14 มี.ค. 2021 เวลา 03:26 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
สำรวจประเด็นชนชั้นในหนัง The White Tiger
(Ramin Bahrani, 2021, India, US)
หนังเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว เป็นช่วงเวลาที่มันได้เดินทางผ่านอะไรมากมาย หนังพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและประเด็นที่นำเสนอ เฉกเช่นเดียวกันสำหรับอีกประเด็นที่พูดได้มากมายอย่างไม่รู้จบ สำหรับเรื่องราวของความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่มีระยะเวลานานกว่าการเกิดขึ้นของหนังเสียอีก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีการพูดถึงความเสมอภาคของมนุษย์อยู่เสมอ แต่ระยะห่างระหว่างชนชั้นก็ยังคงถ่างออกอยู่เรื่อยไป หรือที่เขามีคำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” แม้แต่ในประเทศที่ทำหนังได้รางวัลและเงินมากมายอย่างเกาหลีใต้ ที่มีหนังรางวัลออสการ์เรื่องดังอย่าง Parasite (Bong Joon Ho, 2019, South Korea) ก็สะท้อนเรื่องราวของความแตกต่างทางชนชั้นในเกาหลีใต้ได้อย่างเจ็บปวด ซึ่งวันนี้เรานำทุกท่านเขยิบมาที่ประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลกันอย่างอินเดีย ซึ่งมีหนังเรื่องดังที่พูดเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นได้อย่างน่าสนใจอย่าง The White Tiger
The White Tiger พูดถึง “ไอ้เสือขาว” ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงคนที่มีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น ในเรื่อง “พลราม” (Adarsh Gourav) เด็กหนุ่มชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดห่างไกลความเจริญ ครอบครัวของเขาต้องเผชิญกับการกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากนายทุนอยู่เสมอ จนในที่สุดทำให้เขาต้องขาดโอกาสทางการศึกษาไปด้วย พลรามตัดสินใจเข้าเมืองแล้วมาประกอบอาชีพเป็นคนขับรถให้นายทุน ระหว่างนั้นเขาก็ได้เรียนรู้ว่าสุดท้ายเรื่องของคนจน คนรวย ไม่เคยหมดไปและจะไม่หมดไป โลกจะสอนเราให้ได้รู้ว่าการเป็นคนจนนั้นคุณก็จะถูกกดขี่ข่มเหงตลอดไป พลรามจึงตัดสินใจทำทุกอย่างไม่ว่าจะถูกหรือผิด เพื่อถีบตนเองขึ้นไปเป็นชนชั้นนายทุนเสียเอง
ความน่าสนใจสำหรับเรื่องของชนชั้นใน The White Tiger นั้น แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนต่อสู้ของชนชั้นล่างในอินเดียที่ต้องการจะเขยิบสถานะตนเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง / นายทุน (ขนาดเล็กหรือกลาง) หรือกระทั่งฝันถึงการเป็นชนชั้นสูง (เป็นกลุ่มทุนใหญ่) แต่สิ่งที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็คือสิ่งที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เป็นเด็ก “ความใสซื่อแบบกรรมาชีพ” วิธีคิดในการใช้ชีวิต รวมไปถึงพฤติกรรมการกินที่ดูเป็นเรื่องตลกและสกปรกอย่าง “การกินหมาก” ซึ่งนายทุนในเรื่องไม่สามารถรับพฤติกรรมนี้ของพลรามได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่หนังจับจ้องมองมายัง “ทุนทางวัฒนธรรม” เหล่านี้ด้วย ซึ่งหนังได้พยายามบอกว่าการขยับสถานะนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความสามารถอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงรสนิยมติดตัวที่จะทำให้เราสื่อสารกับคนในลำดับชั้นนั้นได้รู้เรื่องอีกด้วย ในส่วนนี้ขอยกตัวอย่าง Parasite มาประกอบ ซึ่ง Parasite เอง ก็ใช้เรื่อง “กลิ่น” มาแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวดีขนาดไหน แต่ทุนทางวัฒนธรรมจะหลอกหลอนคุณไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น หรือกระทั่งอาหารการกินเอง
นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้า (อีกครั้ง) เพราะนี่ดันเป็นเรื่องจริงที่คงอยู่ในสังคม เราไม่ได้ปฏิเสธความเป็นคนจน เราไม่ได้ปฏิเสธความเป็นนายทุน สำหรับ The White Tiger ก็มีอีกหนึ่งความสัมพันธ์ของตัวละครที่น่าพูดถึง ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพลรามและเจ้านายของเขาเอง “อโศก” (Rajkummar Rao) จากในเรื่องอโศกเป็นคนอินเดียสมัยใหม่ ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ และ (พยายาม) มองว่าพลรามคือมนุษย์เท่ากันกับเขา แต่ในที่สุดพฤติกรรมของเขาก็ถูกชำแหละออก อโศกยังคงหนีไม่พ้นจากการเป็นชนชั้นนายทุนชาวอินเดีย เขาได้เรียนรู้เรื่องของความเท่าเทียม แต่ในที่สุดเขาก็ทำไม่ได้ เพราะทุนทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขาตั้งแต่เด็กนั่นแหล่ะ คนรวยมีวิธีคิดแบบคนรวย คนจนก็มีวิธีคิดแบบคนจน บางทีการพูดคุยเรื่องชนชั้นอาจเป็นโจทย์ปัญหากำปั้นทุบดิน เช่น ระหว่างไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน?
เป็นเวลากว่า 100 ปี สำหรับหนัง ศิลปะแขนงที่ 7 ที่มีผู้คนให้การตอบรับอย่างอบอุ่น หากย้อนกลับไปดูเราจะพบหนังอย่าง The Rules of the Game (Jean Renoir, 1939, France) ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกๆที่พูดถึงความแตกต่างทางชนชั้น หรือกระทั่งหนังที่ได้รับการยอมรับอย่างผิดที่ผิดทาง My Fair Lady (George Cukor, 1964, US) ก็พูดถึงเรื่องทุนทางวัฒนธรรมระหว่างชนชั้นเช่นกัน เราไม่รู้ว่าประเด็นชนชั้นจะสดใหม่ไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งหนังนับได้ว่าเป็นศิลปะที่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีที่สุดอีกแขนงหนึ่ง อันสะท้อนได้ว่ารัฐมีปัญหาในการรับมือกับกลุ่มทุนและการปลูกฝังความเท่าเทียมของคนในระบบการศึกษา อีก 10 – 20 ปีข้างหน้า หากมันยังคงเป็นเช่นนี้ เราคงทำได้แค่สวดมนต์อ้อนวอน ขอพรให้กับชีวิตที่เราไม่มีสิทธิ์ต่อรองกับอะไรเลย
โฆษณา