15 มี.ค. 2021 เวลา 01:20 • ดนตรี เพลง
ร็อกคงคย | Lover Boy จากอีสานใต้ผู้พา “กันตรึมร็อค” ดังทั่วประเทศ
.
คุณเคยได้ยินเพลง “ลูกเทวดา” ของสนุ๊ก สิงห์มาตร บ้างไหม ? หรือเคยผ่านหูผ่านตากับเพลง “กระจอกแท้” ที่นักแสดงตลกชื่อดัง “แจ๊ส ชวนชื่น” หยิบไปทำคลิป Cover จนมียอดผู้ชมใน Youtube ทะลุ 138 ล้านวิว หรือเปล่า ?
ทั้งสองเป็นเพลงเร็วจังหวะสนุก ๆ ที่ทำนองฟังไม่เหมือนกับเพลงลูกทุ่งอีสานทั่วไปนัก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมดนตรีหมอลำ อันเป็นภูมิปัญญาและแนวเพลงที่สะท้อนความเป็นตัวตนคนจากภาคตะวันเฉียงเหนือ ตอนบน
เพราะทำนองเพลง “ลูกเทวดา และ กระจอกแท้” มีรากฐานมาจาก “กันตรึม” วัฒนธรรมดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำพื้นถิ่นอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัด สุรินทร์, ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์
กันตรึม ไม่ใช่แค่ดนตรีที่ฟังเพื่อความบันเทิง แต่ซึมลึกลงไปในวิถีชีวิต, พิธีกรรมความเชื่อ, และจิตวิญญาณของผู้คนจากภูมิภาคนี้
น่าเสียดายที่่สัดส่วนความนิยมในวงกว้าง “กันตรึม” ป๊อปไม่เท่ากับ “หมอลำ” เนื่องจากจำนวนประชากรในพื้นที่อีสานตอนบนมีมากกว่า
รวมถึงข้อจำกัดด้านภาษาที่ส่วนใหญ่ กันตรึม มักใช้ภาษาขแมร์สุรินทร์, ส่วย เป็นหลัก ซึ่งเป็นภาษาที่คนอีสานใต้หลายพื้นที่ ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่คนไทยภูมิภาคอื่น ฟังแล้วอาจไม่เข้าใจความหมายสักเท่าไหร่
1
แม้แต่นักร้องลูกทุ่งอีสานชื่อดัง ผู้มีรากเหง้ามาจากดนตรีแนว “กันตรึม” อย่าง “เฉลิมพล มาลาคำ” ก็สร้างชื่อเป็นที่รู้จักการร้องเพลง “หมอลำ”
โดยบางครั้ง เฉลิมพล ใช้เทคนิคการร้อง หรือเอาดนตรีแนวกันตรึม มาประยุกต์เข้ากับ “หมอลำ” จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ เฉลิมพล มาลาคำ ที่ผสมผสานความเป็น กันตรึม-หมอลำ เข้าไว้ด้วยกัน (ส่วนตัวผู้เขียนนับถือและชื่นชอบผลงานของ คุณเฉลิมพล มาก)
หรืออย่างในรายของ ยิ่งยง ยอดบัวงาม นักร้องจากอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ก็เริ่มต้นสร้างชื่อเป็นที่รู้จัก จากการร้องเพลงลูกทุ่งภาษาไทยกลาง (ภายหลัง ยิ่งยง มีการทำอัลบั้มกันตรึม)
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงสนใจความดังของเพลง “ลูกเทวดา” กับ “กระจอกแท้” จนอยากเขียนถึง ศิลปินกันตรึมท่านหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังสองซิงเกิลสุดฮิตนี้
เขาคนนั้นคือ คง มีชัย หรือชื่อในวงการดนตรี “ร็อกคงคย” (เขียนตามปกเทปที่วงสะกด) อดีตทหารอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ชีวิตพลิกผันกลายมาเป็น ศิลปินผู้พาวัฒนธรรมดนตรีกันตรึมร็อค ไปสูู่หูคนฟังทั่วประเทศได้สำเร็จ
.
……………………………………………………………………
.
ย้อนกลับไปก่อนปี 2535 ที่อัลบั้มชุดแรกของ ร็อกคงคย ถูกวางแผนสู่ตลาด และทำให้แนวเพลง กันตรึมร็อค ได้รับนิยมไปอีกขั้น
คง มีชัย เป็นคนอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีความผูกพันกับดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้มาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อของเขามักสีซอ และเล่นเพลงกันตรึมให้ฟัง
ซึ่ง ซอกันตรึม (ตรัว) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีหลักของ กันตรึมโบราณ ที่เล่นร่วมกับ กลองกันตรึม (สะกวร), ฉิ่ง, ฉาบเล็ก และปี่อ้อ (เป็ย)
คุณพ่อจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเล่นดนตรี แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป “คง มีชัย” จึงไม่ได้เล่นแค่ซอเหมือนคุณพ่อ แต่เขาสามารถหาเงินได้จากกีตาร์ รับจ้างเล่นตาม เวทีรำวง, วงดนตรีในร้านอาหาร
กระทั่งปี พ.ศ. 2527 คง มีชัย ได้เข้าไปทำหน้าที่รั้วของชาติเป็น สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำการที่จังหวัดสุรินทร์
ใครจะไปเชื่อว่า งานที่ต้องออกไปฝังตัวอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล คอยลาดตระเวนตามแนวตะเข็บชายแดน ทำให้ “คง มีชัย” ค้นพบจุดเปลี่ยนสู่การจับไมค์ร้องเพลงจริงจัง
"ตอนนั้นอยู่กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอกาบเชิง เวลาจะเรียกประชุมชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจก็ยาก เพราะชาวบ้านไม่ค่อยมากัน”
“ด้วยความที่ชอบร้องเพลง ผมจึงใช้เพลงเป็นสื่อในการเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมฟังการบรรยายความรู้ในเรื่องต่างๆ ให้กับชาวบ้าน สร้างจุดสนใจให้เขามาดูก่อนจะทำภารกิจ ต้องมีสันทนาการ ถ้าไม่งั้นงานจะจืด ประสบความสำเร็จน้อย” คง มีชัย ให้สัมภาษณ์ผ่าน isangate โดย มนตรี โคตรคันทา
ตลอดระยะเวลา 7 ปีในการทำหน้าที่ “คง มีชัย” ใช้เสียงเพลงในการสร้างมวลชนสัมพันธ์กับคนในหลาย ๆ พื้นที่เขาลงไปฝังตัว และปฏิบัติภารกิจทางราชการทหาร
สิ่งที่ไม่คาดคิดก็ขึ้น เมื่อชื่อเสียงด้านการร้องรำทำเพลงของ อาสาทหารรักษาดินแดนหนุ่มนามว่า คง มีชัย ดันไปเข้าหู นายห้างไพโรจน์ โสนาพูน เจ้าของค่ายเพลงไพโรจน์ซาวด์ ผู้บุกเบิกและผลิตผลงานเพลงกันตรึมสู่คนฟัง (ปัจจุบันยังทำค่ายอยู่)
นายห้างไพโรจน์ จึงชักชวนให้ คง มีชัย มาออกเทปด้วยกัน ในปี 2535
หลังจากก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2530 “ดาร์กี้ กันตรึมร็อค” (สมชาย คงสุขดี) เคยปลุกกระแสในหมู่คนฟังเลือดอีสานใต้ ด้วยการสร้างสรรค์แนวเพลงใหม่อย่าง “กันตรึมร็อค” ที่นำเอาแนวดนตรีพื้นบ้านมาเล่นร่วมเครื่องดนตรีสากล เช่น กลองชุด, เบส, กีตาร์ และ คีย์บอร์ดอิเล็กโทน
1
โดยชื่อที่ คง มีชัย ใช้ในการเป็นศิลปิน คือ “ร็อกคงคย” ซึ่งไม่ใช่คำที่มีความหมายสองแง่สองง่ามอย่างที่บางคนเข้าใจผิด
เพราะในภาษาขแมร์ คำว่า “บักคงคย” นั่นหมายถึง “คง (ชื่อของเขา) เด็กหนุ่มผู้มีความซุกซน น่ารักน่าชัง” เป็น Lover Boy ของผู้คนนั่นเอง
ทุกคนจึงรู้จักศิลปิน “คง มีชัย” ในนาม “ร็อกคงคย” มานับตั้งแต่ปล่อยผลงานชุดแรก “จัญไรทอยท๊ะ” ในปี 2535 ที่ได้รับกระแสตอบรับดี ทั้งที่ออกอัลบั้มกับค่ายขนาดเล็กทุนน้อยในจังหวัดสุรินทร์อย่าง ไพโรจน์ซาวด์ จนเตะตา "อาร์เอส" ถึงขั้นนำไปวางจำหน่ายทั่วประเทศ
ก่อนที่ ร็อกคงคย จะมาโด่งดังอย่างมากในชุดที่ 2 “เสียวโว๊ย” ที่มีซิงเกิลฮิตอย่าง “เจิ๊ดเอ๋ยเจิ๊ด”, “ไอ้หนุ่มก่อสร้าง”, “เสียวโว๊ย”, “นอเนียงนอ”, “ตอบร็อคคงคย”, “เขมรอกหัก”
สาเหตุที่ ร็อกคงคย เข้าถึงกลุ่มคนฟังได้กว้าง คงเป็นเพราะบางท่อนและบางเพลง มีการร้องด้วยภาษาไทยกลาง และภาษาอีสาน
1
บวกกับดนตรีจังหวะสนุก ๆ ไม่เชยเกินไป ทำให้คนฟังสามารถโยกตัวและเอ็นจอยตามได้ ต่อให้ไม่รู้ว่าเพลงกำลังพูดถึงอะไรก็ตาม ? คงคล้ายกับเวลาฟังเพลงต่างประเทศบางภาษา ที่เราไม่รู้ความหมาย แต่อารมณ์เพลง ฟีลมันใช่ ก็สามารถอินกับไปมันได้
ลองคิดดูว่า ร็อกคงคย ที่ไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่ เมื่อสมัยเกือบ 30 ปีก่อนที่ไม่มีโชเซียลมีเดีย แต่บทเพลงของ คง มีชัย สามารถไปได้ไกลถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทย และต่างแดน เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา ที่มีประชากรจากภูมิภาคอีสานใต้ และคนกัมพูชา ย้ายไปอยู่อาศัยและหางานทำ
พวกเขาต่างโหยหาอยากเป็นเจ้าของแผ่นซีดี “ร็อกคงคย” ที่ represent ดนตรีกันตรึม ภาษาถิ่น อัตลักษณ์ รวมถึงเรื่องราวที่ถ่ายทอดลงไปบทเพลง ชวนให้คิดถึงวิถีชีวิต, ภูมิลำเนา และวัฒนธรรมที่คนฟังเติบโตมา ซึ่งหาไม่ได้จากแนวดนตรีประเภทอื่น
ความดังจาก 2 ชุดแรกทำให้ ร็อกคงคย มีงานจ้างไม่ขาดสาย บางครั้งวันเดียวมีเล่น 3 แห่ง ทั้งเช้า-กลางวัน และกลางคืน ทำให้ในปี 2540 คง มีชัย ตัดสินใจลาออกจากราชการทหาร มาตั้งวงดนตรีกันตรึมเต็มตัว
โดยอัลบั้มชุด 3 ร็อกคงคย ได้เข้าออกอัลบั้มทางกับ EVS เอ็นเตอร์เทนเตอร์, ชุดที่ 4 กับ EGM เร็คคอร์ด น่าเสียดายที่ช่วงพีคของ ร็อกคงคย ดันมาตรงกับช่วงที่เศรษฐกิจไทยซบเซา เนื่องจากโดนพิษวิกฤติต้มยำกุ้ง
งานจ้างแสดงสดซึ่งเป็นรายได้หลักของ ร็อกคงคย จึงหดหายไปมาก เคยต้องกู้หนี้ยืมสินมาประคับประคองสถานะวง
รวมถึงส่งผลกระทบไปถึงยอดขายในชุดที่ 5 แม้กระแสตอบรับตัวเพลงจะดี แต่บริษัทที่จัดจำหน่ายให้ กลับเจ๊งไม่เป็นท่า (อีกปัจจัยหนึ่งก็เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์ เทปผีซีดีเถื่อน)
อย่างไรก็ดีชื่อเสียงและฐานคนฟังที่เหนียวแน่นทำให้ ร็อกคงคย ได้ไปต่อในชุดที่ 6 ที่ออกผลงานกับทาง MGA ทำยอดขายมาสเตอร์ไปได้ 200,000 บาท
ปัจจุบัน ร็อกคงคย ยังคงรักษาสถานะเดิมคือ วงดนตรีเบอร์ 1 สายกันตรึมร็อค มานานเกือบ 3 ทศวรรษ (และอยู่กับค่ายไพโรจน์ซาวด์ คือเก่า)
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขารู้จักปรับตัวเข้ายุคสมัยอยู่ตลอด ทั้งภาคดนตรี, เนื้อร้อง, งานแสดงโชว์ รวมถึงภาษาที่ใช้ในเพลง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนฟังจำนวนกว้างขึ้น
ยกตัวอย่างซิงเกิล “กระจอกแท้” (ถูกปล่อยออกมาปี 2560) ก็ใช้คำร้องหลักที่เป็นภาษาไทยกลาง
ไม่เพียงเท่านั้น ร็อกคงคย ยังใช้ความเป็น มาสเตอร์ด้านกันตรึมร็อค ผันตัวเองไปทำงานเบื้องหลัง แต่งเนื้อร้อง, ทำนอง ให้กับหลาย ๆ ศิลปิน อาทิ ยิ่งยง ยอดบัวงาม
รวมถึงผลงานเพลงดัง “ลูกเทวดา” ของสนุ๊ก สิงห์มาตร นักร้องลูกทุ่งค่ายอาร์เอส ที่ต้องการหาอีก 1 เพลงปิดอัลบั้ม ก็ได้มีการนำเอาเพลง “สดันเคินแม” ของ ร็อกคงคย ไปปรับเนื้อร้องเป็น ภาษาอีสาน
ผลน่ะเหรอ ? เพลงนี้ก็ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง และกลายเป็นแทร็กที่ดังสุดในชีวิตของ สนุ๊ก สิงห์มาตร นั่นไงล่ะ 😂
.
.
ติดตามเราได้ทาง www.facebook.com/alongwriter
โฆษณา