15 มี.ค. 2021 เวลา 03:59 • สัตว์เลี้ยง
ไข้หัดแมว ภัยเงียบทำร้ายชีวิตแมว!!
ไม่กี่อาทิตย์ก่อน เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลสัตว์ในมหาวิทยาลัยที่มะหมากำลังศึกษาอยู่บอกว่า ช่วงนี้ไข้หัดแมวเริ่มระบาดแล้ว มะหมาก็เป็นห่วงสุขภาพแมวของเพื่อนๆทุกคนเลยหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อให้เพื่อนๆทุกคนได้เข้าใจในโรคนี้และรู้ถึงวิธีการป้องกันเจ้าเหมียวของเพื่อนๆ
สาเหตุเกิดจากแมวติดเชื้อฟีไลน์แพนลิวโคพีเนียไวรัส (feline panleukopenia virus) ซึ่งเป็นเชื้อพาร์โวไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับพาร์โวไวรัส-2 ที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบในสุนัข
ภาพจาก Science Photo Library
การติดต่อนั้น ติดต่อได้ทั้งทางปากและจมูก ซึ่งเชื้อจะมาจากการที่แมวปกติไปสัมผัสกับแมวที่ป่วยเป็นโรค หรืออุจจาระและสิ่งคัดหลั่งของแมวที่ป่วยเป็นโรค
นอกจากนี้แมวสามารถติดโรคจากเราได้ด้วย โดยเราอาจจะไปสัมผัสกับแมวที่ป่วยเป็นโรค ทำให้เชื้ออยู่ที่เสื้อผ้า หรือรองเท้าของเรา แล้วเราก็ไปสัมผัสแมวปกติทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายแมว และยังมีอีกช่องทางที่ทำให้แมวติดโรคคือ การใช้ภาชนะใส่อาหาร หรือกรง ร่วมกับแมวที่ป่วยเป็นโรค
แมวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ กรณีแมวที่แสดงอาการ ส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 1 ปี การหายจากโรคด้วยตัวสัตว์เองพบไม่บ่อย โดยใช้เวลามากกว่า 5-7 วัน ซึ่งโรคไข้หัดแมวมีอัตราการตายสูงที่สุดในลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 5 เดือน
แมวที่มีอาการเฉียบพลันมาก (peracute case) อาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการนำ ส่วนแมวที่มีอาการเฉียบพลัน (acute case) จะมีไข้ (104 – 107 F) ซึม และเบื่ออาหาร อาจพบอาการอาเจียนหลังจากมีไข้ 1-2 วัน หลังจากนั้นอาจพบหรือไม่พบอาการท้องเสียตามมา
อาการอื่นๆ ได้แก่ มีภาวะขาดน้ำ ปวดท้อง เดินเซ สั่น และตาอักเสบ ส่วนแมวที่อยู่ในระยะสุดท้ายจะมีอุณหภูมิของร่างกายต่ำและอาจพบภาวะช็อคจากการติดเชื้อ
เมื่อพาแมวที่ป่วยไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ก็จะสังเกตอาการ และการตรวจเลือด ส่วนใหญ่จะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำในกระแสเลือด และมีการใช้ชุดตรวจสอบเพื่อหาแอนติเจนของเชื้อ
การรักษาก็จะการรักษาตามอาการ เช่น ให้สารน้ำ วิตามิน ยาลดไข้ และแก้ไขความผิดปกติของ อิเล็กโทรไลต์ ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ให้อินเตอร์เฟอรอนเพื่อต้านไวรัส
วิธีป้องกันโรคนี้ ง่ายๆเลยคือ พาลูกแมวไปฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อมีอายุ 6-8 สัปดาห์ กระตุ้นเข็มที่สองอีก 2-4 สัปดาห์ และกระตุ้นเข็มที่สามเมื่อแมวอายุ 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นกระตุ้นอีก 6 เดือน หรือเมื่อแมวอายุ 1 ปี จากนั้นกระตุ้นทุก 3 ปี ยกเว้นแมวที่มีความเสี่ยงสูงอาจพิจารณาให้ทุก 1 ปี
และกำจัดเชื้อไวรัสตามสิ่งแวดล้อมหรือพาหะนำโรคด้วยน้ำยาที่มี 6% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ 1% กลูตารอลดีไฮด์ หรือ 4% ฟอร์มัลดีไฮด์ ในอัตราส่วน 1:32 ทิ้งไว้นาน 10 นาที
สุดท้ายนี้มะหมาขอให้แมวเหมียวของเพื่อนๆทุกคนปลอดภัยนะ 😊😊😊
โฆษณา