5 มี.ค. 2021 เวลา 04:24 • การศึกษา
วันใดยังไม่ได้ให้ทานอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็อย่าเพิ่งทานข้าวกันเลย
ขึ้นต้นด้วยประโยคนี้ บางคนอาจจะอยากเลื่อนผ่าน เพราะบางคนอาจเคยได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังมาบ่อย จากการพูดอานิสงส์การทำบุญ เมื่อพบเจอกัลยาณมิตร แต่หากได้ศึกษาอย่างละเอียดจะทำให้เข้าใจและซาบซึ้งมากขึ้น
การได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ หรือในแต่ละครั้งการรับรู้นั้นอาจไม่เหมือนเดิม การฟังครั้งแรก ฟังครั้งที่ 2 3 ผลที่ได้รับอาจแตกต่างกัน ดังนั้นการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ ย่อมเป็นผลดีกับเราแน่นอน หากเรื่องนั้นเป็นธรรมะ ก็ยิ่งเป็นมงคลอย่างยิ่ง
คนสมัยก่อน โดยเฉพาะนักสร้างบารมีที่มีเป้าหมาย เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านจะทุ่มเทสร้างความดีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลยทีเดียว
ทานบารมี เป็นบารมีขั้นพื้นฐานเป็นบันไดขั้นแรกของบารมี 10 ทัศ บารมี แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ดังนั้น การให้ทรัพย์สิน เงินทอง จึงถือว่าเป็นทานภายนอก คือ เป็นเพียงของนอกกาย นับเป็นระดับบารมีนั่นเอง
วันนี้ เอื้อยทิน นำชาดกมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นธรรมทาน และเป็นกำลังใจในการสร้างบุญบารมีไปในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนที่มีนิสัยรักการให้โดยไม่อาลัยชีวิต และให้ด้วยใจเด็ดเดี่ยว ท่านปรารถนาที่จะให้ทานภายใน คือ ร่างกายของท่านเอง ได้แก่ เนื้อ เลือด ดวงตา หัวใจ แม้กระทั่งเป็นทาสรับใช้ก็ยอม
“คนใจเด็ด ควักดวงตาเป็นทาน” เป็นการทดสอบกำลังใจ ทดสอบกำลังทานบารมีของพระราชา โดยท้าวสักกเทวราชแปลงกายเป็นชายชรา ทูลขอดวงพระเนตรกับพระราชา
สีวิราชชาดก บริจาคดวงตาเป็นทาน (อุปบารมี)
เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้าสีวิ เป็นพระราชาที่ปกครองไพร่ฟ้าโดยธรรม ท่านสร้างโรงทาน 6 แห่ง บริจาคทานมื้อละ 6 แสนกหาปณะ ใครขอสิ่งใด ท่านก็ให้สิ่งนั้น
วันหนึ่งพระองค์มีดำริว่า “อันทานเหล่านี้เป็นแต่เพียงทานภายนอก ไฉนเราจะยินดีได้เท่าทานภายใน ตอนนี้เราต้องการจะให้ทานภายใน คือ อวัยวะในร่างกายของเราบ้าง" ชาวเมืองขอแต่ทรัพย์ภายนอก เมื่อไหร่จะมีใครมาขอทรัพย์ภายในบ้าง เราให้ได้ตั้งแต่เนื้อ เลือด นัยน์ตา หัวใจ แม้กระทั่งเป็นทาสรับใช้ก็ยอม เราจะให้โดยไม่มีส่วนเหลือ ไม่มีข้อแม้เลย
พระองค์จึงเสด็จไปที่โรงทาน พลันก็มองเห็นชายชรา กำลังเดินเข้ามาหาพระองค์ ชายชรายื่นมือมา พลางพูดขึ้นว่า “ข้าแต่มหาราช ชาวเมืองแซ่ซ้องว่าพระองค์มีอัธยาศัยชอบให้ทานยิ่งนัก บัดนี้ข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด ส่วนพระองค์ตาดีมีพระเนตรสองข้างสมบูรณ์ ข้าพเจ้าขอวิงวอนแบ่งดวงตาให้ข้าพเจ้าสักข้างหนึ่งเถิด”
เสียงนั้นเป็นดังเช่นเสียงสวรรค์ พระเจ้าสีวิราชมีความยินดี พระพักตร์เปล่งปลั่งแย้มบาน ทรงรำพึงว่า ความปรารถนาของเราถึงที่สุดแล้วก็วันนี้
 
“ท่านขอเราเพียงข้างเดียว แต่เราคิดจะให้ท่านทั้งสองข้าง”
เหล่าสนม เสนาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร และชาวเมืองต่างยับยั้งพระราชาว่า
“อย่าเลย พระองค์อย่าทรงบริจาคเลย พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์มากมายมหาศาลปานนี้ มีแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ ราชรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย พญาช้าง ที่อยู่อาศัยที่ทำด้วยทองคำ ยังไม่พอพระทัยอีกหรือ”
“ดวงตาเป็นดั่งความรื่นรมย์ของชีวิต พระองค์จะยอมสละความรื่นรมย์ของชีวิตหรือ” อำมาตย์กล่าว
พระราชาตรัส 3 ครั้งว่า
"ผู้ใดพูดว่า เราจักให้แล้วกลับใจไม่ให้ ผู้นั้นชื่อว่าสวมบ่วงที่ตกไปบนพื้นดินไว้ที่คอ"
"ผู้ใดพูดว่า เราจักให้แล้วกลับใจไม่ให้ ผู้นั้นเป็นคนเลวกว่าคนที่เลว ชื่อว่าเข้าถึงสถานที่ลงโทษแห่งพญายม"
"เขาขอสิ่งใด ควรให้สิ่งนั้น เขาไม่ขอสิ่งใด ไม่ควรให้สิ่งนั้น เราจักให้สิ่งที่พราหมณ์ขอกับเราเท่านั้น"
พระองค์จะทรงพระราชทานดวงเนตรไปเพื่ออะไรกัน? หรือพระองค์ปรารถนาอายุ วรรณะ ความสุข หรือกำลังอันใดอีก ก็พระองค์ทรงมีพร้อมทุกอย่าง ทรงเป็นพระราชาผู้เลิศ มีเกียรติยศสูงสุด ไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งกว่าที่พระองค์มีอีกแล้ว
“เราให้ดวงตานี้ ใช่ว่าอยากจะได้เกียรติชื่อเสียง แต่เราให้เพื่อหนุนสันดานให้แก่รอบ เพื่อบ่มอัธยาศัย สร้างบารมีที่บัณฑิตในกาลก่อนสั่งสมมาดีแล้ว ใจของเราจึงชอบการให้”
พระราชารับสั่งกับหมอหลวงทันที
“ท่านทำตามคำของเราให้จงดี จงควักดวงตาทั้งสองของเราวางไว้ในมือวณิพกผู้นี้”
หมอหลวงบดยาใส่เบ้าพระเนตรขวา พริบตานั้นพระเนตรพลันพร่าลงทันที ความเจ็บปวดแสนสาหัส หมอหลวงหยุดมือ กราบทูลขอให้พระองค์ตัดสินพระทัยให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง การทำพระเนตรให้กลับคืนยังทำได้ แต่พระองค์ ตอบกลับหมอหลวงว่า "อย่าชักช้า"
หมอหลวงปรุงยาอีกขนานใส่ซ้ำลงไป คราวนี้พระเนตรหลุดเผยออกจากหลุมทันที ความเจ็บปวดทับทวีมากขึ้นจนสุดจะพรรณนา ดังนั้น ก่อนใช้ตัวยาขั้นเด็ดขาด หมอหลวงจึงทูลถามเป็นครั้งสุดท้าย “ขอพระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้ดีเถิด ข้าพระองค์ยังสามารถทำพระเนตรกลับสู่สภาพเดิมได้พระเจ้าข้า”
พระราชากลับมีหทัยเด็ดเดี่ยวยิ่ง ตรัสยืนยัน ไม่โลเล ทุกขเวทนาเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า พระภูษามีแต่พระโลหิตไหลชุ่มโชก แต่พระหฤทัยกลับมีปีติชุ่มฉ่ำรินอยู่ไม่ขาดสาย เพราะในพระทัยของพระองค์มีแต่ความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ตรัสกับหมอหลวงว่า “อย่าชักช้า หมอ”
หมอหลวงตัดใจคว้ามีดตัดเอ็นวางดวงเนตรบนพระหัตถ์ พระองค์ใช้พระเนตรซ้ายมองดูพระเนตรขวาบนฝ่าพระหัตถ์ เกิดปีติแรงกล้า ข่มความเจ็บปวดไปหมดสิ้น พลางตรัสกับชายชราว่า
“มาเถิดท่าน จงรับไปเถิด พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นที่เรารักยิ่ง เรารักธรรมจักษุมากกว่าดวงตานี้นับร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า การบริจาคครั้งนี้จงเป็นไปเพื่อพระสัพพัญญุตญาณของเรา”
3 วันผ่านไป อาการปวดพระเนตรทุเลาลง ดำริว่า “คนตาบอดไม่สมควรจะอยู่ครองราชย์เลย” จึงเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน เพื่อหาที่วิเวกนั่งปฏิบัติธรรม เวลานั้นท้าวสักกะก็ปรากฏกายขึ้น จึงได้สนทนากัน
พระราชา “นั่นใคร”
ท้าวสักกะ “เรา คือ ท้าวสักกะ มาที่นี่เพื่อจะประทานพรแก่ท่าน ท่านจงรับพรจากเราเถิด”
พระราชา “ข้าแต่ท้าวสักกะ ทรัพย์ทุกอย่างเรามีมากพอแล้ว แต่เราตาบอด ตอนนี้เรายินดีแต่ความตายเท่านั้น”
ท้าวสักกะ “พระองค์อยากตายเพราะพระทัย หรือเพราะตาบอด”
พระราชา “เพราะเราตาบอด”
ท้าวสักกะ “พระองค์โปรดทำสัจจกิริยาเถิด แล้วพระเนตรจะบังเกิดขึ้นได้อีกครั้ง”
พระราชา ทรงนึกถึงอุปบารมีว่า
“วณิพกเหล่าใดมาขอสิ่งใดกับเรา วณิพกเหล่านั้นล้วนเป็นที่รักยิ่งของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอดวงตาจงบังเกิดมีอีกครั้ง และผู้ใดมาขอดวงตาเรา เราก็ได้ให้ด้วยปีติโสมนัสยิ่ง ด้วยสัจจวาจานี้ขอดวงตาจงพลันบังเกิดขึ้นเถิด”
พริบตานั้นเบ้าพระเนตรอันสุกใสก็พลันปรากฏขึ้น พระเนตรคู่ใหม่นี้ เหมือนดวงจันทร์กลางหมู่ดาว ราวกับดวงอาทิตย์ ไฉนจึงชัดเช่นนี้ กระทั่งเห็นทะลุผนัง กำแพง ภูเขา ไกลนับร้อยโยชน์
ท้าวสักกะทรงประกาศเรื่องนี้ให้มหาชนทราบ มหาชนต่างแห่แหนกันมารับพระองค์เสด็จสู่พระนคร ประกาศเรียกเสนา ข้าราชการ ชาวเมือง และมหาชนทั้งหลายมาประชุมกันแล้วตรัสว่า
1
“ท่านทั้งหลายจงดูตาทิพย์อันสุกใสของเรานี้ ตานี้เห็นได้ทะลุฝา ทะลุกำแพง และภูเขานับร้อยโยชน์ เราให้ดวงตามนุษย์แต่กลับได้ตาทิพย์ ฉะนี้แล้ว แต่นี้ไปพวกเราทั้งหลาย ถ้าวันใดยังไม่ได้ให้ทานอะไรสักอย่างหนึ่งก็อย่าเพิ่งทานข้าวกันเลย
ใครก็ตามเมื่อถูกขอทรัพย์ แม้เป็นของพิเศษ หรือของหวงก็ตามแล้วคิดจะไม่ให้ เราขอเตือน! จงดูดวงตาเรานี้ ไม่มีสิ่งใดจะยิ่งกว่าการบริจาคทาน ใครๆ ไม่อาจมาติเตียนผู้ให้ทานได้ ผู้ให้เท่านั้นได้ไปสวรรค์”
จากชาดกเรื่อง คนใจเด็ด ควักดวงตาเป็นทาน “นิสัยรักการให้โดยไม่อาลัยชีวิต และให้ด้วยใจเด็ดเดี่ยว” จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องในทานบารมี
ดวงตาเป็นของรักยิ่งของเราทั้งหลาย การให้ดวงตาจึงนับเป็นอุปบารมี และการให้เช่นนี้มักเป็นการให้ที่สวนกระแสความคิดของคนธรรมดาทั่วไป พระเจ้าสีวิราชให้ดวงตาแก่ชายชราโดยไม่มีข้อแม้ ยามมีคนทัดทานก็ไม่โลเล ด้วยปรารถนาในสิ่งที่ประณีตกว่า คือ พระสัพพัญญุตญาณของพระองค์นั่นเอง
ประชุมชาดก
หมอหลวง คือ พระอานนท์
ท้าวสักกเทวราช คือ พระอนุรุทธะ
พระเจ้าสีวิราช คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก สีวิราชชาดก (ขุ.ชา. (ไทย) 19/ 478-483 มจร.)
เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
โฆษณา