18 มี.ค. 2021 เวลา 00:11 • การศึกษา
“#การกระทำทางตุลาการ” เป็นการกระทำที่ทั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ไม่เข้าไปตรวจสอบ
" ชนใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักข้ามแดนมฤตยูที่ข้ามได้ยาก" (พุทธภาษิต)
แต่ยังมีการกระทำอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “para- judicial power” ซึ่งไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจ “ตุลาการโดยแท้” เช่น การออกระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ใด ที่ออกโดยฝ่ายตุลาการ
กรณีแบบนี้ ประชาชนขอให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ หากเห็นว่า ระเบียบหรือประกาศที่ฝ่ายตุลาการออกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ???
.
ความหมายเบื้องต้นของคำว่า “การกระทำทางตุลาการ”
.
คือ การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย
.
(๑) ระบบศาลรัฐธรรมนูญ
.
คดีที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ที่เราเรียกกันว่า “ฟ้องตรง”
.
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการกระทําเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ
.
(๑) คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
(๒) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
(๓) คณะกรรมการตุลาการทหาร
.
เช่น การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้ความเห็นชอบในการโยกย้าย การลงโทษทางวินัย การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ย่อมไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ (๖)
.
และยังรวมถึงการโต้แย้งดุลพินิจของตุลาการหรือผู้พิพากษาในกระบวนการพิจารณาคดีด้วย ก็ไม่อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน โดยถือเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาล. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ (๔) เช่น
.
- การโต้แย้งคำสั่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการที่สั่งในระหว่างพิจารณาคดีของศาล
.
- การโต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษา
.
- การโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล
(โปรดดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๘/๒๕๖๑, คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๓/๒๕๖๑ และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๓/๒๕๖๑)
.
(๒) ระบบศาลปกครอง
.
แม้ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจาณาพิพากษาคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ฯ แต่ในคดีปกครองบางประเภทก็ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เช่น
.
การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๒)
ซึ่งก็คือการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการ เช่น การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้ความเห็นชอบในการโยกย้าย การลงโทษทางวินัย การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และยังหมายรวมถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อื่นที่เป็นกระบวนการเดียวกันกับการดำเนินการของ ก.ต. ด้วย เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับผู้พิพากษา การพิจารณาความผิด การกำหนดโทษ การลงโทษ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 15/2546) เป็นต้น
.
รวมตลอดถึงการใช้อำนาจหรือดุลพินิจของผู้พิพากษาหรือตุลาการ และการบังคับคดีตามคำพิพากษาด้วย เช่น
.
- การที่ผู้พิพากษามีคำสั่งยกฟ้อง โดยไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘๐/๒๕๔๕)
.
- กรณีฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมโอนมรดกตามคำพิพากษาหรือคำบังคับของศาลแพ่ง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 806/2560)
.
- กรณีฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษตนเอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 2/2560)
.
- กรณีไม่เห็นด้วยกับการสั่งคำร้องขององค์คณะผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 96/2561).
.
ส่วนกรณี “para- judicial power” นั้น
.
เป็นการใช้อำนาจทางตุลาการในอีกรูปหนึ่ง แต่ไม่ใช่การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ “เป็นการตระเตรียมการหรือการดำเนินการเพื่อให้การใช้อำนาจตุลาการของศาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ซึ่งในทางทฤษฎีถือว่า ไม่ใช่อำนาจตุลาการโดยแท้ เช่น
การออกระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ขององค์กรตุลาการ
.
ยกตัวอย่างเช่น การออกข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการอบรม ระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมาย การจดแจ้งและลบชื่อออกจากบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๖
.
ในระบบศาลปกครอง ถือว่าการใช้อำนาจลักษณะนี้ ขององค์กรตุลาการมิใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ศาลปกครองไม่เข้าไปตรวจสอบ หากมีการฟ้องขอให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าว
.
โปรดดูแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๒/๒๕๖๐, คำสั่งที่ ๒๐๗/๒๕๕๗, คำสั่งที่ ๖๙/๒๕๕๗ และคำสั่งที่ ๗๓/๒๕๕๗ ยกตัวอย่างเช่น
.
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๙/๒๕๕๗
.
แม้ว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการอบรม ระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมาย การจดแจ้งและลบชื่อออกจากบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๖ จะมิใช่การที่ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจทางตุลาการมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกข้อบังคับดังกล่าว ก็หาใช่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นไม่ หากแต่เป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจดำเนินการในกิจการของฝ่ายตุลาการกระทำการอันมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือการดำเนินการเพื่อให้การใช้อำนาจทางตุลาการของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครอง ออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล
เรียบเรียงโดย เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล. 2564.
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้รับจากการเผยแพร่บทความวิชาการทุกบทความอันเป็นวิทยาทานและธรรมทานให้แด่ดวงจิตคุณพ่อศักดา โชควรกุล (บิดาผู้ล่วงลับของผู้เขียน)
.
สนใจกดลิงก์ดูคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรื่องนี้
โฆษณา