10 มี.ค. 2021 เวลา 12:21 • กีฬา
นี่คือข่าวใหญ่มากที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย กับประเด็นนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติ ชื่อเอพริเลีย แมงกาแนง ถูกแพทย์ยืนยันว่า ความจริงแล้วเธอเป็นผู้ชายต่างหาก เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟังทีละสเต็ป
7
ย้อนไปในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา โอลิมปิกเกมครั้งแรกสุด ถูกจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 การแข่งครั้งนั้น มีนักกีฬาทั้งหมด 241 คน เป็นผู้ชาย 100% แต่ในโอลิมปิกอีก 4 ปีต่อมาที่ปารีส เริ่มมีการแข่งขันชิงชัยเหรียญทองในประเภทหญิง เช่นในกีฬาเทนนิส หรือเรือใบเป็นต้น
3
ยุคนั้น การแบ่งว่านักกีฬาคนไหนจะแข่งประเภทหญิง หรือประเภทชาย ก็ไม่มีอะไรยาก ดูตามสูติบัตร ถ้าหมอบอกว่าเป็นเพศอะไร ก็ให้ลงแข่งขันกีฬาของเพศนั้น
4
อย่างไรก็ตาม มันมีความดราม่าเกิดขึ้น ในปี 1934 เมื่อมีนักกีฬาที่ชื่อ ซเดน่า คุบโคว่า ชาวเชกโกสโลวะเกีย เธอทำสถิติโลกวิ่ง 800 เมตรหญิง จากนั้นก็ทำสถิติโลกวิ่ง 200 เมตร และวิ่ง 2x100 เมตร คือผลงานดีขนาดนี้ ก็บอกได้เลยว่านี่คืออัจฉริยะมาเกิดชัดๆ แน่นอน เธอเป็นตัวเต็งเหรียญทองโอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลินด้วย
8
ถ้าเธอเก่งเองตามปกติก็คงไม่มีประเด็นอะไร แต่นักกีฬาจากชาติอื่นๆ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) พิจารณาว่า คุบโคว่าเป็นผู้หญิงจริงหรือ? เพราะเธอมีกล้ามเนื้อเหมือนผู้ชาย และดูมีรูปร่างต่างจากผู้หญิงทั่วไป จริงๆ เธอดูเป็นชาย มากกว่าเป็นหญิงด้วยซ้ำ
4
คณะกรรมการไปตรวจสอบ พบว่าสูติบัตรของคุบโคว่า ตอนเกิดเป็นหญิงจริง แต่ประเด็นคือร่างกายเธอเป็น intersex หรือคนสองเพศในร่างเดียว
3
กล่าวคือ ตอนเธอเกิดขึ้นมา อวัยวะเพศมีความกำกวมดูไม่ออกว่าเป็นชายหรือหญิง แต่ดูแนวโน้มจะเป็นหญิงมากกว่า พ่อแม่จึงลงสูติบัตรให้เธอเป็นหญิงไว้ก่อน จากนั้นตอนเธอโตขึ้น ตามแผนคือจะเข้ารับการผ่าตัดให้เหลือเพศเดียว
1
เมื่อคุบโคว่าโตขึ้น ฮอร์โมนเพศชายเริ่มเด่นชัดกว่า แต่เธอยังฉกฉวยประโยชน์จากการมีสูติบัตรเป็นหญิง เดินหน้าลงแข่งกีฬาหลากหลายประเภท ซึ่งแน่นอน ด้วยกล้ามเนื้อที่มีลักษณะของผู้ชาย ทำให้เธอลงแข่งอะไรก็ได้เปรียบ ไม่ใช่แค่วิ่ง แต่เธอคว้าแชมป์กระโดดสูง และกระโดดไกลด้วย
7
คุบโคว่าให้สัมภาษณ์ว่า "ฉันสารภาพว่า เหมือนโชคชะตาพาฉันขึ้นรถไฟผิดขบวน จริงอยู่ฉันควรจะแจ้งคนขับให้หยุดรถ แต่ฉันกลับเลือกที่จะอยู่เงียบๆดีกว่า"
6
เมื่อเรื่องโดนแฉออกมา คุบโคว่าจึงหนีปัญหาด้วยการประกาศเลิกเล่นกรีฑาอย่างถาวร จากนั้นเข้ารับการผ่าตัดให้เป็นเพศชายโดยสมบูรณ์ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น ซเดเน็ค คูเบ็ก
6
นอกจากเคสของซเดเน็ค คูเบ็ก ก็ยังมีกรณีของแมรี่ เวสตัน นักพุ่งแหลนชาวอังกฤษ ที่เป็น intersex เช่นกัน ก่อนสุดท้ายจะเลือกเพศชาย และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นมาร์ก เวสตัน แล้วไปแต่งงานกับผู้หญิง มีลูกด้วยกัน 3 คน
8
เมื่อมีกรณีแบบนี้หลายครั้ง ในปี 1950 สหพันธ์กีฬาทั่วโลก จึงมองว่าจะตัดสินแค่จากสูติบัตรไม่ได้แล้ว ถ้าเกิดกรณี intersex แบบนี้อีกจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงมีกระบวนการตรวจสอบที่ชื่อ Physical Examination แบบ Nude Parade หรือถอดเสื้อผ้าตรวจดูเลยว่า มีอวัยวะ ตามจุดต่างๆ ที่ตรงกับเพศหรือเปล่า
3
สำหรับนักกีฬาที่ลงทะเบียนแข่งประเภทชาย จะไม่มีการตรวจสอบว่าตรงกับเพศหรือไม่ เนื่องจากถ้ามีนักกีฬาหญิงปลอมตัวมาแข่งกีฬาชาย ก็ไม่ชนะอยู่แล้ว เพราะมีร่างกายที่บอบบางกว่า แต่ในทางตรงข้าม กับนักกีฬาที่ลงทะเบียนแข่งประเภทหญิง จะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยการแก้ผ้า ให้คุณหมอหลายๆคน ได้ช่วยกันเช็ก เพื่อคอนเฟิร์มว่าตรงตามเพศหรือไม่
7
วิธีนี้โดนประณามอย่างหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน ลองคิดดูว่า คุณเป็นนักกีฬาระดับโลก แต่ต้องมาแก้ผ้าให้คนอื่นตรวจแบบนั้น มันจะโอเคหรือ นักกีฬาหญิงหลายคนมองว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี สุดท้ายการแก้ผ้าให้รุมตรวจก็เลยเป็นวิธีการที่ไม่เวิร์ก จึงต้องหาแนวทางใหม่ในการแยกแยะเพศ
5
ปี 1966 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลค้นพบวิธีใหม่ ที่จะตัดสินเรื่องเพศได้อย่างดีที่สุด นั่นคือการตรวจโครโมโซม
ในร่างกายมนุษย์จะมีโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ โดยแบ่งเป็นออโต้โซม ที่ควบคุมลักษณะพันธุกรรมต่างๆ จำนวน 22 คู่ และโครโมโซมเพศ จำนวน 1 คู่ โดยโครโมโซมเพศนั้น ถ้าเป็น XX จะหมายถึงเพศหญิง และถ้าเป็น XY จะหมายถึงเพศชาย
1
ดังนั้นไอโอซี จึงใช้เกณฑ์โครโมโซมในการตัดสินไปเลย XX ลงแข่งกีฬาประเภทหญิง ส่วน XY ก็ลงแข่งกีฬาประเภทชาย โดยทัวร์นาเมนต์แรกที่ทดลองระบบนี้คือ การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์ยุโรปในปี 1966
2
การตัดสินด้วยโครโมโซมถูกใช้เรื่อยมา 30 ปี ไม่มีปัญหาอะไร แต่มามีประเด็นขึ้นในโอลิมปิก 1996 ที่แอตแลนต้า เมื่อนักกีฬาหญิง 8 คน ถูกตรวจว่ามีโครโมโซม Y อยู่ในร่างกาย ทั้งๆที่ภายนอกมีความเป็นผู้หญิงทุกอย่าง และไม่ได้ผ่านการแปลงเพศใดๆทั้งสิ้น
7
แพทย์วินิจฉัยว่า พวกเธอเป็นกลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (AIS) กล่าวคือเด็กที่เกิดมาเป็น XY แต่มีปัญหาบกพร่องในการแสดงออกของเพศชาย แปลว่าร่างกายของเธอเหล่านั้น แสดงออกว่าเป็นหญิงทั้งหมด อวัยวะเพศเป็นหญิง มีสูติบัตรเป็นหญิง ถูกเลี้ยงแบบเพศหญิงปกติ รูปร่าง หน้าตา กล้ามเนื้อ ความแข็งแรง ทุกอย่างเป็นหญิงหมด
12
คำถามคือ แล้วเราจะตัดสินให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชายหรือหญิงล่ะ? XY ก็จริง แต่ในเมื่อร่างกายแสดงออกเป็นหญิงทั้งหมดแบบนี้ คุณจะจับเธอไปแข่งกับผู้ชาย มันยุติธรรมอย่างนั้นหรือ?
4
มาถึงจุดนี้ การตัดสินด้วยโครโมโซม ก็เลยถูกตั้งคำถามอีก เพราะมันไม่สามารถตัดสินได้อย่างยุติธรรมจริงๆ และถ้ายึดหลัก XX-XY ต่อไป ก็จะไปริดรอนสิทธิ์ของนักกีฬาที่เป็นโรคต่อต้านแอนโดรเจนอีก
5
วงการกีฬาต้องค้นหาวิธีใหม่ ที่จะแบ่งแยกนักกีฬาชาย-หญิงได้อย่างแฟร์มากกว่านี้ และในปี 2011 จึงมีการคิดค้นระบบการตรวจสอบที่ชื่อ "ค่าลิมิตเทสโทสเตอโรน" เอามาใช้แทนการตรวจโครโมโซม
1
เทสโทสเตอโรน คือฮอร์โมนเพศ ที่จะกระตุ้นให้แสดงลักษณะของความเป็นชาย เช่นความต้องการทางเพศ การสร้างเชื้ออสุจิ ขนตามส่วนต่างๆของร่างกาย กล้ามเนื้อและกระดูก นี่คือฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของเพศชาย
5
สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) กำหนดเอาไว้ว่า คนที่จะลงแข่งขันในกีฬาของประเภทหญิงได้นั้น ต้องมีค่าเทสโทสเตอโรน ในเลือดไม่เกิน 10 นาโนโมลต่อลิตร ซึ่งไอโอซีก็เห็นชอบด้วย และนำมาใช้ตั้งแต่โอลิมปิกปี 2012
6
ในเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เป็นส่วนที่สร้างความแข็งแรงแบบเพศชาย ดังนั้นตามทฤษฎีคนที่จะแข่งกีฬาประเภทหญิงก็ควรที่จะมีฮอร์โมนตัวนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
1
วิธีการนี้ถูกใช้งานระหว่างปี 2011-2015 แต่ก็มีนักกีฬาหลายคนไปโวยอีก ตัวอย่างเช่น ดูตี้ ชาน นักวิ่งสาวชาวอินเดีย เจ้าของเหรียญทองวิ่ง 200 เมตร เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย เธอเกิดมาเป็นเพศหญิง เป็น XX มีอวัยวะเพศปกติ แต่ร่างกายของเธอดันสร้างเทสโทสเตอโรนขึ้นเกินลิมิตโดยธรรมชาติ จนเธอถูกแบนจากการแข่งขัน และเธอก็ไม่พอใจ เพราะมองว่าการสั่งแบนครั้งนี้ไม่มีความยุติธรรม
7
ดูตี้ ชาน ยื่นฟ้องศาลกีฬาโลกว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เธอเป็นหญิงแท้ 100% ซึ่งศาลก็ยอมรับฟังจึงทำให้ นโยบาย "ค่าลิมิตเทสโทสเตอโรน" ถูกระงับใช้ชั่วคราวระหว่างปี 2015-2018
5
IAAF ไปหารือร่วมกับศาลกีฬาโลก และชี้แจงว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรบางอย่าง สูติบัตรก็ไม่ได้ ,แก้ผ้าตรวจร่างกายก็ไม่ได้, โครโมโซมก็ไม่ได้ แล้วถ้าฮอร์โมนก็ยังไม่ได้อีก แล้วจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องตัดสินใจการแบ่งแยกเพศล่ะ
9
มันต้องมีหลักการอะไรสักอย่าง ที่จะแบ่งแยก Sex ที่หมายถึงเพศจริงๆ ทางกายภาพ ที่ไม่ใช่ Gender ที่บอกว่าตัวเองอยากเป็นเพศอะไร นั่นทำให้สุดท้ายในปี 2018 ก็เลยได้ข้อสรุปว่า ในการแข่งขันรายการต่างๆ รวมถึงโอลิมปิกครั้งต่อไปที่โตเกียวด้วย จะใช้เกณฑ์เทสโทสเตอโรนลิมิต แต่ลดลงเหลือแค่ 5 นาโนโมลต่อลิตรเท่านั้น
12
ในมุมของสหพันธ์กีฬาก็ชี้ว่า เพศหญิงโดยปกติทั่วไป มีค่าเทสโทสเตอโรนในร่างกายประมาณ 1.04-2.43 นาโนโมลต่อลิตรเท่านั้นเอง การที่เพิ่มตัวเลขถึง 5 นาโนโมลก็นับว่าเยอะแล้ว ดังนั้นจะยึดเกณฑ์นี้เอาไว้ โดยไม่เปลี่ยนอีกแล้ว ซึ่งศาลกีฬาโลกก็เห็นชอบด้วย
7
ถ้านักกีฬาคนไหนที่มีค่าเทสโทสเตอโรนมากเกินกว่า 5 ก็ต้องเทกยา เพื่อลดลงมาให้ต่ำกว่า 5 ให้ได้
4
เรื่องนี้ก็มีดราม่าอีกพอตัว เพราะกลุ่มเฟมินิสต์ วิจารณ์ศาลกีฬาโลกอย่างหนักหน่วง อย่างเช่นเว็บ Buzzfeed เขียนคอลัมน์ว่า "นักกีฬาหญิงเหล่านี้โดนแบนจากการแข่งเพียงเพราะเธอไม่เป็น 'เพศหญิง' มากพอ" โดยบทความนี้มองว่า ถ้าทุกคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเพศหญิง ก็ควรได้ลงแข่งกีฬาประเภทหญิงทั้งหมด
6
แต่อีกกลุ่มก็มองว่า ถ้าให้ทุกคนในโลกพอใจหมด มันเป็นไปไม่ได้ มันก็จำเป็นต้องยึดหลักการอะไรบางอย่างไว้ และคนที่อยู่นอกเหนือจากเกณฑ์นี้ก็อาจจะต้องยอมรับความจริง
2
ที่กล่าวไปทั้งหมด คือภาพรวมการตรวจสอบ และแบ่งแยกนักกีฬาหญิง กับนักกีฬาชายออกจากกัน ในยุคปัจจุบัน
1
ขณะที่ประเด็นดราม่าของ เอพริเลีย แมงกาแนง นักวอลเลย์บอลทีมชาติอินโดนีเซีย หากอ้างอิงจากกฎของ FIVB เรื่องการตรวจสอบเพศ มีระบุรายละเอียดดังนี้
1
- การตรวจว่าเป็นเพศอะไร สมาคมวอลเลย์บอลของประเทศนั้น ต้องยืนยันผ่านสูติบัตรของนักกีฬา โดยนักกีฬาหญิงต้องได้รับการตรวจสอบจากไอดีล่าสุดเสมอ เพื่อยืนยันว่าเป็นเพศหญิงจริง
1
- ถ้าหากมีนักกีฬาคนใด ปลอมแปลงเอกสารทางการแพทย์ ทีมนั้นจะถูกปรับแพ้ทั้งทัวร์นาเมนต์
3
กฎเกณฑ์ของกีฬาวอลเลย์บอลนั้น การตรวจสอบเข้มข้นน้อยกว่ากรีฑาพอสมควร กล่าวคือ ไม่ต้องตรวจโครโมโซม หรือวัดค่าเทสโทสเตอโรนด้วยซ้ำ ขอแค่มีเอกสารที่รับรองจากรัฐบาล ทางสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติก็พร้อมจะให้ลงแข่งแล้ว
3
สำหรับเคสของเอพริเลีย แมงกาแนง นักวอลเลย์บอลชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในข่าวนั้น เธอเกิดมาไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์ชายอย่างเห็นได้ชัดเหมือนเด็กทั่วไป นั่นทำให้โรงพยาบาลในชนบท ลงสูติบัตรว่าเธอเป็นเพศหญิง
6
จะว่าไปแล้ว มันก็คือลักษณะของ intersex นั่นแหละ จากนั้นมาเธอก็ลงทะเบียนทุกอย่างว่าเป็นหญิงหมด เพียงแต่พออายุมากขึ้น ฮอร์โมนฝั่งชายกลายเป็นมีมากกว่า ทำให้มีลักษณะคล้ายผู้ชายไปโดยปริยาย
6
แมงกาแนง เริ่มต้นอาชีพด้วยการเล่นกับทีมอัลโก้ บันดุง ในอินโดนีเซีย แต่คู่แข่งสำคัญป็อปซิโว่ โปลวัน ปฏิเสธไม่ยอมแข่งด้วยเพราะบอกว่าบันดุงเอาผู้ชายมาแอบเล่น ตามด้วยอีกสองทีมคือ แบงค์ สุราบายา กับ เปตรอมคิมเมีย ก็ตั้งคำถามกับสมาคมว่านี่มันผู้ชายชัดๆ
3
จากนั้นในปี 2015 แมงกาแนงติดทีมชาติอินโดนีเซีย ลงแข่งขันซีเกมส์ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ แต่ก่อนจะได้แข่งก็มีดราม่าเพราะฟิลิปปินส์ส่งเรื่องไปแจ้งกับผู้จัดว่า ขอตรวจสอบร่างกายของแมงกาแนงเพราะข้องใจว่าน่าจะเอาผู้ชายมาลงเล่น แต่ผู้จัดปฏิเสธ โดยอ้างอิงจากกฎของ FIVB โดยกล่าวว่า "ผู้จัดการแข่งขันได้ดูเอกสารทางการแพทย์ที่ส่งมาจากสมาคมวอลเลย์บอลอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว และคำขอของฟิลิปปินส์จะถูกปฏิเสธ"
2
โดยผู้จัดการทีมอินโดนีเซีย ด่าทีมฟิลิปปินส์กลับไปว่า "ถ้าคุณถามผม ผมว่าฟิลิปปินส์ล้ำเส้นนะ เพราะคุณคาดเดามั่วไปเอง ถ้าให้ผมพูดก็พูดได้ ผมว่านักวอลเลย์บอลทีมคุณทั้ง 6 คน เหมือนพวกแปลงเพศมากกว่า ถ้าวัดกันด้วยสายตาของผม ผมก็บอกแบบนั้นได้เหมือนกัน"
8
ตลอดชีวิตของแมงกาแนง โดนดราม่าเรื่องเพศมาตลอด เพราะบุคลิกเขาเหมือนผู้ชายมากจริงๆ แต่เจ้าตัวก็ยังได้ลงแข่งวอลเลย์บอลหญิงมาเรื่อยๆ เพราะวอลเลย์บอลไม่ได้ใช้กฎเทสโทสเตอโรน ลิมิต เหมือนกีฬาชนิดอื่น และไม่ได้ตรวจค่า XX หรือ XY ด้วย แต่อ้างอิงจากเอกสารเป็นหลัก
9
ในปี 2019 แฟนวอลเลย์ชาวไทยก็ได้รู้จักเธอมากขึ้น เพราะสโมสรสุพรีม ชลบุรี อี-เทค คว้าตัวมาเสริมทัพ จนช่วยให้ทีมได้แชมป์ลีก และเธอยังได้ MVP อีกต่างหาก
4
หลังจากอยู่ในวงการมา 10 ปี แมงกาแนง จึงประกาศรีไทร์ ในวันที่ 10 กันยายน 2020 โดยกองทัพบก รับเธอเข้ารับราชการทันทีในหน่วยทหารหญิง (Kowad) แต่หลังจากไปตรวจร่างกายก่อนเป็นทหาร แพทย์ได้พบว่า ความจริงแล้วเพศชายของเธอเด่นชัดมากกว่า ดังนั้นจะทำการผ่าตัดให้มีอวัยวะต่างๆ เหมือนเพศชายโดยปกติต่อไป
3
ล่าสุดแมงกาแนง ผ่าตัดรอบแรกเรียบร้อยแล้ว และกล่าวว่า "มีความสุขมาก นี่เป็นช่วงเวลาที่รอคอยมาตลอด" เธอโอเคมาก ที่ได้เปลี่ยนจากหญิงเป็นชายอย่างเป็นทางการ
3
บรรยากาศในโลกออนไลน์ เมื่อกองทัพอินโดนีเซียประกาศว่าแมงกาแนงเลือกจะเป็นผู้ชาย คำที่ผู้คนพูดกันก็คือ "ว่าแล้ว!" เพราะรูปลักษณ์ของเธอมันคือผู้ชายจริงๆ
5
ถ้ามองในอีกมุม เธอเองย่อมรู้ตัวแต่แรกแล้วว่าอยากเป็นผู้ชาย ตามที่เธอกล่าวอ้างหลังผ่าตัด นั่นแปลว่าเธอก็ฉกฉวยประโยชน์จากการอยู่ในวงการวอลเลย์บอลหญิง ทำให้มีชื่อเสียง และกลายเป็นสตาร์ของวงการไปโดยปริยาย
3
สำหรับประเด็นของแมงกาแนง ถูกนำมาถกเถียงกันต่อเนื่องว่า ถ้านักกีฬาสักคนมีกล้ามเนื้อแข็งแรงเหมือนผู้ชาย แต่เกิดมาด้วยการระบุว่าเป็นเพศหญิง แล้วแบบนี้ควรจะให้ลงแข่งจริงๆหรือ แล้วมันจะแฟร์กับคู่แข่งหรือเปล่า ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่กีฬาประเภทอื่นๆ ควรเอาวิธีอื่น เช่น การวัดค่าเทสโทสเตอโรน มาช่วยพิจารณาแยกเพศด้วย
2
เรื่องเพศของนักกีฬา ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ก็เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญเสมอ เพราะถ้ามองให้ลึกลงไป เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเกี่ยวกับจุดยืนทางความคิดด้วย
2
ฝ่ายหนึ่งจะเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน คนทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน ดังนั้นการไปริดรอนสิทธิบางอย่างทั้งๆที่เขาเองก็ไม่ได้อยากจะเลือกเกิดแบบนี้ เป็นการไม่ยุติธรรมหรือไม่ เหมือนสีผิว เหมือนเชื้อชาติ ที่คุณเลือกไม่ได้นี่
3
แต่อีกฝ่ายจะเชื่อเรื่องกฎเกณฑ์ ถ้าหากไม่มีกฎอะไรสักอย่างคอยคอนโทรลแล้วสังคมจะอยู่กันยังไง เพราะในโลกนี้ไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้อยู่แล้ว บางคนอาจต้องโชคร้าย แต่มันก็ทำให้สังคมในภาพรวมเดินไปต่อได้
อ่านจบแล้ว คิดเห็นว่าอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้ ยืนอยู่ข้างไหน แลกเปลี่ยนกับแอดมินทีนะครับ
#Sex #Gender
โฆษณา