเข้าสังคมในที่สุด ซึ่งเมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มเข้ากลุ่มเพื่อนที่ทำตัวแปลกแยกจากคนอื่น อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำร้ายตัวเอง และคนอื่น หรือหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อสร้างการยอมรับ และเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง
ถึงขั้นเข้ากับเพื่อนไม่ได้กันเลยทีเดียว
3. มีพฤติกรรมเลียนแบบ โดยพื้นฐานแล้วเด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากคนในครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมีพฤติกรรมชอบหยอกล้อกันจนเป็นปกตินิสัย เด็กมักจะมีโอกาสซึมซับ และติดเอาพฤติกรรมการหยอกล้อเหล่านี้มาใช้กับคนอื่นรอบตัวด้วย เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ข้อจำกัดคือเด็กส่วนใหญ่ยังไม่โตพอที่จะสามารถแยกแยะขอบเขต และความเหมาะสมของการเล่นสนุกเหล่านี้ได้
แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาจากพฤติกรรมเลียนแบบนี้เหล่านี้ก็คือ การยกระดับจากการหยอกล้อเพื่อความสนุกที่เกินเลยไปสู่พฤติกรรมที่สร้างความรำคาญ ความไม่สบายใจ ตลอดจนการข่มขู่คุกคามบุคคลรอบตัว ด้วยสำคัญผิดว่าเป็นความสนุกจากความรู้สึกที่ได้อยู่เหนือกว่าหรือได้ควบคุมคนอื่น ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความคิด และการกระทำของเด็กในระยะยาวแล้ว ยังมีผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับสมาชิกคนอื่นในสังคมได้อีกด้วย
แกล้งเพื่อนแกล้งฝูงกันไป
สรุปแล้วการหยอกล้อเพื่อความสนุกสนานนั้น แม้จะมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่จำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้ในรูปแบบ วิธีการ รวมทั้งขอบเขตที่เหมาะสมเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว การแหย่เด็กจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจนะครับ
🎼ลันลันลัน ลา
ลัน ลา ลัน
ลัน ลัน ลันลัน ลา
ลัน ลา ลัน
ลัน ลัน ลันลันล้า
ลันลาล้าลันลัน ลา วู้ วู🎼
🎼ปี้สาว ครับ สวัสดี ครับ ปี้ ครับ
จำน้องชาย คน นี้ ได้ ก่อ
จำได้ บ่ได้ ก็ บอก มา ลา ลา🎼
🎼ปี้สาว ครับ ตอนนี้ผม
เป๋น หนุ่ม แล้ว ครับ
มีแม่หญิง มา ไล่ จับ
จะยับ เอาผม ไปเป็นแฟน ลา ลา🎼
เสียงเพลง “พี่สาวครับ” จาก ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ลอยเข้ามาในความคิด ได้ฟีลดีแท้!!!
นับตั้งแต่ลุงเสียชีวิตไป นานมากแล้วที่เราไม่ได้เจอกัน
พี่แยม พี่ยีนส์ อยากให้รู้ไว้ว่าผมยังคิดถึงพวกพี่เสมอนะ
อ้อ ถ้าพวกเรามีโอกาสได้เจอกันอีก
เชิญหอมแก้มผมได้ตามสบายนะ ผมโตแล้ว รับรองว่าไม่มีงอแง ไม่มีปัดป้อง แม้แต่นิดเดียว
1
ผมสัญญาครับ
แกล้ง - Silly Fools
คืนนี้ขอหอม - Yokee Playboy
เรียบเรียง และขอขอบคุณข้อมูลจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา