16 มี.ค. 2021 เวลา 03:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 16 มี.ค. 64
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังการผ่านงบกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดวัคซีนได้รับการฉีดไปแล้วมากกว่า 350 ล้านโดส ทำให้ตลาดเริ่มคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
1
จำนวนวัคซีนที่ได้รับการฉีดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด อยู่ที่ 380 ล้านโดสแล้ว – ภาพจาก Bloomberg.com
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่ดี ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ประเทศใหญ่ๆทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และกดดันราคาหุ้นของบริษัทที่เติบโตเร็ว (หรือที่เรียกกันว่า Growth Stock) ที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และสุขภาพ ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯพุ่งขึ้นเหนือ 1.6% กดดันตลาดหุ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ - ภาพจาก Infoquest.co.th
เปิดตลาดสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ล่าสุด ดัชนี Dow Jones แตะระดับสูงสุดตลอดกาลได้อีกครั้งเมื่อวาน หลังจากที่สุดสัปดาห์ ปธน. Joe Biden เซ็นต์อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การแจกจ่ายเช็คเงินสด 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯให้กับชาวอเมริกัน, ยืดอายุเงินช่วยเหลือรายสัปดาห์ๆละ 300 ดอลลาร์ ออกไปจนถึงเดือน ก.ย., งบเพื่อช่วยเหลือการฉีดและแจกจ่ายวัคซีน, งบช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และงบช่วยเหลือโรงเรียน บริษัทห้างร้านอื่นๆ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนี บวกเฉลี่ย +3.26%, ยุโรป (STOXX50) +4.46%, จีน (CSI300) -2.21%, ญี่ปุ่น +2.96%, อินเดีย (Sensex) -0.11% และไทย +1.56%
ข้ามมาทางฝั่งยุโรป ตลาดได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม และกล่าวว่า จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 เพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เด้งขึ้นมาให้ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ดูจะกดดันตลาดยุโรป คือ 1. เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก อิตาลี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ประกาศหยุดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca เนื่องจากเกิดผลข้างเคียงทำให้ผู้ฉีดมีลิ่มเลือดตกค้างในร่างกาย ทำให้อาจเป็นอันตราย ซึ่งล่าสุด ทางบริษัทยืนยันว่า วัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดโรคข้างเคียงดังกล่าว 2. พรรค CDU ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเยอรมนี แพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภา 2 ตำแหน่ง ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นวันที่ 26 ก.ย. นี้ ส่อแววไม่แน่นอนมากขึ้น
หน่วยงานรัฐบาลเยอรมนี ประกาศผ่าน Twitter ระงับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เมื่อวานนี้ - ภาพจาก Twitter
ด้านตลาดเอเชีย หุ้นจีนปรับตัวลดลง หลังทางการจีนสั่งปรับเงินบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมกัน 12 รายๆละ 5 แสนหยวน (7.7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งรวมบริษัท Tencent, Baidu, บริษัทย่อยของ Meituan, JD.com และ ByteDance เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตทางการในการเข้าซื้อกิจการอื่นๆในอดีต ถือเป็นการส่งสัญญาณจากทางการเป็นครั้งที่ 2 ว่าจะเข้ามาตรวจสอบกิจการเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น หลัง Alibaba และ Tencent ก็ถูกปรับกรณีพฤติกรรมการผูกขาดตลาดก่อนหน้านี้
ภาพจาก Wall Street Journal.com
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าที่คาด ไม่ว่าจะเป็น GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ที่ขยายตัว +2.8%QoQ แย่กว่าที่คาด, เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.พ. สหรัฐฯ +0.1%MoM น้อยกว่าที่คาด และ GDP ไตรมาส 4 ของอังกฤษ -9.2%YoY
ตัวเลขเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ มีไม่มากนัก ได้แก่
(16 มี.ค.) ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ (ZEW Economic Survey) เดือน มี.ค. ของเยอรมนี คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 74.0 จุด + ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะพลิกกลับเป็นหดตัว -0.5%MoM
(17 มี.ค.) เงินเฟ้อ (CPI) ยูโรโซน เดือน ก.พ. คาดว่าจะทรงตัวที่ +0.9%YoY + การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) + ยอดขอสร้างบ้านใหม่ (Building Permits) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงเช่นกัน
(18 มี.ค.) การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และอังกฤษ (BoE) +ดัชนีการผลิตมลรัฐฟิลาเดลเฟีย (Philly Fed Manufacturing PMI) เดือน มี.ค. คาดว่าจะทรงตัวจากเดือน ก.พ. + ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ
ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นประมาณ 1.6% ในสัปดาห์ก่อน หลังจากที่เงินดอลลาสร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงและ Bond Yield สหรัฐฯ เริ่มลดต่ำลงมา ทำให้มุมมองทองคำเริ่มดูดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อาจต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ว่าจะมีท่าทีต่อดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร หากไม่ส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบาย ทองคำอาจไม่ไปไหนได้ไกลกว่านี้มากนัก
ราคาน้ำมัน ลดลงเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ผ่าน แม้จะมีความคาดหวังเศรษฐกิจฟื้นตัว ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 64.73 และ 68.16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม Mr. เต่าคาดว่าปริมาณน้ำมันในตลาดที่ลดลงจากที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ลดการผลิตน้ำมันต่อเนื่อง และความต้องการน้ำมันในจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้อีกในสัปดาห์นี้
ติดตามการประชุมธนาคารกลางหลักทั้ง 3 แห่ง คือ สหรัฐฯ (Fed) ญี่ปุ่น (BoJ) และอังกฤษ (BoE) เพื่อรอดูคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ผมคาดว่า Fed อาจไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรในรอบนี้ เพราะเชื่อว่าต้องการให้เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% ที่ต้องการซักระยะก่อนที่จะเปลี่ยนนโยบาย แต่ BoJ และ BoE คาดว่าจะออกมาพูดให้ความเชื่อมั่นแก่ตลาด เพื่อควบคุมไม่ให้ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นถ้อยแถลงที่ผ่อนคลายกว่า Fed และถ้าเหตุการณ์นี้เป็นจริง Bond Yield สหรัฐฯอาจกดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้อีกระลอกในสัปดาห์นี้ครับ
Mr. เต่า ยังแนะนำ “ลดสัดส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี” และ “เพิ่มสัดส่วนหุ้นเอเชียและหุ้นขนาดกลางและเล็ก” เนื่องจากมองว่า 1. หุ้นขนาดกลางและเล็กจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย 2.หุ้นขนาดเล็กจะถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นไม่มากเท่ากับหุ้นกลุ่มโตเร็วขนาดใหญ่ และ 3.คาดว่า หุ้นเทคโนโลยีจะยังอยู่ในระยะพักตัว เนื่องจากรอทิศทางที่ชัดเจนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
โฆษณา