8 มี.ค. 2021 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทรนด์ HealthTech ปี 2021 เมื่อ Virtual Healthcare คือ New normal
1
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีที่มาแรงในปี 2020 HealthTech หรือเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพเป็นภาคส่วนที่ได้รับการจับตามอง เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ทำให้ทุกคนหันมาตระหนักกับความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น จนบริการด้านสุขภาพได้รับผลดีไปตามๆ กัน
3
อย่างไรก็ตาม หากเราจับตาดูเทรนด์ของเทคโนโลยีด้านสุขภาพจากปี 2020 และในอนาคต จะเห็นว่าแม้มีแนวโน้มที่ดี แต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัวเพื่อให้บริการยังดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำเสนอความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของ HealthTech ในปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน
1
เทรนด์ HealthTech ปี 2021 เมื่อ Virtual Healthcare คือ New normal
Telemedicine เทรนด์ใหญ่ HealthTech ที่โตเป็นประวัติการณ์จาก COVID-19
บริการด้านสุขภาพเป็นบริการพื้นฐานที่มีข้อกำหนดมาตรฐานและการกำกับดูแลที่เข้มงวด ผู้ให้บริการซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามจึงมีทางเลือกในการสร้างสรรค์วิธีและรูปแบบการให้บริการที่ไม่หลากหลายนัก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 พื้นที่โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่จำเป็นสำหรับการควบคุมการแพร่ระบาด และการ Lockdown ได้เข้ามาเป็นปัจจัยเพิ่มข้อจำกัดการเข้าถึงบริการ อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ประกอบกับบริการด้านสุขภาพที่ยังจำเป็นในทุกสภาวการณ์ “Telemedicine” จึงเป็นนวัตกรรมแรกที่ได้รับการนึกถึงเพื่อตอบสนองความต้องการในสภาวะดังกล่าว
การสำรวจจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่าการใช้งาน Telehealth ในช่วงเดือนมีนาคม พุ่งสูงขึ้นถึง 154 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน สาเหตุของการเติบโตนี้มาจาก 2 ปัจจัย คือมาตรการ Lockdown เพื่อลดการแพร่ระบาด และการผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลบริการ Telehealth เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ในเวลานี้
1
ไม่เพียงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ แต่ตลาด Telemedicine อยู่ในทิศทางการเติบโตระดับสูง โดย Research and Market ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์ตลาด Telemedicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน ระบุว่าตลาด Telemedicine ทั่วโลกจะโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 37.7 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2020 ถึงปี 2025 โดยคาดการณ์ในปี 2025 ธุรกิจการดูแลสุขออนไลน์ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 191,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5
ด้าน Research and Market ยังระบุว่า ภูมิภาคที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตสูงที่สุดใน 5 ปีนับจากนี้คือ เอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการก้าวสู่สังคมสูงวัยในเอเชีย ซึ่งลักษณะดังกล่าวรวมถึงเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน
2
เมื่อ “ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ” กำหนดโดย “ผู้รับบริการ”
Telemedicine ถือเป็นของใหม่ที่ทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล และผู้ใช้บริการต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายจึงต้องฟังเสียงของผู้รับบริการที่จะคอยสะท้อนถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการรูปแบบใหม่ จึงถือได้ว่าในยุคก้าวกระโดดของ Telemedicine ผู้รับบริการจะเป็นผู้กำหนด “ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ” เด่นชัดที่สุดเมื่อเทียบกับยุคก่อน
1
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันส่งผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมในการให้บริการอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียรายงานตัวเลขผู้รอรับบริการในช่วงต้นของการแพร่ระบาดว่ามีจำนวนมากกว่า 3 เท่าของช่วงปกติ ด้านผู้ให้บริการรายหนึ่งในสหรัฐฯ ระบุว่าแม้บน Platform จะมีแพทย์ผู้ให้บริการกว่า 4,000 คน แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและต้องเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการมากยิ่งขึ้น
ความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกระทบกับประสบการณ์ใช้งาน Telemedicine โดยภาพรวมอย่างแน่นอน ความท้าทายของ Telemedicine ในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการขยายศักยภาพบริการให้รองรับคนจำนวนมาก พร้อมกับการสร้างบริการให้ทุกฝ่ายได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดี ด้วยเหตุนี้ โจทย์ของ Telemedicine จึงไม่ได้อยู่ที่การเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากอีกแล้ว แต่อยู่ที่การรักษาบริการให้ยั่งยืนแม้จะผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดไปแล้วก็ตาม
1
โจทย์ใหญ่คือการรักษา Telemedicine ให้ยั่งยืนในภาวะ Post-Pandemic
จากการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทำให้เห็นว่า Telemedicine ยังขาดปัจจัยอีกหลายอย่างเพื่อให้บริการเกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นมาตรฐานปกติ การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอต่อการใช้บริการพร้อมกันจำนวนมาก
นายแพทย์ Lee Schwamm รองประธานด้านการดูแลสุขภาพบนดิจิทัล โรงพยาบาล Mass General Brigham ประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการเสวนาด้าน Telemedicine ในงาน CES ปี 2021 ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายเป็นการถางทางให้กับบริการ Virtual Healthcare รูปแบบต่างๆ แต่ทั้งอุตสาหกรรมก็ต้องตระหนักว่า โครงสร้างเทคโนโลยีของเราไม่เพียงพอต่อการรับความต้องการมหาศาลที่เกิดขึ้นได้
นอกจากการเพิ่มโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่ต้องลงมือทำแล้ว ช่วงหลังการแพร่ระบาดยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของ Virtual Healthcare ที่สำคัญไม่น้อย โดยประเด็นพิจารณาที่ผู้ให้บริการควรตระหนักเพื่อปรับ Telemedicine จากบริการที่จำเป็นสู่บริการที่ยั่งยืน มีดังนี้
- สร้าง Platform ให้เป็น Digital ตั้งแต่แรก ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ผู้ให้บริการควรตระหนักถึงการสร้าง Platform ให้มีบริการทั้งหมดในรูปของ Digital ตลอดการใช้งานตั้งแต่การรับผู้ใช้บริการจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน การออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้รับบริการครบตลอดเส้นทางเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับบริการอันมีผลต่อรูปแบบบริการในระยะยาว
- สร้างความเชี่ยวชาญในการใช้ Platform ให้กับผู้ให้บริการ ไม่เพียงแค่มีระบบที่ดีเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการควรเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรผู้ทำหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล และที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้มีทักษะการใช้เครื่องมือที่ดี จัดอุปกรณ์การสื่อสารที่เหมาะสม ไปจนถึงการสร้างทักษะด้าน Cybersecurity เบื้องต้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลผู้รับบริการ
- ออกแบบระบบ Automation ลดขั้นตอนบริการ เมื่อมีผู้รับบริการมากขึ้น แพทย์และบุคลากรอาจไม่เพียงพอจะให้บริการได้ทุกคน ซึ่งข้อได้เปรียบของการให้บริการบน Digital ทั้งหมดคือการผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้าไปได้ แน่นอนว่าในขั้นนี้ AI จะมีบทบาทสำคัญในงานเบื้องต้นได้ เช่น การใช้ AI Chat bot ตอบคำถามด้านบริการ หรือสอบถามอาการเบื้องต้น ซึ่งการใช้ AI ในลักษณะนี้เป็นการดึงงานบางขั้นตอนของแพทย์ออกไป ทำให้สามารถให้บริการได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ขยายบริการไปยังบริการเฉพาะทางและเพิ่มประสิทธิภาพกรณีฉุกเฉิน Telemedicine ในยุคหลัง COVID-19 ควรมุ่งเน้นการให้บริการมากกว่าโรคทั่วไป โดยต้องสามารถให้บริการเฉพาะทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย เช่น การใช้ติดตามอาการโรคเรื้อรังจากที่พัก การสอดส่องอาการผ่านอุปกรณ์ติดตามที่จำเป็น รวมถึงต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเข้าถึงการรักษากรณีฉุกเฉิน อย่างการแจ้งเตือนอัตโนมัติพร้อมระบุตำแหน่งและอาการให้แพทย์เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม
2
จากสถานการณ์ HealthTech ทำให้เราเรียนรู้ว่า แม้ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่จำเป็นต้องปรับตัวอีกหลายอย่างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ SCB 10X ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง HealthTech มานำเสนอทุกท่านให้ได้ทราบกันอีกอย่างแน่นอน อย่าพลาดติดตามกัน
โฆษณา