7 มี.ค. 2021 เวลา 05:28 • การศึกษา
7 สเต็ปจับมือเขียน สู่การเป็นเซียนบทความ
#บทความ #นักเขียนมือใหม่ #เทคนิคการเขียน
อยากเขียนบทความให้เก่งไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่หลายคนอาจจะก้าวผิดจังหวะจึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดไว้
วันนี้ผมมีขั้นตอนดี ๆ มาแชร์และชวนเริ่ม 7 สเต็ปจับมือเขียนสู่การเป็นเซียนบทความ ไปพร้อม ๆ กัน
1. เลือกเป้าหมายให้ตรง
ก่อนจะเริ่มเขียนอะไรก็ตามเราต้องมีเป้าหมายชัดเจน
เราต้องมีเทคนิคในการเลือกหัวข้อหรือประเด็นที่น่าสนใจ
เพื่อดึงให้คนเข้ามาอ่านบทความของเรา
การเลือกหัวข้อหรือประเด็นมาเขียนนี้ถือว่าสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้
เพราะมันจะตัดสินได้เลยว่าบทความของเรานี้จะมีคนอ่านหรือเปล่า
บางครั้งบทความเขียนออกมาดี ข้อมูลที่นำมาเสนอมีคุณภาพ แต่กลับไม่มีใครอ่าน
ไม่มีใครให้ความสนใจเพียงเพราะเรื่องนั้นไม่ได้เป็นกระแส
หรือไม่ใช่เรื่องซึ่งคนส่วนใหญ่ตามหา
ดังนั้นหัวข้อที่เลือกควรจะมีการเชื่อมโยงกับกระแสใหญ่หรือกระแสรองของโลกด้วย เพื่อสร้างความแปลกใหม่ น่าสนใจและแตกต่างไปจากบทความประเภทเดียวกัน
2. ทำความรู้จักคนอ่าน
เมื่อได้ประเด็นที่อยากเขียนแล้วก็ต้องมาดูว่าคนอ่านของเรามีลักษณะและพฤติกรรมอย่างไร กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร เขาอยากได้อะไรจากบทความของเราบ้าง
โดยหลัก ๆ แล้วคนเราจะอ่านเพื่อความสนุกสนาน อ่านเพื่อเสริมสร้างพลังงานใจให้มีแรงสู้ต่อ หรืออ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น ๆ
สังเกตดูว่าบทความของเราสามารถให้ประโยชน์ในด้านไหนได้บ้าง ถ้าสามารถให้ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และสร้างแรงบันดาลใจได้
รับรองว่าคนอ่านจะให้การตอบรับดีอย่างแน่นอน
อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องรู้คือคนอ่านของเราชอบอ่านบทความแบบไหน
ชอบรวบรัดกระชับ ชอบให้มีการยกตัวอย่างประกอบเยอะ ๆ เพื่อความชัดเจน
ชอบให้มีข้อมูลหรือรายละเอียดแยกย่อยเยอะ
ชอบแบบเป็นขั้นเป็นตอนให้ทำตามได้ทันที ฯลฯ
3. ค้นหาข้อมูล
ทำการค้นหาข้อมูลหรือเนื้อหาให้ตรงตามทั้งประเด็นที่เลือกและความต้องการของ คนอ่าน โดยข้อมูลนี้ต้องไม่ใช่เรื่องที่เกร่อหรือมีอยู่เกลื่อนแล้ว
หากเป็นเรื่องหรือประเด็นในกระแสข้อมูลนี้ก็ต้องสดใหม่ นำเสนอในมุมอื่น ๆ
ที่ไม่ใช่แค่การอัปเดทข่าวหรือปูพื้นฐานของกระแส
เพื่อให้คนอ่านรู้สึกแปลกใหม่และอ่านไปได้เรื่อย ๆ ไม่ซ้ำซาก
ยกตัวอย่างประเภทข้อมูล เช่น เรื่องราวหรือเรื่องเล่า สถิติต่าง ๆ ที่น่าตกใจ
ประสบการณ์จากคนเขียนเอง หรือความคิดเห็นจากคนสำคัญ เป็นต้น
หากเป็นข้อมูลเชิงลึกควรจะมีการอ้างอิงหรือใส่แหล่งที่มาประกอบเพื่อความน่าเชื่อถือ จากนั้นเราค่อยกลั่นกรองออกมาให้เป็นภาษาและความเข้าใจของตัวคนเขียน เอง เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์งานของนักเขียนท่านอื่น
4. เรียบเรียง
การเรียบเรียงเนื้อหาเองก็เป็นอะไรที่มองข้ามไม่ได้
เพราะบทความจะน่าอ่านก็ต่อเมื่อเนื้อหามีการเริ่มและจบอย่างลื่นไหล
ไม่รู้สึกสะดุดติดขัดหรือสับสนวกวน
เราต้องรู้ว่าเนื้อหาส่วนไหนเหมาะจะนำขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก ๆ
เนื้อหาส่วนไหนเหมาะจะเอาไว้ใช้สำหรับปิดเรื่องเพื่อสร้างความประทับใจแก่คนอ่าน
อย่าหยิบเนื้อหามาใช้มากเกินจำเป็น การที่หามาได้เท่าไหร่ก็ยัดใส่ลงไปให้หมดนั้นนอกจากจะทำให้จัดเรียงยากแล้ว
มันยังน่าเบื่อสำหรับคนอ่านซึ่งชอบความกระชับฉับไว
การเรียบเรียงเนื้อหาที่ดีคือการจูงมือคนอ่านเดินทางผ่านแต่ละย่อหน้าไปได้จนจบ
โดยที่คนอ่านไม่ปิดหรือหยุดอ่านไปกลางครัน
5. เริ่มเขียนให้ไว
เมื่อได้ทุกอย่างมาพร้อมแล้วก็ต้องเริ่มเขียนกันเลย เป็นขั้นตอนที่หลายคนมาถึงแล้วก็หยุดอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน เพราะไม่รู้จะเริ่มยังไง
กลัวเขียนแล้วไม่สนุก กลัวไม่มีใครอ่าน สารพัดความกลัวผุดออกมา
จนบางทีก็เลิกก่อนจะได้เริ่มต้นเขียนด้วยซ้ำ
มันจึงมีคำพูดที่ว่าย่อหน้าแรกยากที่สุดเสมอ
หลายคนจะคิดมากและติดอยู่กับย่อหน้าแรกนานมาก
จนหลายครั้งมันก็พาลเอาย่อหน้าอื่น ๆ ไม่เป็นอันตามมาด้วยเช่นกัน
ถ้ายังไม่มั่นใจให้เราเขียนเป็นแบบร่างก่อน อาจจะเขียนในรูปแบบของ Bullet Point ก่อน หรือจะร่างไว้แค่เป็นไกด์ไลน์ว่าย่อหน้านี้จะมีอะไรบ้าง
ย่อหน้าต่อไปจะใส่เนื้อหาส่วนไหนมาต่อ
การเขียนโครงร่างจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของบทความทั้งหมดและช่วยให้เราจับ เนื้อหายัดลงไปในแต่ละย่อหน้าได้ง่ายขึ้นสำหรับคนที่พึ่งเริ่มเขียนใหม่ ๆ
6. พักและแก้ไข
เมื่อเขียนเสร็จหมดแล้วให้เราทิ้งเวลาประมาณ 1-2
วันก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาอ่านทวนเพื่อแก้
เพราะหากอ่านทวนแก้ทันทีที่เขียนเสร็จ
เราจะเข้าข้างตัวเองในฐานะคนเขียนว่าอันนี้แหละดีที่สุดแล้ว
การทิ้งระยะเวลาให้เราได้พักและกลับมาอ่านอีกครั้งในฐานะของคนอ่าน
จะทำให้เราเห็นจุดซึ่งหากแก้ไขแล้วมันจะดีขึ้นนะ
เห็นว่าเนื้อหาส่วนไหนควรจะเรียงก่อน-หลัง คำหรือประโยคไหนที่ปรับแล้ว
มันจะสละสลวยอ่านง่ายขึ้น
ในการแก้ไขให้เราตัดเนื้อหาหรือคำฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นทิ้งให้มากที่สุด
ให้เหลือเฉพาะส่วนสำคัญจริง ๆ เพื่อให้คนอ่านไม่รู้สึกรำคาญ
และเบื่อกลางทางเสียก่อน
ทำการรีไรท์หรือปรับโฉมใหม่ให้บทความของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
บทความนี้จะออกมาดีกว่าแบบที่เราเขียนเสร็จครั้งแรกแล้วเผยแพร่เลยทันที
7. เผยแพร่
อย่าเก็บไว้อ่านคนเดียว เมื่อเขียนเสร็จสมบูรณ์แล้วต้องนำมาเผยแพร่ให้คนอื่น ๆ
ได้อ่านและคอมเมนต์ด้วย
เราจะได้นำสิ่งเหล่านั้นกลับมาปรับใช้ให้บทความต่อไปมันดียิ่งขึ้น
ใครจะไปรู้ว่าการเผยแพร่บทความของเรามันอาจจะเข้าไปช่วยใครหลาย ๆ คนได้
ทั้งความรู้และประสบการณ์ของเรามันอาจจะไปแก้ปัญหาให้คนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ได้
การเผยแพร่จะทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น
โดยเฉพาะกับกลุ่มคนอ่านซึ่งเป็นเป้าหมายของเรา
หากบทความของเราไปตอบโจทย์ชีวิตเขา
คนอ่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนเราไปเรื่อย ๆ
การเผยแพร่นี้หากปล่อยในพิ้นที่หรือแพลตฟอร์มเฉพาะทางแล้ว
นอกจากจะได้การตอบรับจากคนอ่าน เรายังจะได้รับค่าตอบแทน
สำหรับเป็นรายได้อีกช่องทางด้วย
เชื่อว่าเราทุกคนไม่ได้ขาดซึ่งความรู้ ประสบการณ์ หรือทักษะแต่อย่างใด
เพียงแค่เราจับมันมาให้เดินตาม 7 สเต็ปเหล่านี้ทีละก้าว โอกาสที่บทความของเราจะได้รับความนิยมก็ย่อมมากขึ้นตาม
ขอแค่อย่ารีบร้อนก้าวผิดจังหวะเป็นพอแล้วเราจะไม่ล้มไปก่อนถึงเส้นชัย
โฆษณา