19 มี.ค. 2021 เวลา 09:30 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
[ตอนที่ 15] ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม สัมผัสบรรยากาศแดนโสมแดงที่สาขาเวียงจันทน์ และตัวอย่างเพลงสไตล์ (North)K-Pop ในร้าน
เนื้อหาตอนนี้จะเป็นตอนแรกของซีรีส์ "สัมผัสบรรยากาศนานาชาติผ่านร้านอาหาร" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับร้านอาหารของประเทศเกาหลีเหนือ หนึ่งในประเทศที่ปิดตัวโดดเดี่ยวที่สุดในโลก ให้คนอ่านได้เห็นภาพว่าในร้านอาหารมีประเด็นหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวกับเกาหลีเหนืออย่างไรบ้างครับ
แม้ว่าเราอาจเคยได้ข่าวว่าในเกาหลีเหนือมีวิกฤตขาดแคลนอาหารหรือทุพภิกขภัย แต่รัฐบาลแดนโสมแดงกลับใช้ “ร้านอาหาร” เป็นช่องทางแสดงวัฒนธรรมและหาเงินเข้าประเทศ ซึ่งค่อนข้างดูขัดแย้งกันแบบสัญลักษณ์หยิน-หยางบนธงชาติเกาหลีใต้ ส่วน “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” และร้านสาขาเวียงจันทน์จะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
หัวเวบไซต์ "อาหารและวัฒนธรรมพื้นเมืองเกาหลีเหนือในกรุงอัมสเอร์ดัม" หน้าเวบไซต์ภาษาดัตช์ของร้านอาหารเกาหลีเหนือ “แฮดังฮวา” ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ช่วงปี ค.ศ.2013-2014  [ที่มาของภาพ : https://web.archive.org/web/20141217044151/http://haedanghwa.nl/ ]
เครือข่ายร้านอาหารเกาหลีเหนือในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีสองชื่อคือ “ร้านอาหารพย็องยัง” (평양관 “พย็องยังกวัน”) และ “ร้านอาหารอกรยู” (옥류관 “อกรยูกวัน”) มีจำนวนสาขารวมกันประมาณ 130 สาขาในประเทศต่าง ๆ บริหารโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือเพื่อเป็นช่องทางทำเงินเข้าประเทศ เลยเรียกเป็น “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” ก็ว่าได้ ทางหนังสือพิมพ์โชซ็อนอิลโบในเกาหลีใต้ประมาณไว้ในปี ค.ศ.2011 ว่า “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” เหล่านี้ส่งเงินกลับประเทศประมาณ 100,000 – 300,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 – 9 ล้านบาท) ต่อปี
1
ร้านอาหารเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ (ประมาณ 100 สาขา) จะอยู่ในประเทศจีน โดยเฉพาะตามเมืองใกล้ชายแดนเกาหลีเหนือ และเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 ทางเกาหลีเหนือเพิ่มสาขาร้านอาหารในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย (โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และยุโรป ได้แก่...
- กัมพูชา (เสียมเรียบ และพนมเปญ) ซึ่งร้านอาหารเกาหลีเหนือสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดที่เมืองเสียมเรียบ เมื่อปี ค.ศ.2002
- อินโดนีเซีย (จาการ์ตา)
- ลาว (เวียงจันทน์)
- มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์)
- สิงคโปร์
- ไทย (กรุงเทพฯ และพัทยา)
- เวียดนาม (ฮานอย ดานังและโฮจิมินห์ซิตี)
- มองโกเลีย (อูลานบาตาร์)
- บังกลาเทศ (ธากา)
- เนปาล (กาฐมาณฑุ)
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ)
- รัสเซีย (วลาดิวอสตอก และมอสโก)
- เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม)
ภาพภัตตาคารอกรยู (Okryu restaurant) ในปี ค.ศ.2007 ภัตตาคารแห่งนี้เป็นหนึ่งในสองภัตตาคารใหญ่ในกรุงพย็องยัง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1960 และมีชื่อเสียงในเรื่องเมนูบะหมี่เย็นพย็องยัง ชื่อภัตตาคารแห่งนี้นำไปใช้เป็นชื่อร้านอาหารเกาหลีเหนือส่วนหนึ่งที่เป็นสาขาในประเทศต่าง ๆ [Credit ภาพ : User “Kounosu” @ Wikipedia]
ร้านอาหารเกาหลีเหนือมีจุดขายที่ “บรรยากาศความเป็นเกาหลีเหนือ” เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ที่ทำงานต่างประเทศ แต่ในช่วงหลังมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มอื่นเพิ่ม ได้แก่ ชาวเกาหลีใต้ ชาวญี่ปุ่น และชาวตะวันตกที่อาศัยหรือท่องเที่ยวตามประเทศที่มีสาขาร้าน คนท้องถิ่นในประเทศที่มีสาขาร้านซึ่งสนใจบรรยากาศแบบเกาหลีเหนือ
1
แต่สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีก็ส่งผลต่อกิจการ “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” อย่างการปะทะตามชายแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ขอให้ประชาชนไม่สนับสนุนร้านอาหารเกาหลีเหนือ แต่มีบริษัททัวร์ของเกาหลีใต้ นักท่องเที่ยวกับคนเกาหลีใต้ในต่างประเทศเพียงส่วนหนึ่งคว่ำบาตรร้านอาหารเกาหลีเหนือ หรือเมื่อเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์
จุดร่วมของ “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” หลายสาขา ได้แก่
- มีเมนูอาหารท้องถิ่นในเกาหลีเหนือบางเมนู
- หากมากินอาหารที่นี่ตอนเย็น ช่วงแรกพนักงานผู้หญิงจะทำหน้าที่ต้อนรับแขก รับออเดอร์สั่งอาหาร เสิร์ฟอาหาร แต่เมื่อถึงช่วง 19:30 – 20:00 (แล้วแต่สาขา) พนักงานผู้หญิงที่ทำหน้าที่เหล่านี้จะเปลี่ยนหน้าที่ไปเริ่มการแสดงนานหลายสิบนาที มีทั้งร้องเพลงและเล่นดนตรีเกาหลีเหนือ ดนตรีสากล รวมถึงการแสดงพื้นเมืองเกาหลี เมื่อการแสดงจบ พนักงานจะกลับมาทำหน้าที่เดิม
- ส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพพนักงานและภายในร้าน ให้ถ่ายภาพได้เฉพาะเมนูกับอาหารเท่านั้น
- ความเป็นช่องทางทำเงินเข้าประเทศของร้านอาหารเหล่านี้ จึงมีการขายสินค้า “Made in North Korea” อย่างโซจูแช่โสม ตุ๊กตา งานศิลปะหรือหนังสือ ตามเคาน์เตอร์เก็บเงินในร้าน รวมถึงการขายโปรแกรมท่องเที่ยวเกาหลีเหนือในบางร้านอาหารสาขา
หน้าเวบไซต์ภาษาดัตช์ของร้านอาหารเกาหลีเหนือ “แฮดังฮวา” ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ในช่วงปี ค.ศ.2013-2014 แสดงให้เห็นภายในร้าน และบริการโดยพนักงาน อย่างการแสดงและการเสิร์ฟอาหาร [ที่มาของภาพ : https://web.archive.org/web/20150208180912/http://haedanghwa.nl/restaurant.html ]
สำหรับร้านอาหารเกาหลีเหนือสาขาแรกที่ผมไปนั้น คือ “ร้านอาหารพย็องยัง” สาขาเวียงจันทน์ จะอยู่บริเวณใกล้พระธาตุหลวง สามารถหาตำแหน่งใน Google map ด้วยภาษาลาวว่า “ຮ້ານອາຫານ ເກົາຫຼີ ພຽງຢາງ” หรือภาษาอังกฤษ "Pyongyang Restaurant Vientiane" ซึ่งผมแวะไปตอนช่วงท้ายทริปแบคแพคคนเดียวในลาว เมื่อปลายปี ค.ศ.2014 และร้านอาหารเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ ปิดตัวไปแล้วในช่วงนั้น
แผนที่นครหลวงเวียงจันทน์ของ Google Map แสดงตำแหน่งร้านอาหารพย็องยังสาขาเวียงจันทน์ บนถนนหนองบอน เส้นที่เชื่อมบริเวณวัดสีสะเกด-หอพระแก้วในเมืองเก่าเวียงจันทน์ กับพระธาตุหลวง
ตอนที่ผมมาร้านนี้ ได้ที่นั่งค่อนข้างห่างพื้นที่การแสดง และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่อยู่ใกล้กว่า พนักงานผู้หญิงของร้านที่มาต้อนรับและบริการน่ารักมากทีเดียว จนรู้สึกว่าทางเกาหลีเหนือต้องคัดเลือกในระดับหนึ่งแน่ ๆ และเท่าที่คุยด้วยตอนสั่งอาหาร ดูเหมือนพนักงานผู้หญิงจะพอพูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาลาวไม่ค่อยได้ เลยสั่งอาหารด้วยภาษาเกาหลีแบบงู ๆ ปลา ๆ และในเมนูอาหารของร้านนี้มีสามภาษา (เกาหลี อังกฤษ ลาว)
เนื่องจากผมในสภาพนักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว อาหารที่สั่งจึงเน้นไปที่แนวอาหารจานเดียวและเน้นอิ่ม จึงเลือกอาหาร 2 อย่าง
- 해물파전 (“แฮมุลพาจ็อน” พาจ็อนทะเล) ราคา 50,000 LAK (200 THB)
เมนูนี้เป็นแพนเค้กหรือพิซซ่าแบบเกาหลี (เรียกว่า 전 “ช็อน”) ที่ใส่ต้นหอม (파 “พา”) และอาหารทะเล (해물 “แฮมุล”) ชุบแป้งและไข่ก่อนนำไปทอด เมนูนี้ของทางร้านเป็นแผ่นใหญ่สามารถแบ่งกินกัน 3 คนพอดี
1
- 개성비빔밥 (“แคซ็องบิบิมปับ” พีบิมบับเมืองแคซ็อง) ราคา 50,000 LAK (200 THB)
ชื่อเมนู “พีบิมบับ” มาจากคำภาษาเกาหลี 2 คำคือ 비빔 “พีบิม” (ผสม) และ 밥 “พับ” (ข้าว) คนไทยรู้จักกันอีกชื่อว่า “ข้าวยำเกาหลี” โดยมีข้าวสวยในชามหินอุ่นร้อน โรยหน้าด้วยผัก เนื้อสัตว์หั่น น้ำพริกเกาหลี (고추장 “โคชูจัง”) และไข่ จากนั้นคลุกสิ่งที่อยู่ในชามหินให้เข้ากันก่อนกิน สำหรับเมนูนี้ของทางร้าน ส่วนตัวคิดว่าชื่อเมืองแคซ็อง (개성) ที่เป็นคำที่แปะไว้กับชื่อเมนูเฉย ๆ ซึ่งเมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองหลวงเก่าของเกาหลี ปัจจุบันอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ
1
พอผมหยิบกล้องถ่ายภาพว่าจะถ่ายเมนู พนักงานหญิงเข้ามาบอกว่าไม่อนุญาตไม่ถ่ายภาพ แต่พอช่วงการแสดงและร้องเพลงของทางร้านช่วงหัวค่ำเริ่มตอน 19.30 น. ผมเห็นกลุ่มลูกค้าชาวเกาหลีใต้โทรศัพท์ยกมือถือมาถ่ายรูปได้ ผมเลยทำได้แต่จดข้อมูลพวกเพลงเกาหลีเหนือเท่าที่ได้ครับ (อย่างที่บอกไปว่าตอนนั้นผมเดินทางคนเดียว เลยต้องทำตัวให้ “ปลอดภัยไว้ก่อน”)
หากต้องการดูภาพภายในร้านอาหารเกาหลีเหนือที่เวียงจันทร์ที่มีคนถ่ายมาได้ สามารถดูได้ที่ https://www.nkeconwatch.com/2012/01/19/pyongyang-restaurant-in-vientiane
เมื่อเริ่มการแสดงและร้องเพลง ตอนนั้นผมไม่ได้จดไว้ว่าการแสดงเป็นแบบไหนบ้าง แต่พบว่าเพลงที่ทางร้านเปิดเป็นเพลงแนวปลุกใจรักชาติ เพลงป๊อบเกาหลีเหนือช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 – 1990 หรือเพลงตามมหกรรมกีฬาเกาหลีเหนือ ตัวอย่างของเพลงเหล่านี้ ได้แก่
เพลง "พันกับซึมนีดา" (반갑습니다 ยินดีที่ได้พบคุณ)
เพลง "ฮวีพารัม" (휘파람 เสียงผิวปาก)
เพลง “แนนารา เจอิลโรโจฮา” (내 나라 제일로 좋아 ประเทศของฉันนั้นดีที่สุด) เป็นเพลงแนวปลุกใจรักชาติของเกาหลีเหนือ แต่ขึ้นในปี ค.ศ.1991 ส่วนตัวผมคิดว่า MV แบบเดิมของเพลงนี้ก็คงมาจากช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เช่นกัน
เพลง “แนนารา เจอิลโรโจฮา” ถือว่าค่อนข้างเป็นเพลงที่มีความเป็นเกาหลีเหนือสูงมาก และเป็นเพลงเด่นในบรรดาเพลงปลุกใจรักชาติของแดนโสมแดง เพราะในปัจจุบันนี้ก็มีการแสดงเพลงนี้ในเกาหลีเหนือ รวมทั้ง MV ใหม่ที่ทางเกาหลีเหนือทำ
การบรรเลงเพลง “แนนารา เจอิลโรโจฮา” บนคอนเสิร์ตโดยวงโมรันบง วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีเหนือ เมื่อปี ค.ศ.2015
Official MV ใหม่ของเพลง “แนนารา เจอิลโรโจฮา” ของทางเกาหลีเหนือในปี ค.ศ.2019 เท่าที่ผมสังเกตสารที่เกาหลีเหนือต้องการสื่อจาก MV นี้ มีตั้งแต่ธรรมชาติที่สวยงามในประเทศ การพัฒนาของเกาหลีเหนือยุคใหม่ในหลายด้านประกอบด้วยเยาวชน การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม กีฬา ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม เหมืองแร่ การคมนาคม การผลิตไฟฟ้า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ความเจริญของกรุงพย็องยัง แฟชั่น ความอุดมสมบูรณ์ อาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพ...หากคนอ่านเห็นแง่มุมอื่นอีกก็บอกได้นะครับ
เมื่อกินเสร็จและออกมาข้างนอกแล้ว ถึงนึกได้ว่าผมลืมดูพวกของที่ระลึกจากเกาหลีเหนือที่วางในตู้แสดงในร้าน แต่วันนั้นเป็นช่วงวันท้าย ๆ ของทริปแบคแพคในลาว เลยคิดว่าต่อให้ได้ดูของก็คงไม่น่าได้ซื้ออะไรมา และผมถ่ายภาพร้านอาหารเกาหลีเหนือสาขาเวียงจันทน์ได้จากนอกร้านเท่านั้น
ร้านอาหารพย็องยัง (평양식당 "พย็องยังชิกตัง") สาขาเวียงจันทน์ที่ผมถ่ายภาพจากด้านนอก เห็นได้ว่าภายในตัวร้านติดม่านไว้ทำให้มองข้างในร้านจากภายนอกได้ไม่ชัดเจน ส่วนรูปทะเลสาบด้านบนป้ายชื่อร้าน เป็นทะเลสาบบนยอดภูเขาแพ็กตู (백두산 "แพ็กตูซัน") ซึ่งอยู่ตรงชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในคาบสมุทรเกาหลี และเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อดั้งเดิม มีบทบาทในตำนานและวัฒนธรรมเกาหลี ปรากฏเป็นชื่อที่กล่าวถึงในเพลงชาติของเกาหลีทั้งสองฝั่ง และฉากหลังในตราแผ่นดินเกาหลีเหนือ
ป้ายบริเวณหน้าร้านอาหารพย็องยังสาขาเวียงจันทน์ เท่าที่ผมอ่านเห็นว่าเปิดทุกวัน เวลา 7.00 - 22.30 น. แต่เนื่องจากผมถ่ายภาพนี้เมื่อปลายปี ค.ศ.2014 เวลาเปิดร้านจึงอาจเปลี่ยนไปจากนี้แล้ว
ในภาพรวมจาก “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” สาขาเวียงจันทน์ที่ผมไป ส่วนตัวประทับใจเรื่องรสชาติอาหาร บรรยากาศ และความน่ารักของพนักงานร้าน แต่แนวโน้มที่พนักงานร้านจะให้บริการดูแลลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มใหญ่มากกว่า (เช่น จัดที่นั่งใกล้พื้นที่การแสดง) และน่าจะได้ลองเมนูอื่น ๆ มากขึ้นหากมาเป็นกลุ่มใหญ่ เลยตั้งใจว่าหากมีเพื่อนชวนไปกินที่ร้านอาหารเกาหลีเหนือเป็นกลุ่มจะไปร้านอาหารเกาหลีเหนืออีกครั้ง
กว่าผมจะมีโอกาสนั้นก็อีก 4 ปีถัดมาหลังจากที่ผมไป “ร้านอาหารของท่านผู้นำคิม” สาขาเวียงจันทน์ ซึ่งจะเขียนถึงในตอนถัดไป หวังว่าเนื้อหาตอนนี้จะทำให้คนอ่านเห็นภาพรวมของร้านอาหารเกาหลีเหนือ ร้านสาขาเวียงจันทน์ รวมถึงตัวอย่างเพลงสไตล์ (North)K-Pop ที่เปิดในร้านครับ
โฆษณา