12 มี.ค. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
เรื่องจริงนะ!
ความเครียดระดับกำลังดีจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า นอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) ฮอร์โมนตัวนี้ทำให้จำแม่น
4
ความทรงจำเกี่ยวพันกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง มนุษย์จะจำเหตุการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ สนุก โกรธ หรือเศร้า
1
เมื่อเกิดอารมณ์ร่วม สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่เพิ่มประสิทธิภาพการจำ เช่น
- เวลาตื่นเต้นดีใจ สมองจะหลั่งโดปามีน (Dopamine)
- เวลามีความสุขมาก ๆ สมองจะหลั่งเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin)
- เวลากลัวหรือกังวล สมองจะหลั่งนอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) และอะดรีนาลิน (Adrenaline)
1
ความทรงจำเชิงอารมณ์ความรู้สึกมีชื่อทางประสาทวิทยาว่า Emotional Memory เป็นความทรงจำที่ติดทนนานมาก
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน สมองจะหลั่งนอร์อะดรีนาลินและอะดรีนาลิน
นอร์อะดรีนาลินทำให้ร่างกายตื่นตัว จดจ่อ ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
อะดรีนาลินช่วยเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ ความฉับไว ความแข็งแรงของปอดกับหัวใจ
บางคนเรียกฮอร์โมนตัวนี้ว่า “ฮอร์โมนซุปเปอร์แมน” เหมือนมีข่าวเวลาไฟไหม้ คนจะยกตุ่มได้ เพราะสมองหลั่งอะดรีนาลินนั่นเอง ^_^
แต่ถ้าเครียดมาก สมองจะยิ่งหลั่งนอร์อะดรีนาลินมาก ถ้าหลั่งมากไปทำให้สมองประมวลช้า กระบวนการคิดถดถอย
ยิ่งถ้าเครียดมากขึ้นจนถึงระดับวิกฤติ จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “สมองขาวโพลน” เป็นสภาวะที่หัวสมองขาวโล่งจนนึกอะไรไม่ออก อ่านหนังสือแค่ไหนก็ไม่เข้าหัว
ดังนั้น ความเครียดที่ดี คือความเครียดในระดับที่เหมาะสม
แล้วทำยังไงถึงจะมีความเครียดในระดับที่เหมาะสม?
คำตอบคือ เส้นตาย (Deadline)
สังเกตไหมครับว่า พอเข้าใกล้เส้นตาย เราจะมีพลังพิเศษบางอย่าง
เหมือนตอนสมัยเรียน ช่วงเปิดเทอมเราจะอ่านหนังสือไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอใกล้สอบกลับอ่านเข้าใจซะงั้น ^^
เส้นตายคือภาวะที่ทำให้สมองเครียดกำลังดี แต่ต้องให้ความสำคัญกับเส้นตายนั้นจริง ๆ ต้องมองว่าเส้นตายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
อย่าคิดว่า ถ้างานไม่เสร็จ ไม่กลับบ้าน
แต่ให้คิดว่า ต้องทำงานนี้ให้เสร็จก่อนห้าโมงเย็น!
ถ้าคิดแบบนี้ สมองจะหาทางทำให้เสร็จจนได้
(ตัวผมเองยอมรับว่าทำไม่ได้ ส่วนใหญ่ยังคิดแบบแรก พอไม่ทันก็เขยิบเส้นตายไปเรื่อย ๆ งานจึงเสร็จช้า ต้องฝึกตัวเองให้ยึดติดกับเส้นตายมากกว่านี้)
2
งั้นเราก็ทำงานเฉพาะตอนใกล้เส้นตายอย่างเดียวดีไหม?
คำตอบคือไม่ดี เพราะถ้าปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานบ่อย ๆ นอร์อะดรีนาลินจะเริ่มแห้งเหือด จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
และถ้ายิ่งเครียดมากอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) สร้างความเสียหายให้กับฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นคลังเก็บข้อมูลระยะสั้น ส่งผลให้การเปลี่ยนข้อมูลเป็นความทรงจำระยะยาว หรือการเรียนรู้มีปัญหา
ยิ่งถ้าเครียดเรื้อรังจะยิ่งส่งผลร้ายต่อความจำ คอร์ติซอลจะไปทำลายฮิปโปแคมปัส
มีงานวิจัยศึกษาสมองของทหารที่กลับมาจากสงครามเวียดนาม พบว่าฮิปโปแคมปัสของทหารกลุ่มนี้หดเล็กลงมาก อีกงานวิจัยนึงพบว่าฮิปโปแคมปัสของผู้ที่เคยถูกทารุณกรรมตั้งแต่เด็กก็หดเล็กลงเช่นกัน
1
ดังนั้น หากอยากพัฒนาตัวเองให้จำและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ควรมีความเครียดที่เหมาะสม แต่ต้องระวังไม่ให้เครียดมากเกินไป
และเมื่อผ่านช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานมาแล้ว ควรให้สมองได้พักบ้าง
การทำงานโดยมีช่วงตึงและผ่อนสลับกัน ส่งผลดีต่อทั้งผลงานและสุขภาพครับ ^_^
อ้างอิงจากหนังสือ: เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ เขียนโดยคุณคะบะซะวะ ชิอง
โฆษณา