14 มี.ค. 2021 เวลา 03:17 • ธุรกิจ
การเรียนรู้อย่างทรงพลังด้วย Retrieval Practice
6
Image by Катерина Кучеренко from Pixabay
ระหว่างที่ผมเรียน Computer Science ในปี ค.ศ. 2000 ที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของผมด้านการเรียนไปตลอดกาล
2
หนังสือเล่มนี้คือ What Smart Students Know: Maximum Grades. Optimum Learning. Minimum Time. ของ Adam Robinson ซึ่งพูดเรื่องเทคนิคการเรียนของนักศึกษาที่เรียนเก่งว่า พวกเขาไม่ได้มีสมองที่ฉลาดมากกว่านักเรียนทั่วไป แต่การที่พวกเขาสอบได้คะแนนดี เพราะมีกลยุทธ์การเรียนที่ดีกว่า
3
กลยุทธ์ด้านการเรียนอย่างหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้แนะนำคือ การอ่านหนังสือซ้ำหลาย ๆ เที่ยวอาจไม่มีประโยชน์ในการเตรียมตัวสอบเท่าไร เพราะเวลาสอบ เราต้องเขียนคำตอบในข้อสอบ
1
ดังนั้นเราควรฝึกเขียนคำตอบ ไม่ใช่อ่านซ้ำ เพราะข้อสอบไม่ได้วัดว่า เราอ่านมากแค่ไหน แต่วัดว่า เรา “ดึง” ความรู้ที่อยู่ในหัวเราออกมาเขียนได้หรือไม่
16
แค่เทคนิคนี้ก็เปิดหูเปิดตาผมได้มากเลยว่า การที่ผมทำข้อสอบบางข้อไม่ได้ทั้ง ๆ ที่อ่านหนังสือ ก็เพราะผมไม่ได้ฝึกเรื่อง “การดึง” หรือการเขียนคำตอบ แต่ไปฝึกเรื่อง “การอ่าน”
1
การ “ดึง” ข้อมูลที่หนังสือ What Smart Students Know แนะนำ คือ เทคนิคอย่างหนึ่งของ Retrieval Practice นั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1
ผมรู้จักคำว่า Retrieval Practice ครั้งแรกจากหนังสือ Ultralearning: Master Hard Skills, Outsmart the Competition, and Accelerate Your Career ของ Scott Young ซึ่งบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เล่าเรื่อง Retrieval Practice ในแง่ของการเรียนรู้ทักษะสำคัญ
2
จากนั้น ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Powerful Teaching: Unleash the Science of Learning ของ Pooja K. Agarwal และ Patrice M. Bain ซึ่งกล่าวว่า Retrieval Practice เป็นเครี่องมือสำคัญที่ครูใช้ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน
2
ดังนั้น เนื้อหาในบทความนี้จึงนำมาจากหนังสือสองเล่มนี้ครับ ถ้าคุณสนใจเรื่อง Retrieval Practice ขอแนะนำให้อ่านสองเล่มนี้ ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากที่บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง
1
Retrieval Practice คืออะไร
1
Retrieval Practice คือการดึงความรู้หรือความจำออกมา โดยไม่เปิดดูหนังสือหรือแหล่งข้อมูล
2
ดังนั้น Retrieval Practice จึงเน้นที่ดึงข้อมูล (output) ไม่ใช่การอ่าน ซึ่งเป็นการป้อนข้อมูลเข้าไป (input)
บทความนี้จะแนะนำ Retrieval Practice 2 วิธีคือ การพูดและการเขียน
Photo by mentatdgt from Pexels
1. การพูด
1.1 พูดคนเดียว
การทำ Retrieval Practice แบบง่ายที่สุดโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เลยคือ การพูดทุกสิ่งทุกอย่างที่จำได้หลังจากเรียนรู้เรื่องนั้นแล้ว
2
ตัวอย่างเช่น หลังจากอ่านหนังสือจบ 1 บทหรือชมคอร์สออนไลน์ 1 ตอน ก็หยุด แล้วพูดทุกอย่างที่จำได้ โดยไม่เปิดดูหนังสือ ไม่ดูบันทึกย่อ ใช้ความจำของตัวเองล้วน ๆ
ถ้าอยู่คนเดียว ก็พูดออกมาเลยครับ แต่ถ้าไม่สะดวกพูด เพราะอยู่ในที่สาธารณะ เช่น อยู่บนรถเมล์หรือ BTS ก็ใช้วิธีการคิดทบทวนในใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ผมใช้บ่อย ๆ เวลาที่ไม่สะดวกพูดออกเสียง
3
1.2 พูดให้คนอื่นฟัง
อีกวิธีหนึ่งที่ดีมากคือ หลังจากที่เราเรียนรู้เรื่องใหม่แล้ว ลองเล่าให้เพื่อนหรือคนรู้จักฟัง ซึ่งเป็นการทบทวนความรู้ของเราได้ดีมาก และยังเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอีกด้วย
ผมเชื่อว่า คงมีหลายคนใช้วิธีนี้อยู่แล้ว เช่น เวลาไปดูหนังหรืออ่านหนังสือ เราก็เล่าหนังหรือหนังสือเล่มนั้นให้เพื่อนฟัง
1
1.3 สอนคนอื่น
เทคนิคที่ผมแนะนำลูกศิษย์เป็นประจำเวลาใกล้สอบคือ ควรจับกลุ่มติวหรือทบทวนให้เพื่อน เช่น ข้อสอบออก 5 บท แต่เราไม่มีเวลาอ่านทั้ง 5 บท อ่านได้แค่ 3 บทเท่านั้น ก็ขอให้เพื่อนอีกคนช่วยสอน 2 บทที่เราไม่มีเวลาทบทวน
1
ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดของวิธีนี้คือ คนสอนนั่นเอง เพราะคนสอนจะได้ทบทวนความรู้ ความเข้าใจของตนเองว่า ตัวเองจำหรือเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราสอนคนอื่นไม่ได้หรือสอนแล้ว แต่คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง แสดงว่า เราอาจยังไม่เข้าใจเรื่องนั้นดีพอก็ได้
1
Photo by Amina Filkins from Pexels
2. การเขียน
2.1 Brain dump
Brain dump คือการเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่จำได้ในรูปแบบใดก็ได้ เช่น เขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ต้องปิดหนังสือหรือไม่ดูต้นฉบับ
เราเขียนในรูปแบบไหนก็ได้ที่ถนัด เช่น เขียนไปเรื่อย ๆ , เขียน Mind Map , เขียนเป็น bullet , เขียนเป็นข้อ ๆ , วาดรูปแบบ visual thinking , พิมพ์ในคอมพิวเตอร์
2.2 Two things
ถ้ารู้สึกว่า brain dump เขียนมากเกินไป ไม่มีเวลามากขนาดนั้น เขียนแค่ 2 ข้อก็พอ ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้และใช้เวลาน้อยมาก
คุณทดลอง Two things ตอนนี้ได้เลย ขอให้หยุดอ่านบทความนี้ แล้วเขียน 2 อย่างที่คุณจำได้จากบทความนี้
2.3 Flash card
1
คุณคงเคยเห็น flash card ในร้านหนังสือ เช่น การ์ดคำสอนภาษาต่างประเทศ การ์ดภาษาไทยสำหรับเด็กเล็ก ที่มีด้านหนึ่งเป็นรูป และอีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษร หรือ flash card ที่เป็นความรู้ทั่วไป
Flash card เหมาะกับการจับคู่ระหว่างคำถามกับคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้น flash card จึงนิยมใช้ในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น การ์ดด้านหนึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ และอีกด้านหนึ่งของการ์ดเป็นภาษาท้องถิ่น
1
คุณสร้าง flash card ด้วยตัวเองก็ได้ เช่น นำการ์ดกระดาษแข็งเขียนคำถามที่ด้านหนึ่ง และเขียนคำตอบหรือเฉลยที่อีกด้านหนึ่ง
Photo by Ketut Subiyanto from Pexels
การใช้ Retrieval Practice ในชีวิตประจำวัน
1. ครู อาจารย์ วิทยากร
2
หนังสือ Powerful teaching แนะนำหลายวิธีที่ครู อาจารย์ใช้ Retrieval Practice ช่วยการเรียน การสอน แต่สิ่งสำคัญคือ ควรใช้ Retrieval Practice เพื่อช่วยการเรียนรู้ ไม่ควรใช้ในการประเมินผลการเรียน เช่น ไม่ควรใช้เก็บคะแนน
4
ตัวอย่างเช่น
- ก่อนเริ่มต้นบทเรียนใหม่ ให้นักเรียนทำ brain dump เขียนทุกอย่างที่จำได้เกี่ยวกับการเรียนครั้งที่แล้ว หรือใช้ Two things เขียน 2 อย่างที่จำได้เกี่ยวกับเนื้อหาครั้งที่แล้ว
2
- ระหว่างที่สอน ก็หยุดสักพัก แล้วให้นักเรียนเขียน Two things หรือจับคู่คุยกันว่า ได้เรียนอะไรไปแล้วบ้าง แล้วก็สอนเนื้อหาต่อไป
- ก่อนเลิกเรียน ให้นักเรียนเขียนสรุปสั้น ๆ หรือเล่าให้เพื่อนฟัง 2 เรื่องเกี่ยวกับความรู้ใหม่ที่ได้เรียนในวันนี้
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบเทคนิค Two things มากที่สุด เพราะใช้เวลาสั้น ๆ และไม่ทำให้นิสิตรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ตัวอย่างเช่น ผมสอนออนไลน์ทาง Zoom ก็ใช้นิสิตเขียน 2 คำเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนในคาบที่แล้วในช่อง chat ของ Zoom
3
ผมเคยให้นิสิตจุฬาฯ ในหลักสูตร CUVIP “เรียนเก่ง ทำงานเก่งด้วย Mind Map” จับคู่ 2 คน แล้วเขียน Mind Map สรุปว่า ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับ Mind Map ใน 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา และเพิ่งทราบทีหลังว่า นี่คือ Retrieval Pratice แบบหนึ่งนั่นเอง
2. นักเรียน นิสิต นักศึกษา
Retrieval Pratice มีประโยชน์มากในการช่วยเรื่องการเรียน ไม่ว่าจะเรียนระดับใดก็ตาม เช่น หลังจากที่เรียนรู้เรื่องอะไรแล้ว ก็ลองหยุดทบทวน แล้วพูดว่า ได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง หรือเขียน Mind Map อย่างรวดเร็ว เพื่อสรุปเนื้อหา
1
หลังจากที่เรียนแต่ละบทแล้ว ลองทำ flash card ที่มีคำถามและคำตอบของบทเรียนนั้น จากนั้นก็ใช้ flash card เพื่อทบทวนบ่อย ๆ
ก่อนเตรียมตัวสอบ นิสิต นักศึกษาควรจับกลุ่มกับเพื่อน แล้วช่วยกันทบทวนให้เพื่อน เช่น สอนเพื่อน อธิบายให้เพื่อนฟัง ผลัดกันตั้งคำถามเหมือนกับเป็นคนออกข้อสอบ แล้วตอบคำถามให้ได้ โดยไม่ต้องเปิดหนังสือหรือชีต
2
3. คนทำงาน
เทคนิค Retrieval Practice ที่คนทำงานใช้ ก็จะคล้าย ๆ กับนิสิต นักศึกษา
ผมใช้เทคนิคนี้บ่อย ๆ เวลาอ่านหนังสือ คือ หลังจากที่อ่าน 2–3 หน้า ก็จะหยุดอ่าน จากนั้น คิดทบทวนหรือพูดว่า เมื่อสักครู่ได้อ่านอะไรไปบ้าง
2
ในยุคนี้ การเรียนคอร์สออนไลน์แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของคนทำงานแล้ว ดังนั้น หลังจากที่เรียนคอร์สออนไลน์แล้ว ก็เขียนสรุปว่า ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง การสรุปเนื้อหาในเพจหรือ Medium ก็เป็นเทคนิคที่ดีมากในการฝึก Retrieval Practice ครับ
หัวข้อนี้เคยพูดใน Clubhouse
ผมพูดเรื่อง การเรียนรู้อย่างทรงพลังด้วย Retrieval Practice ใน Clubhouse เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2564 เวลาบ่ายสอง
คุณ Nut Newcastle (ชื่อใน Facebook) ได้ทำสรุปการพูดของผมใน Clubhouse เป็นภาพข้างล่างครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา