20 มี.ค. 2021 เวลา 11:45 • ความคิดเห็น
ปัญหาสุดฮิตยุค COVID-19 และยุค Digital ค่าใช้จ่าย ต้นทุนเกี่ยวกับคน ที่ต้องเรียนรู้จาก แพคซึงซู
ถอดรหัสความสำเร็จในการทำงานจากซีรี่ส์ “Hot Stove League” ep.2
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้ผมขอแบ่งปันประเด็นที่น่าสนใจจากซีรี่ส์เรื่อง “Hot Stove League” ต่อเนื่องมาจากบทความครั้งที่แล้ว หลังจากที่ผมนำเสนอข้อคิดที่ “แพคซึงซู” ได้แสดงออกมาให้เห็นว่า เขาใช้วิธีการรับมือกับปัญหาที่พบในการทำงาน นั่นคือ การใช้ Fact & DATA เพื่อบริหารความขัดแย้ง และ “Win-Win” เคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการต่อรอง
วันนี้ผมขอนำเสนอเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากซีรี่ส์เพื่อมาวิเคราะห์ข้อคิดดี ๆ ที่ผมได้รับจากแพคซึงซูครับ ซึ่งประเด็นที่จะเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือ ประเด็นการปรับกระบวนการคิดค่าจ้างใหม่ เพื่อประคับประคองให้บริษัทอยู่รอดต่อไปให้ได้
​ในซีรี่ส์เล่าถึงการเจรจาต่อรองเพื่อลดค่าอัตราจ้างของผู้เล่นเบสบอลในทีม ประเด็นนี้ค่อนข้างสร้างความตึงเครียดให้กับทีมบริหารจัดการ โดยเฉพาะตัวแพคซึงซูเอง เนื่องจากเป็นเรื่องผลตอบแทนต่อปีที่ผู้เล่นในทีมสมควรได้รับ ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายที่ทางสโมสรทีมดรีมส์ต้องการลดต้นทุนขององค์กรด้วยการปรับลดเงินเดือนของพนักงานถึง 30% จากอัตราค่าจ้างเดิม แม้ว่าเขาจะแนะนำหรือ เสนอความคิดเห็นแล้วว่าควรปรับลดเงินเดือนที่ 10-15% ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว แต่เพราะภารกิจที่เขาได้รับมา เป็นคำสั่งที่เขาไม่สามารถโต้แย้งโต้เถียงได้ ทำให้เขาต้องหาทางบริหารจัดการให้สำเร็จอย่างไม่มีทางเลือก.
ในฐานะผู้จัดการทีมทั่วไป
แพคซึงซู ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เนื่องจากภารกิจนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อน และ สามารถสร้างปัญหาใหญ่กับสโมสรทีมดรีมส์ได้ เขาทำให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความยุติธรรม” และ “การไม่มีอคติ” ต่อผู้เล่นที่ถูกประเมิน แพคซึงซูประเมินประสิทธิภาพการเล่นเบสบอลของผู้เล่นแต่ละคน ด้วยการใช้ Fact & DATA ควบคู่ไปกับการตรวจเช็คข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงหาเหตุผลในการเจรจาต่อรองปรับลดอัตราค่าจ้างรายปีกับผู้เล่นแต่ละราย ซึ่งจากเดิมกระบวนการคิดค่าจ้างต่อปีของสโมสรนั้น ผู้เล่นที่มีอายุตัว อายุปีการเล่นมากขึ้น ก็จะมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแสดงศักยภาพของร่างกายในการแข่งขันได้ดีเท่ากับผู้เล่นที่อายุน้อยกว่า ในขณะที่ผู้เล่นที่มีอายุตัว อายุปีการเล่นที่น้อย สามารถแสดงศักยภาพของร่างกายในการแข่งขันได้ดีเยี่ยม แต่กลับได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าผู้เล่นที่สูงวัยกว่า เพียงเพราะสโมสรบริหารค่าจ้างด้วยระบบอาวุโส นอกจากนี้ หลังจากที่เขาได้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมดจากการวิเคราะห์ทางสถิติแล้ว เขายังใช้หลักในการเจรจาต่อรองแบบ Win-Win เพื่อผลักดันให้ภารกิจนี้สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดีอีกด้วยครับ
Credit image: heraldjournalism.com
แพคซึงซู ทิ้งท้ายประเด็นชวนให้ผมคิดต่อครับว่า ในยุคดิจิตอล ยุคที่มีการเกิดขึ้นของ start up ยุคที่คนรุ่นใหม่เกิดมาและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล มากกว่าคนรุ่นเก่า ยุคที่หลายๆองค์กรต้องลงทุนในการเปลี่ยนแปลง mindset และ upskill เพื่อให้คนรุ่นเก่าปรับตัวและสร้างคุณค่าให้กับองค์กรต่อไป ก็เกิดคำถามและความท้าทายมากมายจากคนรุ่นใหม่ว่า ทำไมรุ่นพี่ รวมถึงผู้บริหารบางระดับ ถึงต้องได้เงินเดือนสูงกว่าเขา ทั้งที่คุณสมบัติในปัจจุบันก็ตกยุคและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองช่วยเหลือองค์กรได้ ทำไมองค์กรยังคงต้องจ่ายค่าจ้างตามระบบอาวุโส? ทั้งที่ความเป็นจริงหลักในการจ่ายค่าจ้างควรจะเป็นไปตามหลักในการประเมินผลการปฎิบัติงาน Performance Appraisal (PA) โดยวัดผลจากความสามารถและความสำเร็จในการทำงานของพนักงาน ซึ่งหลักการนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานในพนักงานแต่ละคนในองค์กรได้ และยังนำมาเป็นตัวชี้วัดที่ใช้อ้างอิงเหตุผลในการปรับเลื่อนตำแหน่ง ปรับเงินเดือน พิจารณาการให้ผลตอบแทนพิเศษ จนถึงการพิจารณาเลิกจ้างพนักงานได้
แนวคิดเหล่านี้ก็คงไม่มีผิดมีถูก มีข้อดีและข้อเสียในต่างบริบทต่างองค์กรต่างวัฒนธรรม เพียงแต่ยุคของการปรับเปลี่ยนองค์กรในยุคนี้ เราคงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาและจัดระบบให้เหมาะสมเพื่อให้องค์กรสามารถวิ่งต่อไปได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคนสูง ยิ่งหนีไม่พ้นที่ต้องปรับตัวปรับวิธีคิดเพราะคลื่น digital disruption กำลังจะมาทำลายธุรกิจให้หายไปจากตลาด
แต่ไม่ว่าอย่างไรธุรกิจบริการก็ไม่สามารถปราศจากคนได้ครับ ก็ขอฝากเป็นแง่คิดให้เป็นประเด็นในการออกแบบเพื่อให้ asset ที่สำคัญที่สุดของทุกองค์กรคือคน ให้องค์กรสามารถรักษาคนให้ยังอยู่ยังรักและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปนะครับสุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกท่านได้ติดตามซีรี่ส์เรื่อง “Hot Stove League” จาก Netflix นะครับ เผื่อได้มุมมองใหม่ ๆ และ หลักในการบริหารจัดการจากแพคซึงซูกันนะครับ
โฆษณา