9 มี.ค. 2021 เวลา 02:11 • หนังสือ
•ในสังคมที่บิดเบี้ยว เราต้องการหลักการและความหวัง - ปู่เบนน์สอนการเมือง•
สิ่งที่เกิดทุกยุคทุกสมัยคือจะมีคนแก่บางคนชอบบ่นว่า “เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักฟังผู้ใหญ่” ซึ่งก็คงเป็นความจริง แต่ก็ไม่จริงทั้งหมด เพราะไม่ใช่เด็กหรือผู้ที่อายุน้อยกว่าทุกคนที่ทำแบบนั้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนแก่ทุกคนที่น่ารับฟัง
Letters To My Grandchildren / ปู่เบนน์สอนการเมือง
คนแก่มักจะถือตัวว่าพวกเขามีประสบการณ์มากมายจึงรู้ว่าความจริงบนโลกนี้คืออะไร
.
ถ้าเจค็อบแห่งร้านขนมปังได้ยินเข้าก็จะบอกว่า “ประสบการณ์เติบใหญ่ขึ้นเป็นความทรงจำ แต่ความทรงจำก็คือสัจธรรมที่อ่อนล้าที่สุดแล้ว”
.
ส่วน Tony Benn ก็จะบ่นถึงคนวัยเดียวกันว่า “คนแก่มักใช้ประสบการณ์ในการให้ความชอบธรรมกับการมองโลกในแง่ร้าย”
1
เอาล่ะ เจค็อบอยู่ในหนังสืออีกเล่ม ดังนั้นผมจะไม่ลงรายละเอียด แล้ว Tony Benn ล่ะคือใคร
Tony Benn คนนี้เป็นชาวอังกฤษ เป็นทายาทในชนชั้นสูงที่ขอปฏิเสธฐานันดรศักดิ์ เป็นอดีต ส.ส. ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคแรงงาน และเป็นปู่ของหลานอีก 10 คน
คุณปู่คนนี้ได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ให้หลาน ๆ ได้อ่าน ซึ่งแม้จะเป็นจดหมายที่คนอังกฤษเขียนถึงคนอังกฤษ แต่เราหรือใครก็ตามที่อยู่ในประเทศที่บิดเบี้ยวก็ควรจะได้อ่านเช่นกัน เพราะสิ่งที่ปู่ Benn ได้ทิ้งเอาไว้ให้คืออาวุธทางความคิดและความหวัง
เนื่องจากปู่ Benn เป็นนักการเมือง ดังนั้นแนวคิดหลัก ๆ ที่เขาได้ทิ้งไว้ให้ก็ย่อมเกี่ยวกับการเมือง และมันก็เป็นประโยชน์เพราะการเมืองของอังกฤษและไทยก็มีอะไรที่เหมือน ๆ กัน
.
เช่น เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกัน ใช้ระบบสภาคู่เหมือนกัน มีกษัตริย์เหมือนกัน และมีระบอบการปกครองที่เหมือนกัน (อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่)
1
เราต้องการหลักการที่ถูกต้องเพื่อรับมือกับสังคมที่บิดเบี้ยว สิ่งแรกที่ผมเห็นว่าควรยึดไว้ให้มั่นคือ เมื่ออายุครบ 18 ปี (ก็คือมีสิทธิเลือกตั้ง) เราคือเจ้านายของสมาชิกสภา ไม่ว่าเราจะเลือกเขาหรือเธอมาหรือไม่ก็ตาม สมาชิกสภาคนนั้นจะต้องตอบสนองต่อปัญหาของพวกเรา
ผมว่านี่คือสถานะที่แท้จริงของประชาชนอย่างพวกเรา
เรามีอำนาจที่จะเลือกคนเข้ามาทำงาน มีอำนาจที่จะเรียกร้องให้พวกเขาแก้ปัญหา และมีอำนาจเลือกคนใหม่มาทำงานแทน ถ้าคนเก่าทำงานไม่ได้ตามที่คาดหวัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสมาชิกระดับตำบล ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศก็ตาม
คนที่อายุน้อยกว่า 18 จะไม่มีอำนาจแบบนี้ และรวมถึงคนที่อายุครบ 18 แต่ไม่ไปเลือกตั้งด้วย เพราะสมาชิกจะไม่ฟังเสียงที่จับต้องไม่ได้
.
ถ้าใครก็ตามไม่มีเสียงหรือไม่ยอมออกเสียงที่ตัวเองมี สมาชิกสภาก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปฟังคนเหล่านั้น เหมือนกับที่มีคนมาบอกปู่ Benn ว่า
1
“คุณ Benn ผมไม่เคยมาลงคะแนนเลือกตั้งเลย”
.
คุณปู่ก็ตอบกลับไปว่า “ขอบคุณที่บอกผมครับ เพราะไม่ว่าผมจะพูดอะไรหรือทำอะไร คุณก็จะไม่ลงคะแนนต่อต้านผม ดังนั้นผมไม่จำเป็นต้องรับฟังสิ่งที่คุณพูด”
และเมื่อใช้หลักการนี้เราก็ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไม ส.ว. ไทยถึงได้ไม่เห็นหัวประชาชนนัก ก็เพราะประชาชนไม่ได้เลือกพวกเขามานั่นเอง พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน
.
ตรงนี้คือจุดที่บิดเบี้ยวที่ต่างกับอังกฤษ เพราะถึงแม้ชาวอังกฤษจะไม่ได้เลือก ส.ว. เช่นกัน แต่ ส.ว. อังกฤษก็ไม่ได้มีอำนาจล้นเกินแบบ ส.ว. ไทย
1
ในระบอบประชาธิปไตยคุณจะมีอำนาจมากมายได้ก็ต่อเมื่อคุณมาจากเสียงของประชนเท่านั้น ดังนั้นที่สังคมไทยเป็นอยู่ตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
นอกจากเรื่อง ส.ว. แล้ว เราก็ยังเห็นอะไรผิดแปลกแบบนี้อีกมาก แน่นอนว่ามีความบิดเบี้ยวเกิดขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว แต่ตอนนี้อะไรหลาย ๆ อย่างมันก็เบี้ยวยิ่งกว่าเดิม ที่น่าสงสัยคือเราอดทนกับเรื่องแบบนี้มาได้ยังไง
เรื่องนี้ปู่ Benn ก็ได้สอนเช่นกัน
ในจดหมายฉบับที่ 4 ปู่ Benn ได้แนะนำว่า เวลาที่เดินทางไประเทศใดก็ตาม ควรตั้งคำถามว่า
.
“ใครคือเจ้าของอำนาจกันแน่”
“อำนาจบนโลกนี้มักอยู่ภายใต้บงการของกลุ่มคนเพียงแค่หยิบมือเดียว รวมถึงลูกน้องของเขา เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร พวกเขาต้องการอยู่ท่ามกลางทรัพย์สินและอำนาจบารมี และต้องการเพิ่มพูนสิ่งเหล่านี้ในที่ใดก็ตามที่เป็นไปได้” ปู่ Benn กล่าว
การที่ผู้คนอดทนกับความอยุติธรรมในสังคมก็เพราะผู้มีอำนาจใช้กลไกที่แนบเนียนเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน
.
แล้วกลไกที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
อย่างแรกคือ ทำให้ผู้คนตื่นกลัวด้วยการสร้าง “ศัตรูตัวฉกาจ”
ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระเจ้า Kaiser ถูกมองว่าเป็นศัตรู ต่อมาก็เป็น Hitler
.
ปู่ Benn บอกว่าที่จริงแล้วการต่อต้านนาซีของประเทศอังกฤษไม่ได้เกิดจากการที่นาซีสังหารผู้คนโดยใช้ห้องรมแก๊ส แต่เกิดจาการที่คนใหญ่โตในอังกฤษมองว่า Hitler กำลังเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรต่างหาก
ส่วนไทยล่ะ ก็ต้องทักษิณ ชินวัตร โผล่มาเป็นชื่อแรก
กลไกต่อมาคือการแบ่งแยกผู้คน คือให้ผู้หญิงเกลียดผู้ชายและผู้ชายเกลียดผู้หญิง ให้คนผิวสีเกลียดคนผิวขาวและคนผิวขาวเกลียดคนผิวสี ให้คนเสื้อแดงเกลียดคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อเหลืองเกลียดคนเสื้อแดง
ปู่บอกว่าคนร่ำรวยรู้ดีว่าความสามัคคีกันในเหล่าคนจนจะกลายเป็นภัยกับตน ดังนั้นผู้คนจึงถูกทำให้คิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มสังคมต่าง ๆ กันไป อันนำไปสู่ความคิดเรื่องอัตลักษณ์
.
เช่น ฉันเป็นคนรักชาติ ฉันเป็นคนเสื้อแดง ฉันเป็นคนเสื้อเหลือง แต่ที่จริงแล้วปู่ Benn เห็นว่าควรแบ่งตาม Marxism นั่นคือ
ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่
ถ้าเป็น Gordon Gekko ก็จะบอกว่า “ถ้าคุณไม่ใช่วงใน คุณก็เป็นวงนอก” เรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ใช่ผู้กดขี่ เราก็เป็นผู้ถูกกดขี่
กลไกที่สามคือสร้างความไม่มั่นใจ โดยพร่ำสอนว่ามีแค่ชนชั้นนำผู้ฉลาดเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่มีความสามารถและได้รับการยอมรับมากพอที่จะมีบทบาทในสังคม การที่คนไทยชื่นชมและฟังแต่เสียงคนรวยก็อาจเป็นเพราะกลไกนี้เช่นกัน
กลไกนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าตนไม่มีอำนาจ และจะนำไปสู่สิ่งที่ปู่ Benn เรียกว่า “การทุจริตของคนที่ไม่มีอำนาจ” ซึ่งก็คือ
.
“คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีอำนาจได้ยกอำนาจซึ่งที่จริงแล้วตัวเองมีให้กับผู้มีอำนาจด้วยความอ่อนแอของตัวเอง และนั่นทำให้พวกเขามีความรับผิดชอบในการสร้างระบอบที่กดขี่ตัวเองด้วย”
การทุจริตของคนที่ไม่มีอำนาจ
สุดท้ายคือการใช้อำนาจอย่างแยบยล คือการสนับสนุนการดูถูกเหยียดหยาม
.
มันคือการทำให้อีกฝ่ายหมดความน่าเชื่อถือ เช่นที่เราได้ยินบ่อย ๆ ว่า “พวกนักการเมืองมีแต่คนโกง” ก็เป็นผลจากกลไกนี้
.
มันทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจคนที่เข้ามาทำงานในระบอบประชาธิปไตย และเปิดช่องให้ทหารเข้ายึดอำนาจ ทั้งที่จริงแล้วคนที่เข้ามายึดอำนาจก็ฉ้อฉลไม่ต่างกับนักการเมือง แถมหนักกว่าด้วยซ้ำ
กลไกทั้งสี่มีไว้เพื่อทำให้ผู้คนสิ้นหวัง เมื่อผู้คนไม่มีหวัง ผู้มีอำนาจก็ทำการกอบโกยต่อไป
การจะจัดการกับระบบที่บิดเบี้ยวได้ เราต้องจัดการไปทีละประเด็น
เช่นการสิ้นสุดระบบทาสก็ช่วยเปิดประเด็นเรื่องปัญหาสีผิว ชนชั้นและสิทธิพลเมือง หรือการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ต่อมาก็นำไปสู่ประเด็นเรื่องสู้รบสงครามผ่านอาวุธปกติ
เรารณรงค์แบบเฉพาะเจาะจงไปทีละประเด็นก็เพื่อสะสมประสบการณ์ไปต่อยอดกับเรื่องอื่น และในที่สุดเราจะสร้างอิทธิพลในวงกว้างได้
ผมคิดว่าที่เราควรจัดการเป็นเรื่องแรก ๆ ก็คือเรื่องความมั่นใจ การที่ผู้มีอำนาจใช้กลไกที่สามอย่างได้ผลเพราะมีแนวคิดที่บอกว่า มีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถช่วยเหลือคนจนได้ มันทำให้คนรวยมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนคนจนก็แทบไม่สามารถหาความมั่นใจได้เลย
แล้วจะเป็นยังไงถ้าคนจนก็มีความมั่นใจแบบนั้นเช่นกัน ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้เร็วกว่าเดิมเพราะเต็มไปด้วยคนที่มีความมั่นใจ
แล้วจะทำยังไงล่ะถึงจะสร้างความมั่นใจให้กับคนหมู่มากได้ คำตอบอาจอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม
ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการศึกษามาตลอด ถึงจะได้งบประมาณมากมายแต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ซักที เราจึงเห็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
.
ลูกคนรวยได้เรียนในโรงเรียนดี ๆ ได้รับโอกาสมากมาย ส่วนลูกคนจนต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีอะไรพร้อม
โอเค เราอาจจะได้ยินข่าวเป็นครั้งคราวว่ามีเด็กชนบททำคะแนนสอบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แล้วผู้คนก็พากันเชิดชูความพยายามของเด็กคนนั้น
.
แต่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ จะมีเด็กซักกี่คนล่ะที่ทำได้ มันจะดีกว่าหรือไม่ถ้าให้เด็กทุกคนมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเหมือน ๆ กัน
เมื่อคนรวยเลี้ยงลูก พวกเขาจะส่งต่อความมั่นใจให้กับลูกด้วย และเมื่อลูกไปเจอเพื่อน ๆ พวกเขาก็จะส่งต่อความมั่นใจให้กันและกัน ส่วนลูกคนจนจะไม่ได้รับรู้ถึงความมั่นใจเหล่านั้นเพราะเพื่อนในโรงเรียนก็ไม่มีความมั่นใจเช่นกัน
1
แต่ถ้าเรามีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม ลูกคนรวยและลูกคนจนจะได้เรียนในที่ ๆ เดียวกัน ลูกคนรวยจะส่งต่อความมั่นใจให้ลูกคนจน เมื่อพวกเขาเป็นเพื่อนกัน พวกเขาจะถ่ายทอดความมั่นใจให้แก่กันอย่างทั่วถึง
แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะที่การศึกษายังมีปัญหาแบบทุกวันนี้ก็อาจจะเป็นฝีมืออันแยบยลของผู้มีอำนาจก็ได้
.
และผู้มีอำนาจก็คงไม่ยอมให้เกิดการศึกษาแบบนี้ เพราะสิ่งที่ผู้มีอำนาจกลัวก็คือ การปรากฎตัวของผู้นำที่มีความมั่นใจในตนเองในหมู่ผู้ถูกกดขี่
การปรากฎตัวของผู้นำที่มีความมั่นใจในหมู่ผู้ถูกกดขี่
โชคดีหน่อยที่การมีอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว และข้อเท็จจริงพวกนี้ล่ะที่ทำให้เหล่าผู้ทรงอำนาจรู้สึกถูกคุกคาม
พวกเขาจึงต้องขัดขวางคนที่มั่นใจแบบนี้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้อง จับกุมกักขัง และส่งเสริมลัทธิการเยาะเย้ยถากถาง หรือก็คือกลไกที่สี่ที่ว่ามา
ปู่ Benn บอกว่าการเยาะเย้ยถากถางจะกีดกันผู้คนจากการเมืองที่ก้าวหน้า มันมีไว้เพื่อทำลายความมั่นใจ ทำลายความน่าเชื่อถือคนที่กล้าออกมาเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ
.
ดังนั้นที่เราเห็นว่ากองทัพไทยใช้กลยุทธ์ IO โจมตีอีกฝ่ายก็ไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากไม่ต้องการให้ประเทศเดินหน้า
การเยาะเย้ยถากถางใส่กันเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย เพราะเมื่อไหร่ที่คนที่ทำงานด้านการเมือง อย่างเช่น ส.ส. หรือประชาชนคนธรรมดาที่ออกมาเรียกร้องถูกป้ายสีว่าเป็นคนทุจริต เป็นคนโป้ปด แล้วล่ะก็ ระบอบประชาธิปไตยจะตกอยู่ในอันตราย
ยิ่งคนในระบบถูกมองว่าโกหก ประชาธิปไตยก็ยิ่งตกอยู่ในอันตราย
ถ้าเลือกได้ผู้ทรงอำนาจทั้งหลายก็คงอยากปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ แต่ในเมื่อมีความเขินอายต่อนานาประเทศจึงต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแล้วสอดแทรกกลไกการกดขี่เอาไว้แทน
พวกเขาจะไม่ออกกฎหมายพรากเสรีภาพรวดเดียว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะมีผู้คนออกมาประท้วงมากมาย แต่จะใช้วิธีริดรอนเสรีภาพไปทีละน้อย เพื่อไม่ให้เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น (อย่างไรก็ตามสำหรับไทยตอนนี้คงต้องบอกว่า ผู้มีอำนาจเริ่มไม่สนแล้วว่าประชาชนจะคิดยังไง)
1
วิธีริดรอนเสรีภาพ
เอาล่ะ มันเป็นเรื่องยากแน่นอนที่จะต่อกรกับผู้มีอำนาจ ต่อให้สู้เต็มที่แล้ว เราก็อาจจะแพ้ก็ได้ แต่ปู่ Benn ก็อยากให้เรารู้ไว้ว่า
.
“ในโลกนี้ไม่มีชัยชนะและความพ่ายแพ้ที่คงตัวชั่วนิรันดร์”
แม้เราจะแพ้ในการต่อสู้ แต่การดิ้นรนของเราก็สามารถจุดประกายให้แก่คนรุ่นต่อไปได้ ที่เราต้องรักษาไว้ก็คือความหวัง อย่าให้ไฟแห่งความหวังนี้มอดดับ
ที่ปู่ Benn เขียนจดหมายเหล่านี้ขึ้นมาก็คงมีไว้เพื่อการนี้
“ในจิตใจของทุกคนในทุกอารยธรรม มักจะมีไฟสองแบบที่โชติช่วงเสมอนั่นคือ
.
ไฟแห่งความโกรธเคืองต่อความอยุติธรรมและไฟแห่งความหวังที่เราจะสร้างโลกที่ดีกว่าได้
สิ่งที่คนแก่อย่างปู่สามารถทำได้ดีที่สุดคือการทำให้ไฟทั้งสองแบบยังคงลุกโชติช่วงต่อไป”
- Tony Benn
ไฟในจิตใจของเรา
หนังสือ : Letters To My Grandchildren / ปู่เบนน์สอนการเมือง
ผู้เขียน : Tony Benn
ผู้แปล : เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล
สำนักพิมพ์ : เจ้าซ้ายน้อย (ร่วมกับสำนักนิสิตสามย่าน)
โฆษณา