9 มี.ค. 2021 เวลา 22:58 • บ้าน & สวน
แอบส่องใต้กระโปรง ‼️
ถ้าอยากเห็นของดี ต้องส่องอย่างใกล้ชิด !!
🔽
🔽
🔽
ใครที่เคยแวะเวียนไปที่หน้าเพจ คงพอคุ้น ๆ ว่าฉันเป็นคนชอบปลูกต้นไม้มากคนหนึ่ง (เรายังไม่พูดถึงเปอร์เซ็นต์การรอดตอนนี้ค่ะ 😂😂)
มโนให้เป็นหญิงสาวเอวคอดกิ่ว สูงยาวเข่าดี นะคะ
หรือสาวคนนี้ อวบอิ่มอบอุ่นขึ้นอีกนิด
ลองจินตนาการจากภาพข้างบน เห็นเหมือนหญิงสาวใส่เสื้อเกาะอกนุ่งกระโปรงย้วย ๆ บาน ๆ มั๊ยค่ะ นี่เป็นที่มาของชื่อโพสต์ และฉันเป็นคนชอบถ่ายรูปมุมเงย จึงรู้สึกเหมือนส่องใต้กระโปรงหญิงสาวผู้นี้อยู่ ฮาาา ... มโนเก่ง
มาส่องดูซิว่า ... จะเห็นอะไรบ้าง
🌱 เฟิน ในรูปมีชื่อไทยว่า ชายผ้าสีดา บางคนเรียกว่า กระเช้าสีดา หรือห่อข้าวสีดา จะเกี่ยวอะไรกับทศกัณฐ์ มั๊ยน๊อ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Platycerium ค่ะ
เฟินชายผ้าสีดา เป็นเฟินอิงอาศัย ไม่สร้างผลเสียกับต้นไม้ที่เกาะอยู่ เพราะไม่มีการชอนไชรากผ่านเปลือกต้นไม้ไปดูดน้ำหรืออาหารแต่อย่างใดค่ะ มักพบเกาะอยู่ตามคบไม้ใหญ่ ๆ สมัยก่อนมีการลักลอบเอาออกจากป่ามาขายกันเลยทีเดียวค่ะ ส่วนในปัจจุบันที่ขายกันอยู่เป็นการเพาะเลี้ยงจากสปอร์หรือแบ่งหัว
1
🟩 ส่วนต่าง ๆ ของเฟินชายผ้าสีดา ประกอบด้วย
▶️ ตา
เป็นส่วนที่ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโต มีความเปราะบาง ถ้าถูกทำลายต้นชายผ้าสีดานั้นจะตายค่ะ หลายครั้งที่เราเห็นว่าต้นชายผ้าสีดายังสวยงามอยู่ แต่ส่วนตาอาจถูกทำลายแล้ว และต้นชายผ้าสีดาจะค่อย ๆ แห้งเหี่ยวตายไปในเวลาต่อมา
ตา คือส่วนที่อยู่ตรงกลาง ที่มีกาบใบงอกออกมาค่ะ
▶️ เหง้า
เหง้าเป็นส่วนตาที่เจริญเติบโตอยู่ภายใต้กาบที่ห่อหุ้ม
เหง้า จะอยู่ใต้กาบใบที่ห่อหุ้มอยู่นี้
▶️ กาบ หรือ ใบโล่
เป็นส่วนที่เจริญจากตาออกมาแผ่หุ้มเหง้าและราก กาบใบจะเป็นตัวโอบรัดให้เหง้าชายผ้าสีดาเกาะติดอยู่กับต้นไม้ที่อิงอาศัยค่ะ โดยกาบใหม่จะงอกออกมาเรื่อย ๆ เมื่อกาบเก่าแห้งไป เป็นตัวช่วยควบคุมความชื้นและป้องกันความร้อนจากแสงแดดให้เหง้าอีกด้วย
▶️ ใบ หรือ ชายผ้า
มีสองลักษณะคือใบตั้งขึ้น และใบห้อยลง ที่ผิวใบมีขนละเอียด ๆ ปกคลุม เมื่อต้นชายผ้าสีดาโตเต็มที่จะมีการสร้างอับสปอร์เพื่อใช้ขยายพันธุ์ต่อไปค่ะ
▶️ ราก
จะแตกแขนงออกจากเหง้าแทรกอยู่ตามชั้นของกาบใบ อยู่เป็นกระจุกเล็ก ๆ เป็นพืชที่มีรากน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของต้นและใบค่ะ
ราก ที่เห็นเป็นเส้น ๆ แทรกอยู่ตามกาบใบ
รู้จักส่วนต่าง ๆ ไปแล้ว มาส่องเฟินของเรากันบ้างดีกว่า
ต้นนี้ปลูกมาเกือบ 10 ปีแล้วค่ะ นับหัวไม่ถ้วนแล้วนะคะ ความยาวของชายผ้าไม่ต่ำกว่าเมตรครึ่งเลยเชียวค่ะ
เชื่อว่าเป็นต้นที่ชื่อว่า Coronarium (ถ้าผิดพลาด ขออภัยนะคะ)
1
ส่วนต้นนี้น่าจะอายุประมาณ 6 - 7 ปีค่ะ
ชื่อ หูช้างแอฟริกัน (elephantotis)
มองจากมุมตรง ๆ
elephantotis
มองจากมุมเงย
elephantotis
ต้นนี้มีชื่อเรียกว่า wandae
wandae
ต้นนี้ไม่ได้ปลูกเกาะกับต้นไม้ แต่ปลูกให้เกาะรอบ ๆ กระถางแขวนค่ะ
มีชื่อว่า veitchii
veitchii
ต้นนี้ชื่อ grande ถ่ายภาพหลังจากโดนพายุ ชายขาดไปบางส่วน
grande
นี่ก็ grande ค่ะ
เฟินในกลุ่มชายผ้าสีดาที่เป็นที่นิยมมาก ๆ แต่ไม่มีรูปจริงให้ดู ก็จะมีอีกหลายชนิดเช่น
เฟินเขากวางตั้ง เฟินริบบิ้น
เฟินเขากวางตั้ง
🎶 โปรดอย่าถามว่าลองปลูกมากี่ครั้ง ก็ต้องผิดหวัง .... 😂
เฟินริบบิ้น
ต้นแบบนี้ก็เคยเป็นแม่บุญทุ่มมาแล้ว 😁
📌📌 ขอแชร์ประสบการณ์ การมัดหัวชายผ้าสีดากับต้นไม้ซักนิดค่ะ
👉 เวลามัด ให้ผูกเชือกเป็นลูป โดยคล่อมตาชายผ้าสีดาไว้แบบในภาพข้างล่างนี้ ส่วนหางเชือกนำไปผูกยึดไว้ด้านหลัง ขันชะเนาะให้มั่นคง
👉 ควรผูกตอนหัวแห้ง เพราะเมื่อหัวได้รับความชื้นจะพองตัวขึ้นทำให้เชือกที่ผูกแน่นพอดี ถ้าผูกตอนหัวเปียก จะเป็นหวัด อ่ะมะช่ายค่ะ จะทำให้เชือกมัดหลวมอาจหลุดเวลาที่หัวแห้ง และน้ำหนักหัวมากนั้นผูกยากมากนะคะ เชื่อเค้า เค้าผูกมาเยอะ 😁
👉 การมัด หรือการทำงานบนต้นไม้สูง โดยใช้บันไดหรือนั่งร้าน ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และแน่ใจว่าวางตำแหน่งและยึดบันไดเป็นอย่างดีแล้ว ขณะที่ออกแรงดึงเชือก อาจทำให้บันไดที่เรายืนเอียงไปตามแรงเหนี่ยวได้ค่ะ เชื่อเค้า เค้าตกมาแล็ว ☺☺
👉 เคล็ดลับอีกข้อ จากประสบการณ์ตรง ควรมัดให้หัวชายผ้าสีดาหันรับแดดด้านตะวันออกค่ะ ไม่เชื่อห้ามลบหลู่ อิอิ
👉 มัดเชือกให้มั่นคงแล้วต้องสวยงามอีกด้วย แม้ว่าต่อไปกาบใบใหม่จะมาหุ้มมองไม่เห็นก็ตาม อย่าให้เชือกบิดแบบนี้นะคะ ... ไม่ผ่านค่ะ 👇
ซากนี้อดีตเคยเป็น coronarium เห็นรอยเหง้าชัดเจน หัวใหญ่มากกกก แต่ตายเพราะติดโควิดค่ะ ‼️
ไม่ใช่เฟินติดโควิดนะคะ แต่เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ไม่สามารถดูแลต้นไม้ได้เหมือนปกติ เมื่อหัวแห้งมาก ๆ ก็จะร่อนออกจากต้นไม้ที่ยึดเกาะอยู่ตกลงมาแห้งตายได้ค่ะ ... ร้องไห้แพร๊บ 😭😭😭
พยายามเลี้ยงความชื้นไว้อย่างมีความหวังว่าอาจจะงอกใหม่ แต่เมื่อสิ้นหวังแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัสดุปลูกได้ค่ะ
📢 ใครที่ชื่นชอบต้นไม้ เชิญติดตามซีรีส์ ส่องสัตว์ ได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ค่ะ 👇
ถ้างงว่า จะดูต้นไม้ ทำไมให้ไป "ส่องสัตว์" ก็ต้องรีบตามไปดูเฉลยแล้วนะคะ ‼️
🌱🌹🌿🌷🌱🌷🌿🌹🌱
มีความสุขกับการปลูกต้นไม้ในหัวใจกันค่ะ
สวัสดีนะคะ
คนไทยตัวเล็กเล็ก
10 มีนาคม 2564
🖐 ปอลอ ชื่อสายพันธุ์ที่เขียนกำกับไว้แต่ละรูป หากท่านใดทราบว่าผิดพลาด รบกวนกระซิบกันหน่อย จะขอบคุณมากเลยนะคะ เพราะบางต้นจำชื่อไม่ได้เพียงเทียบลักษณะใบกับหนังสือค่ะ 😊
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ เฟินชายผ้าสีดา โดย ภัทรา แสงดานุช
และ อินเตอร์เน็ต image และวิกิพีเดีย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา