15 มี.ค. 2021 เวลา 01:00 • สุขภาพ
รู้เท่าทันเบาหวาน....โรคเบาหวานคืออะไร? ใคร..? เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ สาเหตุจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่ได้ หรือผลิตได้ลดลง หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ใครที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
•อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
•ประวัติครอบครัวญาติสายตรง เช่น บิดา มารดา หรือพี่น้อง เป็นโรคเบาหวาน
•ทำงานนั่งโต๊ะ ไม่ได้ออกกำลังกาย
•อ้วนลงพุง
เส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 ซม. (36 นิ้ว) ในผู้ชาย
เส้นรอบเอวตั้งแต่ 80 ซม. (32 นิ้ว) ในผู้หญิง
•เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
•ระดับน้ำตาลช่วงอดอาหาร ตั้งแต่ 100-125 มก./ดล.
•เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
•เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 4 กก. ขึ้นไป
1
อาการของโรคเบาหวาน
ปัสสาวะบ่อยและมาก คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย กินจุ แต่น้ำหนักลด
ระดับน้ำตาลปกติ คือเท่าไหร่?
ระดับน้ำตาลช่วงอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
•ค่าปกติควรมีค่าน้อยกว่า 100 มก./ดล.
•ระดับน้ำตาลระหว่าง 100-125 มก./ดล. แสดงว่าเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต และมีโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาทางป้องกัน
•ระดับน้ำตาลตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป เข้าข่ายโรคเบาหวาน ควรพบแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง
1
โรคเบาหวาน...อันตรายกว่าที่คิด
เบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด ดังนี้
1.หลอดเลือดขนาดเล็ก ได้แก่ โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำให้มีอาการตามัวหรือตาบอดได้ โรคไตทำให้ปัสสาวะออกน้อย เบาหวานปลายประสาททำให้มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า สมรรถภาพทางเพศลดลง ท้องผูก หรือท้องเสีย เป็นต้น
2.หลอดเลือดขนาดใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจ ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย โรคอัมพฤต อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาตีบและอุดตัน ทำให้มีอาการปวดบริเวณน่องเวลาเดิน เท้าซีด เย็น หากอาการมากจะทำให้นิ้วเท้าขาดเลือดจนเปลี่ยนเป็นสีดำ
การป้องกันโรคเบาหวาน
การปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน คือ
1.การควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน ได้แก่ น้ำอัดลม ลูกอม ขนมน้ำเชื่อม ขนมเค้ก ไอศกรีม เนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน ของทอด ฟาสต์ฟูด และแกงกะทิ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
อาหาร 1 จาน ควรแบ่งสัดส่วนเป็น
•ข้าว 1 ส่วน
•เนื้อสัตว์ 1 ส่วน
•ผัก 2 ส่วน
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
3.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ ขี่จักรยาน หรือเดินแทนการนั่งรถในระยะทางใกล้ๆ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน
4.ลดน้ำหนักหากอ้วน
1
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ควรทำอย่างไร?
•ระลึกอยู่เสมอว่า “ท่านมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ จะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง”
•อย่าไปกลัวที่จะรู้ว่าท่านเป็นโรคอะไร เพื่อที่ท่านจะได้รักษาตัวก่อนจะสายเนื่องจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนสามารถป้องกันได้
โดย พว.ปุญญาดา ณปัณพัฒน์ / รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช
*พยาบาลชำนาญการพิเศษ/ ฝ่ายการพยาบาล
* ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (APN) สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ (โรคเบาหวาน)
**แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
ศูนย์เบาหวานธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวานธรรมศาสตร์ โทร. 0 2926 9033
สามารถติดตามช่องทางต่างๆของโรงพยาบาล ได้ที่
• Call center : 0-2926-9999
• LINE Official : https://lin.ee/C9QBk04
• Youtube :
รายการ 5 นาทีกับแพทย์ธรรมศาสตร์ :https://www.youtube.com/channel/UCMkq9zBgdYzw8WOmfFddLYg
โฆษณา