Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จารโอม
•
ติดตาม
16 มี.ค. 2021 เวลา 08:30 • ดนตรี เพลง
คุณว่าเปียโนนี่มันเล่นกันยังไง?
เปียโนเป็นเครื่องดนตรีสากลที่ไม่มีอะไรจะสากลไปมากกว่านี้แล้ว แป้นเปียโนเป็นสิ่งแรกที่คุณนึกถึงเวลานึกถึงดนตรี ไม่ก็ตัวโน้ต แต่สองอย่างนี้แน่ ๆ เปียโนไม่ใช่แค่ได้รับความนิยมเฉย ๆ แต่เพราะมันสามารถจำลองสถานการณ์ได้ไม่รู้จบ เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นโน้ตพร้อมกันได้สูงสุด 10-12 โน้ตในครั้งเดียว แถมรูปร่างหน้าตาของคีย์บอร์ดนั้นมีแบบแผนชัดเจนและคิดตามได้ง่ายเหมือนลูกคิดในวิชาคณิตศาสตร์ คุณจึงไม่ใช่แค่เอาไปกดเล่น แต่ใช้ในการศึกษาได้ เช่นจำลองสถานการณ์เชิงทฤษฎี โสตทักษะ เมื่อปรับปรุงเป็นระบบไฟฟ้าตั้งอยู่บนโต๊ะได้ก็สะดวกในการทำดนตรีผ่านคอมพิวเตอร์ เปียโนจึงเป็นพื้นฐานที่นักดนตรีอาชีพต้องเล่นพอได้โดยปริยาย
เอาเป็นว่าเปียโนเนี่ยมันมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานสุด ๆ มันมีอะไรก็ไม่รู้ที่หน้าตาเหมือนเปียโน แต่ อ้าว ไม่ใช่แฮะ เช่น Harpsichord, Clavichord, Organ เอาจริง ๆ แล้วทุกวันนี้ผมยังต้องมานั่งอธิบายอยู่เหมือนกันว่าเครื่องดนตรี Keyboard เนี่ย มันไม่ใช่ Piano แต่ช่างมันเถอะ เราเรียกรวม ๆ ว่าเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดก็แล้วกัน ทั้งหมดนี้มีต้นบรรพบุรุษมาจาก Monochord ถ้าอยากลองฟังแนะนำให้เปิดยูทูปฟังครับ โคตรเพราะ เปียโนในความหมายของเปียโนถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงปี 1700 โดย Bartolomeo Cristoffori อ้อ ในควาามเป็นจริงแล้วคำว่าเปียโนเป็นชื่อย่อนะครับ ชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ "Pianoforte" หมายความว่าเครื่องดนตรีที่เล่นได้ทั้งดังและเบา ถ้ารู้ดีหน่อย ชื่อแรกจริง ๆ คือ "clavicembalo col piano e forte" ซึ่งก็แปลได้บริบทเดียวกัน
ซึ่งปกติการเล่นเปียโนคือการจำลองทุกสิ่งทุกอย่างยัดลงมาในเครื่องดนตรีเดียวใช่มั้ยครับ เหมือนเอาวงออร์เคสตรายัดลงมาอยู่ในสองมือของเรา หรือวงดนตรีเท่ ๆ ยัดลงมาอยู่ในสองมือของเรา มือขวาเล่นเมโลดีสลับกับเล่นคอร์ดโดยมีมือซ้ายก็ช่วยเรื่องคอร์ดด้วย แถมมือซ้ายยังเดินเบสได้อีก หรือจะเอาเปียโนไปเล่นกับวงป๊อปร็อคหรือวงออร์เคสตราก็ทำได้แบบไม่ขัดเขิน
จะบอกให้ ที่พม่าอะ เค้าไม่ได้เล่นกันแบบนี้หรอกนะ
พม่ารับเอาเปียโนเข้ามาตั้งแต่ที่จักรวรรดิอังกฤษเข้าครอบครองนั่นแหละ โดยกษัตริย์พม่าในเวลานั้น (Mindon Min) ทรงหัดบรรเลงเปียโนจนติดใจ หลังจากนั้นจึงได้รับเปียโนมาจากเอกอัคราชฑูตอิตาลี หลังจากนั้นบ้านเรือนของเจ้าขุนมูลนายหลาย ๆ คนจึงมีเปียโนตั้งไว้บ้าน นักดนตรีในพม่าก็ชอบ โหเครื่องอะไรเนี่ยเล่นอะไรได้หลากหลายจัง แถมบรรจงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "Sandaya"
เรื่องของเรื่องคือ เปียโนที่พม่านั้นเขาไม่ได้เล่นแค่ดนตรีสากล แต่เขายัดมันลงไปอยู่ในดนตรีพม่าของเขาด้วย คือดนตรีที่ได้รับความนิยมในชนชั้นสูงสมัยนั้นคือดนตรี "Mahagita" (น่าจะอ่านว่ามหาคีตา) กษัตริย์ Mindon Min มีพระประสงค์ให้นำเปียโนมาบรรเลงเพลงมหาคีตาด้วย ซึ่งก็ทำให้นักดนตรีนั้นต้องคิดค้นวิธีการเพื่อที่จะให้สามารถเล่นได้แล้วไม่เพี้ยน เพราะระบบจูนเสียงของพม่ากับตะวันตกย่อมแตกต่างกัน
ผลที่ได้คือ วิวัฒนาการเปียโนในพม่าจึงเหมือนเกาะมาดาร์กัสกา ที่ทุกอย่างนั้นแตกต่างจากโลกภายนอก กลายเป็นว่า Sandaya นั้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีพม่าได้แบบที่ไม่ขัดเขินเลย การเล่นเปียโนในพม่านั้นมีวิธีการที่เฉพาะตัว แตกต่างจากเปียโนโลกสากล มีระบบการจูนเสียงที่เป็นของตัวเอง (แม้ว่าปัจจุบันนั้นจะเล่นด้วยระบบจูนนิ่งแบบสากลแล้ว แต่สุ้มเสียงนั้นยังเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม) ผู้เขียนเคยไปศึกษาดูงานที่ฟิลิปปินส์ คนพม่า (ที่หนีไปอาศัยอยู่ที่นั่น) บอกด้วยว่าจริง ๆ แล้วแต่ก่อนเขาไม่ใช้คีย์ดำเสียด้วยซ้ำ และยุคเริ่มแรกนั้นใช้นิ้วชี้นิ้วเดียวกดเป็นระนาดเลย แถมยังเปิดคลิปให้ดูด้วย เสียดายที่หาคลิปนั้นไม่เจอแล้ว
การผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติจนกลืนเข้ากับวัฒนธรรมตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีอยู่ทุกที่ เช่นญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เคยมีก๋วยเตี๋ยวจนกระทั่งรับวัฒนธรรมการกินของจีนเข้าไป และพัฒนาต่อจนเป็นราเมน ไม่ค่อยจะกินดิบกันจนกระทั่งรับวัฒนธรรมการกินดิบของลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปจนกลายไปเป็นซูชิ เป็นซาชิมิ บางคนอ้างไปถึงดงบุริที่เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำว่าธนบุรี (ยังเชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีน้ำหนักพอดู)
แต่การรับวัฒนธรรมที่ดูเท่สุด ๆ เหมือน Sandaya อีกอันนึงคือ การกินขนมปังของประเทศลาว ซึ่งลาวรับวัฒนธรรมการกินขนมปังในสมัยที่ยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โดยขนมปังได้เข้าไปอยู่ในเมนูอาหารพื้นบ้านของลาวตั้งแต่นั้นมา เพราะขนมปังนั้นกินง่าย ทำง่าย สังคมอุษาคเณย์เป็นสังคมกินข้าวจึงมีแป้งมากมายให้ผลิต และมีคุณค่าทางอาหารสูง ลาวพัฒนาสูตรขนมปังของตนเองจากวัตถุดิบท้องถิ่น ขนมปังลาวจึงไม่เหมือนบาร์แก็ตของฝรั่งเศสแม้หน้าตาจะคล้ายกัน
ไทยล่ะ? มีนะครับ นั่นคือทรงนักเรียนอันแสนจะภาคภูมิใจของเรายังไงล่ะ
โดยทรงนักเรียนนั้นเรารับมาจากญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมีเหาระบาด ทรงนักเรียนนั้นผู้ขายต้องไถเกรียนสามด้าน ปล่อยผมให้ยาวข้างบนแต่ก็ไม่ยาวมาก ส่วนผู้หญิงตัดสั้นแต่ไม่เกินบ่า ซึ่งก็ได้ผลเพราะผมสั้นนั้นดูแลง่าย ทำความสะอาดก็ง่าย เหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นเขตร้อนชื้น นานวันเข้าทรงนักเรียนนี้ดูเหมือนจะถูกกลืนไปเป็นวัฒนธรรมของไทยเสียเรียบร้อย หลักฐานคือแม้ปัจจุบันเหาจะไม่ได้ระบาดแล้ว และกระทรวงก็ยกเลิกกฏบังคับตัดทรงนักเรียนไปแล้ว แต่สังคมไทยก็ยังมีความเป็นห่วงในกรณีนี้อยู่
(ซึ่งไม่เคยเข้าใจเลยว่าสำหรับผู้หญิงมันแก้เหายังไง จริงอยู่ที่ทรงผู้ชายนั้นแก้เรื่องเหาจริง แต่ของผู้หญิงที่ยังไงมันก็คือยาวอยู่ดี มันลดเหายังไง พาลทำให้นึกไม่ออกเหมือนกันว่าแต่ก่อนผู้ชายเค้าตัดผมทรงอะไรกัน)
พริกเองนั้นก็เป็นการรับวัฒนธรรมเข้ามาและหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมไทย เพราะพริกไม่ใช่ของไทย พริกเป็นของอเมริกาใต้ มะละกอก็ไม่ใช่ของไทย ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของอาหารไทยคือส้มตำ ส้มตำไม่ใช่อาหารพื้นบ้านของภาคอีสาน แต่เป็นของภาคกลางต่างหาก มะละกอกับพริกต้องมาปลูกที่ราชธานีก่อน ไม่มีทางวาร์ปไปอีสานทันที แต่ไทยเรากินเผ็ดกันมาช้านานแล้ว เพราะเราปรุงรสกันด้วยเครื่องเทศอยู่ก่อน "พริก" ที่เราเคยกิน ๆ กันถูกเรียกใหม่ว่า "พริกไทย" เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างพริกที่เราปลูกกันอยู่แล้วกับพริกชนิดใหม่ที่นำเข้ามา เอาจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่รุ่มรวยวัฒนธรรมมากนะครับ เพราะแทบไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นของไทยแท้ ที่เราเห็น ๆ อยู่นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมของประเทศใกล้เคียงมากกว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรามีระนาดเช่นกัน มีมวยที่คล้าย ๆ กัน มีศิลปะที่คล้ายกัน ดูเหมือนว่าอะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นไทยแท้ที่สุดก็คือ "แคน" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน ไทยเราเป่าแคนกันมานานแล้วเพราะแถว ๆ นี้เคยมียุคที่เรียกว่า "ยุคไม้ไผ่" แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังเคยขุดเจอแคนอายุสองสามพันปีที่จีนมาก่อน
คิดไปคิดมา วัฒนธรรมนี่ไม่มีอะไรแท้ ๆ เลยเนอะ
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย