16 มี.ค. 2021 เวลา 12:28 • ประวัติศาสตร์
ของรัก
การเดินทางเริ่มขึ้น ในวัย 9 ขวบ เมื่อจบชั้น ป. 4 จาก โรงเรียนประชาบาล อำเภอแม่ทะ ที่อยู่ตรงข้ามบ้านพักนายอำเภอเพียงแค่ข้ามถนนลูกรัง ทางลัดไปเรียนคือลอดรั้วลวดหนาม เดินตัดผ่านสนามหญ้ากว้างใหญ่ที่จำได้ว่าไม่เคยเขียวขจี มีแต่หญ้าอมเหลือง และบางแห่งก็ดินโผล่เป็นหย่อม ๆ เพราะน้อยครั้งจะได้รับน้ำฝน ผ่านเสาธงหน้าอาคารไม้ 2 ชั้นหลังใหญ่ที่เป็นห้องเรียนชั้น ป.1-ป.2 และห้องพักครู ต้องขึ้นบันไดสูงก่อนเข้าชั้นเรียน
เมื่ออยู่ ป.1 คุณครูชื่อ “สะเอ่ง ณ ลำปาง”เป็นครูประจำชั้น ครูใจดี สวยน่ารัก เรียบร้อย สอนการฝีมือ เย็บตะเข็บผ้า สอย ด้นถอยหลัง ตะเข็บเข้าถ้ำ ปัก ปะ ชุน ซึ่งเราได้ใช้วิชาที่ครูสอนตลอดมาในภายหลัง ครูจะชอบให้เรากรอด้ายถักแทต ใส่ตัวถักที่เป็นพลาสติกปลายแหลมทั้ง 2 ด้าน มีแกนกลางที่ม้วนด้ายที่ใช้ถัก ท่านสอนให้เราถักแทตด้วย ท่านบ่มเพาะนิสัยการรักการทำงานฝีมือให้เด็กเช่นเรา
เมื่ออยู่ ป.3 เราต้องย้ายลงมาเรียนห้องเดียวที่ปลูกอยู่
ระดับพื้นดินข้างอาคารเรียนใหญ่ เราเรียนกับคุณครู “ทองดี วรรณรัตน์” ที่ดีสมชื่อ ท่านให้รางวัลเราเป็นสมุดเมื่อสอบได้ที่หนึ่งเสมอตลอด 2 ปีที่เรียนกับท่าน แม้เราจะเลื่อนชั้นมาเรียน ป.3 เลย [เรียกกันว่า “พาสชั้น]โดยไม่ต้องเรียน ป.2
ท่านเขียนไว้ในรางวัลที่ให้ว่า “ จงรักษาความดี ประดุจเกลือรักษาความเค็ม” คติธรรมที่ท่านให้ประทับอยู่ในใจและเป็นหลักการดำเนินชีวิตตลอดมา
เราต้องจากครูที่เป็น “แม่พิมพ์” ที่เคารพและรักทั้งสองท่านเมื่อจบป.4 ในปี 2494 ที่ต้องเข้ามาเรียนในเมืองลำปาง
ของรักอีกอย่างที่ต้องจากกัน คือทางวิ่งที่มีหลักไม้ท่อนกลม 2 หลัก อยู่ห่างกัน ราว 20 เมตร ที่ไว้ให้จับ ตอนหมุนตัวกลับวิ่งเที่ยวกลับตามทางวิ่ง ตรงหลักจะเป็นร่องลึก เห็นพื้นเป็นดินเหนียวลื่นมัน และเป็นร่องลึก เพราะถูกใช้ไม่รู้กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยวของเด็ก ๆ หลักและลู่ “วิ่งเปรี้ยว” ที่อยู่ข้างอาคารไม้ใหญ่หลังนั้นคงยืนตากแดด ตากฝน และเป็นสิ่งสำราญบันเทิงสิ่งเดียวของเด็กรุ่นต่อรุ่นไปอีกนานในโรงเรียนแห่งนี้
วันที่เดินทางจากพ่อแม่ ไปอยู่กับครู “ระวาศ”ในเมืองลำปาง เพื่อเรียนชั้น ม. 1 [ มัธยมปีที่1] นั้นต้องนั่งรถ 2 แถวคันใหญ่ ประจำทางสาย แม่ทะ-ลำปาง ที่มีคนขับคนเดียวตลอด 2 เที่ยวต่อวันที่วิ่ง คือ
⁃ เที่ยวไป : 7:00 น, 13:00 น.[ โดยประมาณ]
⁃ เที่ยวกลับ 10:00น, 16:00 น.[ … ,,... ]
รถจะวิ่งไปบนถนนสายเดียวกับที่ตอนพ่อย้ายมาอยู่อำเภอนี้ ที่ตอนนั้นต้องนั่งเกวียนนำครอบครัวมาอยู่ เรานอนหลับฟังเสียงล้อเกวียนบดไปบนถนนทางเกวียนจนหลับไป และมาตื่นอีกทีตอนดึก ลืมตามองแสงจันทร์ที่สาดส่องคืนนั้นและหลับไปอีกครั้ง จนมาตื่นเมื่อถูกปลุกตอนถึงบ้านพักประจำตำแหน่งของพ่อที่ย้ายจากอำเภอหัวไทร จ. นครศรีธรรมราชมาประจำที่อำเภอแม่ทะในปี 2491
งานแรกของพ่อ คงเป็นถนนลาดยางแทนทางเกวียนลูกรังเส้นนั้น พ่อได้ของบทางการมาทำถนนลาดยางสายแม่ทะไปตัวเมืองลำปางที่ใช้อยู่จนปัจจุบันนี้ เราจึงได้เดินทางเข้าเมืองโดยรถยนต์สายเดียวที่เครื่องยนต์ต้องจุดติดด้วยการหมุนท่อนเหล็กงอใหญ่สอดใส่ไปในช่องเล็กเฉพาะหน้าหม้อของรถยนต์ที่มีเจ้าของและคนขับชื่อ “นายโต๊ะ”
พ่อจะใช้พาหนะตรวจท้องที่ คือ “เจ้าธง” ม้าพันธ์พื้นเมืองตัวผู้ที่แสนพยศ พ่อนำมาฝึกจนเชื่อง แต่ก่อนจะเชื่องมันสลัดพ่อเกือบตกจากหลังม้าหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทางแยกสามแพร่งที่จะไปยังสถานีรถไฟสายหนึ่ง ในเมืองสายหนึ่ง และทางไปท้องที่ที่พ่อจะไปตรวจงานเช่น บ้านอ้วน บ้านบอม บ้านกิ่ว น้ำโท้ง ป่าตัน ฯลฯ ที่พ่อหายไปครั้งละครึ่งเดือน เพราะหมู่บ้านต่าง ๆ อยู่ไกลมากจากตัวอำเภอแม่ทะ พ่อตระหนักในความลำบากของประชาชนถึงความยากลำบากในการเดินทางเมื่อมีเหตุต้องมาติดต่อทางการ พ่อได้ขอย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่ปกครองของอำเภอ คือย้ายมาอยู่ที่บ้านอ้วนราวปี 2500 และใช้สถานที่ทำการใหม่จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับมาเรื่องเจ้าธงที่พยศตรงสามแยกขณะพ่อขี่จะไปตรวจงานท้องที่ มันยกหัวและขาหน้าสูงมาก และพยายามสลัดให้พ่อตกจากอานม้า แต่ไม่เป็นตามที่มันต้องการ พ่อลงแส้อย่างหนักและกระชั้นถี่จนมันยอมสยบพ่อโดยดี ตั้งแต่นั้นก็ไม่เห็นภาพหวาดเสียวเหมือนโคบาลควบม้าพยศอีกเลย
พ่อทำคอกให้เจ้าธงอยู่ใกล้บ้านพัก มีหลังคามุงแฝก และส่วนที่เป็นที่เดินกว้างขวางในคอกของมัน คอกของเจ้าธงมีเถาฟักเขียวที่พ่อลงไว้พันประดับรั้วที่ทำด้วยปีกไม้แข็งแรง ฟักออกลูกโต และงามมากมายเพราะได้ปุ๋ยขี้ม้า แม่จะนำมาทำต้มฟักใส่มะนาวดองที่แม่ทำเอง เป็นเมนูโปรดของครอบครัว
แต่เมื่อหน้าเกณฑ์ทหารเดือนเมษามาถึง แม่จะตุ๋นไก่ใส่มะนาวดอง ฟัก สลักใส่ในต้ม ได้ถูกวางเด่นบนและข้างตัวไก่ตุ๋นทั้งตัวที่จัดลงในชามเปล “นอริตาเกะ “แล้วนำมาให้แขกที่เป็นนายทหารได้กิน พร้อมหมี่กรอบสีแดงสวยคลุกเครื่องที่มีส้มซ่าเป็นส่วนผสมด้วย จำได้ว่าฝีมือแม่อร่อยมาก แม่ทำทีเป็นกะละมังใหญ่ ให้เคี้ยวเล่นกันเพลิน
บ้านหลังใหม่ [ แต่เก่า] ใต้ถุนโล่ง มีนอกชานไม้กระดานผุ ๆ บางแผ่นเพราะใช้งานมานาน และตากแดดฝน บ้านนี้อยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอแม่ทะ [ เดิม] ที่เป็นที่ทำงานของพ่อซึ่งห่างกันเพียงแนวกันของต้นฉำฉาใหญ่ ๆ เรียงราย ร่มครึ่มตามขอบสนามหญ้าหน้าที่ทำการ
บ้านนี้ตั้งอยู่ในร่มเงาของต้นไม้ใหญ่มากมาย ทั้งมะขาม และต้นไทร ต้นสัก และ ไม้อื่น ๆ เช่นมะเดือ ถัดจากที่บ้านไปก็เป็นแนวป่าโปร่ง
เวลาค่ำมืด และฝนตกไม่มีใครกล้าลงบ้าน เพราะจะมีเสือเข้ามาอาศัยใต้ถุนบ้าน ส่งสายตาวาวกระทบแสงไฟฉายส่องทาง เป็นที่หวาดกลัวของเด็กวัย 6 ขวบ และพี่ชายอายุไล่เลี่ยกันอีก 2 คน อายุห่างกัน 2 ปี. มีแต่ “ พี่พายัพ” หลานชายวัยฉกรรจ์ของพ่อที่มาอยู่ด้วยเท่านั้นที่ไม่กลัว คอยตามส่องไฟดูความเคลื่อนไหวของมัน
แต่พอถึงตอนกลางวัน ความกลัวหายไปสิ้น ถูกลบด้วยความกระหายใคร่รู้ และความสนุกในการเดินป่าลัดเลาะไปทางเดินเท้าที่ชาวบ้านใช้เดินลัดไปสถานีรถไฟ
ถนนลูกรังไปสถานีรถไฟแม่ทะ ที่อยู่ห่างตัวอำเภอไปตามทางลาดเนินเขา ระยะ ห่าง 1 กิโลเมตรนี้ เป็นทางปกติที่ใช้สัญจร เป็นถนนลูกรังสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่แล่นผ่านข้างจากสถานีตำรวจภูธร ซึ่งน่าเกรงขามเพราะใต้ถุนสร้างด้วยซุงเป็นต้น ๆ เรียงโดยรอบ ทำเป็นที่ขังคนโทษที่จับมา มีช่องเล็ก ๆ รูปสี่เหลี่ยมเจาะในซุงบางต้น เป็นระยะรอบ ๆ เพื่อระบายลมและเป็นช่องมองของคนโทษ ที่น่ากลัว คือมืดทึบคล้าย “คุกขี้ไก่” ที่ฝรั่งเศสใช้ขังนักโทษเมื่อยึดครองเมืองจันทบุรี
สรุปคือ มี 3 ที่ทำการในบริเวณผืนที่ดินผืนใหญ่นี้ คือ ที่ว่าการ อำเภอ ถัดไปคือ สถานีอนามัย [ มี “หมอหอม” ผดุงครรภ์ และ “หมอเมืองแก้ว”อนามัยอำเภอ ] และสถานีตำรวจ
ทางลัดผ่านป่าเส้นที่ชาวบ้านที่คุ้นชินใช้ประจำ คือสายโปรดปรานของเด็กนักเรียนประชาบาลเดินเดี่ยว เป็นที่ดูนก ดูไม้ ศึกษาธรรมชาติ มีเจองูจงอางในซุ้มกอไผ่ก่อนเข้าเขตรางรถไฟอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นที่ตื่นเต้น และเสียว ๆ จนรีบเดินผ่านไปถึงจุดหมาย คือ ฝั่งตรงกันข้ามกับสถานีรถไฟแม่ทะ มีรถไฟเล็กที่ใช้ขนหินที่ทำการระเบิดจากภูเขาที่อยู่หน้าสถานี เขานี้เป็นแนวเดียวกับ “ดอยม่วงคำ” ที่เราเคยปีนขึ้นเขาไปวัดกับแม่ในตอนเช้าเพื่อนำอาหารไปถวายพระบ่อย ๆ ซึ่งขาลงจากเขา สนุกมาก ต้องยึดเกาะต้นไม้ที่ขึ้นตามทางเดินลงที่ค่อนข้างชันมาตลอดทาง
รถไฟเล็กคือที่เล่นสนุกของเด็ก ได้เข็นกระบะเปล่าไปตามรางเหล็ก อีกอย่างที่สนุกและสุขใจมากคือ ลูกพุทราแห้งที่ตกจากต้นที่ขึ้นเรียงรายหนาแน่นบริเวณข้างรางรถไฟขนหินนี้ เดินเก็บใส่กระบุงสานเล็ก ๆ ที่มีสายห้อยข้างตัวที่แม่ใช้ใส่ผักในแปลงที่พ่อปลูกไว้กิน เป็นอุปกรณ์ประจำกายในการเดินป่าของเด็กที่นุ่งกางเกงขาสั้นผ้าเวสปอยท์ [ของทหารอเมริกันหลังสงคราม ที่ทางการให้เอามาแบ่งแจกให้ราษฎร เราเห็นแม่ในฐานะเมียนายอำเภอหัวไทร ได้ใช้ไม้เมตรวัด ตัดแจก ไม้เมตรยังเก็บไว้ให้ได้เห็น] เป็นงานตัดเย็บของแม่ที่คงทนมาก และมีเอกลักษณ์คือ “ตูดปะเป็นรูปใบโพธิ์” เพราะเหตุที่เป็นอาภรณ์ส่งต่อมาจากพวกพี่ที่โตขึ้นนั่นเอง
บ้านใหม่ในเมืองลำปางคือบ้านกลางทุ่ง ใกล้วัดม่อนจำศีล [ชื่อเต็ม : วัดพระธาตุม่อนจำศีล ] ต.พระบาท
ที่มีพระเชื้อสายพม่าจำวัดอยู่ และวัดม่อนสัณฐาน [ ปู่ยักษ์] ก็เช่นกัน เพราะสร้างโดยศรัทธาของชาวพม่าที่มาอาศัยป่าไม้ไทยทำกิจการทำไม้ ในลำปาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2438เป็นต้นมา สมัยที่รัฐบาลไทยจ้างชาวอังกฤษชื่อ H. Slade มาวางแผนจัดการเรื่องการทำป่าไม้ และสัมปทานการชักลากซุงไปขายซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทต่างๆหลายบริษัทที่เป็นชาวต่างชาติที่มากอบโกยการทำไม้สักคุณภาพดีของไทยไปขายยังต่างประเทศ เพราะพม่าปิดป่า ทำให้ย้ายฐานมาทำในไทย โดยจ้างคนพม่า คนเงี้ยว ที่เคยรับจ้าง
บ้านครูสร้างด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หน้าต่างใช้ไม้กระทุ้งค้ำ เวลาเปิด พื้นไม้กระดาน ล้อมรอบด้วยนาข้าว เขียวไสวลู่ลม ที่พัดระเรื่อยอยู่ประจำ เมื่อเดินตามทางเดินเล็กพอตัวที่ทำขึ้น เพื่อผ่านเข้าบ้านที่ยกสูงจากพื้น ที่ใช้ขั้นบันได 5 ขั้น เป็นบ้าน 3 ห้อง ห้องใหญ่ที่ครูนอน [มีชั้นไม้ไว้วรรณกรรมของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น กุศโลบาย ของดีในอินเดีย และงานเขียนหลากหลายของท่านทั้งด้านประวัติศาสตร์และงานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย ที่ต้องตาเด็กคือชื่อและรูปจากนวนิยายของท่าน ที่จำได้เช่น เจ้าหญิงแสนหวี กุหลาบเมาะลำเลิง ห้วงรักเหวลึก ฟากฟ้าสาละวิน ดอกฟ้าจำปาศักดิ์ พานทองรองเลือดเป็นต้น ]
มีหิ้งที่ไว้พระราชนิพนธ์ของ ร . 6 เล่มหนา ๆ ปกแข็งเดินทองสวยงาม
มากมาย คิดในใจว่าโตขึ้นจะขอครูอ่าน
ห้องนอนเล็ก ที่เป็นที่นอนเด็ก มีห้องโถงหน้าห้องนอนทั้งสอง ที่มีโต๊ะไม้ตัวใหญ่ยาวตั้งอยู่กลางห้อง เพื่อเป็นที่กินอาหาร และนั่งอ่านเรียน ของเด็ก เมื่อครูปลุกทุกเช้าตอนตี 5 เพื่อให้มานั่งอ่านหนังสือที่โต๊ะนี้ แม้ในหน้าหนาวก็ต้องเอาผ้านวมมานั่งคลุมอ่านด้วย บ่อยครั้งที่คอตกหลับค้างอยู่บนผ้านวมที่ห่มกระชับตัว
ตอน 6 โมงเช้าต้องทำความสะอาดที่พัก และเตรียมตัวนั่งสามล้อถีบที่จะมาคอยรับครูและเด็กนั่งคู่กันไปโรงเรียนตอน 7 โมงของทุกวัน
ติดกับเรือนใหญ่ คือครัวหลังคามุงจากเช่นกัน มีชานแคบ ๆ ติดเรือนใหญ่ที่เป็นที่อยู่ของ ขมุ [Khamu] ชาติพันธ์ุที่เป็นลูกจ้างติดเรือนของส่าง [ คหบดีชาวพม่าที่เป็นพ่อของสามีของครู ซึ่งทำป่าไม้ในลำปาง และตั้งบ้านเรือนหลังมหึมาในท้องที่ ต.ป่าขาม] มีชื่อว่า “นายปุย” ทำหน้าที่ดูแลบ้านและทำกับข้าวให้ครูที่มาพักฟื้นร่างกายเพราะป่วย ตลอดเวลา 3 ปีที่อยู่บ้านกลางทุ่ง เด็กอายุ 9 ขวบจากแม่ทะที่เข้ามาเรียนในเมืองลำปาง เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับพระศรีพิชัยบริบาล [สวัสดิ์ ปัทมดิลก] เจ้าเมืองสุรินทร์ลำดับที่ 22 [พ.ศ.2477 - 2480] ที่เป็นเจ้าคุณพ่อของครู เมื่อครั้งพ่อเป็นนายตำรวจอยู่เมืองระยอง จึงฝากฝังเราที่เป็นเด็กน้อยให้มาอยู่เรียน และรับการอบรมที่มีคุณค่ายิ่งจากครูและนำคำสั่งสอนมาใช้ในชีวิตในเวลาต่อมา
นับเป็นโชคดี ของเด็กที่จากพ่อแม่แต่ยังเล็ก แต่ได้รับความรักและความเมตตาจากครูเช่นบุตรของตน อาจเป็นความรักเด็ก เพราะครูไม่มีลูกของตัวเอง ครูจึงอุปการะน้องๆคนละแม่ และส่งเรียนจนจบหลายคน มีพี่เต่อ [ต่อมาเป็นนายทหารเรือ ] พี่จริง[เรียนทหารอากาศ] และน้องสาวคนเล็กคือ พี่แวว ครูส่งเรียนประจำที่โรงเรียนดารา จ.เชียงใหม่จนจบ
บุญคุณของครูและความประทับใจนี้ไม่เคยจางหาย การได้ใช้ชีวิตสงบกลางทุ่ง ท่ามกลางธรรมชาติ เสียงกบเขียด และยอดข้าวในนาพริ้วไหวยามต้องลม เป็นภาพจำที่งดงามในวัยเด็ก และการได้ไป “วัดพระธาตุม่อนจำศีล” ที่อยู่ประมาณ 200 เมตรจากบ้านกลางทุ่ง แค่ข้ามถนนสายแคบๆก็ถึงวัดแล้ว การได้ไปวัดนั้นและบางวันที่ว่างก็ยังเดินไปไกลถึง”วัดม่อนสัณฐาน [ปู่ยักษ์] “ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งผสมพม่า เพราะมีชาวพม่าอยู่มากใน ต.ป่าขาม การได้อยู่ใกล้วัดทั้งได้เที่ยวเล่นบริเวณวัดบ่อย ๆ จึงทำให้ได้ซึมซับความสงบของวัดแค่เดินพ้นทางเดินออกจากบ้านกลางทุ่งนาเท่านั้น
ครู หรือ “”อาจารย์ระวาศ” ที่ศิษย์เก่า ร.ร.ลำปางกัลยาณีที่เคยเรียนวิชาคณิตศาสตร์ พวกเลขคณิต [Arithmetics] พีชคณิต [Algebra]ในช่วงปี 2490-2496 กับครู คงจะจำได้ดีถึงความเข้มงวดในการสอน จึงเป็นที่เกรงกลัวเป็น “ครูดุ”ในความคิดของเด็กนักเรียน
ครูจบจาก “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์”ซึ่ง ร.5 โปรดให้จัดตั้งบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตึกสายสวลีสัณฐานคาร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2435 ต่อมาพัฒนาเป็น “วิทยาลัยครูพระนคร” และเมื่อครบรอบ 100ปีของการจัดตั้ง พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบตมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานนามเป็น” สถาบันราชภัฏ” พร้อมทั้งพระราชทาน พระราชลัญจกร เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎ
พ.ศ. 2496 ครูได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี พิษณุโลกซึ่งเราขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.4 อายุ 12 ปี [ เรียนเร็ว 1 ปีเพราะพาสชั้นอีกครั้ง เรียน ม.2 เทอมเดียว และได้ขึ้นเรียน ม.3 อีก 2 เทอม] ก็ได้ย้ายไปอยู่กับครูและเรียนต่อในชั้น ม.5
ก่อนย้ายไปพิษณุโลก 1 ปี สุขภาพครูแข็งแรงขึ้น เพราะอากาสบริสุทธิ์ของบ้านพักกลางทุ่งนาที่อยู่นานถึง 3-4 ปี ครูผิวขาวสวย ใบหน้าคมคาย ตาโต ริมฝีปากบาง ตรงกลางร่องปากมีไฝเม็ดใหญ่ เป็นที่สะดุดตา ครูสวมรองเท้าส้นตึก [ส้นตัน] สีขาว [ ซึ่งเรามีหน้าที่ทำความสะอาดรองเท้าทุกเย็น ทารองเท้าของครูด้วยกีวีสีขาวในตอนเย็นของทุกวัน] ร่างสูงโปร่งบอบบาง ในชุดเสื้อสีขาวลงแป้งรีดเรียบ ใส่กระโปรงหลายเฉดสี ๆ ที่ครูชอบมากและใส่สวยมากในสายตาเด็กอย่างเราคือ สีอิฐ
ส่วนเราเองพอตัวสูงใหญ่ขึ้นตามวัย ครูไม่ให้นั่งรถสามล้อถีบแล้ว แต่ก็ให้เดินไปโรงเรียนเองกับเพื่อนในละแวกเพราะคุ้นทางแล้ว โดยเดินตัดไปทางสุสานวัดพระบาทที่เป็นที่บำเพ็ญเพียรของหลวงพ่อเกษม เขมโกซึ่งตอนนั้นผู้คนเห็นภิกษุอดีตทายาทเจ้าเมืองลำปางต่างจากความจริงที่ท่านเป็น
ครูย้ายกลับมาอยู่บ้านไม้สักหลังมหึมา ”บ้านป่าขาม” ที่ ต. ป่าขาม ที่เป็นบ้านของส่าง พ่อของสามีอาจารย์เช่นที่เกรินไว้ตอนต้น บ้านมีบันไดสูงหลายสิบขั้น มีชานพักตรงบันไดที่อยู่ใต้ร่มเงาของต้นหว้า ผลไม้โปรดปรานที่เราชอบไปเก็บกินตอนเย็นที่กลับจากโรงเรียน เป็นผลให้ริมฝีปากและลิ้นเป็นสีม่วงดำคลำ้เช่นสีลูกหว้าสุกอยู่นานจนต้องล้างปากหลายๆครั้ง
ตรงใกล้ต้นหว้ามีครกตำข้าวลูกใหญ่ ทำด้วยไม้ขุดหนามากใช้เท้าเหยียบกระเดื่องที่ทำด้วยไม้แผ่นใหญ่เวลาตำ เราชอบออกแรงตำเล่น แต่แม่ครัวที่เอาข้าวเปลือกในยุ้งใกล้ครกมาตำประจำ จะอาศัยแรงการเล่นของเด็กในบางครั้ง แกคิดว่าเราเป็นลูกเพราะลูกสาวแกก็อยู่ในวัยเดียวกับเรา และเราต้องนอนกับลูกสาวแกในเรือนเล็ก มีห้องนอนแกหนึ่งห้อง เราและลูกสาวแกนอนด้วยกันอีกห้อง ติดกับห้องครัว หลังครัวเป็นระเบียงกว้างขวาง ไว้หวดนึ่งข้าวและกั๊วะ [ถาดไม้กลมหนักที่ขุดจากไม้สักทั้งต้นที่ใช้เทข้าวที่นึ่งสุกแล้ว เอาพายไม้คนให้ไอน้ำระเหยไปบ้างเพื่อเวลาตักใส่ในกระติบข้าวจะได้ไม่แฉะ]
ส่วนนายปุยขมุที่ติดตามรับใช้ครูที่บ้านกลางทุ่งนาอยู่อีกหนึ่งห้องด้านติดกระได ทำหน้าที่ยามไปในตัว เมื่อมีใครขึ้นลงบันได มานั่งเล่นที่ม้านั่งไม้รอบชานบันได หรือมาตักน้ำกินจากหม้อดินเผาที่เรียงรายบนร้านไว้หม้อน้ำที่มีหลังคาคลุม. มีกระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวตามแบบบ้านล้านนาทั่วไป วางไว้ให้ตักนำ้เย็นดื่ม
เรือนครัวจะมีระเบียงเดินติดกับเรือนใหญ่ที่มีห้องยาวสุดลูกตา ห้องที่ครูอยู่มีระเบียงคั้นกับห้องที่เรานอน คือครูอยู่ห้องท้ายสุดของเรือนใหญ่ ระเบียงทางเดินหน้าห้องจะมืด ๆ เพราะหลังคาคลุมต่ำและไม่มีไฟฟ้า เราไม่กล้าเดินไปสำรวจว่ามีกี่ห้องเรียงรายกัน รู้แต่ว่าพี่สาวคนโตสุดของสามีอาจารย์อยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งท่านไม่เคยเดินออกมาหน้าห้องหรือบนเรือนใหญ่ให้เราเห็น น้องคนเล็กของสามีครูที่ขณะนั้นเรียนวิทยาลัยครูอยู่ที่พิษณุโลกคือผู้ที่เราได้พบและคุยด้วยตอนที่เธอปิดเทอมและกลับมาเยี่ยมบ้าน ส่วนมากจะคุยกันก่อนเธอกลับไปเรียนตรงที่นั่งพักตรงบันไดนั่นเอง เธอคือ อาจารย์สายสมร เจริญจันทร์แดง ผอ.โรงเรียนเขลางค์นครในเวลาต่อมาคือปี 2525
ส่วนพี่สาวคนโตจำได้ว่าเห็นเพียงครั้งสองครั้งในระยะครึ่งปีที่อยู่ที่นั่น หรือเป็นเพราะกิจกรรมของเรามากหลังเลิกเรียน จะลงไปเดินเล่นหรือตัดดอกกุหลาบและกลอดิออรัสสีต่างๆ รวมทั้งเยอบีร่าดอกโตหลากสี ที่สามีของครูที่เป็นหัวหน้า อ.อ.ป. (องค์การอุตสาหกรรมทำป้าไม้) ซึ่งจบจากวิทยาลัยแม่โจ้ [ชื่อเดิมก่อนเป็นมหาวิทยาลัย]ปลูกไว้ เมื่อมีคนมาขอซื้อ นอกเหนือจากการเดินเล่นบริเวณหลังบ้านที่มีช้างผูกไว้ที่เสาบ้าน บ้างครั้งมีผูกไว้หลายเชือก เมื่อคนงานกลับออกมาจากป่าที่ทำไม้ บริเวณบ้านที่กว้างขวาง มีเรื่องให้ดู และหาเรื่องสนุก ๆ ทำมากมายในเวลาช่วงเย็นก่อนค่ำหลังกลับจากเรียน
ที่ต้องทำเป็นประจำคือแช่ถุงเท้าและขยี้เอาหมึกดำแดงที่หกเลอะใส่ถุงเท้าสีขาวเป็นประจำ [ตอนเรียนยังใช้ปากกาคอแร้งจุ่มหมึกเขียนหนังสือ และต้องหอบหมึกสีแดงและน้ำเงินที่ใช้กลับด้วย] เป็นที่ระอาของครูที่ต้องเตือนให้รักษาความสะอาดเป็นประจำ
แล้วในที่สุดก็ถึงตอนจบ ”เรื่องที่เกริ่นเป็นหัวข้อไว้ คือ ของรัก
เข็มกลัดถมเงินเป็นรูปหนุมานหาวเป็นดาวเดือน เป็นฝีมือเก่าที่ครูให้ชิ้นแรก ซึ่งเราจะกลัดไว้ที่ปมของ” คอซอง” คือโบว์สีผ้าสีน้ำเงินที่นักเรียนหญิงชั้นมัธยมจะต้องใช้ผูกไปเรียนเป็นประจำ เมื่อถึงบ้านจะถอดกระดุมที่ยึดคอซองออกและวางไว้ในตู้เสื้อผ้า ในห้องที่ใช้ร่วมกันกับลูกสาวแม่ครัว
วันหนึ่ง ของรักชิ้นนั้นได้หายไปโดยไร้ร่องรอย เหลือแต่โบว์สีน้ำเงิน [คอซองที่ถอดกระดุมออกได้] ถามใครก็ไม่มีใครรู้เห็น
ได้แต่เสียใจ จนทุกวันนี้ เพราะเป็นตัวแทนความรักของครู
แต่ ในใจเราความรัก เคารพ ที่มีต่อครูไม่ได้หายไปแม้แต่น้อย
แม้จะเนินนานมากว่า 70ปี
ถมเงินอันวิจิตร ของรักศิษย์รับจากครู
รูปหนุมานงามหรู หาวอวดอยู่เป็นดาวเดือน
เบญจกายได้รู้ชัด ในความสัตย์วานรเอื้อน
ทหารเอกทรงพลเยือน จองถนนเคลื่อนข้ามนที
เพื่อองค์พระรามลักษณ์ เคลื่อนพลพรรคบุกบุรี
ทศพักตร์ลักเทวี สีดานารีมาลงกา
อนิจจามาจากเจ้า ได้แต่เฝ้าเจ้าคืนมา
ดาวเดือนเคลื่อนนานช้า เจ้าลับลาห่วงอาลัย
โฆษณา