15 มี.ค. 2021 เวลา 23:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มีเงิน 1,000 บาท/เดือน ควรลงทุนอะไรดี
หลายคนก็คงจะเคยสงสัยกันว่า หากมีเงินเก็บออมในทุกๆเดือน จะเอาเงินไปออมหรือลงทุนกับอะไรดี เพราะในปัจจุบัน ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารนั้น ผลตอบแทนน้อยมาก หากไปดูประกาศอัตราดอกเบี้ยรายวันจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 จะเห็นได้ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 0.50% และเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยประมาณ 1.00% เท่านั้น จะดีกว่าไหมหากเราแบ่งเงินบางส่วนมาที่เราออมอยู่ มารับความเสี่ยงด้วยการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ยากเลย เราสามารถเริ่มต้นง่ายๆด้วยเงินจำนวนเพียง 1,000 บาท เพื่อลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆดังนี้
1. ตราสารหนี้
การลงทุนในตราสารหนี้นั้นเปรียบเสมือนว่าเราเป็นเจ้าหนี้ ที่ให้รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ยืมเงินในฐานะลูกหนี้ โดยลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอตามที่กำหนดไว้ และจะต้องชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุตราสารหนี้
ตราสารหนี้มีหลายรูปแบบ สามารถลงทุนได้ทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว มีความเสี่ยงที่หลากหลายให้ได้เลือกลงทุน ตัวอย่างของตราสารหนี้ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคงคลัง ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้บริษัทเอกชน เป็นต้น ในการลงทุนตราสารหนี้ สิ่งที่เราควรจะพิจารณาก็คือปัจจัยต่างๆทางเศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ต่างๆของตลาดตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ข้อมูลและอันดับความน่าเชื่อถือเพื่อให้เราทราบถึงความเสี่ยง รวมถึงสภาพคล่องหรือความยากง่ายในการซื้อขาย
ปัจจุบันนักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลสำหรับนักลงทุนทั่วไป โดยซื้อเริ่มต้นที่ 1,000 บาทเท่านั้น โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.0% - 3.0% ต่อปี เป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เหมาะกับคนที่ต้องการรักษาเงินต้นและคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก เช่น วัยเกษียณ
2. หุ้น
การซื้อหุ้นคือการนำเงินไปลงทุนเพื่อร่วมเป็นเจ้าของกิจการในบริษัทต่างๆที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเป็นเจ้าของ เราจะมีสิทธิในส่วนแบ่งกำไรของกิจการ สามารถได้รับเงินปันผลตามที่บริษัทประกาศไว้ รวมถึงมีสิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นได้
การลงทุนหุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูง เพราะราคาซื้อขายมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลาจากข่าวสารทั้งในแง่บวกและแง่ลบ รวมถึงความคาดหวังต่างๆที่เกิดขึ้น นักลงทุนจึงต้องคอยติดตามปัจจัยต่างๆในการลงทุนหุ้นอยู่เสมอๆ เริ่มต้นง่ายๆโดยการศึกษาในเรื่องของพื้นฐานหุ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ส่งผลในแง่การเติบโตของบริษัท วิเคราะห์ตัวบริษัทในแง่ของวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร สินค้าและบริการ ความได้เปรียบต่างๆในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดจนแผนงานต่างๆที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต
หากวิเคราะห์ได้แล้วว่าหุ้นนั้นน่าสนใจก็สามารถทยอยซื้อหุ้นได้เป็นรายเดือน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงเดือนละ 1,000 บาท ในการซื้อขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100 หุ้น จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (2551 - 2560) อยู่ที่ 11.61% ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง
3. กองทุนรวม
อีกวิธีการหนึ่งที่เราสามารถลงทุนได้ง่ายๆคือการซื้อกองทุนรวมที่บริหารงานโดยผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ โดยจะนำเงินในกองทุนไปลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุน ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนด้วยตัวเอง กองทุนรวมมีความเสี่ยงให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำไปจนถึงสูง สามารถนำมาจัดพอร์ตการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราเพื่อเป้าหมายทางการเงินของเราได้
หากต้องการเลือกกองทุนรวมที่โดนใจ สามารถเริ่มจากการเปรียบเทียบกองทุนรวม เช่น ผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5 ปี ความเสี่ยงและความผันผวนจากการดำเนินงาน แนวทางการบริหารงานของผู้จัดการกองทุนรวม ทรัพย์สินที่ลงทุนและการกระจายความเสี่ยง ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถเช็คได้ที่ www.morningstarthailand.com
ปัจจุบันสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ โดยเริ่มจากเงินเพียง 1 - 1,000 บาทขึ้นไป นอกจากนี้หากใครต้องการลงทุนเพื่อรับสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษี ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนประเภท SSF SSFX และ RMF ได้ สนใจลงทุนกองทุน SSF Extra กับธนาคารกรุงไทย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอหนังสือชี้ชวน ได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
จะเห็นได้ว่าการที่เรามีเงินออมจากการทำงาน สามารถเปลี่ยนเป็นเงินลงทุนให้งอกเงยมากขึ้นได้ในทรัพย์สินหลายๆประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้น และ กองทุนรวม โดยเริ่มต้นง่ายๆด้วยเงินเพียง 1,000 บาทเท่านั้น
โฆษณา