19 มี.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
สัตว์ร้าย รักษาอุโบสถ
ต้นหญ้าเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เมื่อถูกใบไม้ร่วงหล่นทับถม หากขาดคนดูแลปัดกวาด ปล่อยให้ใบไม้ทับถมหญ้าทุก ๆ วัน ทำให้หญ้าไม่มีโอกาสได้รับออกซิเจนหรือสังเคราะห์แสง จากหญ้าสีเขียวย่อมจะกลายเป็นสีเหลือง และเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุดฉันใด
 
จิตใจที่ถูกอาสวกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ครอบงำทุกวันทุกเวลา โดยเจ้าตัวไม่หาโอกาสขจัดออกไป จิตนั้นย่อมมัวหมอง ระทมทุกข์ และเสื่อมจากความดีได้ ฉันนั้น
 
ดังนั้น การให้โอกาสกับตนเอง ด้วยการสละเวลามานั่งธรรมะ ฝึกฝนใจ ให้หยุดนิ่ง จึงเป็นวิธีการอันประเสริฐ ที่จะทำให้จิตดวงนี้เป็น จิตที่ประภัสสร สว่างไสวและใสบริสุทธิ์ เป็นใจที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงที่พึ่งอันประเสริฐ คือ พระรัตนตรัยนั่นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า....
ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ เพราะว่าจิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้
ความสุขของมนุษย์เริ่มจากจิตใจที่ดีงามใสบริสุทธิ์ ถ้าจิตมีมลทินมีกิเลสอาสวะห่อหุ้มมาก ย่อมมีความสุขน้อย ถ้ามีกิเลสเข้ามาปนน้อย ย่อมมีความสุขมาก นักปราชญ์บัณฑิต วัดความสุขกันที่ความบริสุทธิ์ของใจ เพราะเป็นนิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องเจือด้วยอามิสหรือวัตถุสิ่งของ แต่ถ้าเป็น สามิสสุข คือ สุขที่ต้องอาศัยอามิสแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถราบ้านช่อง ทรัพย์สินเงินทองมากมายขนาดไหน หรือจะพรั่งพร้อมด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน แต่หากมีใจขุ่นมัว จิตยังคุกรุ่นด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้มีความสุขอย่างแท้จริง
พระบรมศาสดาทรงสอนว่า ถ้าอยากพบกับความสุขเป็นอมตะ คือสุขล้วน ๆ ที่ไม่มีทุกข์เจือปน ต้องตามรักษาจิตไว้ให้ตั้งมั่น หากไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีแล้ว จะส่งผลกระทบเสียหายไปถึงวาจาและการกระทำทางกาย เพราะธรรมชาติของจิตมีปกติดิ้นรนเหมือนลิง คือไม่ชอบอยู่นิ่ง ถ้าไม่ควบคุมให้ดี มักจะดิ้นรนซัดส่ายไปหากิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป
ผู้ปรารถนาความสุข จึงต้องเริ่มต้นที่การฝึกฝนจิต ถ้าหมั่นรักษาไว้ ให้คงความบริสุทธิ์ จนเห็นเป็นดวงใสสว่างอยู่กลางกายเสมอ ประคองให้หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวจะพูด หรือกระทำสิ่งใด ก็จะมีความพอเหมาะพอดี และจะนำแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลเข้ามาสู่ตัวเรา ดังนั้น จิตที่ฝึกดีแล้ว จึงนำสุขมาให้
มีเรื่องเล่าว่า มีงูพิษตัวหนึ่งเลื้อยออกจากป่าไปหาเหยื่อตามทุ่งนา ขณะเดียวกันนั้นเอง โคตัวหนึ่งกำลังขวิดจอมปลวกเล่นอยู่ งูกลัวจะถูกเหยียบ จึงรีบเลื้อยไปหลบอยู่ในจอมปลวก แต่เลื้อยหลบไม่พ้นจึงถูกโคเหยียบหาง มันโกรธจัด จึงฉกโคแล้วพ่นพิษใส่ ทำให้โคล้มตายในทันที เจ้าของเห็นโคของตนตายรู้สึกโศกเศร้าเสียใจมาก จึงขุดหลุมฝังมันด้วยความอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก
เมื่อเจ้าของโคกลับไปแล้ว งูได้สำนึกว่า เพราะความโกรธของเราแท้ ๆ ทำให้โคตัวนี้ต้องตาย ผู้คนต้องมาโศกเศร้าเสียใจไปด้วย หากเราข่มความโกรธไว้ไม่ได้ เราจะไม่ยอมออกหาอาหารอย่างเด็ดขาด จากนั้นมันได้เลื้อยเข้าไปในอาศรมของฤๅษี นอนสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มความโกรธตามที่ตั้งใจไว้
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหาร เห็นช้างตายอยู่ข้างทาง มันดีใจคิดว่า เป็นลาภลอยชิ้นใหญ่ของเราแล้ว จึงตรงเข้าไปกัดที่งวง แต่กัดไม่เข้า จึงเปลี่ยนไปแทะที่งา ก็รู้สึกเหมือนกับแทะแผ่นหิน กัดที่หาง ก็รู้สึกเหมือนกัดสากตำข้าว ครั้นกัดช่องทวารหนักก็รู้สึกว่า ได้กินเนื้อนุ่ม ๆ จึงเกิดติดใจมุดเข้าไปอยู่ข้างในท้องช้าง แล้วกัดกินเครื่องในอย่างเอร็ดอร่อย เมื่ออิ่มแล้วมันจึงยึดท้องช้างนั้นเป็นที่พักผ่อนนอนหลับ ไม่ยอมออกไปไหนเลย
หลายวันผ่านไป ซากของช้างเริ่มแห้งลง ทำให้ช่องทวารหนักถูกปิด มันจึงติดอยู่ข้างในหาทางออกไม่ได้ วันหนึ่ง ฝนตกหนักทำให้ช่องทวารหนักของช้างอ่อนตัวลง สุนัขจิ้งจอกเห็นแสงสว่างลอดเข้ามา จึงรีบตะเกียกตะกายออกไปจนสุดกำลัง เมื่อรอดชีวิตมาได้ มันสอนตนเองว่า เพราะความโลภแท้ ๆ ทำให้เราแทบเอาชีวิตไม่รอด ถ้าเราข่มความโลภไม่ได้ เราจะไม่ยอมออกหากินเด็ดขาด จากนั้น มันได้ไปนอนสมาทานอุโบสถ เพื่อข่มความโลภที่อาศรมของฤๅษี
หมีตัวหนึ่งไม่พอใจในถิ่นที่อยู่ของตน อยากทดลองไปเที่ยวในถิ่นของมนุษย์ จึงออกจากป่าไปหากินตามแถบชนบท พวกชาวบ้านเห็น จึงพากันเอาธนูยิงหมี เอาไม้พลองทุบตีจนเลือดไหลอาบทั้งตัว เมื่อหลบหนีเงื้อมมือมนุษย์มาได้ มันได้คิดว่า เป็นเพราะเราไม่รู้จักประมาณตนแท้ ๆ จึงต้องได้รับความเจ็บปวดถึงเพียงนี้ จากนั้น มันได้ไปสมาทานอุโบสถศีลที่อาศรม ของฤๅษี เพื่อข่มความทะยานอยากของตน
ฝ่ายฤๅษีโพธิสัตว์กำลังมัวเมาอยู่ในอำนาจมานะ ถือตัวว่าตนเองมีชาติตระกูลสูง จึงไม่หมั่นเจริญสมาธิ ภาวนา แม้จะแสดงตนว่าเป็นนักบวชที่เคร่งครัด แต่มีจิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สามารถ ทำฌานสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้ ขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง หวังจะอนุเคราะห์ท่านฤๅษี เพราะเห็นว่าบำเพ็ญบารมี มานาน จึงมาปรากฏกายให้เห็น พร้อมทั้งแนะนำให้รีบเร่งทำความเพียร หมั่นสำรวมระวังจิตให้ดี อย่าได้ประมาท แต่ท่านกลับไม่เชื่อ เพราะถือตัวว่า เป็นนักบวชเหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงได้เหาะขึ้นไปในอากาศให้เห็นในขณะนั้นเอง
ท่านฤๅษีเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้นก็ได้สติและเกิดความสลดใจว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะ มีสรีระหนักแต่สามารถเหาะไปในอากาศได้เหมือนปุยนุ่น ส่วนเรามัวแต่ถือตัว จึงไม่มีคุณวิเศษอะไร ชาติตระกูลจะช่วยอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ เมื่อทิฏฐิมานะของเรายังพอกพูนอยู่เช่นนี้ ก็มีแต่จะพาเราไปสู่นรก ฉะนั้น หากเรายังข่มมานะไม่ได้ เราจะไม่ไปหาผลไม้มาขบฉันอย่างเด็ดขาด
ท่านรีบเข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มมานะ นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ เพียงไม่กี่วันก็สามารถละมานะความถือตัวลงได้ ทำใจให้หยุดนิ่งจนได้อภิญญาสมาบัติ แล้วจึงเหาะไปหาผลไม้มาฉันตามปกติ เมื่อท่านเห็นสัตว์ทั้งสามที่มาสมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มจิต ท่านเมตตาสั่งสอนให้ตั้งใจรักษาอุโบสถศีลไว้ให้มั่น ภพชาติ ต่อไปจะได้ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานอีก
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ หากรู้จักการสำรวมระวังจิตแล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมโลก เหตุที่มนุษย์เกิดมามีความแตกต่างกัน เพราะได้ทำกรรมที่แตกต่างกัน การกระทำที่แตกต่างกันนั้น ล้วนมาจากจิตใจที่ต่างกัน เพราะใจเป็นบ่อเกิดของคำพูดและการกระทำ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกัน กรรมที่แตกต่างกัน เพราะกิเลสตัณหาทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ เมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว คำพูดหรือการกระทำก็ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย
การตามรักษาจิตให้หยุดนิ่ง เป็นภารกิจหลักของพวกเรา ทุกคน ที่จะต้องช่วยเหลือตนเองก่อนสิ่งอื่นใด เพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน เข้าถึงดวงธรรม ถึงพระรัตนตรัยภายใน เพราะฉะนั้น ให้ช่วยกันชักชวนสร้างความดีต่อไป เพื่อนร่วมโลกของเราจะได้มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงในชีวิตกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔ หน้า ๑๑๒ - ๑๑๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ปัญจอุโบสถชาดก..... เล่ม ๖๐ .... หน้า ๔๔๐
โฆษณา