16 มี.ค. 2021 เวลา 02:12 • ธุรกิจ
"ฉันจะเป็นราชาโจรสลัดให้ได้เลย" นี่คือพลอตเรื่องของการ์ตูน "มังงะ" ที่เกี่ยวกับ "มังกี้ ดี ลูฟี่" เด็กหนุ่มที่ใฝ่มันอยากจะออกทะเลที่กว้างใหญ่
เพื่อจะเป็น "ราชาโจรสลัด"
ขณะที่ผู้แต่ง "โอดะ เออิจิโร่" ในวัยเด็กก็ใฝ่ฝันอยากเป็น "นักเขียนการ์ตูน" ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน "Shonen Jump" เช่นเดียวกัน
ทะเลของทั้งสอง "ไม่เหมือนกัน" แต่มีเป้าหมายที่ "เหมือนกัน" คือการเป็น "ราชาของแต่ละโลก"
ขณะที่ "มังกี้ ดี ลูฟี่" ในโลกการ์ตูนภายใต้น้ำหมึกของ "โอดะ เออิจิโร่" ยังผจญภัยไล่ล่าความฝันของตัวเองอยู่นั้น
แต่ "โอดะ เออิจิโร่" ที่สรรค์สร้าง "One Piece" ก็ได้รับการตีพิมพ์ที่ "Shonen Jump" ไปตามความฝันเรียบร้อยแล้ว
และสามารถสร้างผลงานอย่างยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือน "ราชาโจรสลัด" ในโลกจริง
ทำยอดขาย "One Piece" พุ่งทะลุ "420 ล้านเล่ม+" เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาลแซงหน้า "Dragon Ball" การ์ตูนที่เปรียบเสมือน "ไอดอล" ของตัวเอง
สร้างผลงานต่อเนื่องอย่างยาวนานมากกว่า 20 ปี ถ้าไม่มี "คลังข้อมูลเรื่องราว" ผสมผสาน "จินตนาการ" ภายใต้การวาดน้ำหมึกผ่านมุมมองของ "โอดะ เออิจิโร่"
"One Piece" ก็คงไม่ได้ถูกยอมรับมาอย่างยาวนาน และ ก็คงดันเรื่องราวให้จบอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ "โอดะ เออิจิโร่" จะหมดมุก
เหมือนการ์ตูนเรื่องอื่นๆ
หน้าปก One Piece ครบรอบ 1000 ตอน Credit : Oremanga
ทำให้ "โอดะ เออิจิโร่" มีรายได้ที่คาดการณ์ตั้งแต่เริ่มเขียนจนปัจจุบันกว่า 20 ปี+
มีรายได้มากกว่า "หมื่นล้าน" บาท
"One Piece" สามารถสร้างรายได้ให้แก่ "โอดะ เออิจิโร่" ได้อย่างไร? และ ในรูปแบบไหนบ้าง?
กรรมกรธุรกิจ จะขอเล่าสู่กันฟังในเรื่องราวของ "โมเดลวันพีช" ธุรกิจการ์ตูน "หมื่นล้าน"
ธุรกิจการ์ตูนของญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมสร้างชาติของญี่ปุ่น ซึ่งการ์ตูนในญี่ปุ่นจะถูกเรียกว่า "มังงะ" (Manga)
"มังงะ" คือ การ์ตูนที่มีการแบ่งออกเป็นช่องๆแล้วมีบทคำพูดต่างๆ แทนที่จะเป็นคำบรรยายใต้ภาพเหมือนยุคเริ่มต้น
ซึ่งอุตสาหกรรมการ์ตูนจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ใหญ่ หรือที่เป็นตอนๆ เป็นต้น
ซึ่งในยุคก่อนที่ "One Piece" ถูกกำเนิดขึ้น การ์ตูนที่ดังๆก็ถูกแบ่งออกเป็นอย่างชัดเจน เช่น "Dragon Ball" , "Captain Tsubasa" , "ซามูไรพเนจร" , "จอมเกบูลส์" เป็นต้น
หรือ "โดราเอมอน" , "ปาร์แมน" ที่จบในตอน
ซึ่งการ์ตูนสมัยก่อนจะเป็น "รูปแบบ" ที่ชัดเจน ที่ถูกกำหนดโดย "กลุ่มอุตสาหกรรมการ์ตูน"
Dragon Ball การ์ตูนที่เป็นแรงบันดาลใจของ "One Piece" Credit : SAPO Mag
ดังนั้น "โอดะ เออิจิโร่" ที่มีความใฝ่ฝันการวาดการ์ตูนแนว "One Piece" จึงเป็นเรื่องที่ไกลตัว
ถึงแม้ว่าจะมีผลงานในวัยเด็กที่คว้างรางวัลอย่างเรื่อง "Wanted" ที่เป็นเรื่องสั้นที่เป็นผลงานจริงๆจังๆ
แต่การเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ตีพิมพ์ใน "Shonen Jump" ของญี่ปุ่นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีระดับ "กรอบมาตรฐานของมืออาชีพ" ที่สูงมาก
กรอบที่นักเขียนมือสมัครเล่นต้องเจออย่างแรกเลยก็คือ "กรอบเรื่องราว 19 แผ่น" ในแต่ละตอน
ซึ่งมีความยากมากกว่าการวาดการ์ตูนเรื่องสั้นเป็นอย่างมากที่สามารถรวบรัดให้จบได้อย่างรวดเร็ว
แต่การวาดการ์ตูนที่มีการเดินเรื่องอย่างยาวนานและถูกแบ่งย่อยเป็นตอนๆ ละ "19 หน้า" และต้องเขียนเรื่องราวให้น่าสนใจ และมีลูกเล่นการลำดับเรื่องราวให้ต่อเนื่อง
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
และยังต้องเจอกรอบอีก 1 ขั้น คือ "กรอบเวลา 1 สัปดาห์" ซึ่งมันกระชั้นชิดมากสำหรับมือใหม่ ไหนจะพลอตเรื่อง ทำโครงร่าง วาดภาพ เก็บรายละเอียด
ถึงแม้ว่า "โอดะ เออิจิโร่" จะมีเรื่องราวต่างๆในหัว บวกกับมีฝีมือการวาดภาพที่เกินเด็กในวัยเดียวกัน
แต่ก็ยังไม่ผ่าน "กรอบมาตรฐานของมืออาชีพ" สิ่งที่ทำได้ก็คือ "การเปลี่ยนเป้าหมาย" จาก "นักเขียนหลัก" ที่ใฝ่ฝันมาเป็น "ผู้ช่วยนักเขียน" ก่อน
โดยสะสมฝีมือ วิธีการจัดการ การลำดับภาพต่างๆจากนักเขียนหลักหลายๆท่าน โดยเฉพาะเรื่องทีดังติดกระแสในบ้านเรา
ก็คือ "ซามูไรพเนจร"
เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี จึงได้ออกมาเขียนการ์ตูนตามความฝันของตัวเองที่มีชื่อเรื่องว่า "One Piece"
เป็นแนวการ์ตูนที่เป็นสมัยใหม่มากในยุคนั้น ถ้าให้นึกถึงศัพท์ทางธุรกิจก็คือ "Blue Ocean" ในวงการการ์ตูน
จึงทำให้เรื่อง "One Piece" ติดลมบนตั้งแต่ "19 หน้าแรก" (ตอนแรก)
"One Piece" มีความแตกต่างจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆก็คือ "การผูกปม" "การเล่าเรื่อง" และ "เนื้อหาเรื่อง"
พร้อมทั้งใส่กลิ่นของความ "แฟนตาซี" ผสมแง่คิดลงไป ก็คือ "ผลไม้ปีศาจ" ที่เปรียบเสมือน "พรสวรรค์" ในรูปแบบต่างๆ ที่เด็กๆอยากเป็น
อาทิเช่น ผลควบคุมไฟ ก็สามารถใช้ไฟได้, ผลแผ่นดินไหวที่สามารถทำให้แผ่นดินไหวได้
ผลไม้ปีศาจ ที่ผู้กินจะได้รับความสามารถพิเศษ
เป็นการเล่น "จินตนาการ" กับคนอ่าน ให้คนอ่านรู้สึกอยากติดตาม ผสมกับการเขียนการ์ตูนในรูปแบบ "T Model"
มีทั้งเชิง "กว้าง" คือการผจญภัยเพื่อแก้ปัญหาต่างๆของโลกนี้ ทั้งสงครามกลางเมืองอย่างภาค "อลาบาสต้า"
สงครามกับรัฐบาลโลก "เอนิเอสล็อบบี๊"
หรือแม้กระทั่งลุยใน"คุกนักโทษ", ไปสู้กับ "พระเจ้า"ที่เกาะแห่งท้องฟ้า
การที่บะเขียนเรื่องราวเชิง "กว้าง" ได้ขนาดนี้ "โอดะ เออิจิโร่"ต้องทำตัวเป็นนักศึกษาเรื่องราวต่างๆอย่างมากมายทั้ง "ประวัติศาสตร์" "ตำนาน" "ภาพยนต์"และอื่นๆ สะสมเป็น"คลังไอเดีย"
เพื่อนำ "จุดเล็ก" ของข้อมูล มาสร้าง "จุดใหญ่" ความประทับใจแก่ผู้อ่าน
ผสมผสานการเขียนเชิง "ลึก" คือ เรื่องราวของพรรคพวกในทีมเดียวกัน
เช่น ช่วยเหลือ "นามิ" จากการโดนกลุ่มโจรสลัดอารอนบังคับจับตัว
การช่วยเหลือ "โรบิน" ที่ถูกไล่ล่าจากรัฐบาลโลก จนมีฉากเรียกน้ำตาได้อย่างมากมาย เช่น การเผาธงรัฐบาลโลกที่ไม่มีไครกล้าทำ
หรือแม้กระทั่ง "ต่อสู้" กันเองระหว่าง "ลูฟี่" กับ "อุซป" ที่เดิมพันกับเรือ "โกอิ้ง แมรี่"
รวมทั้งฉากเรียกน้ำตาสุดคลาสสิก คือ "การเผาเรือแมรี่"
ฉากเผาเรือโกอิ้ง แมรี่ ที่ทุกคนอ่านต้องเสียน้ำตา
เมื่อ "โอดะ เออิจิโร" สามารถเขียนการ์ตูนได้ตามรูปแบบ "T Model" แล้ว ผู้อ่านก็จะได้ความสนุกในเชิงกว้าง และมีความผูกพันกับตัวละครในเชิงลึก
เปรียบเสมือนการสร้าง "Lock in" กับ "Fan Club" ในรูปแบบโมเดลธุรกิจ
"Lock in" คือการให้ผู้อ่านกลับมาอ่านซ้ำ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่สำคัญมากของ "Shonen Jump" เพราะว่าเป็นการ์ตูนรายสัปดาห์ที่มีเรื่องต่างๆหลายเรื่อง
การที่ผู้อ่านทำการซื้อกลับไปอ่านก็ทำให้มีโอกาสที่จะอ่านเรื่องอื่นๆเช่นเดียวกัน และพัฒนาการเป็น "Fan Club" ของเรื่องอื่นๆด้วย
และสำนักพิมพ์ "Shonen Jump" ก็จ่าย "ค่าต้นฉบับ" ให้แก่ "โอดะ เออิจิโร่" เป็นพื้นฐาน แต่ยังไม่สามารถสร้างขุมทรัพย์ "หมื่นล้าน" ได้
นอกจากจะมีรายได้ทางอื่นๆเข้ามา จากกระแสความดังของ "One Piece" และฐานคนอ่านที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เกิดรายได้อีกหลากหลายช่องทาง เช่น ส่วนแบ่งจากการขาย "One Piece" รวมเล่ม ที่มียอดสะสมการขายถึง "+420 ล้านเล่ม"
จาก 2 ปัจจัยหลักสำคัญๆ คือ "One Piece" ได้รับความนิยมจากคนอ่านทั่วโลก (ขยายฐานคนอ่าน = เชิงกว้าง) และ ระยะเวลาของ "One Piece" ที่เขียนกันมานาน (เวลาสะสม = เชิงลึก)
ก็จะสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธ์ "One Piece" ไปประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้เกิดฐานคนอ่านที่มากขึ้น -> รายได้ก็มากขึ้น
เมื่อ "One Piece" มีฐานคนอ่านจำนวนมาก ก็สามารถสร้างมูลค่าต่างๆได้มากขึ้น ตามช่องทางต่างๆ
เช่น ทำสินค้าที่เกี่ยวกับ "One Piece" หรือ การสร้าง "อนิเมะ" หรือ "หนัง" ออกมา เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
หรือแม้กระทั่ง "Collaborate" กับ "Brand" ต่างๆ หลากหลายยี่ห้อ
แม้กระทั่ง "USJ" (Universal Studio Japan) ก็นำ "One Piece" เป็น "Theme Event" ที่สามารถเรียกนักท่องเที่ยวให้สัมผัสกลิ่นอายของความเป็นจริง
ห้องอาหาร "ซันจิ" แห่งกลุ่มหมวกฟาง ใน USJ Credit : Tokyo Otaku Mode
แทนการสัมผัสทางจินตนาการที่สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ได้ ซึ่งสามารถสร้าง Win-Win แก่ "One Piece" และ "USJ" ได้
เมื่อมองรายได้จากหลายๆช่องทางที่เข้ามาแก่ "โอดะ เออิจิโร่" จึงทำให้เป็นขุมทรัพย์ "หมื่นล้าน" นั่นเอง
และทำให้ "โอดะ เออิจิโร่" กลายเป็น "ราชาโจรสลัด" ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เจอสมบัติแล้วนั่นเอง
กรรมกรธุรกิจ ขอนำเสนอ "One Piece" Business Model Canvas
เพื่อให้เข้าใจถึงโมเดลการสร้างรายได้จากการ์ตูน "One Piece" นั่นเอง
One Piece Business Model Canvas Credit : Facebook/Bizlabor
ขอขอบคุณที่ติดตามบทความของ "กรรมกรธุรกิจ" ครับ
โฆษณา