9 มี.ค. 2021 เวลา 16:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำอย่างไรให้เป็นคนปลอดหนี้ มีตังค์ใช้
ในสังคมคนชั้นกลางลงไป จากสถิติพบว่าส่วนใหญ่มีหนี้ มากบ้างน้อยบ้าง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนโทรศัพท์มือถือ หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน เป็นต้น หลายคนคิดว่าเมื่อเงินเดือนขึ้นหรือเปลี่ยนงานได้เงินเดือนที่ดีขึ้น หนี้สินน่าจะลดลง แต่ปีแล้วปีเล่าผ่านไป หนี้สินกลับยิ่งพอกพูนขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
หากไม่มีหนี้ มีเงินเก็บ แม้ไม่รวยล้นฟ้า ชีวิตก็มีความสุขใช่น้อยแล้ว มันมีหลักคิด หลักปฏิบัติบางอย่างที่ผมคิดว่า อาจเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน ต่อผู้อื่นได้บ้างจึงอยากเล่าไว้ให้รู้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะดีก็แนะนำให้นำไปปฏิบัติ จะได้เป็นคน “ปลอดหนี้ มีตังค์ใช้”
1. ไม่เป็นคนยึดติดกับวัตถุสิ่งของมากเกินไป
หลายคนคงรู้ดีว่า เครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นของภิกษุซึ่งมี 8 อย่าง เรียกว่า บริขาร ก็เพียงพอในการใช้ชีวิตอยู่ได้แล้ว ผมไม่ได้หมายความว่าให้คุณไปบวชเป็นพระนะครับ แต่กำลังจะบอกว่า พระภิกษุทั้งหลาย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีวัตถุมากมายอะไร ก็มีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุขแล้ว นั่นแปลว่าสิ่งอื่นๆที่เหลือคือสิ่งที่อาจเกินความจำเป็น มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร
หากเราไม่ยึดติดว่าต้องมีโน่น มีนี่ มีนั่น มากมายไม่รู้จบ แต่ระลึกไว้ว่า มีปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นพื้นฐานให้ดีก่อน ก็เป็นที่พอใจแล้ว
จงเป็นคนที่พอใจอะไรง่ายๆ ไม่ใช่ต้องไขว่คว้าโน่นนี่นั้นมาครอบครองไม่รู้จบรู้สิ้น
ที่บอกเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องซื้อวัตถุอะไรเลย แต่หมายความว่า ซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และเป็นประโยชน์ว่าได้ใช้แน่นอนแล้วค่อยซื้อ ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยตามอารณ์กิเลสอยากได้อยากมีของตนเป็นหลัก เช่น
อาหารไม่จำเป็นต้องทานร้านหรูราคาแพงเป็นประจำ ไปทานเฉพาะโอกาสพิเศษก็พอ จะได้มีเงินเหลือเก็บ
เสื้อผ้าเอาที่ใส่แล้วดูดี ไม่ใช่ต้องแพงหูฉี่ เพราะบางคนใส่ของแพงก็ดูเหมือนของถูก บางคนใส่ของถูกก็ดูแพง ขึ้นอยู่กับการหาให้เหมาะสมกับรูปร่างหน้าตาและอายุของตนเองมากกว่า ลองเปิดดูตู้เสื้อผ้าสิครับจะเห็นว่ามีเสื้อผ้าตัวเก่งที่ใส่ประจำไม่กี่ชุดเอง ที่เหลือคือส่วนเกินทั้งนั้น
ที่อยู่อาศัย เอาที่พอสมควรตามฐานะ ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านหลังใหญ่เกินตัวแล้วปิดห้องที่ไม่ได้ใช้งานทิ้งไว้ให้โทรมเปล่าๆ แถมยังต้องทำงานตาเหลือกเพื่อหาเงินผ่อนบ้านไว้ให้คนรับใช้อยู่มากชั่วโมงกว่านายจ้าง เว้นแต่ท่านรวยมากซื้อบ้านเงินสด หรือ ได้มรดกมาก็ว่าไปอย่าง ผมเคยเจอหลายคนที่มีบ้านใหญ่โต เขาบ่นให้ผมฟังว่าตอนนี้เกษียณแล้วแก่แล้ว ลูกๆก็แยกตัวไปมีครอบครัวหมดแล้ว บ่นว่า “แค่ทำความสะอาดบ้านก็หมดแรงและหมดเวลาทั้งวัน อยากขายบ้านจัง”
การรักษาตัวก็เช่นกัน หัดหาความรู้เรื่องโรคพื้นฐานที่ดูแลรักษาด้วยตนเองได้ แบบไหนจึงควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ใช่ว่าไอสองสามแคก ก็รีบไปหาหมอ แถมยังไปโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงๆอีก แบบนี้มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอครับ เริ่มจากไปคลินิกประกันสังคม หรือ คลินิกใกล้บ้านก่อนก็ได้ หมอเหมือนกัน หมอเก่ง หรือ ไม่เก่งไม่ได้ดูกันที่ขนาดของสถานที่ครับ
2
2. ก่อนซื้ออะไร ตอบ 3 คำถามนี้ก่อนซื้อ
เมื่อเดินชมสินค้าตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดต่างๆ เห็นของเตะตาอยากได้ขึ้นมา ให้ถามสามคำถามนี้ก่อน คือ
คำถามที่ 1. ของสิ่งนี้เป็นของที่ “จำเป็น” ต้องใช้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเพราะอารมณ์ “อยากมี”
คำถามที่ 2. ของสิ่งนี้มีอยู่แล้วในบ้านและยังใช้งานได้หรือไม่ หรือ ใช้สิ่งอื่นที่มีอยู่ทดแทนได้ไหม
คำถามที่ 3. ของสิ่งนี้ต้องซื้อเดี๋ยวนี้เลยหรือไม่ หรือ ยังรอได้
ถ้าคำตอบในใจ คือ เป็นของจำเป็นต้องใช้ และที่บ้านไม่มีอีกทั้งหาสิ่งอื่นใช้แทนไม่ได้ แต่มักมาจบที่คำถามสุดท้ายว่า “ยังไม่จำเป็นต้องซื้อเดี๋ยวนี้ เพราะไม่เร่งด่วนอะไร” เมื่อกลับบ้านเวลาผ่านไปสองสามวันก็ลืมไปแล้วว่าต้องใช้และไม่สนใจอยากซื้ออีกต่อไป ก็มีหลายหน
เช่น เดินในห้าง เห็นเสื้อผ้าสวยมาก
เริ่มคำถามที่ 1. จำเป็นต้องซื้อเสื้อเพิ่มหรือไม่ หรือ แค่เห็นว่าสวยจึงอยากซื้อ
หากคำตอบคือ ต้องซื้อเพิ่มเพราะตัวเก่าคับแล้ว ก็มาที่คำถามที่ 2. มีเสื้อตัวอื่นอยู่ในบ้านและยังใส่ได้หรือไม่ หรือ มีเสื้อตัวอื่นที่ใส่ไปออกงานได้หรือไม่ หรือ เช่าชุดใส่ได้ไหม
หากคำตอบคือ ไม่มีเสื้อตัวอื่นที่เหมาะจะใส่ไปงานนี้ และไม่น่ามีชุดเช่าที่ใส่ได้พอดี ก็มาที่คำถามที่ 3. แล้วต้องซื้อเสื้อตัวนี้เดี๋ยวนี้เลยหรือไม่ หรือว่ากว่าจะใส่ไปออกงานก็อีก 1-2 เดือน ยังไม่ต้องรีบก็ได้ เป็นต้น
จะเห็นว่า การถาม 3 คำถามนี้ก่อนตัดสินใจ จะทำให้เราเลิกซื้อของที่ไม่จำเป็นเข้าบ้านได้มากมายทีเดียวเมื่อเวลาผ่านไป นั่นก็หมายถึงเงินที่เก็บได้มากขึ้นนั่นเอง
1
3. เงินหาได้ก่อนค่อยใช้ ไม่ใช่ ใช้ก่อนแล้วค่อยหา
การใช้ก่อนค่อยหา ก็คือการสร้างหนี้สิน เช่น ซื้อผ่อน หรือ กู้ยืมมาซื้อ ถ้าทำจนเป็นนิสัยจะเป็นคนมีหนี้ไม่รู้จักจบจักสิ้น อยากได้อะไรก็ซื้อ แล้วค่อยผ่อนส่งเอา คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้จึงมีหนี้สะสมมาก เนื่องจากมักไม่ได้ผ่อนสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ผ่อนหลายอย่าง หรือ เกือบทุกอย่างในบ้าน
ต้องเปลี่ยนอุปนิสัยนี้ก่อน ว่าอยากได้อะไร ไปหาเงิน เก็บหอมรอมริบ แล้วค่อยซื้อ หากทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องซื้อ
ผมยังจำได้ว่าตั้งแต่ตอนเรียนจบปริญญาตรีกลับมารับปริญญาที่มหาวิทยาลัย เพื่อนหลายคนใช้บัตรเครดิตรูดเพื่อเลี้ยงคนอื่นจนหมดไปหลายหมื่นบาท เจอใครก็นัดไปเลี้ยง แล้วมาบ่นทีหลังว่าเงินเดือนนิดเดียว แต่หนี้บัตรเครดิตมากมาย ผ่อนบัตรใช้หนี้เจอดอกเบี้ยสูงอีกต่างหาก ผมก็สงสัยว่า “แล้วจะไปอวดร่ำอวดรวย เลี้ยงคนอื่นให้ทั่วไปหมดทำไม” เขากินฟรีแล้วก็จากไป แต่คุณแบกภาระหนี้สินหน้าเขียวเปล่าๆ อย่ามีทัศนคติแบบที่ผมชอบพูดประชดว่า “ฉิบหายไม่ว่า ได้หน้าก็พอ”
4. เงินที่หาได้ แบ่งเก็บออมก่อน ที่เหลือค่อยใช้
วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีโลก เคยกล่าวเหมือนกับผู้มั่งคั่งแห่งบาบิโลนกล่าวไว้ ว่า “ต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งของรายได้เพื่อสะสมก่อน แล้วจึงนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย”
ความคิดของอภิมหาเศรษฐี ย่อมควรรับฟังและนำไปปฏิบัติ หากอยากมีเงินแบบเขาบ้าง
บางคนอาจนึกเถียงในใจว่า “ทุกวันนี้ยังไม่พอใช้เลย จะเอาที่ไหนไปเก็บ” ผมก็ต้องถามกลับไปว่าเคยทำบัญชีรายจ่ายไหม ว่าแต่ละวันแต่ละเดือนคุณซื้ออะไรไปบ้าง หากเขียนลงไปจะรู้ว่า ของที่ไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ดันไปซื้อนั้น มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว บางคนผมเห็นดื่มชามุก หรือ กาแฟร้านดัง ราคาแพงหลังอาหารเที่ยงทุกวัน แค่เพียงคุณงดกาแฟหรือชามุก 1 แก้ว ก็ประหยัดได้เกือบร้อยหรือครึ่งร้อยเข้าไปแล้ว ที่บริษัทก็มีกาแฟให้ชงดื่ม บางที่ฟรีด้วยซ้ำ ทำไมไม่ไปกิน จำไว้ว่า “อย่าติดหรู ดูดี แต่ไม่มีตังค์”
อย่ามีข้ออ้างว่าต้องจ่ายก่อนเพราะอย่างโน้น เพราะอย่างนี้ แต่ให้สมองฝึกคิด หาข้ออ้างว่า ต้องเก็บ เพราะอย่างโน้น เพราะอย่างนี้ แทน
ดังนั้น เมื่อได้รายได้มาทุกครั้งให้หัก 10-20% เป็นอย่างน้อยเก็บฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำธนาคาร แล้วคิดซะว่าเงินก้อนนี้ไม่มีอยู่อีกต่อไป ทำเป็นลืมๆมันไปซะ ทำจนติดเป็นนิสัย เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหลายปีเข้า คุณจะพบว่าเงินที่คุณหักล่วงหน้าสะสมไว้มีมากมายพอดูทีเดียว
จากนั้นก็นำเงินเก็บดังกล่าวไปหาลู่ทางลงทุนที่ไม่เสี่ยงเกินไป ตามความรู้ความเชี่ยวชาญของคุณเองเพื่อให้เงินทำงานงอกเงยขึ้น เช่น หากชอบเสี่ยงโชค ก็อาจซื้อสลากออมสิน หรือ สลาก ธกส. เพราะแม้ไม่ถูกรางวัล เงินต้นก็ยังอยู่ครบ หากสนใจลงทุนหุ้น แต่ไม่รู้เรื่องหุ้น ก็อาจไปซื้อกองทุนรวม RMF เป็นต้น หรือ หากคุณมีความรู้ดีเรื่องหุ้น หรือ ตราสารอนุพันธ์ อยู่ในวงการ ตามข่าวทุกวัน ความรู้ดี ก็อาจแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งไปลองดูได้ แต่จำไว้นะว่าต้องใช้เงินเก็บไปลงทุนเท่านั้น ไม่ใช้เงินกู้มาเสี่ยง เพราะเงินเก็บหากเล่นพลาดอยากมากก็สูญ แต่เงินกู้เล่นพลาดนอกจากเงินสูญแล้วมีหนี้สินพร้อมดอกเบี้ยตามมาด้วย
1
5. รถยนต์ ซื้อทีหลังถ้าเลือกได้ซื้อบ้านก่อน
หลายคนเมื่อเริ่มต้นชีวิตการทำงาน พอมีเงินบ้างก็รีบไปดาวน์รถยนต์ก่อนเลย ยิ่งสมัยนี้วางดาวน์น้อยมาก บางยี่ห้อไม่ต้องดาวน์เลย ยิ่งทำให้อยากซื้อ โดยมองว่าจำเป็นต้องใช้ ผมอยากบอกว่าหากคุณไม่ใช่คนที่อยู่ในอาชีพเซลล์ที่ต้องขับรถยนต์ไปพบลูกค้าตามที่ต่างๆ ไกลๆ ทุกๆ วันแล้วหละก็ มีเพียงไปเช้า เย็นกลับ เรื่องรถยนต์ไว้ทีหลังครับ และแม้แต่เป็นเซลล์ บริษัทที่ดีส่วนใหญ่ก็มีรถบริษัทให้เซลล์ใช้ บางคนมีรถบริษัทก็ไม่ใช้ บอกว่านั่งรถไฟฟ้าเร็วกว่า รถไม่ติด เว้นแต่ขับออกต่างจังหวัดค่อยใช้รถยนต์
เพราะรถยนต์เมื่อคุณเริ่มผ่อน มันจะเป็นภาระหนี้สินจ่ายทุกเดือนไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปี ยังไม่รวมค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา และ ค่าประกันภัย ผมเคยเจอน้องบางคนออกรถใหม่มาก็จอดทิ้งไว้ทีหอพัก ผมถามว่าทำไม่ไม่นำมาขับ เขาบอกว่า “แค่ผ่อนรถก็ไม่มีเงินเหลือเติมน้ำมันแล้ว จึงต้องนานๆใช้ที” กลายเป็นงั้นไป และที่สำคัญกว่าก็คือ ราคาขายต่อของ “รถ” มัน “ลด” ลงเรื่อยๆสมชื่อ แค่ออกจากโชว์รูมวันเดียว ราคาขายต่อก็ตกไปแล้ว 30% แตกต่างจากบ้าน หากทำเลดี ยิ่งนานวันราคายิ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือ อย่างน้อยก็ทรงตัว ไม่ลดลงฮวบฮาบเหมือนราคารถยนต์
ดังนั้น เมื่อมีเงินเก็บพอควร หากให้ดีควรเริ่มจากผ่อนบ้านก่อน เพื่อลดภาระการเช่า อีกทั้งหนี้การผ่อนบ้านเป็นหนี้ระยะยาว 20-30 ปี แต่ละเดือนจึงมีภาระผ่อนไม่มากหากเลือกที่จะผ่อนยาว อีกทั้งหลายแห่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษในช่วย 2-3 ปีแรก แม้ว่าผ่อนผ่านไปหลายปีเกิดผ่อนไม่ไหวเพราะตกงานหรือเหตุอื่นขึ้นมา ก็ขอรีไฟแนนซ์เปลี่ยนสัญญาขยายระยะเวลาผ่อนก็ยังทำได้ หรือจะตัดสินใจขายทิ้งก็ยังได้ราคาดีแถมอาจมีเงินกำไรเหลือจากการขายบ้านอีกด้วย การเลือกผ่อนบ้านก่อนจึงเป็นทางเลือกที่แนะนำครับ
6. อย่ามีรายได้ทางเดียว
การมีรายได้ทางเดียว เป็นความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนี้มีหุ่นยนต์ มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พร้อมเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ โอกาสตกงานเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ก่อนเข้างาน หลังเลิกงาน หรือ วันหยุด ควรแบ่งเวลาไปหางานรายได้เสริมทำ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีสารพัดอย่างให้เลือกทำเอาตามความสนใจ ความชอบ ได้เลย ทั้งงานออนไลน์ ออฟไลน์ สารพัด ผมเคยอ่านประวัติบางคนตื่นตีสี่มาทอดหมูแดดเดียวส่งขายตามร้านทุกวัน จนมีเงินเก็บเปิดร้านขายหมูแดดเดียว และลาออกจากการเป็นลูกจ้างเรียบร้อย บางคนแบ่งเวลาทำธุรกิจขายตรงตอนเลิกงานและวันหยุด ผ่านไป 2-3 ปี ลาออกจากงานประจำมาทำเต็มตัวสบายไป บางคนขายของออนไลน์ 2-3 ปีผ่านไป เป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ขายของส่งของสนุกสนาน
รายได้มากกว่า 1 ทาง เป็นข้อกำหนดในชีวิตผมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน เพราะว่าจะได้เป็นงานสำรอง หากงานหลักมีปัญหา ไม่ว่าจะมีปัญหากับเจ้านาย เบื่องาน เบื่อเพื่อนร่วมงาน หรือ สาเหตุอื่นใด ก็ทำให้เราไม่เครียดเกินไปเพราะเรามีงานอาชีพเสริมทำรออยู่แล้วหากต้องออกจากงานหลักเดิม แถมทำไปทำมา อาชีพเสริมทำเงินมากกว่าเงินเดือนซะอีกก็มี
สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว ก็ยังควรมีอาชีพสำรองอีกงานหนึ่งไว้เช่นเดียวกัน เพราะเราไม่มีโอกาสรู้ว่างานเดิมของเราหรือธุรกิจเดิมของเราจะตกยุค คนจ้างทำน้อยลง หรือ คู่แข่งมากขึ้น ลูกค้าน้อยลง รายได้ลดลงจนเราอยู่ไม่ได้ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงต้องทำงานอื่นควบคู่กันไป อย่างน้อยธุรกิจหนึ่งงานลดลง อีกธุรกิจหนึ่งยังมีงาน ก็ยังพออยู่ไปได้
สำหรับความเห็นส่วนตัวผม ผมเห็นว่างานสำรองควรมีลักษณะที่สามารถเป็น Passive Income หรือ เมื่อทำถึงจุดหนึ่งมันสามารถจะสร้างรายได้กลับมาให้เราได้โดยอัตโนมัติแม้เราไม่ได้ทำ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราแก่ตัวลง การที่จะออกแรงทำหลายๆงานด้วยตนเองย่อมจะไม่ไหว จึงต้องมีงานที่มันสามารถ Auto Running สร้างรายได้ให้เรา งานประเภทที่ว่านี้มีไม่น้อย เช่น อสังหาฯให้เช่า งานลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หุ้นปันผล งานพัฒนาแอปที่ต้องชำระเงินค่าใช้บริการเป็นรายเดือน งานธุรกิจเครือข่าย Multi Level Marketing เป็นต้น งานประเภทเหล่านี้เมื่อคุณทำนานพอและธุรกิจเติบโตมากพอ มันจะสร้างรายได้ให้คุณโดยอัตโนมัติเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกปี โดยคุณไม่ต้องทำงานหนักอีกต่อไป
1
โดย วศ.ทค.มงคล ตันติสุขุมาล
“กดติดตาม” เพื่อฟังเรื่องต่อๆไป
โฆษณา