8 มี.ค. 2021 เวลา 14:04 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.11 :
กาลครั้งหนึ่ง...ในความทรงจำ
[ The Daughters of Edward Darley Boit ]
1
“นี่ใครอะ”
นิ้วชี้อ้วนป้อมของเด็กน้อยวัยสี่ขวบจิ้มไปที่ภาพขาวดำภาพหนึ่งในอัลบั้มปกผ้าที่อายุอานามดูแล้วไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ
ใบหน้าที่มองกลับมา คือบรรดาเด็ก ๆ ที่นั่งเรียงกันน่าเอ็นดู เด็กผู้หญิงผูกผมทรงน้ำพุ ทับด้วยโบสีขาว ส่วนมือนั้นจับกระโปรงไว้ไม่ให้เปิดตามแรงลม ยิ้มที่ส่งมายังกล้องดูมีแววเขินอายเล็กน้อย ขณะที่เด็กผู้ชายต่างมีสีหน้าทะเล้น หนึ่งในนั้นกำลังหัวเราะชอบใจจนเห็นฟันหน้าที่หายไปซี่หนึ่ง
‘คุณยาย’ อมยิ้มด้วยสีหน้าอารมณ์ดี ก่อนตอบคำถามด้วยน้ำเสียงร่าเริงมีโทนสูงต่ำเหมือนกำลังจะเล่านิทาน
“นั่นคุณยายตอนเด็ก ๆ ไง ส่วนข้าง ๆ ก็คุณตาน้อย คุณยายเล็ก สมัยนั้นนะ......”
ภาพของคุณยายและหลานที่กำลังเดินทางสู่เรื่องราวในอดีตผ่านภาพถ่ายใบเก่า ทำให้ผมนึกถึงภาพวาดของครอบครัวหนึ่งขึ้นมา ภาพที่แฝงไปด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย และความทรงจำ
The Daughters of Edward Darley Boit, John Singer Sargent, 1882
หัวหน้าครอบครัวนี้มีนามว่า เอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บอยท์ เขาเป็นชาวอเมริกันที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจในต่างแดน งานของบอยท์ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยครั้ง จากบอสตัน โรม และปารีส และที่ปารีสนี้เองที่เขาได้พบกับ จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ ศิลปินชาวอเมริกันที่เกิดและเติบโตในยุโรป
ซาร์เจนท์ คือนักวาดภาพชั้นแนวหน้าที่ได้รับการฝึกฝนและศึกษาในแนวทางของงานศิลปะยุคคลาสสิคโดยเฉพาะงานของ ดิเอโก เบลัซเกซ  ศิลปินระดับบรมครูจากยุคทองของสเปนในศตวรรษที่ 17
จากงานสไตล์บาโรคแบบสเปนที่เน้นความชัดเจนของการให้น้ำหนักแสงและเงา ซาเจนท์ได้ผสมผสานเอกลักษณ์นี้เข้ากับฝีแปรงแบบอิสระตามแนวทางของอิมเพรสชั่นนิสต์ เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของเขาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
ด้วยความเป็นสหายร่วมชาติในต่างแดน และความรักในงานศิลปะเหมือนกัน มิตรภาพระหว่างบอยท์และซาร์เจนท์จึงเกิดขึ้น และเป็นที่มาของภาพวาดที่ต่อมาทั่วโลกจะรู้จักกันในนาม “The Daughters of Edward Darley Boit” ในปี ค.ศ. 1882
ลูกสาวของบอยท์นั้น ประกอบด้วยสี่พี่น้อง ฟลอเรนซ์ เจน แมรี่-ลุยซา และจูเลีย ส่วนแม่ของเด็ก ๆ และภรรยาของบอยท์นั้นเพิ่งเสียชีวิตไป ทำให้หน้าที่ในการดูแลลูกสาวทั้งสี่อยู่ที่บอยท์เพียงคนเดียว
เมื่อภาพวาดเด็กหญิงตระกูลบอยท์ของซาร์เจนท์ได้รับการจัดแสดงในปารีส ผลตอบรับนั้นเต็มไปด้วยความประหลาดใจ ผู้ชมต่างพบว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไรกับภาพนี้ดี หากมองว่านี่คือภาพวาดบุคคล (Portrait) มันก็ต่างจากแบบที่พวกเขาคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง
“นี่เขาวาดภาพคนหรือห้องกันแน่นะ”
“นั่นใช่ภาพบุคคลจริงเหรอ ดูเด็กสาวคนนั้นสิ เราแทบจะไม่เห็นใบหน้าของเธอด้วยซ้ำ”
“พื้นที่ว่างรอบ ๆ นั่น น่าเกลียดอะไรแบบนี้”
ดูเหมือนว่าภาพเด็กหญิงทั้งสี่ในห้องโถงนี้ จะสร้างความรู้สึกบางอย่างที่รบกวนจิตใจให้แก่ผู้ชมอย่างบอกไม่ถูก แต่เพราะเหตุใดกันนะที่ทำให้เราไม่อาจเบือนสายตาจากพวกเธอได้
ความรู้สึกนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 226 ปีก่อนหน้านี้ ในภาพ “Las Meninas” (The Ladies-in-waiting) ของดิเอโก เบลัซเกซ ภาพที่เต็มไปด้วยปริศนาและมุมมองที่ดูสับสน เรียกได้ว่ายิ่งดูเท่าไรก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้นในใจ
Las Meninas, by Diego Velázquez, between 1656 and 1657
อิทธิพลของเบลัซเกซใน Las Meninas ได้รับการถ่ายทอดออกมาใน The Daughters of Edward Darley Boit ของซาร์เจนท์อย่างไม่ผิดเพี้ยน ใบหน้าของบุคคลในภาพที่ละจากกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ และจ้องมองกลับมายังผู้มาเยือน ณ เวลาแห่งนั้น เป็นความรู้สึกที่ราวกับผ่านห้วงมิติเวลาที่ถูกตรึงไว้ในเสี้ยววินาที
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพของเด็กหญิงทั้งสี่ที่อยู่แยกจากกันนั้นบอกเล่าเรื่องราวที่ชวนให้เราสำรวจลึกลงไปในเชิงจิตวิทยา ถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการเติบโตจากวัยเยาว์สู่การเป็นผู้ใหญ่
จูเลีย เด็กน้อยวัย 4 ปี ที่มีพวงแก้มสดใส นั่งกางขาเล่นตุ๊กตาอยู่บนพื้นด้วยท่าทีที่ดูสบาย ๆ ไม่ยี่หระกับสายตาของผู้มาเยือน เยื้องไปทางด้านหลังของเธอคือแมรี่ ลุยซา ในชุดกระโปรงสีแดงภายใต้ชุดกันเปื้อนใบหน้าของเธอที่มองตรงมาดูมีแววสงสัยใคร่รู้ตามประสาเด็กวัย 8 ปี
และที่ยืนอยู่ไกลออกไปคือเด็กสาวสองคนโต เจนในวัย 12 ปี ใบหน้าที่ปราศจากรอยยิ้มของเธอดูมีแววระแวดระวังอยู่ในที และฟลอเรนซ์ พี่สาวคนโตวัย 14 ปี ที่แม้เราเห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของใบหน้า อากัปกิริยาของเธอที่เอนกายพิงแจกันพอร์ซเลนขนาดใหญ่นั้น แสดงออกถึงความเบื่อหน่ายและไม่ต้องการจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใด ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในห้องโถงแห่งนี้
เป็นไปได้หรือไม่...ที่ซาเจนท์จะสังเกตเห็นถึงบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในใจของพวกเธอแต่ละคน และเลือกที่จะวาดในสิ่งที่เขารู้สึกได้ออกมา ?
นอกจากกำแพงที่มองไม่เห็นและระยะห่างทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติตามช่วงวัย ซาเจนท์เลือกที่จะใช้แสงในการแบ่งระยะของเด็กสองกลุ่ม ระหว่างความสว่างชัดเจนของปัจจุบัน และความมืดและไม่แน่นอนของอนาคตข้างหน้า
2
ในวันนี้เรารู้ว่าเรื่องราวของเด็กหญิงตระกูลบอยท์นั้นเป็นอย่างไร แต่ในปี ค.ศ. 1882 ที่ซาเจนท์ได้วาดภาพของพวกเธอในห้องโถงหรูหราในอพาร์ตเมนต์ที่ปารีสแห่งนี้ เขาไม่มีทางรู้ว่าเด็กหญิงทั้งสี่จากตระกูลที่ร่ำรวยนี้จะเติบโตขึ้นและใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ในแบบที่ต่างออกไปจากพวกเธอเคยเป็น
1
ไม่มีใครในพี่น้องทั้งสี่ที่ได้แต่งงานมีครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น เจนและฟลอเรนส์ เด็กสาวที่อยู่ในเงามืด ได้กลายเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตในเวลาต่อมา
3
The Daughters of Edward Darley Boit จึงเป็นเหมือนเฟรมหนึ่งในช่วงเวลาที่ถูกหยุดเอาไว้ให้ย้อนระลึกถึงเรื่องราวในอดีต สายตาแต่ละคู่ที่มองตรงมาราวกับกำลังสนทนาอยู่ในความเงียบ และในเวลาเดียวกันก็เชื้อเชิญให้เราก้าวเข้ามาสัมผัสถึงความทรงจำที่ครั้งหนึ่งพวกเธอเคยใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมาในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้
2
ในปี ค.ศ. 1919 หรือ 37 ปี หลังจากที่ซาร์เจนท์ได้วาดภาพพี่น้องตระกูลบอยท์ พวกเธอทั้งสี่ก็ได้มอบภาพนี้ให้แก่ Boston Museum of Fine Arts ในบอสตันบ้านเกิดของพวกเธอ ด้วยความระลึกถึง เอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บอยท์ พ่ออันเป็นที่รักยิ่ง
1
และที่ตั้งขนาบอยู่ระหว่างภาพวาด คือแจกันพอร์ซเลนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นดังที่ปรากฎอยู่ในภาพ หลักฐานแห่งความทรงจำทั้งสองชิ้นนี้ได้ผ่านการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาแล้วถึง 16 ครั้ง ในระหว่างการเดินทางจากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่งในช่วงชีวิตของพวกเขา
1
หากพวกมันสามารถเล่าเรื่องได้...ใครจะรู้ว่าในกาลเวลาที่หมุนผ่าน จะมีความทรงจำมากมายขนาดไหนที่แอบซ่อนอยู่
1
เสียงหัวเราะร่วนดังลั่นของหลานชาย ปลุกให้ผมตื่นจากภวังค์ เรื่องเล่าครั้งเก่าของคุณยายจบลงตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ส่วนเด็กน้อยเจ้าของเสียงก็หนีไปเล่นซนที่อื่นเสียแล้ว อัลบั้มภาพปกผ้าไหมเล่มนั้นถูกเก็บเข้าตู้อย่างเรียบร้อยเหมือนเดิม เช่นเดียวกับช่วงเวลาในอดีตที่ได้หยุดไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อรอวันที่จะออกมาโลดแล่นในความทรงจำของใครบางคนอีกครา
3
🎶 ฟังเพลง “Spooky Couch” (2008) โดย Albert Hammond Jr. ได้ที่นี่ 👇
ปล. ขออภัยที่ห่างหายไปนาน หวังว่าจะยังไม่ลืมกันนะครับ ขอบคุณสำหรับทุกความคิดถึงและแรงปัดกวาดหยากไย่ที่บ้านนี้ด้วยครับ :)
Photo: wikimedia commons / Pinterest

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา