9 มี.ค. 2021 เวลา 07:00 • การตลาด
คนวัย 31 - 40 ปี วางแผนเกษียณอย่างไรให้สำเร็จ
การเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณในวัย 30 ต้นๆ ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะมีข้อได้เปรียบจากการมีเวลาในการลงทุนระยะยาว มีเวลาสั่งสมประสบการณ์ และมีโอกาสเริ่มต้นใหม่หากการลงทุนพลาดพลั้งไป อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่วัย 20 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ได้เปรียบในการลงทุน เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหารายได้อีกนาน จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับสูงตามไปด้วย
ช่วงเวลานี้นับว่าเป็นช่วงที่ดีในการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณเพราะมีความสามารถทำงานหาเงินได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าหากเริ่มวางแผนการเงินเพื่อเกษียณได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงินได้เร็วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คนวัย 31 – 40 ปี เป็นช่วงที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและเริ่มสร้างความมั่นคงเพิ่มพูนความมั่งคั่งเพื่ออนาคต เป็นวัยเริ่มต้นสร้างครอบครัวแถมในช่วงวัยนี้ก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หรือหากใครแต่งงานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูลูก เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้จะพบว่าคนวัย 31 – 40 ปี มีโอกาสที่จะลดความสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ หรือเหลือเงินที่จะแบ่งมาลงทุนในระดับต่ำ จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้น ควรแบ่งเงินประมาณ 15 – 20% ของรายได้ สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ
ตัวอย่างเช่น ถ้าตั้งใจที่จะออมเงินให้ครบ 1 ล้านบาท สำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ โดยสมมติว่าลงทุนแล้วได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยเท่ากับ 5% ต่อปี
ถ้าเริ่มลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 31 ปี จะลงทุนเพียงเดือนละ 1,250 บาท (ปีละ 15,000 บาท) เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินทั้งสิ้น 1,046,412 บาท โดยเป็นเงินลงทุน (เงินต้น) 450,000 บาท ส่วนอีก 596,412 บาท เป็นผลตอบแทนจากการลงทุน
1
แต่ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 51 ปี จะต้องลงทุนเดือนละ 6,300 บาท (ปีละ 75,000 บาท) ถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินออม 1,003,716 บาท เป็นเงินลงทุน (เงินต้น) สูงถึง 760,000 บาท ส่วนผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแค่ 243,716 บาท เท่านั้น
คนวัย 31 - 40 ปี วางแผนเกษียณอย่างไรให้สำเร็จ
จัดพอร์ตลงทุน
การจัดพอร์ตลงทุนสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของคนช่วงอายุ 31 – 40 ปี ควรเป็นพอร์ตแบบผสม (Balance Portfolio) และให้พิจารณาว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หรือในช่วงแรกๆ เช่น อายุ 30 ปีต้นๆ ให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมาก เพื่อทำให้พอร์ตมีการเติบโตได้เร็ว เพราะยังมีเวลาลงทุนอีกนาน และเมื่ออายุมากขึ้นก็ปรับพอร์ตให้มีความเสี่ยงลดต่ำลง รวมถึงใช้สถานะของตัวเองในการจัดพอร์ตลงทุน เช่น โสด แต่งงานและมีลูก แต่งงานแต่ยังไม่มีลูก เป็นต้น
ตัวอย่าง การจัดพอร์ตลงทุน
พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เหมาะสำหรับอายุ 30 ปีต้นๆ และเป็นโสด
สินทรัพย์ สัดส่วน
หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย 25%
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ 15%
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/
REITS/
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 20%
กองทุนรวมผสม 10%
กองทุนรวมตราสารหนี้ 15%
ทองคำ 5%
เงินฝาก 10%
พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง
เหมาะสำหรับอายุประมาณ 35 ปี เป็นโสดที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรือผู้ที่แต่งงานแต่ยังไม่มีลูก
สินทรัพย์ สัดส่วน
หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย 20%
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ 10%
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITS
/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 15%
กองทุนรวมผสม 15%
กองทุนรวมตราสารหนี้ 20%
ทองคำ 5%
เงินฝาก 15%
พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุใกล้ 40 ปี หรือผู้ที่แต่งงานและมีลูก
สินทรัพย์ สัดส่วน
หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย 15%
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ 5%
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITS
/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 15%
กองทุนรวมผสม 15%
กองทุนรวมตราสารหนี้ 25%
ทองคำ 5%
เงินฝาก 20%
คนวัย 31 - 40 ปี วางแผนเกษียณอย่างไรให้สำเร็จ
หลักการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ที่สำคัญอย่าไปกังวลกับอนาคตมากจนเกินไป เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ต้องแบ่งเงินเพื่อลงทุนสำหรับวัยเกษียณให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ที่สำคัญควรเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุน้อยๆ โอกาสมีชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุขมีเงินใช้ไปจนหมดอายุขัยไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
โฆษณา