8 มี.ค. 2021 เวลา 02:58 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ภาพยนตร์ 'คิม จียองเกิดปี 82' การปะทะกันระหว่างโลกใบเก่ากับโลกใบใหม่
ภาพยนตนร์เรื่อง คิม จียอง เกิดปี 82 (2019), Cr: mereview
ภาพยนตร์เรื่อง "คิม จียอง เกิดปี 82" ที่เข้าฉายไปเมื่อปลายเดือน ธันวาคม ปี 2019 ที่ผ่านมา
.
.
.
Kim Ji-Young: Born 1982 “คิมจียอง เกิดปี 82” ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ “โช นัมจู” ที่ทำยอดขายมากกว่า 1 ล้านเล่มภายใน 2 ปี ซึ่งในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ถือเป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับสาวเก่ง “คิมโดยอง” เจ้าของรางวัล “The Audience Award” จากผลงานหนังสั้น “The Monologue” (2018)
.
.
.
เป็นที่ทราบกันว่าการเปิดตัวของนวนิยายเรื่องนี้เรียกกระแสสังคมในเกาหลีได้พอตัวเลยทีเดียว ทั้งกระแสตอบรับที่ดีทั้งการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิที่สตรีควรได้รับ การออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์เหล่านั้น แม้กระทั่งกระแสต่อต้านที่มองว่าผู้หญิงไม่ควรออกมาเรียกร้องสิทธิ์ก็มีมาให้เห็นเช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ดูเหมือนกระแสในด้านบวกจะมากกว่า ซึ่งทำให้เกิดการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันนี้ขึ้น
.
.
.
เรื่องราวของ “คิมจียอง” (จอง ยูมิ) ผู้หญิงชาวเกาหลีธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่แม้ว่าเธอจะแต่งงานและมีลูกสาวที่น่ารัก แต่ก็ทำให้เธอจำต้องล้มเลิกการทำหลายสิ่งหลายอย่างไป “จอง แดฮยอน” (กงยู) สามีของเธอสังเกตพบว่าได้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นกับจียอง ทำให้เขารู้สึกเป็นกังวล เมื่อเธอเริ่มทำตัวแปลกไปราวกับเป็นคนอื่น
.
.
.
ผู้เขียนซึ่งเคยได้อ่านฉบับนวนิยายที่แปลไทยมาแล้ว ขอออกความเห็นว่า ภาพยนตร์กับนวนิยายนั้นค่อนข้างมีความแตกต่างกัน เรื่องราวในภาพยนตร์เรียกได้ว่าออกจะดูนุ่มนวลกว่าสิ่งที่ตัวละครหลักอย่าง คิม จียอง ประสบพบเจอในฉบับนวนิยายพอสมควร แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนที่ได้ไปดูฉบับภาพยนตร์จะขอออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏออกมาผ่านภาพยนตร์ตามความคิดของผู้เขียน (ซึ่งอาจไม่ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดทั้งหมด และหากมีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดอย่างไร ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
ตัวหนังได้แสดงออกมาอยากชัดเจนผ่านตัวละคร คิม อึนยอง (พี่สาวของคิม จียอง) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวสมัยใหม่ที่ไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นในการแต่งงาน เธอใช้ชีวิตด้วยการทำอาชีพครูซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอาชีพที่เธอรักแต่เธอมองในเรื่องของความมั่นคง (เหมือนกับในยุคสมัยนี้ที่ยังคงความคิดนี้ว่าการรับราชการนั้นเป็นอาชีพที่มั่นคงและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้) ทั้งลักษณะบุคลิกและการแต่งตัวของเธอเอง บ่งบอกได้ถึงความเป็นสมัยใหม่อย่างมาก รูปลักษณ์ที่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นสาวผมยาว เรียบร้อย บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าตัวเธอเองได้ก้าวข้ามผ่านความคิดของโลกใบเก่ามาแล้ว
ในฉากที่เป็นวันเกิดของแม่ของเธอนั้น พ่อของเธอได้เชิญป้าทั้งสองคนมาร่วมงานด้วย เกิดการปะทะคารมกันขึ้นเล็กน้อย เมื่อเธอได้ใช้ให้น้องชายเพียงคนเดียวของบ้าน ถือกล่องลังอาหาร เมื่อทั้งสองคนเห็นจึงได้พูดต่อว่าว่าผู้หญิงบ้านนี้ก็แปลก ใช้หลานชายเพียงคนเดียวของพวกเธอให้ยกของหนักได้อย่างไร แต่กระนั้นคิม อึนยองก็ตอบโต้กลับไป ทั้งยังใช้งานน้องชายของเธอต่อหน้าป้าทั้งสองคนอีกด้วย ในขณะเดียวกัน น้องชายของเธอเองก็เป็นตัวแทนของผู้ชายสมัยใหม่ที่ไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องเหนือกว่าผู้หญิงอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าน้องชายของพวกเธอจะถูกเลี้ยงดูมาในรูปแบบสภาพแวดล้อมที่เรียกว่าถูกสปอยจากทางบ้าน ทั้งพ่อและญาติคนอื่นๆ ในที่นี้คิดว่า แม่คงรักพวกลูกๆ อย่างเท่าเทียมกัน เพราะตัวเธอเองมีประสบการณ์ในรูปแบบทำนองเดียวกันนี้มาเช่นกัน
ตัวละครที่รับบทเป็นแม่ของ คิม จียอง นั้น ตัวเธอได้เกิดในยุคที่เรียกว่าข้าวยากหมากแพง แต่ละครอบครัวต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ทำให้ตัวเธอเองไม่สามารถที่จะทำตามความฝันได้ เธอจำต้องเลือกเส้นทางที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอด โดยใช้ตัวเองเป็นเสาหลักของครอบครัว ส่งเสียน้องชายของเธอ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในสังคมเกาหลี ผู้ชาย มักได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้หญิงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งเธอแต่งงานและมีลูก ตัวเธอเองซึ่งได้ผ่านความยากลำบากเหล่านั้นมา ย่อมไม่อยากให้เกิดลักษณะแบบเดียวกันขึ้นกับลูก ๆ ของเธอ จะเห็นได้ว่าเธอค่อนข้างผลักดันลูกสาวทั้งสองคนให้ทำตามความต้องการของตัวเอง แม้จะขัดความคิดกับสามีของเธอบ้าง แต่เธอก็ไม่จำยอมกับความคิดเห็นนั้น และแสดงให้เห็นจุดยืนของเธอที่ยังคงยืนเคียงข้างและผลักดันให้ลูกสาวของเธอได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างมีสิทธิ์เท่าเทียมกับที่ผู้ชายควรได้รับ
จอง แดฮยอน ผู้ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง มีลักษณะของผู้ชายที่รักภรรยาเป็นอย่างมาก พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเมื่อเธอต้องการ แต่กระนั้นเอง ตัวของเขาก็ยังไม่สามารถหลุดออกจากกรอบความคิดแบบเก่าที่เขาได้ถูกเลี้ยงดูมาได้ทั้งหมด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จียองรู้สึกว่าเขาไม่เคยปกป้องเธอและคงคิดเหมือนคนทั่วๆ ไปว่าเธอไม่ควรทำงานและควรที่จะอยู่บ้านเลี้ยงดูลูก เพียงเท่านั้น แต่ฮวาอึนก็ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าการประนีประนอม คือ เสนอให้จียองไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการของเธอนั้น เปรียบเสมือนการให้เวลาเธอได้ตระหนักถึงตัวของเธอเอง เสียงที่ออกมาผ่านการเปลี่ยนบุคลิกเป็นคนอื่นนั้น แท้จริงมันคือความต้องการจากภายในของเธอเอง เมื่อเธอได้ตระหนักและได้ใช้เวลาตรึกตรองในเรื่องต่างๆ แล้ว ท้ายที่สุด คิม จียอง จึงเดินหน้าเลือกเส้นทางของเธอ
ในส่วนของตัวนางเอกหรือ คิม จียอง ตัวเธอเป็นภาพสะท้อนของคนที่ยังอยู่ในโลกใบเก่าและและต้องการก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ เธอต่อสู้กับความคิดภายในจิตใจของตัวเองซึ่งออกมาเป็นในรูปแบบของการแสดงออกผ่านคำพูดของคนอื่น ที่ทุกคนมองว่าเธอคล้ายจะถูกสิง แต่แท้จึงนั้น นั่นเป็นเสียงที่ตะโกนออกมาจากภายในจิตใจของเธอ โดยที่เธอก็ไม่รู้ตัว ท้ายที่สุด เมื่อความต้องการของเธอปะทะเข้ากับชุดความคิดเก่าๆ ของแม่สามี แม้ในทีแรกเธอจะยอมแพ้ไป แต่ท้ายที่สุดนั้น ตัวหนังกลับส่งให้ตัวละครอย่างคิม จียอง เลือกเส้นทางของเธอ คล้ายกับว่าเสียงที่เธอตะโกนออกมาได้รับการตอบรับ และผู้คนรอบตัวของเธอได้ฉุกคิดถึงการละเลยความรู้สึกของเธอไป
ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วตัวหนังยังคงทิ้งคำถามไว้ว่าทุกอย่างนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมั่นคงหรือไม่ แต่กระนั้นตัวละครแต่ละตัวก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ชุดความคิดใหม่ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายนั้นกำลังตกตะกอนอยู่ในสำนึกของคนสมัยใหม่และกำลังเติบโตแสดงผลให้เราได้เห็นอย่างช้า ๆ
.
.
.
.
.
อ้างอิงเรื่องย่อจาก: https://mereview.in.th/synopsis-kim-ji-young-born-1982/
โฆษณา