15 มี.ค. 2021 เวลา 07:44 • กีฬา
One man stand
ก่อนเกมส์การแข่งขันระหว่างทีม Crystal Palace กับ West Bromwich Albion เหล่านักกีฬาต่างคุกเข่าเพื่อแสดงถึงการต่อต้านการเหยียดสีผิว แต่มีนักกีฬาคนหนึ่งที่ยืนตรงอย่างสงบนิ่ง
ที่มาสัญลักษณ์การ 'คุกเข่า' ต่อต้านการเหยียดสีผิว
เหตุการณ์เริ่มต้นในปี 2016 ก่อนเริ่มการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลทุกครั้งเหล่านักกีฬาจะยืนตรงเคารพเพลงชาติ ในลักษณะยืนตรงเอามือทาบไปที่อกซ้ายเพื่อระลึกถึงความเสียสละของเหล่าทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการแสดงความให้เกียรติแก่ประเทศ
 
แต่ Colin Kaepernick นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ตำแหน่ง Quarterback วัย 29 ปี แห่งทีม San Francisco 49ers ในขณะนั้น เลือกที่จะนั่งนิ่งๆบนม้านั่ง โดยให้เหตุผลกับผู้สื่อข่าวในภายหลังว่า 'ผมจะไม่ยืนขึ้นเพื่อแสดงความภาคภูมิใจต่อธงชาติของประเทศที่กดขี่คนผิวดำและคนผิวสีหรอก' ซึ่งสะท้อนปัญหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในอเมริกาใช้ความรุนแรงจนเกินกว่าเหตุต่อชาวอเมริกันผิวสีอยู่บ่อยครั้ง
ในภายหลัง Kaepernick เริ่มใช้การคุกเข่าแทนการยืนเคารพเพลงชาติเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวสี 'ทหารนั่งลงและคุกเข่าต่อหน้าหลุมศพของเหล่าพี่น้องที่สูญเสียเพื่อแสดงความเคารพต่อพวกเค้า' การคุกเข่าของ Kaepernick เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงทั้งในแง่ดีและแง่ลบต่อตัวเค้า แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านการเหยียดสีผิวและมีนักกีฬาหลายๆคนเริ่มที่จะทำตามเค้า
ภาพจาก Michael Zagaris/San Francisco 49ers/Getty Images
ต่อมาในปี 2020 จากเหตุการณ์ที่ George Floyd ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังในการจับกุมเกินกว่าเหตุจนเสียชีวิตในย่านพาวเดอร์ฮอร์นทางทิศใต้ของย่านกลางเมืองมินนีแอโพลิสในสหรัฐ ทำให้เกิดกระแสการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ในเรื่องความเท่าเทียมและการยอมรับในสีผิวและเชื้อชาติที่แตกต่างกัน หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ #BlackLivesMatter แรงกระเพื่อมนี้ส่งผลมาถึงกีฬาฟุตบอลที่มีประเด็นการเหยียดสีผิวจากนักเตะด้วยกันเองหรือนักเตะกับแฟนบอลอยู่เสมอ
วัฒนธรรมการคุกเข่าก่อนเริ่มเกมส์การแข่งขันฟุตบอลปฏิบัติกันมาต่อเนื่องจนเป็นภาพที่คุ้นตาของเหล่าแฟนบอลในปัจจุบัน แต่ก่อนเกมส์การแข่งขันระหว่างทีม Crystal Palace กับ West Bromwich Albion เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา เหล่านักกีฬาต่างคุกเข่าเพื่อแสดงถึงการต่อต้านการเหยียดสีผิว มีนักกีฬาคนหนึ่งที่ยืนตรงอย่างสงบนิ่ง ชายผู้นั้นคือ Wilfried Zaha นักเตะเชื้อสายโกตดิวัวร์ ที่เติบโต ณ เกาะอังกฤษตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเคยมีประเด็นการถูกเหยียดสีผิวจากแฟนบอลในโลกออนไลน์ ซึ่งพบว่าผู้กระทำเป็นเยาวชนอายุเพียง 12 ปี
ภาพจาก talksport.com
Zaha ให้สัมภาษณ์ถึงการไม่คุกเข่าก่อนเกมส์การแข่งขันว่า 'มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูกหรือผิด แต่สำหรับผมแล้วการคุกเข่าก่อนเกมส์การแข่งขันเป็นเพียงแค่กิจวัตรและไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ว่าคุณจะคุกเข่าหรือยืนตรง สุดท้ายเรื่องการเหยียดสีผิวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ'
ในโลกแห่งความจริง
จากข้อมูลขององค์กรการกุศลต่อต้านการเลือกปฏิบัติ หรือ anti-discrimination charity บอกกับเราว่ารายงานการเลือกปฏิบัติต่อนักฟุตบอลอาชีพในประเทศอังกฤษในฤดูกาล 2019-2020 เพิ่มสูงขึ้น 42% เมื่อเทียบกับฤดูกาล 2018-2019 และรายงานการเหยียดสีผิวเพิ่มขึ้น 53% และผลสำรวจยังบอกอีกว่านักเตะที่ตกเป็นเป้าการถูกกระทำมาจากสื่อโซเชียลมีเดียถึง 71% และหนึ่งในนั้นก็คือ Wilfried Zaha สาเหตุที่อัตราการเหยียดสีผิวเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา มีปัจจัยหลักจากสถานการณ์โคโรน่าไวรัสด้วย เนื่องจากเหล่าแฟนบอลต้องรับชมการแข่งขันผ่านทีวีหรืออินเตอร์เน็ตเป็นหลัก เมื่อนักเตะฟอร์มไม่ดีหรือทีมแพ้จึงเกิดการระบายอารมณ์ผ่านโลกออนไลน์ซึ่งไม่มีได้มาตรการณ์เข้มงวดเท่ากับการเข้าชมเกมส์ในสนาม อย่างไรก็ตามเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องก็พยายามติดตาม และออกนโยบายปกป้อง และสนับสนุนความเท่าเทียมของนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ คุณอาจสนับสนุน Kaepernick ในการคุกเข่าต่อต้านการเหยียดสีผิว หรือเห็นด้วยกับ Zaha ว่าต่อให้ยืนหรือคุกเข่าก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ใครที่คิดถูกหรือผิด 'เพราะมนุษย์เราเกิดมาแตกต่างกัน แต่มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน'
โฆษณา