6 มี.ค. 2021 เวลา 08:49 • หนังสือ
รีวิวหนังสือ 2021: เล่มที่ 5 การเงินคนจน (The Poor and their Money)
ผู้เขียน : Stuart Rutherford ผู้แปล : สฤณี อาชวานันทกุล
หนังสือเล่มนี้ช่วยให้คุณเปลี่ยนมุมมองที่เคยเข้าใจว่า “คนจนนั้นจนเพราะเก็บเงินไม่เป็น หรือเพราะบริหารเงินไม่เป็นถึงได้จน” ซึ่งในความเป็นจริงนั้น คนจนบริหารเงินได้เก่งไม่แพ้ชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางเลย เพราะยิ่งมีเงินน้อย ยิ่งเป็นสิ่งท้าทาย ต้องใช้พลังสมองในการคิดอย่างมากว่าจะทำอย่างไรกับเงินก้อนนั้นให้เกิดค่าสูงสุด”
4
หนังสือ: การเงิน คนจน
คนจนนั้นยังชีพด้วยรายได้จำนวนน้อยนิดและไม่สม่ำเสมอ แต่พวกเขามักจะต้องการเงินจำนวนมากกว่าเงินที่มีอยู่ในมือเพื่อใช้จ่ายในเหตุการณ์สำคัญๆของชีวิต วิธีเดียวที่เชื่อมั่นได้และยั่งยืนในการหาเงินจำนวนมากๆเหล่านี้ก็คือการสะสมเงินออม คนจนจำเป็นต้องออมและบริการทางการเงินสำหรับคนจนก็ช่วยให้ออมได้ หนังสือเล่มนี้นำเสนอวิธีที่คนจนใช้หาเงินก้อนใหญ่เป็นครั้งคราว ซึ่งปกติมีอยู่ 3 วิธีที่คนจนจะหาเงินก้อนใหญ่ได้ วิธีที่ว่านี้ได้แก่ 1) ขายสินทรัพย์เพื่อหาเงินสด 2) การจำนำหรือจำนองทรัพย์สินที่มีอยู่ 3) หาทางเปลี่ยนการออมเป็นเงินก้อนใหญ่
3
สำหรับวิธีการในข้อ1)และข้อ 2) นั้น มักถูกจำกัดด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนมีสินทรัพย์น้อยมาก ดังนั้นในวิธีการในข้อ 3) บริการทางการเงินที่ช่วยให้คนจนแปลงเงินออมก้อนเล็กๆเป็นเงินก้อนใหญ่ดูจะเป็นที่นิยมสำหรับคนจนมากที่สุดดังจะเห็นได้จากการมีการออมผ่านวงแชร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการออมที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงเงินก้อนแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ซึ่งหลักใหญ่ใจความของวงแชร์คือการเอาเงินเล็กมารวมกันเป็นก้อน แล้วกระจายกันไปในกลุ่มเพื่อให้แต่ละคนสามารถใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนั้นได้ง่ายขึ้น
2
ในมุมมองของคนจนนั้น “เงินออม” กับ “เงินกู้” ก็คือเรื่องเดียวกันอยู่ที่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนหลังแล้วเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากซื้อโทรศัพท์มือถือราคา 10,000 บาท วิธีการคือเราสามารถเก็บเงินก่อนเดือนละ 1,000 บาท 10 เดือนและนำมาซื้อโทรศัพท์มือถือ มันก็คือการสะสมเงินออมทีละน้อย นำเงินก้อนที่ออมได้มาใช้ภายหลัง หรือ เราจะซื้อโทรศัพท์ด้วยเงินกู้แล้วค่อยๆผ่อนส่งเดือนละเท่าๆกันซึ่งก็คือนำเงินก้อนมาใช้ก่อนในฐานะรายรับล่วงหน้า (หรือเงินกู้) โดยมีเงินออมในอนาคตเป็นหลักประกัน ในแต่ละกรณีการออมเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ อุปกรณ์และบริการต่างๆคือวิธีแปลงเงินออมเป็นเงินก้อนใหญ่จึงมีประโยชน์นี่คือสาเหตุที่คนจนจำเป็นต้องออม
3
คนจนส่วนใหญ่อยากออม ออมได้ และก็ออมจริงๆ พวกเขาติดก็แค่ข้อจำกัดบางอย่างในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงินดีๆ ที่ทำให้ต้องมีต้นทุนในการออมที่สูงไม่แพ้การกู้ สาเหตุก็คือพวกเขาเหล่านั้นรู้ดีว่าเมื่อพวกเขาจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่สำหรับจ่ายค่าบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก พวกเขาไม่อาจออมเงินเหล่านั้นที่บ้านได้ เมื่อเงินสดหายากและมีเรื่องอื่นๆที่ต้องใช้เงินเร่งด่วนตลอดเวลา เป็นการยากมากที่จะรักษาวินัยในการออมได้ ยกตัวอย่างในประเทศอินเดียนั้นจึงมีบริการรับฝากเงินรายย่อย (Micro-Save) คนจนมีความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะหาแหล่งปลอดภัยสำหรับการออม ดังนั้นพวกเขาบางคนจึงยอมจ่ายเงินจ้างคนอื่นมาเก็บออมให้ บริการช่วยออมของคนจนจึงแปลกกว่าคนชนชั้นอื่นในสังคม คนชนชั้นอื่นเวลาออมเงินเราได้ดอกเบี้ย แต่กับคนจนแล้วพวกเขาต้องเสียค่าบริการออมเงินเป็นจำนวนแพงไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ดีๆ อีกด้วยซ้ำ
3
ในประเทศไทยเราน่าจะมีคนคิดโมเดลทางธุรกิจที่ออกแบบบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของคนจน บนข้อเท็จจริงที่ว่าคนจนออมได้และอยากออมแต่ออมได้ทีละเล็กละน้อย รวมทั้งออมไม่ได้ทุกวัน และบางโอกาสคนจนจำเป็นต้องแปลงเงินออมเหล่านั้นให้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่มีประโยชน์ หากมีบริการที่ยืดหยุ่นแบบนี้ คนไทยน่าจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้มากขึ้น
3
โฆษณา