12 มี.ค. 2021 เวลา 00:18 • ปรัชญา
“แก้หนี้ อย่าโฟกัสที่ ‘หนี้’
ต้องโฟกัสที่ ‘กระแสเงินสด’”
ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่สอนและให้คำปรึกษาเรื่องการจัดการหนี้ ผมพบว่าปัญหาทางความคิดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนเป็นหนี้หลุดพ้นจากปัญหาไม่ได้ ก็คือ การโฟกัสปัญหาผิดจุด ผิดที่ผิดทาง
ยังไง?
เวลามีความทุกข์จากหนี้ คนเรามักจะคิดแต่ว่า เมื่อไหร่หนี้ 5 แสน 8 แสน 3 ล้าน หรือ 10 ล้าน ของเรา จะหมดไปเสียที ตัวผมเองก็เคยเป็นแบบนั้น ในวันที่หนี้ทับถมชีวิต ไม่ว่าใคร ก็อยากให้หนี้หมดไปเร็ว ๆ วันนี้ พรุ่งนี้ ได้เลยยิ่งดี
แต่ “หนี้”​ ไม่ใช่ “สิว”​ ครับ ที่บีบนิดเดียว ก็หลุดจากหน้าผากของเรา มันเกิดจากปัญหาการเงินที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน บวกกับความพยายามแก้ปัญหาแบบผิด ๆ (หรืออาจไม่พยายามเลย) ต่อเนื่องกันมานาน
ดังนั้นการพยายามแก้ปัญหา โดยคิดถึงแต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้ จึงมีแต่จะทำให้ทุกข์ใจ และอาจทำให้ท้อ หมดแรงแก้ปัญหาไปเลยก็ได้
ที่ถูกแล้ว เราควรโฟกัสที่ “กระแสเงินสดต่อเดือน” ครับ เพราะเอาเข้าจริง ชีวิตทางการเงินที่มีความสุข ไม่จำเป็นต้องปราศจากหนี้ หรือการใช้สินเชื่อนะครับ เพราะแม้จะมีสินเชื่อหรือกู้เงินเขามาใช้ในกิจกรรมของชีวิตอยู่บ้าง แต่หากเราผ่อนชำระได้ กระแสเงินสดไม่ติดลบ มีเงินเหลือออม ชีวิตก็ยังเคลื่อนต่อไปได้ไม่ลำบาก
 
(ดูตัวอย่างงบการเงินในภาพประกอบ)
 
จากตารางจะเห็นว่า ถ้าเราโฟกัสที่หนี้ ตั้งโจทย์จะเคลียร์หนี้ให้หมดทั้ง 3,140,000 บาท แต่ละเดือนที่เราสู้เราพยายาม แล้วหันไปมองตัวเลขหนี้ เราจะรู้สึกเหนื่อยและหมดพลังได้ง่าย เพราะหารายได้ได้เดือนละ 30,000 และมีค่าใช้จ่ายในชีวิตตั้งมากมาย เงินเดือนที่ได้มาไม่ได้เอาไว้จ่ายหนี้อย่างเดียว ต้องกินต้องใช้ด้วย จะตัดหนี้แต่ละเดือนได้สักกี่บาทกัน
ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้ โดยโฟกัสไปที่จำนวนเงินที่เป็นหนี้ทั้งหมด จึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ที่ถูกเราควรโฟกัสไปที่ตัวเลขกระแสเงินสด (หรือเงินคงเหลือ) ซึ่งติดลบอยู่เดือนละ 9,500 บาท ถ้าเราลดตัวเลขติดลบ จาก 9,500 ให้กลายเป็นศูนย์ ชีวิตการเงินเราก็จะหายใจหายคอได้คล่องมากขึ้น เพราะมีเงินจ่ายหนี้และค่าใช้จ่ายทุกตัว ไม่ติดลบ และถ้าเปลี่ยนจากติดลบกลายเป็นบวกนิดหน่อย ก็จะทำให้ชีวิตเริ่มมีเงินออม มีความหวังกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มากขึ้น
เพราะฉะนั้นคำถามที่ดีกว่า เป็นหนี้เท่าไหร่ ก็คือ ตอนนี้คุณติดลบอยู่เดือนละเท่าไหร่ นั่นคือ โจทย์การแก้หนี้ของคุณครับ ซึ่งคุณจะไม่มีทางเห็นตัวเลขนี้ได้ชัดเจน ถ้าหากไม่ลองทำสิ่งที่เรียกว่า “งบรายรับรายจ่าย” ล่วงหน้าไป 6 เดือน
นี่คือสิ่งที่ผมจะร้องขอจากคนที่มาขอคำปรึกษาอยู่เสมอ ‘เงิน’ เป็นเรื่องที่คิดในสมองไม่ได้ ทดเลขในใจยิ่งไม่ดี ต้องเขียนมันออกมาครับ เขียนออกมาให้หมด รายรับแต่ละเดือนเท่าไหร่ ออมและลงทุนแต่ละเดือนไปกับอะไรบ้าง (ถ้ามี) ใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายทั่วไปและหนี้แต่ละรายการ มีอะไรแยกแยะแจกแจงให้ละเอียดที่สุด
สุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่เราต้องแก้ปัญหา นั่นก็คือ “เงินคงเหลือ” ในแต่ละเดือนนั่นเอง
อีกประเด็นหนึ่งที่คนเป็นหนี้ชอบหลงทาง ก็คือ การคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาทางการเงิน ที่จริงแล้วไม่ใช่เลยครับ และนั่นจึงเป็นที่มาของการรีไฟแนนซ์ กู้สินเชื่อใหม่เอาไปเคลียร์หนี้เดิมที่มีอยู่ไม่รู้จบ หลายคนกู้กันทุกเดือนทุกปี โดยไม่หยุดสังเกตดูเลยว่า วิธีการที่ทำนำไปสู่ปัญหาหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
ที่ถูกแล้ววิธีการแก้หนี้ที่ดีที่สุด ก็คือ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
หลักการอาจจะดูง่าย แต่ทำจริงรับประกันว่าไม่ง่ายครับ เพราะแค่เรื่องลดรายจ่าย หลายคนก็ลดรายจ่ายผิดประเภทผิดวิธี พากันไปกินใช้อัตคัด เป็นหนี้เยอะแล้วคิดว่า ทำข้าวไปกินเองจะช่วยแก้ปัญหาได้ สุดท้ายหนี้ก็แก้ไม่ได้ แถมยังสูญเสียความรู้สึกภูมิใจต่อตัวเองไปอีกด้วย
ทั้งนี้ผมไม่ได้บอกนะครับ ว่าการลดการกินอยู่ใช้จ่ายนั้นไม่จำเป็นสำหรับคนเป็นหนี้ เพียงแต่อยากจะบอกว่าผลกระทบมันช้า ลักษณะเหมือนรักษาแบบเลี้ยงไข้ เลยไม่ค่อยได้ผล
ที่เร็วและแก้ปัญหาได้ดีกว่า คือ การลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหนี้ หรือภาระค่าใช้จ่ายคงที่ ครับ การหันหน้าชนกับรายจ่ายพวกนี้ จะช่วยให้กระแสเงินสดเราดีขึ้นเร็วกว่ามาก ไม่เชื่อลองมาดูตัวอย่างนี้กันครับ
ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายให้กับพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง มีน้องผู้ชายคนหนึ่งอายุ 26 ปี เงินเดือน 18,000 บาท เดินเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องหนี้กับผม เพราะรายได้แต่ละเดือนไม่พอใช้จ่าย เรื่องของเรื่องเกิดจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว น้องคนนี้ออกรถยนต์มาใช้งาน 1 คัน มีภาระผ่อนต่อเดือน 12,000 บาท
ได้ยินข้อมูลน้องเค้าครั้งแรก สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ บริษัทสินเชื่อคิดอะไร ถึงกล้าออกรถให้น้องคนนี้ เพราะถ้าค่าผ่อน 12,000 วิ่งรถในกรุงเทพอย่างต่ำ ๆ ค่าน้ำมันก็ต้องมี 2,000-3,000 บาทต่อเดือน แล้วไหนจะค่าอะไรต่อมิอะไรอีก ดังนั้นการที่เงินเดือนจะไม่พอใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
น้องคนนี้เล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้ต้องกระเบียดเกษียรในการใช้จ่ายอย่างมาก เงินเดือน 18,000 เหลือกินใช้แต่ละเดือนไม่ถึง 3,000 บาท ประหยัดบีบค่าใช้จ่ายทุกทางแล้วก็ยังไม่พอ เลยมาปรึกษาเพื่อขอแนวทางการแก้ปัญหา
ผมเลยถามน้องเขากลับไปว่า “ก่อนหน้าจะออกรถ มาทำงานยังไง”
น้องเขาตอบว่า “นั่งมอเตอร์ไซต์ออกจากคอนโด แล้วก็ต่อด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส”
ผมถามต่อว่า “แล้วแต่ก่อนที่นั่งมอเตอร์ไซต์ต่อบีทีเอสมาทำงาน ช่วงนั้นแต่ละเดือนมีเงินเหลือบ้างหรือเปล่า”
น้องเขาตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “มีครับ เหลือเก็บเดือนละ 2,000 สบายๆ”
พอได้ฟังคำตอบ ผมเอามือตบไหล่เขา และบอกไปว่า “กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมสิ”
หลังได้ยินคำแนะนำ น้องเค้าโพร่งออกมาเสียงดังเลยว่า “อาจารย์จะให้ผมขายรถเหรอครับ ผมขายไม่ได้นะครับ ถ้าขายรถแล้ว ผมจะบอกเพื่อนยังไง ว่ารถผมหายไปไหน”
เมื่อไม่เลือกตัดรายจ่ายจากหนี้ ด้วยการขาดรถยนต์ออกไป แล้วเอาเงินเดือนละ 15,000 บาท (ค่าผ่อนและค่าน้ำมัน) กลับมา ก็ต้องอดทนกินอยู่แบบขาดแคลน และปวดหัวกับการติดตามทวงถามหนี้ต่อไปครับ
หรืออีกกรณีหนึ่ง สามีภรรยาวัยรุ่น รายได้รวมกัน 19,000 บาท มีลูกน้อยวัย 3 ขวบ ด้วยความที่ต้องทำงานประจำตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่มีเวลาดูแลลูก เลยส่งลูกไปให้แม่ของฝ่ายหญิงเลี้ยง ทางแม่ของฝ่ายหญิงเลยเรียกค่าจ้างช่วยเลี้ยงดู เดือนละ 12,000 บาท (ครอบครัวเดียวกันนะเนี่ย)
ทางฝ่ายหญิงเองก็ไม่อยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยยอมรับเงื่อนไข และให้สามีทำเรื่องจ่ายให้แม่ตัวเองทุกเดือน ทางสามีเองไม่ได้คิดอะไร ก็เลยตามใจภรรยา สุดท้ายหลังจากส่งลูกไปให้แม่เลี้ยง เงินไม่พอใช้ทุกเดือน ต้องกดบัตรกดเงินสด จนหนี้เต็มวงเงินไปแล้ว 3 ใบ
วันที่มาขอคำปรึกษากับผม ผมก็แนะนำไปว่า ไม่ลองหาสถานรับเลี้ยงเด็กหรือเนิร์ซเซอรีใกล้บ้านหรือที่ทำงานให้ช่วยดูแลลูกในช่วงเวลาทำงานดู ฝากเขาไว้ตอนเช้า เย็นหลังเลิกงานก็ไปรับกลับ
สุดท้ายฝ่ายสามีก็ไปหาเจอเนิร์ซเซอรีใกล้บ้าน ค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาทต่อเดือน ลดภาระไปได้มาก มีเงินเหลือกลับมากินใช้เดือนละ 8,000 บาท แล้วก็มาตั้งหลักแก้หนี้ 3 รายการที่มีต่อไปได้
นี่คือตัวอย่างของการลดรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่จากหนี้หรือภาระประจำ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และมีผลต่อสภาพคล่องได้มากกว่าการลดค่าใช้จ่ายทั่วไป
สำหรับแนวทางการสร้างรายได้เพิ่ม ผมขอติดไว้เล่าในตอนต่อ ๆ ไป ของหนังสือเล่มนี้นะครับ บอกเลยว่าถ้าลดรายจ่ายเป็น และสร้างรายได้เพิ่มได้ต่อเนื่อง รวมถึงบริหารจัดการเงินส่วนเพิ่มได้ดี รับประกันว่าออกจากปัญหาได้เร็วกว่าคนที่โฟกัสแต่จำนวนหนี้คงค้างหลายปีเลยครับ
ที่มา: หนังสือ “เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพการเงิน” เขียนโดย โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์
โฆษณา