10 มี.ค. 2021 เวลา 04:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม “Warren Buffett” มองว่า Passive Investment เป็นสุดยอดการลงทุน สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นศึกษาและลงทุน ‘กองทุนรวม’ นอกจากที่เราจะต้องเลือกให้ได้ก่อนว่า เราต้องการลงทุนในสินทรัพย์อะไร เพื่อสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้แล้ว อีกเรื่องที่ทุกคนสนใจ คือ ความแตกต่างระหว่าง ‘Active Fund’ และ ‘Passive Fund’ ซึ่งความแตกต่างระหว่างกองทุนรวม 2 ประเภทนี้ คือ ‘จุดมุ่งหมายในการลงทุน’
2
Active Fund
จะมีจุดมุ่งหมายการลงทุนเพื่อเอาชนะดัชนีชี้วัดที่กองทุนถือเป็นมาตรฐานการดำเนินงาน (Benchmark) อย่างเช่น เราเลือกลงทุนใน ‘กองทุนรวมตราสารทุนไทย’ เป้าหมายของกองทุนรวมก็จะพยายามทำ ‘ผลตอบแทน’ ให้ได้มากกว่า ดัชนี SET TRI ที่ถือว่าเป็น Benchmark ของกองทุน ซึ่ง Active Fund ที่ดีจะสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า Benchmark ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ยิ่งดี และถ้าหากทำได้ในระยะยาวด้วยก็จะถือว่าเป็น Active Fund ชั้นยอด
1
Passive Fund
จะมีความแตกต่างกับ Active Fund ตรงที่จุดมุ่งหมายการลงทุน เพราะ เป็นการลงทุนพยายามให้ผลตอบแทนใกล้เคียงหรือเหมือนกับเกณฑ์มาตรฐาน หรือ ที่เรียกว่า Benchmark มากที่สุด ดังนั้น Passive Fund จึงมีโอกาสที่ผลตอบแทนอาจจะทำได้สูงหรือต่ำกว่า Benchmark ได้ เนื่องจาก สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในกองทุนอาจมีการจ่ายเงินปันผล ผลกำไร-ขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน และหรือความเสี่ยงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับใครที่กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะเลือกลงทุนกับกองทุนรวมประเภท Active Fund หรือว่า Passive Fund ดีกว่ากัน อยากให้ลองมาฟังความคิดเห็นของนักลงทุนคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นต้นแบบการลงทุนรูปแบบ Value Investor (VI) ของโลกเลยก็คือ Warren Buffet หรือคนไทยเราจะเรียกกันว่า ‘ปู่วอร์เรน’
ปู่วอร์เรนนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่มีนักลงทุนคนไหนที่สามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว” และสิ่งที่เป็นศัตรูของนักลงทุนมากที่สุดก็คือ ‘ค่าใช้จ่าย’ และ ‘อารมณ์’ เมื่อเห็นไอเดียในการนำเสนอของปู่วอร์เรน ทุกคนจะเข้าใจได้โดยทันทีว่า ปู่วอร์เรนชื่นชอบและแนะนำให้ลงทุนแบบ Passive เรามาดูกันดีกว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังที่ปู่วอร์เรนนำเสนอไว้คืออะไรกันแน่
“Active Fund” ที่ดีจะต้องทำผลทำผลตอบแทนได้มากกว่าดัชนีหรือตลาด และที่สำคัญต้องทำให้ได้ในระยะยาว การทำกำไรมากกว่าตลาดในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่การทำได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่อย่างตลาดหุ้นอเมริกา ที่มีนักลงทุนหลายล้านคนและมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล รวมถึงในปัจจุบันนักลงทุนทุกคนก็แทบจะเข้าถึงข้อมูลกันหมดอย่างเท่าเทียมแล้ว หรือในทางทฤษฎีเราจะเรียกว่าตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market) ที่จะไม่สามารถทำกำไรจากข้อมูลข่าวสารที่มากกว่าคนอื่นได้
2
แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว แตกต่างกันก็คือเรื่องของ ‘อารมณ์ นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองเก่ง ฉลาด สามารถเอาชนะตลาดได้ ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง
3
และเรื่องของ ‘อารมณ์’ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ขาดทุน ถ้าใครที่เคยผ่านประสบการณ์ลงทุนมาบ้างแล้ว จะต้องเคยทำแบบนี้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ซื้อหุ้นตามเพื่อน มั่นในใจการลงทุนจนเทหมดหน้าตักลงไปในหุ้นไม่กี่ตัว ไม่กล้าซื้อตอนหุ้นที่ดีปรับตัวลงมาแรง หรือไม่กล้าตัดขาดทุนเมื่อหุ้นลงมาถึงจุดที่เรากำหนดตัดขาดทุนไว้
1
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ ‘อารมณ์’ ด้วยกันทั้งสิ้นที่ทำให้นักลงทุนไม่มีวินัยในการลงทุนและพ่ายแพ้ต่อตลาดไปในที่สุด และเรื่อง ‘อารมณ์’ เป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดการลงทุนมีการปรับตัวขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้านักลงทุนทุกคนไม่มีอารมณ์เข้ามาร่วมกับการลงทุนเราน่าจะเห็น ‘เส้นราคา’ ของดัชนีทุกตัวบนโลกปรับเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงที่มีความชันเล็กน้อยอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ Warren Buffet มองว่าการลงทุนแบบ Active จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีเพราะว่ากองทุนประเภทพยายามเอาชนะตลาดและยังมีค่าใช้จ่าย (Fee) ในการลงทุนที่สูงกว่ากองทุนแบบ Passive Fund ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีในบางช่วงเวลา แต่ไม่ใช่สำหรับการลงทุนระยะยาวแน่นอน
1
มาถึงตรงนี้ต้องบอกก่อนว่า หลักการที่ Warren Buffet พูดมาทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market) มีผู้เล่นมากรายและผู้เล่นทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกัน แต่ถ้ามองย้อนมาสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ที่มีขนาดเล็กและมีผู้เล่นน้อยรายกว่ามากแล้ว จากสถิติค่อนข้างชัดเจนว่ายังมี Active Fund ที่ยังสามารถทำผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดได้อยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละบุคคลแล้วว่าอยากลงทุนและเหมาะกับการลงทุนประเภทไหนมากกว่ากัน
โฆษณา