6 มี.ค. 2021 เวลา 14:26 • การศึกษา
ประเด็น: พ่อที่ไม่จดทะเบียนสมรส จะแย่งลูกไปได้หรือไม่❓
ปัญหายอดฮิตที่ทนายโดนถามบ่อยมากๆ 😅 เมื่อพ่อกับแม่ไม่สามารถรักษาชีวิตคู่ด้วยกันต่อไป แล้วลูกน้อยจะได้อยู่กับใครล่ะ❓🤔
💠คุณพ่อจะมีสิทธิในตัวลูก 50% ต่อเมื่อเป็น "พ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย" โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้...
1. พ่อกับแม่สมัครใจจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังที่มีลูก
2. พ่อจดทะเบียนรับรองบุตรที่อำเภอ/สำนักงานเขต โดยมีแม่กับลูก (ลูกอายุเกิน 15 ปีแล้ว) ไปให้ความยินยอมพร้อมกันต่อหน้านายทะเบียน
3. พ่อ "ร้องขอ" ต่อศาล โดยแม่กับลูก (ลูกอายุไม่เกิน 15 ปี) ยินยอม
4. พ่อ "ฟ้องคดี" ต่อศาล เพราะแม่หรือลูกไม่ยินยอม
➡เท่าที่อ่านจากคำถามนี้ หากคุณพ่อท่านไหนเจอปัญหาแบบนี้ คุณพ่อต้องใช้สิทธิตามข้อ 4 นะคะ 😅
📌หลัก: ตราบใดที่พ่อกับแม่ "ไม่" จดทะเบียนสมรส ลูกที่คลอดออกมา "แม่" เท่านั้นที่มีสิทธิในตัวลูกแบบ 100% 😁 เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ลูกที่เกิดจากหญิงนั้น ลูกนั้นเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอค่ะ
แต่❗คุณแม่ก็ไม่ควรกีดกันลูกไม่ให้พบกับคุณพ่อเลยนะคะ แม้ว่าจริงอยู่ที่แม่มีสิทธิให้ลูกอยู่กับตนเองได้ก็ตาม แต่พ่อกับลูกก็ตัดกันไม่ขาดนะคะ ☺ อย่างน้อยได้พบหน้ากัน เที่ยวด้วยกัน พูดคุยไปมาหาสู่กันได้
📌เว้น: แม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนสมรส และคุณพ่อไม่มีสิทธิในตัวลูกเลย แต่❗ใช่ว่าคุณพ่อจะไม่มีหนทางเลยนะคะ 🤗 กฎหมายยังให้ช่องทางแก่คุณพ่อไว้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลให้ตนเองเป็น "พ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย" มีสิทธิในตัวลูกด้วย 50% ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 (การจดทะเบียนรับรองบุตร)
"มาตรา 1548  บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้ "
ดังนั้น คุณพ่อก็สามารถร้องขอต่อศาลได้นะคะ 😊 แต่คุณพ่อต้องไปใช้สิทธิทางศาล"ก่อน"นะคะ อยู่ ๆ จะโมเมเอาลูกไปโดยที่แม่ไม่ยินยอม เดี๋ยวจะโดนคดีอื่นพ่วงมาได้นะคะ 😅
และคุณแม่ก็สบายใจได้ค่ะ 🤗 ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้คุณพ่อมีสิทธิด้วย คุณพ่อจะเอาลูกไปโดยคุณแม่ไม่ยินยอมไม่ได้ค่ะ
ส่วนต่อมา หากศาลสั่งให้คุณพ่อเป็นพ่อชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลจะตัดสินให้ลูกอยู่กับใคร อันนี้อีกประเด็นหนึ่งนะคะ ใช่ว่าเป็นพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะได้ลูกไปนะคะ 😊 ศาลจะคำนึงถึง"ประโยชน์สูงสุดของเด็ก"เป็นสำคัญนะคะ ไม่ได้ดูว่าใครมีเงินที่จะเลี้ยงลูกเยอะกว่ากันนะคะ 😂
1
➡จากคำถามนี้ คุณพ่อ"ไม่มีสิทธิ" เอาลูกไปโดยคุณแม่ไม่ยินยอมนะคะ หากคุณพ่ออยากจะมีอำนาจปกครองลูกหรือให้ลูกอยู่กับตนเอง คุณพ่อต้องใช้สิทธิทางศาลให้ตนเองเป็นพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน จากนั้นจึงจะมาโต้แย้งอีกทีว่าลูกควรอยู่กับใครนะคะ☺
หากคุณพ่อเอาไปโดยที่คุณแม่ไม่ยินยอมแล้วล่ะก็...คุณแม่เอาเรื่องได้แน่นอนค่ะ...ส่วนข้อหาอะไรนั้น...เบื้องต้นต้องดูตามข้อเท็จจริงไปค่ะ.. 😱
โฆษณา