Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
8880708 ETC.
•
ติดตาม
18 มี.ค. 2021 เวลา 09:56 • หนังสือ
บทรำลึกความรู้สึก หลังอ่านกวีนิพนธ์ “ปลาที่ว่ายทวนฟ้าจึงตกลงมาพร้อมฝน” โดยหทัยสินธุ สินธุหทัย จบ
ศิลปะไม่ควรอยู่ในร่มเงาของการวางแผน
ความรู้สึก ไ่ม่ควรอยู่ในชายคาของเหตุผล
และการยอมจำนน บางทีก็ง่ายกว่าการขัดขืน
ไม่เคยพบว่า การเขียนถึงสิ่งใดที่ติดอยู่ในใจ จะยากได้มากขนาดนี้
อาจเป็นเพราะว่า ศิลปะไม่ควรเป็นการมอบสิ่งใดให้ มากไปกว่า เรารู้สึกอย่างไรกับมัน งั้นขอเป็นเล่าใหัฟังสั้นๆแทนได้มั้ยคะว่า หนังสือเล่มนี้ ทำให้เราคิดถึงอะไรได้บ้าง
คิดถึงโหลหอยดองของอากง ที่เคยบอกตัวเองว่า จะไม่ยอมแตะมันอีกครั้งในวันที่เป็นผู้ใหญ่
คิดถึงการพุ้ยตะเกียบของหยี่เจ็ก ที่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ใช้ช้อนส้อมอย่างคนอื่น
คิดถึงการไหว้เจ้าปีละ 8 ครั้ง (เป็นอย่างน้อย) ที่เคยสบถสาบานกับตัวเองว่า วันนึงโตขึ้น จะลาออกจากความเป็นคนจึน
คิดถึงตี่จู๋เอี๊ยของป๊าม้า ที่ตอนเป็นเด็ก เคยบอกกับตัวเองว่า จะไม่มีสิ่งนี้ในบ้านเมื่อโตขึ้น
คิดถึงช่วงวันจ่ายในตลาดบางรักกับอาม่า ที่บอกตัวเองว่า เมื่อไหร่ที่โตขึ้นจะไม่มีวันกลับไปเหยียบอีกครั้ง
คิดถึงแดดร้อนๆและการนั่งรถทางไกลในวันเช็งเม้ง ที่บอกตัวเองว่า อย่าได้หวังว่าจะได้เจอกัน ในวันที่แต่งงานออกไปแล้ว
คิดถึงเสียงหัวเราะและเสนาะสำเนียงจีนของหม่าม้า ที่เคยบอกตัวเองว่า จะหัดให้หม่าม้าเป็นคนไทยมากกว่านี้
แต่แล้วในความเป็นจริงคือ
โหลหอยดองของอากง คืออาหารที่หายากที่สุดในวันนี้
การพุ้ยตะเกียบของหยี่เจ็ก คือศิลปะการกินที่น่าทึ่ง
การไหว้เจ้าปีละ 8 ครั้ง... ไม่ได้มากไปเลย สำหรับการระลึกถึงว่าตัวเรามาจากไหน
การตั้งตี่จู๋เอี๊ยในบ้าน ไม่ได้ทำให้บ้านเชย หากหัวใจและการใช้ชีวิตมีความสมัยใหม่เจืออยู่
ช่วงวันจ่ายในตลาดบางรักกับอาม่า จะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว ทั้งตลาดบางรัก และอาม่า...
เช็งเม้ง ไม่ใช่แค่เรื่องของแดดร้อนๆ และการนั่งรถทางไกล แต่คือการกลับไปเพื่อระลึกว่าเราเป็นใคร
และ..
เสียงหัวเราะและเสนาะสำเนียงจีน เพราะยิ่งกว่าเสนาะภาษาไหนๆ และติดลึกอยู่ในกายยิ่งกว่าเสนาะภาษาใดๆ
สิ่งที่หนังสือเล่มนี้หยิบยื่นให้ ไม่ใช่ความไพเราะอย่างงานของ Kahlil Gibran
ไม่ใช่งานโรแมนติกชวนเมาในรัก อย่างงานของ Jane Austen
ไม่ใช่งานชวนหดหู่อย่างงานของ Sylvia Plath
ไม่ใช่ความเคร่งเครียดในการวิพากษ์สังคมอย่างงานของ Fyodor Dostoevsky
ไม่ใช่ และไม่ใกล้เคียงงานของใครๆเลย เพราะสิ่งที่หนังสือเล่มนี้หยิบยื่นให้ คือความโหยหาในรากและวันวาน และความโหยหาชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้งแค่ชั่วขณะเดียว เวลาเดียว... เป็นชั่วขณะที่พาเราเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ที่สุด และเมื่อคุณหลงรักภาวะนั้น.. นั่นคือเมื่อคุณเข้าใจว่า คุณได้ทำความเป็นศิลปินในตัวหล่นหายไปนานแค่ไหน...
เพราะความจริงที่สุดแล้ว คือการยอมรับว่า “จงเป็นมนุษย์ก่อน จึงจะเป็นศิลปินได้”
หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ความรู้สึกเดียวที่มีคือ “ความคิดถึง”
คิดถึงบ้าน
คิดถึงครอบครัว
คิดถึงรากเหง้า
คิดถึงและคิดถึง...
สนใจหนังสือเล่มนี้ สั่งซื้อได้ที่
https://www.facebook.com/releasepublishing
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย