Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จีนจับใจ
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2021 เวลา 23:48 • ท่องเที่ยว
เจียอวิ้กวน ด่านสุดท้ายแห่งกำแพงหมื่นลี้
อดีตประธานเหมาเจ๋อตงเคยกล่าวอมตพจน์ไว้ประโยคหนึ่งว่า
“ปู้เต้าฉางเฉิงเฟยห่าวฮั่น” 不到长城非好汉 หรือ “ไม่ถึงกำแพงเมืองจีน เสียเชิง ชาย”
กำแพงแขวน หรือ เสวียนปี้ฉางเฉิง 悬壁长城 เป็นแนวกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่สร้างต่อมาจากด่านเจียอวิ้กวน ผ่านผืนที่ราบอันกว้างใหญ่ กระทั่ง มาถึงในช่วงตอนนี้ กำแพงได้เลื้อยลดคดไต่ขึ้นไปบนเหลี่ยมเขาของภูเขาเฮยซาน จึงได้รับการเรียกขานว่า กำแพงแขวน พ้นแนวกำแพงแขวนนี้ออกไปทางเบื้องประจิมทิศ ถือว่า ออกนอกด่านสุดแผ่นดินจีนยุคราชวงศ์หมิงแล้ว...
กำแพงเมืองจีนยาวนับหมื่นลี้ หรือ ว่านหลี่ฉางเฉิง 万里长城 ได้รับการจัดอันดับให้เป็น ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง เป็นกำแพงที่ยาวที่สุดในโลก ในอดีตเชื่อกันว่า มีความยาวประมาณ ๘,๘๕๐ กิโลเมตร (๑๗,๗๐๐ ลี้)
แต่เมื่อปีค.ศ.๒๐๑๒สำนักงานมรดกโลกวัฒนธรรมจีนได้ประกาศว่า จากการสำรวจความยาวของกำแพงเมืองจีนรวมทั้งซากปรักหักพังทั้งหมดโดยละเอียดแล้ว พบว่ากำแพงเมืองจีนจะมีความยาวมากกว่าที่ประกาศมาแต่เดิมกว่า ๒ เท่าคือ ๒๑,๑๙๖.๑๘ กิโลเมตร (๔๒,๓๙๒ ลี้) พาดผ่าน ๑๕ มณฑลของจีนโดยมีเพียงร้อยละ ๘.๒ (๑,๗๓๘ กิโลเมตร) เท่านั้นที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์
ด่านเจียอวิ้กวน ด่านสุดท้ายแห่งกำแพงเมืองจีนหมื่นลี้ เป็นปราการชายแดนด้านตะวันตกของจีน สร้างในสมัยต้นราชวงศ์หมิง เมื่อราว 600 ปีก่อน ได้รับสมญานามว่า ด่านเข้มแข็งอันดับหนึ่งในใต้หล้า
ตลอดความยาวอันไกลโพ้นของกำแพงหมื่นลี้นี้ กล่าวกันว่า มีสามด่านที่ลูกผู้ชายต้องไปให้ถึง คือ ด่านปาต้าหลิ่ง Badaling 八达岭 (ปัจจุบันมีด่านที่นิยมกันไปเพิ่มอีก ๒ ด่านคือ จวีหยงกวน Juyong Guan และ มู่เถียนอวิ๋ Mutian Yu) ในกรุงปักกิ่ง สองคือ ด่านซานไห่กวน Shanhai Guan 山海关 -ด่านแรกของกำแพงหมื่นลี้ในมณฑลเหอเป่ย ทอดตัวลงทะเลเหลือง เพื่อสกัดกั้นกองทัพแมนจูมิให้เคลื่อนพลลงมาจากทางภาคอีสาน และสามคือ เจียอวิ้กวน Jiayu Guan 嘉裕关 -ด่านสุดท้ายแห่งฉางเฉิง เป็นปราการป้องกันการรุกรานจากทัพมองโกลทางตอนเหนือและตะวันตก
ทางเดินขึ้นสู่ตัวด่าน มีทางเดินของทหารและม้า (ด้านซ้าย) ประตูทางเข้าด่านมีชื่อเรียกว่า กวงฮว่าเหมิน
เจียอวิ้กวน (หมายถึง ด่านหุบเขาอันสวยงาม)ได้รับฉายาอันน่าครั่นคร้ามมาแต่อดีตกาลว่า “เทียนเซี่ยโฉวฺงกวน” 天下雄关 หรือ “ด่านน่าเกรงขามอันดับหนึ่งในใต้หล้า” ตั้งอยู่กลางระหว่างภูเขาฉีเหลียนซานและภูเขาหม่าจงซาน เป็นช่วงตอนที่แคบที่สุดของเส้นทางระเบียงเหอซี เริ่มสร้างขึ้นในปีค.ศ.๑๓๗๒ รัชกาลจักรพรรดิหมิงไท่จู่ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ.๑๕๔๐ นั่นหมายความว่า มีการสร้างและบูรณะต่อเนื่องกันมาเกือบสองร้อยปีในหลายรัชกาลของราชวงศ์หมิงที่ถูกภัยคุกคามจากทัพมองโกลอยู่เนือง ๆ
ตัวด่านมีกำแพงล้อมรอบสองชั้น ชั้นนอกยาว ๗๓๓ เมตร สูง ๑๐.๗ เมตร ชั้นในยาว ๖๔๐ เมตรครอบคลุมพื้นที่ ๒๒,๕๐๐ ตร.ม. ทางทิศตะวันออกมีประตูทางเข้าด่านเรียกว่า กวงฮว่าเหมิน 光化门 สูง ๑๗ เมตร ด้านหน้าประตูมีศาลเทพเจ้าเหวินชาง (ทางการศึกษา) และเทพเจ้ากวนอู (ทางการรบ) รวมทั้ง เวทีแสดงอุปรากรเพื่อถวายแก่เทพเจ้าและสร้างความบันเทิงให้แก่นักรบที่ถูกส่งมาประจำการในชายแดนอันห่างไกลนี้
1
ทางเดินเหนือกำแพงรอบตัวด่าน เห็นประตูทางเข้า (ทางขวา) และประตูทางออก (โหยวหย่วนเหมิน) ด้านซ้ายสุด ภายในตัวด่านนี้มีขนาดกว้างขวางถึง 22,500 ตร.ม. มีโรงงิ้ว ศาลเทพเจ้าเหวินชาง เทพเจ้ากวนอู จวนพำนักของผู้คุ้มกันด่าน ฯลฯ
ประตูด่านทางทิศตะวันตกเรียกว่า โหรวหย่วนเหมิน 柔远门 ในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อเดินออกนอกประตูนี้ไป หมายถึงพ้นเขตแดนประเทศจีนแล้ว ซึ่งผู้เดินทางออกนอกด่าน อาจจะไม่มีโอกาสได้หวนกลับคืนสู่มาตุภูมิอีก เหนือประตูมีอาคารสูง ๓ ชั้น เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวนอกกำแพงเมือง
แลเมื่อมองจากนอกประตูด่านเข้ามา จะเห็นว่าเป็นทางตัน เพราะมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้านไม่มีทางออก เรียกว่า เวิ่งเฉิง 瓮城หรือ กับดัก กล่าวคือ ในยามศึกใช้ลวงข้าศึกเข้ามาภายใน จากนั้นจะปิดประตูเมืองแล้วทิ้งศัสตราวุธลงไป ดังมีคำเปรียบเปรยว่า “ปิดประตูตีสุนัข” หรือ “จับตะพาบในอ่าง” ครั้นในยามสงบ ภายในเวิ่งเฉิงก็ใช้เป็นที่พักของกองคาราวานพ่อค้าวาณิชบนเส้นทางสายแพรไหม ให้เข้ามาพักภายในด่านเพื่อความปลอดภัย
1
ประตูโหยวหย่วนเหมิน ออกจากประตูนี้ไป คือ เขตแดนตะวันตก (ซีอวิ้ 西域) นอกด่านกำแพงเมืองจีนแล้ว หรือพ้นเขตแดนจีนสมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ป้ายจารึกด้านหน้า เขียนบอกว่า หมื่นลี้แห่งกำแพงมังกร-เจียอวิ้กวน
ตำนานอิฐก้อนสุดท้ายบนด่านเจียอวิ้กวน
เล่ากันว่า ในปีค.ศ.๑๕๐๔ รัชกาลจักรพรรดิหมิงเจิ้งเต๋อ ได้มีการบูรณะด่านเจียอวิ้กวนขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นมีแม่ทัพเฮ่าคง Hao Kong 郝空 ผู้ขึ้นชื่อว่ามีนิสัยโหดร้ายเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยมีนายช่างฝีมือดีนามอี้ไคจั้น易开占 Yi Kaizhan ผู้มีความสามารถในการวางแผนและคำนวณการใช้วัสดุก่อสร้างได้อย่างแม่นยำราวเทวดา
ทว่าชื่อเสียงนี้กลับทำให้แม่ทัพเฮ่าคงเกิดความอิจฉา หมายจะลองดีพิสูจน์ฝีมือของนายช่างผู้นี้ จึงสั่งการให้อี้ไคจั้นคำนวณจำนวนก้อนอิฐที่จะใช้สร้างป้อมขึ้นใหม่ อี้ไคจั้นใช้เวลาครุ่นคิดอย่างรอบคอบไม่นานก็ตอบว่า “ต้องใช้อิฐจำนวนทั้งสิ้น ๙๙,๙๙๙ ก้อน!”
เฮ่าคงได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็แค่นหัวเราะอย่างดูแคลน พร้อมทั้งขู่ว่า “ถ้าหากเจ้าต้องการอิฐจำนวนเท่านั้น ข้าก็จะจัดให้ แต่มีข้อแม้ว่า หากเจ้าใช้อิฐมากหรือน้อยไปเพียงก้อนเดียว นอกจากชีวิตของเจ้าจะหาไม่แล้ว คนงานของเจ้าทั้งหมดจะต้องทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนนาน ๓ ปี!”
อี้ไคจั้นตอบรับอย่างไม่หวั่นเกรงคำข่มขู่ เขาพากเพียรควบคุมคนงานนับพันก่อสร้างป้อมขึ้นอย่างยากลำบากทั้งวันคืนนานกว่าร้อยวันจึงแล้วเสร็จ โดยเขาได้ใช้อิฐไปรวมทั้งสิ้น ๙๙,๙๙๘ ก้อน โดยยังคงเหลืออิฐอยู่อีกหนึ่งก้อน! แต่นั่นมิได้ทำให้เขาหวาดหวั่น เพราะเขาได้นำไปวางไว้บนด้านตะวันตกของขอบกำแพงเวิ่งเฉิง เมื่อเฮ่าคงมาตรวจงาน พบว่ามีอิฐเหลืออยู่ก้อนหนึ่ง จึงหมายจะทวงเอาชีวิตของอี้ไคจั้นตามคำสัญญา
มีเรื่องเล่าว่า นายช่างผู้ควบคุมการสร้างด่านคือ อี้ไคจั้น ได้คำนวณอิฐที่นำมาสร้างด่านนี้เกินไปเพียงก้อนเดียว ปัจจุบัน อิฐก้อนดังกล่าวยังตั้งอยู่บนเชิงเทินกำแพง เพื่อเป็นการสดุดีถึงความสามารถของนายช่างผู้นี้ จนแม้วิศวกรปัจจุบันยังอาย!!!
อี้ไคจั้นจึงตอบว่า “อิฐก้อนที่ท่านเห็นนั้นคือ “อิฐทับเมือง 定城砖(ติ้งเฉิงจ้วน)” เทพเทวาบนสรวงสวรรค์ได้ประทานมาให้ เพื่อความมั่นคงของด่านเรา และหากใครกล้านำอิฐก้อนนี้ออก กำแพงทั้งหมดจะพังทลายลงมาในทันที!”
เฮ่าคงได้ยินดังนั้นก็มีสีหน้าผิดหวังที่พลาดโอกาสจะเล่นงานอี้ไคจั้น แล้วเดินหนีจากไปอย่างจำนนในเหตุผล
ทุกวันนี้ “อิฐทับเมือง” ก้อนสุดท้ายของด่านเจียอวิ้กวนยังคงตั้งอยู่บนกำแพงด้านตะวันตกของเวิ่งเฉิงโดยไม่มีใครกล้าเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ มิใช่เพื่อเกรงตามคำขู่ดังกล่าว หากแต่เพื่อเป็นการสดุดีในความสามารถทางวิศวกรรมอันยอดเยี่ยมของอี้ไคจั้น ที่แม้คนในยุคปัจจุบันก็ยังอาย!
1
อ่านแล้วชอบ โปรดกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนสร้างสรรค์ฺผลงานต่อไปครับ
4 บันทึก
19
5
4
19
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย