13 มี.ค. 2021 เวลา 14:18 • หนังสือ
หลักการของการตกหลุมรัก และการแต่งงาน
.
ใครที่กำลังตกหลุมรัก หรือใครที่กำลังมีปัญหากับแฟน ไม่ควรพลาดในการอ่านอย่างยิ่ง !!!
.
ทำไมตอนจีบกันใหม่ๆ กับตอนอยู่ด้วยกันไปนานๆถึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง? แล้วความรักที่เริ่มจาก 0 ไปจนถึง 100 นี่หมายความว่าอย่างไรกันล่ะ? ในบทความนี้มีคำตอบครับ จากหนังสือที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับหัวข้อนี้สักเท่าไหร่ “หลักสูตรลงมือทำทันทีจาก Standford” แต่โดยรวมแล้วมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะหลักการการให้เหตุผล
ก่อนเริ่มเข้าเรื่องผมอยากอธิบายถึงหลักการของความเกลียดชังตัวเองซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการโยนความรู้สึกนี้ให้คนอื่น ในบทที่ 4 ของหนังสือเรื่อง The Adjusted American สเนลล์และเกล พัตนีย์ ได้สำรวจกรอบแนวคิดว่า “สิ่งที่ผู้คนเกลียดชังในตัวคนอื่นคือสิ่งที่พวกเขาเกลียดชังในตัวเอง”
.
จริงอยู่ที่เราอาจมีเหตุผล และปราศจากอคติในการไม่ยอมรับคนอื่น แต่การเกลียดชังพวกเขาถือเป็นการกระทำอันไร้เหตุผลและมีอคติ ความเกลียดชังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกดูถูกตัวเองที่แอบแฝงอยู่ มันเกิดจากความพยายามที่จะปฏิเสธสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเอง
.
พูดอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าเราสัมผัสได้แม้แต่ในระดับจิตใต้สำนึกว่าเรามีลักษณะนิสัยที่ไม่อยากยอมรับเพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ของตัวเอง เราก็จะปฏิเสธลักษณะนิสัยเหล่านั้นและโยนมันให้คนอื่น นั่นหมายความว่า เวลาที่เราเกลียดชังคนอื่น อันที่จริงเรากำลังเกลียดชังลักษณะนิสัยอันไม่พึงประสงค์ และน่าหวาดกลัวของเราเอง
The Adjusted American
“ผมตกหลุมรักคนๆหนึ่ง” นี่คือประโยคที่เราได้ยินบ่อยๆเมื่อเพื่อนพูดถึงความรักที่มีต่อผู้หญิงที่ชอบ แต่เมื่อหาเหตุผลของการตกหลุมรัก หลายคนกลับตอบไม่ได้ “ผมรักเธอเพราะเธอฉลาด ยิ้มสวย และรักสัตว์” คุณอาจพบผู้หญิงมากมายที่ฉลาดพอกัน ยิ้มสวย และรักสัตว์อีกด้วย ทำไมคุณถึงไม่ตกหลุมรักพวกเธอทุกคนล่ะครับ ?
.
บางทีการตกหลุมรักก็เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเมื่อคุณได้ความรักตอบกลับมา แต่เมื่อแต่งงานเพราะความรักในท้ายที่สุดการแต่งงานกลับเป็นหายนะ ปัญหาของเรื่องคือผู้คนมักจะสับสนระหว่างความรักกับการแต่งงาน การตกหลุมรักอาศัยการโยนให้คนอื่นอย่างมาก ขณะที่การแต่งงานที่ไปได้สวยมักจะปราศจากการโยนให้คนอื่น
ในทำนองเดียวกับเรื่องของความเกลียดชัง ที่เกิดจากการโยนคุณสมบัติด้านลบของเราไปให้อีกฝ่าย ความรักก็คือการโยนคุณสมบัติด้านบวกของเราไปให้อีกฝ่ายนั่นแหละครับ
.
สิ่งที่ทำให้เราตกหลุมรักคือคุณสมบัติที่เราอยากมี หรือเป็นคุณสมบัติที่เรามีอยู่แล้วแต่อยากให้อีกฝ่ายมีด้วย โดยปกติแล้วคุณสมบัติเหล่านี้มันจะขัดกับภาพลักษณ์เราพอสมควร เราจึงหลีกเลี่ยงที่จะครอบครองมันและโยนให้คนอื่นแทน ซึงเท่ากับว่า “คนๆนั้นไม่ได้มีคุณสมบัติที่เราชอบ แต่เป็นเราต่างหากที่พยายามคิดว่าอีกฝ่ายมี” ในไม่ช้าภาพในอุดมคตินี้ก็จะค่อยๆจางหายไปเพราะถูกความเป็นจริงเข้ามาแทนที่ ดังนั้นการแต่งงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณสมบัติที่ฝ่ายหนึ่งโยนให้อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีแนวโน้มที่จะไม่ราบรื่น
นั่นอาจเป็นเหตุผลของความแตกต่างระหว่างตอนจีบใหม่ๆกับตอนที่คบกันไปนานๆหรือเปล่านะ?
.
ในช่วงจีบใหม่ๆหรือคบกันแรกๆคือตอนที่เรากำลังศึกษาดูใจกันไป นั่นคือช่วงที่เราคาดหวังให้เขามีคุณสมบัติที่เราอยากมี เมื่อต่างฝ่ายต่างถูกคาดหวังไว้ว่าจะมีคุณสมบัติเช่นนี้ ทำให้เราต่างอยากที่จะเป็นคนๆนั้น เพื่อให้เขาหันมาชอบ ผมจะยกตัวอย่างเป็นชาย(A) หญิง(B) คู่หนึ่ง
.
ตัวอย่างที่ 1 : A ชอบคนที่แต่งตัวเรียบร้อย แต่สำหรับ B แล้วนั้นเมื่อก่อนเธอเป็นคนที่แต่งตัวแซ่บมาก ทำให้ผู้ชายหลายคนชายตามองเป็นว่าเล่น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ A ขัดใจสุดๆ เขาเลยขอให้ B แต่งตัวให้เรียบร้อยมากกว่านี้เพื่อเขา สุดท้ายเมื่อ B ถูกคาดหวังจากคนที่ชอบ เธอจึงยอมและได้ทำตามที่เขาขอ เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหลังจากคบกันมนานาน B รู้สึกอยากแต่งตัวแบบเดิมตามความสบายใจ และนิสัยของเธอ แต่ A กลับไม่ชอบ ต่างคนจึงต่างทะเลาะกัน สุดท้ายแล้วทั้งสองอาจไปด้วยกันไม่รอด
ตัวอย่างที่ 2 : B ไม่ได้คาดหวังอะไรจาก A เนื่องจากเธอรักคนจากนิสัย และเข้ากับเธอได้ดีโดยที่เขาคนนั้นไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อเธอ แค่เป็นตัวของตัวเอง และ A ก็ชอบที่ B เป็นตัวของตัวเองมาตั้งแต่แรก ทั้งสองต่างไม่ได้คาดหวังว่าแต่ละคนจะมีคุณสมบัติที่เขาหรือเธออยากให้มี สุดท้ายแล้วทั้งคู่ก็มีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเองมากเสียจนทำให้อีกฝ่ายมีความสุขไปด้วย
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงเห็นความแตกต่างระหว่างตัวอย่างทั้งสองแล้ว ซึ่งถ้าให้เลือกหลายๆคนก็คงอยากมีความรักในแบบที่สอง แต่แท้จริงแล้วนั้นมันเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้ในความเป็นมนุษย์ครับ
.
สุดท้ายแล้วเราจะมีความสุขกับความรักที่เรามีได้อย่างไรล่ะ ? สามีภรรยาพัตนีย์จึงชี้ให้เห็นว่า “ต่างฝ่ายต่างแสวงหาความตรงไปตรงมาและความอบอุ่น พร้อมทั้งคอยสำรวจศักยภาพของตัวเอง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเต็มใจที่จะทำแบบนั้นทั้งคู่ พวกเขาไม่ได้ถูกครอบงำด้วยความรักของอีกฝ่าย และไม่จำเป็นต้องรักษาภาพลวงอันโรแมนติกไว้ พวกเขาแค่พยายามมีความสุขไปกับชีวิตด้วยกัน”
ที่มา
หนังสือ : หลักสูตรลงมือทำทันทีจาก Standford
ผู้เขียน : Bernard Roth
ปล.แค่ที่อ่านมานี่ยังไม่ถึงครึ่งเล่มผมก็เจอบทความที่น่าสนใจอย่างเรื่องความรักและการแต่งงานแล้ว จึงเลยอยากมาแชร์ให้หลายๆคนได้ลองเอาไปคิดกับการใช้ชีวิต และความรักของตัวเองดู ซึ่งอยากบอกว่าหนังสือเล่มนี้คุ้มแก่การเอาไปอ่านอย่างมาก นอกจากจะสามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้แล้ว มันจะทำให้ Mindset ของคุณกับการมองโลกเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนครับ
โฆษณา