3 มี.ค. 2021 เวลา 13:15
3 วิธีเพิ่มพลังให้เรื่องเล่า
.
.
การเล่าเรื่องที่ดีและสนุกเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่เรามักจะพบในคนที่ประสบความสำเร็จครับ อนึ่ง การเล่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการสื่อสารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การวาด หรือแม้แต่การแสดงออกทางร่างกายต่างๆ ก็ตาม
.
มีงานวิจัยหลายชิ้นนะครับที่พบว่า สมองคนเราชอบเรื่องเล่า และยังพบด้วยว่าสิ่งที่คนมักจดจำได้ดี ก็คือเรื่องเล่าเช่นกัน แต่การจะเล่าเรื่องให้คนอยากติดตามหรือสนใจนั้นก็ไม่ใช่การเล่าไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะมันก็มีวิธีอยู่ ครั้งนี้ผมเลยรวบรวมหลักการผสมกับวิธีที่ผมชอบใช้ในช่วงนี้ มาแบ่งปัน โดยมีอยู่ 3 ข้อ ดังน้ีครับ
.
.
1. เรื่องเล่าที่ดีต้องมี ความขัดแย้ง และ จุดจบของเรื่อง
.
เรื่องจะเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากขึ้น ถ้ามีความขัดแย้งหรืออุปสรรคครับ ถ้าเล่าไปเรื่อยๆ อารมณ์ว่า ตื่นเช้ามา ไปทำงาน กลับบ้านแล้วก็นอน แบบนี้เรื่องจะไม่สนุก ถ้าอยากให้สนุก ต้องมีการพลิกผัน อุปสรรค หรือเหตุการณ์ไม่ปกติ และบอกว่าสุดท้ายคลี่คลายและจบลงอย่างไร แบบนี้แหละครับถึงจะน่าติดตาม
.
อย่างเรื่องเล่าแบรนด์หนึ่งที่ผมว่าแปลกดีจนจำได้แม่น คือ แบรนด์แฟชั่น เคนเนธ โคล (Kenneth Cole) คือตอนที่ เคนเนธ เริ่มต้นธุรกิจจากการขายรองเท้า ตอนนั้นเค้าไม่ค่อยมีเงิน แต่ว่าอยากนำรองเท้าไปวางขายในงานรวมสินค้าแฟชั่นที่โรงแรม ฮิลตัน ที่นิวยอร์ก ด้วยความที่เงินไม่พอจ่ายค่าออกบูธ เค้าก็เลยปิ๊งไอเดียว่า งั้นก็ขายรองเท้าหลังรถบรรทุกที่หน้าโรงแรมแทน
.
เค็นเน็ธ ก็เลยโทรไปถามขั้นตอนขอใบอนุญาตจอดรถกับทางเขต แต่ปรากฏว่า ทางเขตอนุญาตให้จอดรถได้ 2 กรณีเท่านั้น คือ หนึ่งเป็นรถสาธารณสุข เช่น รถห้องน้ำเคลื่อนที่ กับสองเป็นรถกองถ่ายภาพยนตร์ พอได้ยินอย่างนี้ เคนเนธก็เลยเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “เคนเนธ โคล โปรดักชั่นส์” และทำหนังสือแจ้งไปทางเขตว่า เค้าจะขอใบอนุญาตจอดรถบรรทุก(ที่เช่ามา) เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อเรื่อง “The Birth of a shoe company” (การกำเนิดของบริษัทรองเท้า)
.
โดยเรื่องที่เค้าถ่ายทำก็คือ ที่เค้าขายรองเท้าอยู่หน้าโรงแรมนี่แหละครับ และก็โชคดีมากว่า เค้าขายรองเท้าได้หมดและมีคนออร์เดอร์เข้ามาเพียบ จนทำให้บริษัทตั้งตัวขึ้นมาได้เลย ดังนั้นทุกวันนี้ เคนเนธ โคล จะเป็นแบรนด์แฟชั่นก็จริง แต่ก็ยังใช้ชื่อบริษัทว่า เคนเนธ โคล โปรดักชั่นส์ เหมือนเดิม เพื่อรำลึกถึงที่มาของการกำเนิดบริษัทนั่นเอง
.
จากเรื่องเล่านี้ ถ้าสังเกตดีๆ มีองค์ประกอบโครงสร้างเรื่องครบหมดเลยครับ คือ มีความขัดแย้งหรืออุปสรรค (Conflict) ว่า เคนเนธ ไม่มีเงิน แต่ต้องการขายรองเท้าให้ได้ จนมาถึงการคลี่คลาย (Resolution) คือ เคนเนธใช้วิธีอ้างว่าถ่ายทำภาพยนตร์ และจบเรื่อง (Ending) ด้วยว่าเค้าขายรองเท้าได้หมดและตั้งหลักบริษัทได้สำเร็จ
.
ฉะนั้น ถ้าคุณอยากเล่าเรื่องอะไรก็ตามให้น่าสนใจ อย่าเล่าไปเรื่อยๆ นะครับ แต่ให้คิดโครงเรื่องที่มีองค์ประกอบพวกนี้ เพราะการเล่าแบบนี้เป็นการเล่าที่คนชอบฟังมากที่สุดครับ
.
2. เรื่องประกอบช่วยให้คนรู้สึกอิน
.
ทีนี้ ถ้าคุณไม่ได้ต้องการจะเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นเหมือนตัวอย่างเรื่อง เคนเนธ โคล แต่อยากสื่อสารประเด็นหรือโน้มน้าวคนให้คล้อยตาม ตรงนี้คุณก็สามารถใช้เรื่องเล่ามาสร้างพลังได้เหมือนกันครับ
.
อย่างถ้าใครสังเกตเวลาผมเล่าเรื่องในแฟนเพจ ผมจะมีประเด็นเป็นธงที่จะเล่าทุกครั้ง พอมีธงแล้ว ผมก็จะหาเคสตัวอย่างมาประกอบ เช่น ผมตั้งธงว่าจะเล่าข้อดีของความอดทน จากนั้นผมก็จะหาเรื่องคนที่อดทนแล้วได้ดีมาเล่าประกอบ เพื่อสนับสนุนให้ประเด็นที่ต้องการสื่อสารมีน้ำหนัก
.
ซึ่งเรื่องเล่ายังช่วยทำให้คนอินและคล้อยตามได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องเล่าทำให้คนเห็นภาพชัด และทำให้คนอ่านเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่อง เช่น บางคนมีประสบการณ์อดทนทำอะไรบางอย่างอยู่ พออ่านเรื่องคนที่อดทนแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องเล่า และคิดต่อว่า ถ้าตัวเองอดทนทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็สำเร็จได้เหมือนกัน
.
สำหรับหลักสำคัญของข้อนี้คือ เรื่องเล่าประกอบต้องสอดคล้องกับธงที่จะเล่านะครับ ถ้าคนละเรื่องคนละราว จะทำให้ทั้งเรื่องงงๆ นอกจากนี้แล้ว ในหนังสือ Talk Like Ted ยังแนะนำอีกเทคนิคหนึ่งที่ดีว่า ถ้าอยากเปิดเรื่องให้คนติดตาม ควรเปิดเรื่องด้วยเรื่องเล่าด้วยเช่นกันครับ
.
3. เรื่องเล่าต้องมีอารมณ์
.
อารมณ์เป็นเรื่องสำคัญมาก คุณลองสังเกตก็ได้ครับ สิ่งที่ตกค้างหรือที่เราพอจำได้เวลาฟังเรื่องเล่า ส่วนใหญ่มันคือ อารมณ์ร่วม ครับ คือบางทีคุณอาจจำไม่ได้ว่าเพื่อนพูดอะไร แต่คุณจะจำได้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เพื่อนพูด
.
ดังนั้น การเล่าเรื่อง จึงต้องใส่อารมณ์เข้าไปด้วยครับ อย่างเรื่อง เคนเนธ โคล มันก็จะออกแนวตลกและแนวคาดไม่ถึง ที่ว่า เป็นบริษัทขายรองเท้าแท้ๆ แต่ดันมีวีรกรรมที่ทำให้ชื่อบริษัทเหมือนชื่อบริษัทโปรดักชั่น หรือกลับมาที่ตัวอย่างว่า อยากเล่าข้อดีของความอดทน ก็อาจต้องเล่าโดยใส่อารมณ์ที่ดูฮึกเหิม มีความหวัง ทั้งนี้ ก็เพราะอารมณ์ที่สอดแทรกเข้าไปจะช่วยให้คนอินกับเรื่องด้วย
.
สุดท้ายมันคือสิ่งเดียวกับเวลาเราดูหนังครับ เราไม่ได้ดูหนังว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เรารับรู้อารมณ์ เช่น ตื่นเต้น เศร้า หรือขบขันไปกับเรื่องด้วย
.
และสามข้อนี้ ก็คือหลักคิดที่ผมใช้เวลาเล่าเรื่อง ส่วนถ้าถามผมว่า แล้วจะนำมาปรับใช้อย่างไรดี ผมว่าเรื่องนี้อยู่ที่การฝึก คือต้องลองฝึกบ่อยๆ และใช้วิธีดูว่าคนเก่งเค้าเล่าเรื่องอย่างไร แล้วลองมาปรับและสร้างสไตล์ของตัวเอง
.
อย่าง เดล คาร์เนกี เจ้าของหนังสือโด่งดังชื่อ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน | How to win friends and influence people ที่กลายเป็นตำราคลาสสิกสอนเรื่องการเจรจากับคน ใครจะเชื่อว่า แต่เดิม เดล คาร์เนกี เป็นคนพูดไม่เก่งมาก่อน แต่ที่พัฒนาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ ก็เพราะเค้าฝึกบ่อยนั่นเอง
.
ฉะนั้น ใครที่อยากเล่าเรื่องเก่งๆ มีเคล็ดลับเดียวคือ ต้องฝึกบ่อยๆ แล้วคุณก็จะปล่อยมนตร์ขลังให้เรื่องเล่าได้เก่งขึ้นเองครับ
.
.
#MissionToTheMoonPodcast
13
โฆษณา