11 มี.ค. 2021 เวลา 11:28 • กีฬา
นักเตะที่โด่งดังที่สุดในประเทศ แต่กลับไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศได้ นี่คือเรื่องราวคลาสสิคของอดีตนักเตะเบอร์ 1 ของโลก "เฟเรนซ์ ปุสกัส"
ครั้งหนึ่งทีมฟุตบอลฮังการี เคยอยู่ในจุดสูงสุดของโลกลูกหนัง แต่เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น ทำให้นักเตะที่เก่งที่สุด ต้องหนีไปอยู่ประเทศอื่น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความล่มจมที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
1
ย้อนกลับไปในยุค 50 ฮังการี คือประเทศที่เก่งกาจมากๆ ในโลกฟุตบอล ชนิดที่เราอาจคาดไม่ถึงทีเดียว
ในปี 1952 ฮังการีได้เหรียญทองโอลิมปิกฟุตบอลชาย ด้วยผลงานชนะคู่แข่งแบบ 100%
1
ในปี 1953 ฮังการีลงเล่นเกมอุ่นเครื่องกับอังกฤษที่เวมบลีย์ โดยตอนนั้นอังกฤษมีความอหังการ คิดว่าตัวเองคือชาติต้นกำเนิดลูกหนัง ดังนั้นย่อมเก่งที่สุดในโลก สุดท้ายโดนฮังการีถล่มกระจุย 6-3 คาบ้าน และแมตช์นี้ในภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็น "แมตช์แห่งศตวรรษ" เพราะมันเหมือนเป็นนาฬิกาปลุก ที่ทำให้คนอังกฤษได้รู้ว่าในโลกนี้มีอีกหลายชาติที่เหนือกว่าพวกเขาเยอะ
6
ในปี 1954 ฮังการี คว้ารองแชมป์ฟุตบอลโลก คือแม้จะไม่ได้แชมป์แต่ผู้คนยกย่องว่าฮังการีคือทีมที่ดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์ เพราะทั้ง MVP และดาวซัลโว ต่างก็เป็นผู้เล่นของฮังการีทั้งสิ้น
ในทีมฮังการีชุดนี้ ผู้เล่นที่เก่งกาจที่สุดชนิดที่ใครๆก็ต้องยอมรับ ได้แก่กัปตันทีมที่ชื่อ "เฟเรนซ์ ปุสกัส" ถ้าดูจากรูปลักษณ์ภายนอก อาจไม่คิดว่าเขาเก่ง เพราะเป็นกองหน้าตัวหนาๆ ตันๆ แถมสูงแค่ 172 ซม. ซึ่งแตกต่างจากกองหน้าพิมพ์นิยมในยุคนั้นที่ควรจะเป็นกองหน้าตัวใหญ่ เล่นลูกกลางอากาศได้ดี
1
แต่ก็นั่นแหละ ปุสกัสเป็นคนสร้างคำนิยามใหม่ของกองหน้า ว่าต่อให้คุณมีรูปร่างไม่ใหญ่โตอะไร ก็สามารถเป็นผู้เล่นที่ดีได้
ปุสกัสมีสถิติยิงประตูที่เหลือเชื่อมากๆ เขาลงเล่นกับสโมสรบูดาเปสต์ ฮอนเวด ลงเล่นเกมลีกไป 350 นัด ยิงไป 358 ประตู จะมีมนุษย์สักกี่คนที่ยิงประตูค่าเฉลี่ยเยอะกว่าจำนวนนัดที่ลงเล่น เช่นเดียวกับผลงานในทีมชาติฮังการี ลงไป 85 นัด ยิงไป 84 ประตู คือซัดกระจุยไม่ว่าจะเจอใครก็ตาม
1
ในยุคที่ปุสกัสกำลังพีก ยังไม่มีรางวัลบัลลงดอร์ ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะทุกคนรู้ว่า ถ้ามีการมอบบัลลงดอร์ตั้งแต่ตอนนั้นล่ะก็ ไม่มีทางเลยที่ปุสกัสจะพลาดได้
ด้วยความที่ปุสกัสเป็นอัจฉริยะ เขาจึงมีสถานะเป็นเหมือนฮีโร่ของชาติ เป็นไอคอนของเด็กรุ่นหลัง สิ่งใดที่เขาเลือกจะทำ ล้วนแล้วแต่มีอิมแพ็กต์ต่อคนหมู่มากเสมอ
ในขณะที่ฟุตบอลของฮังการีอยู่ในจุดสูงสุดของโลก แต่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียด กล่าวคือช่วงนั้นเป็นยุคสงครามเย็น เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และ คอมมิวนิสต์ ของสหภาพโซเวียต
1
14 พฤษภาคม 1955 สหภาพโซเวียตสร้างสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น โดยมีข้อตกลงให้ภาคีสมาชิก ยินยอมให้กองทัพโซเวียตเข้าไปตั้งกองทัพในประเทศของตัวเองได้
4
นอกจากนั้นชาติต่างๆ ต้องยินยอมให้โซเวียตดำเนินกิจการต่างประเทศให้ ว่ากันง่ายๆ ก็เหมือนกับเมืองขึ้นของโซเวียตนั่นแหละ
2
ฮังการีเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับโซเวียตในฝั่งยูเครน ด้วยอิทธิพลจากโซเวียตทำให้ฮังการีโดนกดดันให้เซ็นสนธิสัญญาวอร์ซอด้วย แน่นอนมันทำให้คนฮังการี มีชีวิตด้วยความอึดอัดใจอย่างมาก เพราะผู้นำประเทศก็เลือกเองไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนที่ผ่านการเห็นชอบจากโซเวียตมาแล้ว เอกราชที่เคยมีอยู่ๆก็ไปอยู่ในกำมือของคนอื่น
5
บรรยากาศในบ้านเมืองมีแต่ความกดดัน เพราะโซเวียตก่อตั้งองค์กรตำรวจลับเพื่อไล่ล่าจับกุมผู้เห็นต่าง นอกจากนั้นโซเวียตยังกดดันให้ฮังการี เปลี่ยนมาใช้ภาษารัสเซียอีกต่างหาก คือกดขี่ทั้งเชิงวัฒนธรรม และนโยบายการเมืองเป็นอย่างมาก
6
ประชาชนสั่งสมความคับข้องใจกันมาตลอด และตัวปุสกัสเองนั้นก็มีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่แรกคือต่อต้านโซเวียต เขาเป็นกระบอกเสียงของประชาชนในประเทศ จนเจ้าตัวเริ่มโดนเพ่งเล็งจากฝั่งโซเวียต แต่ในช่วงแรกก็เป็นแค่การจับตามองเท่านั้น เพราะปุสกัสคือนักเตะระดับสตาร์ของโลก มันยากที่คุณจะไปเล่นงานคนโด่งดังแบบนั้น
1
จุดเปลี่ยนสำคัญของฮังการี เกิดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 1956 เมื่อประชาชนทนไม่ไหวอีกแล้ว จึงเกิดการลุกฮือ (Uprising) ขึ้นในท้องถนนทั่วกรุงบูดาเปสต์ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนหลายหมื่นเดินประท้วงอย่างสันติ แต่การประท้วงสงบได้ไม่นาน ก็เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะโซเวียตส่งทหารกองทัพแดงเข้ามาสลายการชุมนุม
2
นิกิต้า ครุชชอฟ ประธานาธิบดีโซเวียตส่งรถถัง 6 พันคัน จากกองทัพแดงอันลือชื่อ บุกข้ามพรมแดนมายังบูดาเปสต์ และเริ่มทำการกวาดล้างประชาชนที่ลุกฮือ สุดท้ายมีชาวฮังการีราว 3,000 คน ต้องเสียชีวิต
3
นอกจากจะจัดการกับผู้ประท้วงแล้ว โซเวียตยังใช้การไล่เด็ดหัวคนที่มีชื่อเสียงที่เป็นกระบอกเสียงของชาวฮังการีด้วย 24 ตุลาคม 1956 ตำรวจลับได้บุกไปที่โรงแรมเรดสตาร์ ที่มีนักกีฬาโอลิมปิกชาวฮังการีหลายคนเก็บตัวเตรียมแข่ง (โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1956 แข่งที่ออสเตรเลีย วันที่ 22 พฤศจิกายน) โดย อิสวาน เฮเกดัส นักกรีฑาทีมชาติฮังการี ที่เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประท้วง โดนสังหารที่โรงแรมอย่างเหี้ยมโหด
4
การที่โซเวียตส่งคนบุกมาฆ่านักกีฬาถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ และพอไอโอซี หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไม่ยอมแบนโซเวียตจากการแข่งโอลิมปิก 1956 หลายๆประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์, สเปน และ สวิตเซอร์แลนด์ ก็ประกาศบอยคอตต์จากการแข่งขันทันที
1
ในสถานการณ์นี้ เฟเรนซ์ ปุสกัสเป็นอีกหนึ่งนักเตะที่ตกเป็นข่าวว่า อาจจะโดนเก็บเหมือนกัน ตอนนั้นมีข่าวลือว่าเขาโดนยิงตายไปแล้วด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ณ ตอนที่เกิดการลุกฮือที่บูดาเปสต์ ตัวปุสกัสไม่ได้อยู่ในประเทศ แต่เก็บตัวปรีซีซั่น อยู่กับเพื่อนร่วมทีมฮอนเวดที่ประเทศออสเตรีย
2
เมื่อสถานการณ์การเมืองล่อแหลม กลับไปก็เสี่ยงตาย ทำให้ปุสกัสกับเพื่อนๆ อยู่ที่ออสเตรียต่อไป จากนั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 1956 ก็เดินทางไปแข่งขันยูโรเปี้ยนคัพรอบแรก กับแอธเลติก บิลเบาที่สเปน ก่อนจะแพ้ไปก่อนในเลกแรก 3-2 ซึ่งตามกำหนดการเดิมในเลกที่ 2 ฮอนเวดต้องกลับไปเล่นที่บูดาเปสต์ แต่ประเด็นคือปุสกัสก็กลัวว่า ถ้ากลับไป ใครจะการันตีได้ว่าเขาจะรอดชีวิต
1
ณ ความเชื่อตอนนั้น คืออำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจต่อไป ต่อให้ตัวปุสกัสมีชื่อเสียงแค่ไหน การเอาตัวเองไปปะทะกับกระบอกปืน ก็ดูจะเป็นความคิดที่โง่เขลานัก
2
สิ่งที่ปุสกัสทำคือ เขากับทีมฮอนเวดจะ "ไม่กลับประเทศ" เพราะไม่รู้ว่ากลับไปจะโดนสั่งเก็บ หรือจับติดคุกหรือเปล่า
ปุสกัสกับเพื่อนร่วมทีม เลือกใช้ชีวิตเป็นคนพเนจรพลัดถิ่น เดินสายไปเตะบอลทั่วยุโรป ทั้งที่เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส และสเปน รวมถึงไปทัวร์บราซิลด้วย
คือในยุคนั้นใครๆ ก็อยากเห็นฝีเท้าของปุสกัสกับพรรคพวก จึงมีคำเชิญอย่างต่อเนื่องจากสโมสรทั่วยุโรป ปุสกัสก็เอาเงินที่ได้จากการเตะโชว์นี่แหละ เอามาแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมทีม ในการต่อชีวิตนอกแผ่นดินฮังการี
2
ไอเดียของปุสกัสทำเงินได้จริง แต่ปัญหาคือฟีฟ่า และสมาคมฟุตบอลฮังการี ไม่เห็นด้วยกับการเตะบอลเดินสายแบบนี้ เพราะคุณไม่ได้ลงแข่งผ่านการรับรองจากสมาคมฟุตบอลในประเทศ
2
คือคุณจะกลัวตายก็เข้าใจได้ แต่จะเดินสายหาเงินแบบนี้ ไม่สามารถทำได้ นั่นทำให้ฟีฟ่าสั่งแบนปุสกัส ในฐานะกัปตันทีม คนต้นคิดไอเดียด้วยการห้ามเล่นฟุตบอลทุกระดับเป็นเวลา 18 เดือน ส่วนเพื่อนร่วมทีมคนอื่นก็ได้โทษแบนลดหลั่นกันตามไป
5
การโดนแบนครั้งนี้ ทำให้ทีมชาติฮังการีพังทันที จากทีมที่เคยเก่งกาจและมีลุ้นแชมป์โลก เมื่อไม่มีปุสกัส ก็กลายเป็นทีมธรรมดา ในฟุตบอลโลก 1958 พวกเขาตกรอบแรก ทั้งๆที่บอลโลกครั้งก่อนยังเป็นรองแชมป์อยู่เลย ซึ่งก็ไม่แปลกใจนัก การเสียนักเตะเบอร์หนึ่งของทีม มันส่งผลเลวร้ายขนาดนั้นอยู่แล้ว
1
ฮังการีมีผลงานตกต่ำ ขณะที่ตัวปุสกัสนั้น การโดนแบนไป 18 เดือน ไม่ได้ลงเล่นฟุตบอลเลย ทำให้เขามีน้ำหนักตัวเพิ่มเยอะมาก ณ เวลานั้นฮอนเวดก็ฉีกสัญญาทิ้งไปแล้ว ดังนั้นเขาจึงสามารถย้ายไปเล่นกับทีมไหนก็ได้ แต่ทั้งอายุที่สูงขึ้น (31 ปี) กับร่างกายที่อ้วนอุ้ยอ้าย ทำให้ไม่มีสโมสรไหนสนใจเขาเลย ทุกคนมองว่าเขาเลยจุดพีกของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว
3
อย่างไรก็ตาม มีเพียงสโมสรเดียวเท่านั้น ที่มั่นใจว่าปุสกัส "เล่นได้" หลังจากเขาพ้นโทษแบนได้ 1 วัน เรอัล มาดริด ติดต่อเข้ามา โดยซานติอาโก้ เบร์นาเบว ประธานสโมสรเรอัล มาดริด เดินทางไปหาปุสกัสแล้วถามว่า สนใจจะย้ายมาเล่นด้วยกันหรือไม่
2
ปุสกัสเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโต๊ะเจรจาวันนั้นว่า "ผมฟังข้อเสนอของเขาอย่างตั้งใจ จากนั้นผมก็ถามเขาว่า คุณดูร่างกายผมซะก่อน ผมน้ำหนักเกินมา 18 กิโลกรัม เห็นแบบนี้คุณอยากจะเซ็นผมอีกหรือ แต่เบร์นาเบวตอบกลับมาว่า 'นั่นเป็นปัญหาของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของผม' ซึ่งเมื่อตอบมาแบบนั้น ผมจึงตัดสินใจเซ็นสัญญากับเรอัล มาดริด โดยได้รับเงินกินเปล่าสูงถึง 5,000 ดอลลาร์"
5
ปุสกัส เห็นความตั้งใจจริงของเรอัล มาดริด ดังนั้นเขาจึงตอบแทนด้วยการเรียกความฟิตอย่างหนัก จนน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ และสามารถยึดตัวจริงได้อย่างรวดเร็ว
3
คนที่เป็นเพชรแท้ ก็ย่อมเป็นเพชรแท้ ปุสกัสยิงประตูกระจุย เขากลายเป็นนักเตะเรอัล มาดริดคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ยิงได้ 6 ลูกในเกมเดียว คือไม่ว่าเจอคู่แข่งทีมไหน ปุสกัสยิงเละเทะหมด จนพาเรอัล มาดริด คว้าแชมป์ต่างๆ มากมาย และ ปุสกัสได้ดาวซัลโวทุกทัวร์นาเมนต์ที่ลงเล่น
7
เมื่อเล่นได้อย่างโดดเด่นขนาดนี้ ทำให้เขากลายเป็นที่รักของคนสเปน รัฐบาลสเปนมอบสัญชาติให้เขาในปี 1961 และโน้มน้าวให้เขา เปลี่ยนสัญชาติเลือกเล่นให้สเปนแทนฮังการี โดยในสมัยนั้นนักเตะยังสามารถเปลี่ยนสัญชาติได้อย่างอิสระอยู่
4
ในเมื่อฟุตบอลทีมชาตินั้น ยังไงคุณก็ต้องกลับไปเล่นในบ้านเกิดตัวเอง ทีมชาติฮังการีก็ต้องเล่นที่บูดาเปสต์ แต่ปุสกัสถ้ากลับไป ก็กลัวว่าจะโดนอำนาจมืดจากโซเวียตสั่งเช็กบิล คือจะให้รับใช้ชาติอย่างสบายใจได้อย่างไร ถ้าการเล่นฟุตบอลยังต้องระวังความปลอดภัยขนาดนั้น สุดท้ายปุสกัสจึงยืนยันว่า เขาจะไม่กลับไปฮังการีอีก และเปลี่ยนไปเล่นให้ทีมชาติสเปนในที่สุด
4
ปุสกัสแม้จะเซ็นสัญญากับเรอัล มาดริด ตอนอายุเยอะแล้ว (31 ปี) แต่เขายังแสดงให้โลกเห็นว่า อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข ปุสกัสเล่นกับมาดริด ระหว่างปี 1958-1966 เป็นจำนวน 8 ฤดูกาล ลงเล่นทุกรายการไป 262 นัด ซัดไป 242 ประตู
3
รวมแล้วปุสกัสได้แชมป์ลีก 5 สมัย, ยูโรเปี้ยนคัพ 3 สมัย, ดาวซัลโวลีกสเปน 4 สมัย และ ดาวซัลโวยูโรเปี้ยนคัพ 2 สมัย ซึ่งการเซ็นสัญญาปุสกัสแบบ "ฟรี" ในปี 1958 ได้รับการยกย่องว่า เป็นการเซ็นสัญญาที่คุ้มค่าที่สุด ในประวัติศาสตร์สโมสรเรอัล มาดริดด้วย
5
ความยิ่งใหญ่ของปุสกัสกับเรอัล มาดริด สร้างความเสียดายให้เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลฮังการี ลองคิดดูว่า ในฟุตบอลโลก 1958, 1962 และ 1966 ที่ปุสกัสยังเล่นได้ท็อปฟอร์ม ถ้าหากเขาสามารถเดินทางไปกลับฮังการีได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องการเมือง ป่านนี้ฮังการี อาจจะก้าวไปถึงแชมป์โลกสักครั้งแล้วก็เป็นได้
2
นับจากเกิดเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนในปี 1958 ปุสกัสไม่กลับไปฮังการีอีกเลย แม้แต่งานศพของเพื่อนสนิทของเขา โยเซฟ บ็อกซิช นักเตะทีมฮอนเวด และทีมชาติฮังการีในปี 1978 เขาก็ไม่กลับไป
3
จนถึงปี 1981 ตอนสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลายขึ้นแล้ว ไม่มีการไล่เช็กบิลคนเห็นต่างจากโซเวียตอีก ปุสกัสจึงยอมกลับไปบูดาเปสต์ 1 ครั้ง เพื่อร่วมถ่ายทำสารคดีเรื่อง "ยุคทองของฮังการี" ร่วมกับเพื่อนร่วมทีมชาติยุครุ่งเรืองอีกหลายคน โดยในวันที่คนในประเทศรู้ว่าปุสกัสจะกลับมา ก็ไปรอรับกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนแม้แต่ปุสกัสเองก็ยังตกใจ
2
"กุสตาฟ เซเบส เพื่อนร่วมทีมชาติฮังการี เดินทางไปเกลี้ยกล่อมผมถึงมาดริด ถ้าหากเขาไม่พยายามมากขนาดนี้ ผมคงไม่กลับไปบูดาเปสต์จริงๆ วันที่ผมกลับไป ที่สนามบินมีคนไปรอรับผมเยอะมากจริงๆ ทุกคนสวมกอดผม ราวกับผมเป็นป๊อปสตาร์เลย ทั้งๆที่ผมแขวนสตั๊ดไปแล้วด้วยนะ" ปุสกัสกล่าว
2
สำหรับปุสกัสเอง มีความสุขก็จริง แต่ก็อยู่ในฮังการีอย่างระแวดระวัง ก่อนที่จะบินกลับไปสเปนโดยไม่กลับมาฮังการีอีกเลย จนเมื่อถึงปี 1991 พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง พร้อมการสลายอำนาจของโซเวียต จุดนั้นปุสกัสก็เริ่มคิดว่า คงไม่เป็นไรแล้วล่ะ ที่เขาจะกลับไปยังบ้านเกิด
3
"ชาวฮังการีหลายคนที่ผมรู้จัก บอกว่าเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว มันก็ปลอดภัยแล้วที่ผมจะกลับบ้านได้ ขณะที่นักการเมืองยุคใหม่หลายคนของฮังการี เดินทางมาหาผม และถามว่าผมจะกลับบ้านได้ไหม ซึ่งนักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่มีใครที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวเลยนะ แต่พวกเขาเห็นว่า คงเป็นการดีที่ผม จะกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง และจากนั้นไม่นาน ผมจึงตัดสินใจเดินทางกลับฮังการีในที่สุด"
ปี 1993 ปุสกัส ในวัย 66 ปี เดินทางกลับสู่ฮังการี และคราวนี้เขาไม่ต้องระวังตัวใดๆอีกแล้ว แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดได้เสียที หลังจากห่างบ้านไปนานถึง 37 ปีเต็ม ในที่สุดเขาก็ได้อยู่กับประเทศที่มีระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของประเทศอื่นใด เหมือนที่เคยเป็นมา
4
ปุสกัสเสียชีวิตในปี 2006 จากโรคปอดอักเสบ ด้วยวัย 79 ปี อย่างน้อยแม้จะร่อนเร่ไปอยู่ต่างแดนมาเกินครึ่งชีวิต แต่ในวันสุดท้ายเขาก็ยังสิ้นลมที่บ้านเกิดของตัวเองในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
2
เหตุการณ์ปุสกัส เป็น What if? มาถึงปัจจุบัน ถ้าเขายังเล่นให้ทีมชาติฮังการีอยู่ ใครจะรู้ว่าฮังการีอาจเป็นมหาอำนาจในโลกลูกหนัง และสร้างความยิ่งใหญ่มาเรื่อยๆจนถึงวันนี้ก็ได้ เช่นเดียวกับสโมสรฮอนเวด อาจเป็นยักษ์ใหญ่ในฟุตบอลยุโรป แทนที่จะเป็นทีมกลางตารางในลีกฮังการีอย่างปัจจุบันนี้
3
แต่จุดนั้นใครๆ ก็เข้าใจปุสกัส เพราะชีวิตย่อมสำคัญกว่า ต่อให้รักบ้านเกิดแค่ไหน ให้เอาความเป็นความตายมาวัดใจกับลูกปืน มันไม่คุ้มหรอก
1
เรื่องราวของปุสกัส ทำให้เราได้เห็นสัจธรรมว่าประเทศใดๆ จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะวงการไหน จำเป็นต้องมี "คนเก่ง" อยู่ด้วยเสมอ
7
มีหลายๆประเทศ ไม่มีศักยภาพมากพอ ที่จะสร้างคนเก่งได้ ก็ถือว่าน่าเสียใจแทน ก็ต้องแก้ปัญหากันไป
แต่ก็มีบางประเทศในโลกเหมือนกัน ที่สามารถผลิตคนเก่งได้ แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถใช้การคนเก่งคนนั้นได้ เพราะปัญหาการเมือง นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจกว่าหลายเท่าเลยจริงๆ
2
#PUSKAS
โฆษณา