17 มี.ค. 2021 เวลา 07:44 • ประวัติศาสตร์
คดีโจรกรรมงานศิลปะสะเทือนโลก ใครจะเชื่อว่าคนขโมยคือนักฟุตบอลอาชีพ นี่คือเรื่องจริง ของภาพที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นกันดี "The Scream"
5
ในปี 1994 หนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก "The Scream" ถูกขโมยไปจากหอศิลป์แห่งชาติในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
7
The Scream มีความโด่งดังใกล้เคียงกับภาพโมนาลิซ่าของลีโอนาร์โด้ ดาวินชี่ หรือ รูปดอกทานตะวัน ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ มันคือจิตรกรรมที่แม้แต่คนที่ไม่สนใจศิลปะเลย ก็ยังต้องเคยเห็น
1
แน่นอน การที่จิตรกรรมอันยิ่งใหญ่โดนขโมยแบบนี้ ในตอนแรกใครๆก็คิดว่า คนขโมย ต้องเป็นองค์กรอาชญากรรมระดับโลก แต่ ณ เวลานั้น ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า คนขโมย เป็นนักฟุตบอลที่เล่นอยู่ในลีกสูงสุดของนอร์เวย์
2
เอ็ดเวิร์ด มุงค์ เป็นศิลปินชาวนอร์เวย์ ที่มีชีวิตระทมทุกข์ตั้งแต่เด็ก คุณแม่ของเขาเสียชีวิต ตอนมุงค์อายุ 5 ขวบ ตามด้วยพี่สาวก็เสียชีวิตตามไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เขาต้องทนใช้ชีวิตกับคุณพ่อ ที่มีอาการป่วยทางจิต
4
ความกดดันของมุงค์ ทำให้เขาถ่ายทอดมันออกมาในงานศิลปะของตัวเอง โดยในปี 1893 เขาวาดภาพซีรีส์ ชื่อ The Scream (คนกรีดร้อง)
2
นี่เป็นรูปผู้ชายที่กำลังกรีดร้องอยู่บนทางเดิน โดยมุงค์วาดออกมา 4 เวอร์ชั่น คือเป็นรูปเดียวกัน แต่ใช้สีที่แตกต่างกัน
1
ความเป็นเอกลักษณ์ของ The Scream คือคุณเห็นแค่ครั้งเดียวก็จำมันได้ทันที ในปัจจุบันรูปนี้ถูกเอามาล้อเลียน และทำซ้ำตลอดเวลา แม้แต่ในอีโมจิเราก็เห็นอยู่บ่อยๆ ดังนั้น งานต้นฉบับคือจิตรกรรมที่ทรงคุณค่าที่สุด และไม่สามารถประเมินราคาได้
4
หลังจากมุงค์เสียชีวิต รูป The Scream ทั้ง 4 ถูกแยกย้ายกันไปคนละที่ รูปออริจินอล ถูกจัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery) ในกรุงออสโล รูปที่ 2 และ 3 ถูกแสดงที่พิพิธภัณฑ์มุงค์ และ รูปที่ 4 ถูกซื้อไปโดยนักสะสมอิสระ
1
ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวนับล้านมาชื่นชมงานศิลปะชิ้นนี้ นอร์เวย์ทำรายได้มหาศาลจาก The Scream มีการผลิตของที่ระลึกออกมามากมายที่ใช้ใบหน้าของผู้ชายที่กรีดร้องในรูป ทั้งเสื้อยืด แก้วน้ำ โมเดลฟิกเกอร์ ฯลฯ สารพัดสิ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยไป ถ้าจะบอกว่า The Scream เป็นเหมือนสมบัติของประเทศนอร์เวย์นั่นเอง
The Scream ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นปกติ เป็นเวลาหลายปี ไม่มีปัญหาอะไร จนมาถึงวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี 1994 ในวันพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองลิลล์แฮมเมอร์
5
โอลิมปิกปี 1994 นอร์เวย์เป็นเจ้าภาพ โดยจัดการแข่งกีฬาที่เมืองลิลล์แฮมเมอร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงออสโล ประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งด้วยความที่พิธีเปิดโอลิมปิกจะมีผู้นำทั่วโลกมาร่วมงานด้วย ทำให้รัฐบาลต้องเกณฑ์กำลังตำรวจจากออสโล ไปดูแลความปลอดภัยที่ลิลล์แฮมเมอร์ด้วย
1
ในวันเดียวกันนั้นเอง ขณะที่คนนอร์เวย์ คิดถึงพิธีเปิดโอลิมปิก มีชายสองคนที่รู้ว่าการรักษาความปลอดภัยที่หอศิลป์แห่งชาติมีกำลังเบาบางลงไป พวกเขาจึงแอบลักลอบเข้าไปที่หอศิลป์ ก่อนที่จะขโมย The Scream ออกมาอย่างเยือกเย็น โดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องเลย
2
ความเจ็บแสบยิ่งกว่าโดนขโมย คือโจรรายนี้ ทิ้งโน้ตเอาไว้ด้วยโดยเขียนว่า "ขอบคุณพันครั้ง สำหรับการป้องกันอันหละหลวม" มันคือการเย้ยหยันความสามารถของตำรวจชัดๆ
4
ในปี 1994 ยังไม่มีกล้องวงจรปิดในทุกๆจุด เหมือนยุคนี้ มีกล้องแค่มุมเดียวเท่านั้น ที่จับภาพได้ว่าเกิดอะไรขึ้น คือกล้องด้านนอกหอศิลป์ โดยภาพที่เห็นคือชายสองคน จอดรถที่นอกอาคาร จากนั้นเอาบันไดพาดไปที่ผนัง ก่อนจะทำลายกระจกในจุดที่ The Scream ตั้งอยู่ ก่อนจะทำการขโมยอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาทั้งหมดแค่ 50 วินาทีเท่านั้น
2
นี่คือการโจรกรรมที่เตรียมการมาเป็นอย่างดี คนขโมยรู้ทุกอย่างว่าอะไรอยู่ตรงไหน และแน่นอน การเลือกมาขโมยในวันเปิดโอลิมปิก ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ตั้งใจไว้หมดแล้ว
1
การที่ The Scream ถูกขโมย ทำให้ประชาชนนอร์เวย์ลุกฮือ และแสดงความโมโหใส่รัฐบาลที่ปกป้องงานศิลปะแห่งชาติเอาไว้ไม่ได้
3
ตำรวจพยายามสืบสวนอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาคือนอร์เวย์เป็นประเทศที่ไม่เคยมีขโมยงานศิลปะใหญ่ๆ ในลักษณะนี้ ทำให้ตำรวจจึงขาดทักษะในการแกะรอยคนร้าย นั่นทำให้เวลาผ่านไป 1 เดือน ก็ยังจับมือใครดมไม่ได้
1
สุดท้ายด้วยความกดดันจากประชาชน นอร์เวย์ต้องติดต่อไปที่รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ขอหน่วยสืบสวนพิเศษจากสกอตแลนด์ ยาร์ด เข้ามาช่วยสืบหาความจริง
1
อังกฤษส่งนักสืบชาร์ลส์ ฮิลล์ ที่เปรียบเสมือนเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในโลกศิลปะเข้ามาช่วยนอร์เวย์ในการคลี่คลายคดี
6
ชาร์ลส์ ฮิลล์ มีผลงานที่จับต้องได้ ในปี 1993 รูปวาดของเวอร์เมียร์ ที่โด่งดังชื่อ Lady Writing a Letter With Her Maid ที่โดนขโมยไปนานถึง 7 ปี สุดท้ายก็ถูกฮิลล์หาเจอและนำรูปวาดกลับมาสู่เจ้าของในสภาพปกติทุกอย่าง ดังนั้นถ้าจะมีใครที่จะสืบจนรู้ว่า The Scream หายไปไหนล่ะก็ ฮิลล์คือคนคนนั้น
1
เมื่อมาถึงนอร์เวย์ คำถามของฮิลล์ตั้งแต่แรกสุดก็คือ ทำไมคนร้ายถึงกล้าขโมย The Scream กล่าวคือ นี่เป็นงานศิลปะที่โด่งดังระดับโลกก็จริง แต่คุณขโมยไป ก็ไม่สามารถขายใครได้อยู่ดี เพราะทุกคนรู้ว่านี่คือสมบัติแห่งชาติของนอร์เวย์
6
ดังนั้นจากที่ตำรวจนอร์เวย์เคยตั้งสมมติฐานว่า คนขโมยอาจเป็นมหาเศรษฐี มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะเศรษฐีเมื่อได้งานศิลป์มา ก็ย่อมอยากอวดให้คนได้รู้ว่าตัวเองครอบครองอยู่ แต่กรณีนี้คุณจะไปอวดวัตถุที่ขโมยมาได้อย่างไรล่ะ นั่นทำให้ชาร์ลส์ ฮิลล์ อาจต้องลองมองหาแรงจูงใจอย่างอื่นแทน
พอล เอนเกอร์ กลายเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาในนอร์เวย์อย่างรวดเร็ว เพราะเขาเป็นผู้เล่นตัวหลักของสโมสรวาเลเรนก้า ในลีกสูงสุดของประเทศนอร์เวย์
2
ด้วยวัย 18 เอนเกอร์ กระโดดไปเล่นทีมชุดใหญ่ได้อย่างสวยงาม นอกจากในบอลลีกแล้ว ในซีซั่น 1986-87 เขายังได้ลงสนามในเกมยูฟ่าคัพอีกด้วย ในภาพรวมถือเป็นผู้เล่นที่มีอนาคตไกลคนหนึ่งเลยทีเดียว
1
ในยุคนั้นฟุตบอลอาชีพจะได้รับค่าจ้างน้อย นักเตะหลายคนเป็นผู้เล่นอาชีพอย่างเดียวไม่พอกิน ต้องทำงานอื่นไปด้วย อย่างเพื่อนร่วมทีมของเอนเกอร์ ชื่อ คนุต อาริลด์ โลเบิร์ก มีอีกหนึ่งจ๊อบเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นต้น
1
สำหรับเอนเกอร์ งานเสริมของเขาไม่เหมือนใคร เพราะมันคือการโจรกรรม
1
ในตอนแรกเขาเริ่มต้นขโมยเพื่อหาเงิน แต่เมื่อเจ้าตัวเลเวลอัพขึ้นเรื่อยๆ การขโมยของเขา ก้าวข้ามเรื่องเงินไปแล้ว แต่เป็นความท้าทายอีกอย่างในชีวิต เป็นความสนุกที่ได้ขโมยของล้ำค่าจากคนอื่น
5
วิดาร์ ดาวินเซ่น อดีตนักเตะทีมชาตินอร์เวย์ ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมวาเลเรนก้ากล่าวว่า "เขาชอบโชว์ทักษะการขโมยให้เราดู หลายๆครั้ง ที่นักเตะในทีมเราเผลอล็อกรถ โดยลืมกุญแจไว้ในรถ ซึ่งมันก็ไม่เป็นปัญหาเลย เราแค่ตะโกนเรียกพอล แล้วถามเขาว่า 'นายเปิดประตูรถให้ฉันหน่อยได้ไหม?' จากนั้นแค่ไม่กี่วินาทีเขาก็จะเปิดรถได้สบายๆ"
5
แม้จะมีสกิลในการขโมย แต่เพื่อนๆในทีมก็คิดว่า แค่เป็นทักษะเอาฮาเท่านั้น เอนเกอร์คงไม่ได้ขโมยอะไรใครในชีวิตจริง นั่นทำให้ทุกคนก็ไม่ได้ติดใจสงสัยอะไร ก็ลงซ้อมฟุตบอลด้วยกันตามปกติ
1
ในปี 1988 ตอนที่เอนเกอร์อายุ 20 ปี เขาขโมยของมีค่ามามากมายแล้ว ทั้งเพชร ทั้งรถยนต์ ทั้งเงินสด นั่นทำให้เขาเดินหน้าหาความท้าทายใหม่ นั่นคือขโมยงานศิลปะ โดยชิ้นที่เขาอยากได้มีชื่อว่า Love and Pain ของเอ็ดเวิร์ด มุงค์ โดยคนทั่วไปรู้จักภาพวาดนี้ในชื่อว่า "The Vampire"
1
เอนเกอร์วางแผน และขโมยภาพ Love and Pain จากพิพิธภัณฑ์มุงค์ได้สำเร็จ การขโมยของเขาแนบเนียนเสียจนตำรวจไม่สามารถจับมือใครดมได้
3
เวลาผ่านไปหลายเดือน เอนเกอร์ใช้ชีวิตปกติ เขาก็ไปซ้อมฟุตบอลกับทีมวาเลเรนก้าเหมือนเดิม ณ ตอนนั้น พนักงานสืบสวนไม่ได้มองเขาอยู่ในเรดาห์เลยด้วยซ้ำ
2
แต่ปัญหาที่เอนเกอร์คาดไม่ถึงก็คือ เพื่อนร่วมทีมของเขาที่มีจ๊อบสองเป็นตำรวจ เห็นถึงความผิดสังเกตในตัวเอนเกอร์ คือเจ้าตัวไม่ได้มีงานเสริมเหมือนคนอื่น แต่กลับดูมีเงินทองใช้จ่ายมากมาย สามารถซื้อเสื้อผ้า และนาฬิการาคาแพงได้ ดังนั้นจึงแจ้งเบาะแสไปให้หน่วยสืบสวน ว่าเอนเกอร์อาจจะเป็นขโมย และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมรูป Love and Pain ก็เป็นได้
2
ในปี 1990 ตำรวจบุกโจมตีสายฟ้าแลบไปที่บ้านของเอนเกอร์ และพบภาพ Love and Pain แขวนอยู่บนผนัง เอนเกอร์ไม่มีทางปฏิเสธได้เลย หลักฐานมัดตัวหนาแน่นขนาดนั้น นั่นทำให้เขาติดคุกทันที 4 ปี และสโมสรวาเลเรนก้า ประกาศยกเลิกสัญญาในที่สุด
เอนเกอร์ออกจากคุกในเดือนมกราคม 1994 ถึงตรงนี้เขาสามารถเลือกเส้นทางได้ ว่าจะกลับไปเล่นฟุตบอลต่อ เพราะอายุแค่ 26 ปี ก็ยังไม่เยอะ ไปเริ่มต้นจากทีมเล็กๆก่อนก็ได้ ยังไม่สายเกินไปหากอยากจะเริ่มใหม่
หรืออีกทาง คือเดินสายมืดไปให้สุด ซึ่งเจ้าตัวเลือกอย่างหลัง เขาไม่เล่นฟุตบอลอีกแล้ว และเดินหน้าไปสู่วงการโจรเต็มตัว
3
และสำหรับการปล้นครั้งต่อไป เขาคิดใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งสเต็ป ด้วยการวางแผนขโมยภาพวาดที่สำคัญที่สุดของนอร์เวย์ นั่นคือ The Scream ภาพออริจินอล ที่จัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ
1
กลยุทธ์ของเอนเกอร์คือ ถ้าอยากซ่อนใบไม้ให้ซ่อนในป่า ถ้าหากงานศิลปะโดนขโมยล่ะก็ คงไม่มีใครเชื่อหรอกว่า เขาที่เพิ่งออกจากคุกได้แค่ 1 เดือนในข้อหาขโมยภาพของเอ็ดเวิร์ก มุงค์ จะขโมยรูปของศิลปินคนเดิมสองครั้งติดต่อกัน
3
จากการวางแผนที่ดี และโจมตีในช่วงเวลาที่การป้องกันอ่อนยวบที่สุด ทำให้เอนเกอร์ ขโมย The Scream ได้สำเร็จ ในเวลา 6.30 น. ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1994
2
เมื่อขโมยได้ คราวนี้เอนเกอร์ไม่พลาดเรื่องดีเทลเล็กๆอีกแล้ว เขาทำตัวโลว์โพรไฟล์เพื่อหลีกหนีการจับจ้องของตำรวจ ดังนั้นเหล่านักสืบจึงไม่ได้สนใจเขามากนักในช่วงแรก
4
คำถามที่ตำรวจนอร์เวย์ กับ ชาร์ลส์ ฮิลล์ จากสกอตแลนด์ยาร์ด มีอยู่ในใจก็คือ ทำไมถึงต้องขโมยรูปที่รู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีใครรับซื้อ The Scream หรอก ดังนั้นคนที่ขโมยน่าจะหวังผลทางการเมืองมากกว่า
4
ณ เวลานั้น มีข่าวชุลมุนมั่วไปหมด เช่น มีคนส่งข้อความมาหารัฐบาลว่า จะคืนรูปภาพให้ถ้าจ่ายเงินค่าไถ่ 1 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้จ่าย เพราะคิดว่าน่าจะลักไก่มากกว่า
1
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกโยงเช่นกัน คือนอร์เวย์ตอนนั้นกำลังออกกฎหมายทำแท้งเสรี ซึ่งกลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้ง จึงได้แจ้งกับรัฐบาลว่า จริงๆพวกเขาเองนี่แหละที่ขโมยรูปวาดไป แต่ถ้ารัฐบาลกลับลำมาสนับสนุนเรื่องการต่อต้านทำแท้ง ทางกลุ่มจะคืนรูป The Scream ให้เอง ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้ก็มั่วเช่นกัน
1
หลังจากสืบไปหลายแง่มุมแล้วก็เจอทางตัน ชาร์ลส์ ฮิลล์ กลับมานับหนึ่งใหม่ และเปลี่ยนวิธีคิดว่า บางทีคนที่ขโมยอาจจะเห็นว่ามันเป็นเหมือนความสำเร็จของตัวเองก็ได้ กล่าวคือ มันมีขโมยบางคนเหมือนกันที่ไม่ได้สนใจเงินทอง หรือสนใจผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ เพียงแค่ อยากขโมยเพื่อหาความท้าทายให้ตัวเองแค่นั้น
7
จากจุดนั้น ทำให้ชาร์ลส์ ฮิลล์ ลิสต์รายชื่อคนที่เคยพัวพันกับคดีโจรกรรมงานศิลปะมาก่อน แล้วไล่เช็กไปทีละคน ว่ามีความเชื่อมโยงใดๆหรือไม่ สุดท้ายก็ไปเจอหลักฐานว่า 5 วันก่อนการโจรกรรม พอล เอนเกอร์ ได้เข้ามาชมงานที่หอศิลป์แห่งชาติ ซึ่งก็เป็นไปได้ ว่าจะมาดูตำแหน่งของรูปวาด และศึกษาช่องทางในการขโมย
1
ตำรวจเริ่มจับตามองเอนเกอร์ และมีแนวโน้มว่า น่าจะ "ใช่" จริงๆ แต่ปัญหาคือไม่มีหลักฐานใดๆ จะเชื่อมโยงเขาได้ เหตุก็เกิดมาหลายวันแล้ว ป่านนี้เจ้าตัวเอารูปไปซ่อนที่ไหนแล้วก็ไม่มีใครรู้
1
พฤษภาคม 1994 ชาร์ลส์ ฮิลล์ คิดแผนขึ้นมาได้ เขามองว่าถ้าเอนเกอร์ต้องการแค่ชัยชนะในการโจรกรรม ตอนนี้เขาขโมยภาพวาดได้สำเร็จแล้ว เขาเองก็คงอยากจะหา "ทางลง" เหมือนกัน กล่าวคือเก็บภาพวาดไว้ ก็ได้แต่ดูคนเดียว ขายต่อก็ไม่ได้ ดังนั้นเจ้าตัวคงรีบอยากจะหาทางคืนรูปให้รัฐบาลนอร์เวย์ในทางใดทางหนึ่ง
1
ฮิลล์ตัดสินใจปลอมตัว เป็นตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ เจ.พอล เก็ตตี้ ในแคลิฟอร์เนีย แล้วแอบติดต่อกับเอนเกอร์ โดยยืนยันว่าในฐานะคนรักงานศิลปะ ทางพิพิธภัณฑ์ เจ.พอล เก็ตตี้จะขอจ่ายเงิน 530,000 ดอลลาร์ เพื่อขอซื้อภาพคืน จากนั้นก็จะเอา The Scream คืนให้รัฐบาลนอร์เวย์เอง
5
มุมของเอนเกอร์ คิดว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะเขาจะได้คืนงานศิลป์แห่งชาติให้กับประเทศ และตัวเองก็ยังได้เงินก้อนหนึ่ง แถมยังไม่ต้องติดคุกอีกต่างหาก ซึ่งฮิลล์พูดจาได้อย่างน่าเชื่อถือด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ซึ่งถ้ามองในมุมว่าเขาเป็นคนอังกฤษ แต่พูดสำเนียงแคลิฟอร์เนียได้อย่างเนียนมากๆ จนเอนเกอร์จับไม่ได้ ก็ถือว่าน่าทึ่งมาก
8
เอนเกอร์ อาจเป็นหัวขโมยฝีมือดี แต่สกิลการหลอกล่อ เขายังตามเกมของยอดนักสืบไม่ทัน สุดท้ายเขาหลงเชื่อมุกนี้จริงๆ ไม่คาดคิดว่าฮิลล์จะเป็นคนของตำรวจปลอมตัวมา
5
เมื่อตกลงรับมอบเงินกันเรียบร้อย เอนเกอร์พาชาร์ลส์ ฮิลล์ไปที่บ้านพักตากอากาศริมทะเลทางออสโลตอนเหนือ ที่นั่นเขาซ่อนรูป The Scream เอาไว้จริงๆ
5
ฮิลล์กล่าวตอนเห็นรูป ว่าเขารู้ทันทีว่ามันคือของจริง"ถ้ารูปใดๆที่เป็นมาสเตอร์พีซ คุณจะรู้ได้ทันทีเลยว่ามันคือมาสเตอร์พีซ มันจะพุ่งทะยานเข้ามาหาคุณเลย"
5
จากนั้นเมื่อได้รูปเรียบร้อยทั้งสองฝ่ายก็แยกย้ายกันไป และฮิลล์ได้โทรแจ้งกับตำรวจหน่วยสืบสวนพิเศษว่าได้งานศิลปะคืนแล้วเรียบร้อย มีตำหนิเล็กๆ แต่ไม่รุนแรง จากนั้นตำรวจก็นำกำลังไปจับกุมพอล เอนเกอร์ในที่สุด
3
เพิ่งออกจากคุกมาได้ไม่เท่าไหร่ สุดท้ายเอนเกอร์กลับไปติดคุกอีกครั้ง ด้วยระยะเวลา 6 ปีกับอีก 3 เดือน และรูปภาพ The Scream ก็กลับมาสู่หอศิลป์แห่งชาติ ในที่ที่มันควรจะอยู่ในที่สุด
3
หลังออกจากคุก เอนเกอร์ เลิกอาชีพขโมยอย่างเด็ดขาด และไปทำงานเป็นพ่อค้างานศิลปะแทน คราวนี้เขาจะได้สัมผัสกับงานศิลป์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องไปเป็นโจรอีกแล้ว
12
ในปี 2004 The Scream โดยขโมยอีกครั้ง (ก่อนจะถูกหาพบในเวลาต่อมา) แน่นอนว่าเอนเกอร์ก็ต้องโดนสอบสวนด้วย แต่คราวนี้เขาเองไม่เกี่ยวข้อง คือไม่แปลกที่เขาจะเป็นผู้ต้องสงสัยอีกหน ก็คนมันเคยทำผิดมาแล้ว ก็ต้องโดนสงสัยไว้ก่อน
1
หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดจบลงไปหลายปี มีนักข่าวเคยถามว่าเขารู้สึกเสียใจไหม ที่ก่อการโจรกรรม ขโมยงานศิลปะระดับโลกถึง 2 ครั้งแบบนี้ ตัวเอนเกอร์ตอบว่า "ผมไม่ได้เสียใจที่ทำหรอกนะ"
1
"ผมสร้างประวัติศาสตร์บางอย่างขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่เจ๋งไม่เลว อย่างหนังที่เราดูกัน มันจะเขียนบทเกี่ยวกับการโจรกรรมอะไรประมาณนี้ แต่เรื่องของผมมันไม่ใช่หนัง มันคือชีวิตจริง"
2
การปล้นคือการตอบสนองความท้าทายในชีวิตของเอนเกอร์ แต่ความสนุกที่ได้ปล้นแลกมากับการติดคุก 10 ปีเต็ม แลดูจะเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มเท่าไหร่
2
แน่นอน การโจรกรรมเป็นเรื่องที่เลวร้าย และผิดกฎหมายเต็มๆ เราไม่สามารถปฏิเสธตรงจุดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าเรื่องของพอล เอนเกอร์ ถูกจดจำหรือไม่ คำตอบคือใช่ เรื่องของเขาถูกเล่าขานจนถึงวันนี้ แม้จะผ่านมานานแล้วหลายปี
เพราะนักฟุตบอลอาชีพ ปกติก็ใช้เวลาว่างในการไปถ่ายโฆษณา หรือไปทำธุรกิจ แต่นักบอลที่มีงานอดิเรกเป็นการปล้นงานศิลปะ เรื่องประหลาดแบบนี้ คงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วจริงๆ
2
#THESCREAM
โฆษณา