19 มี.ค. 2021 เวลา 07:59 • การศึกษา
📍 เรียนรู้เรื่องราวชีวิต และคำสอนของ "บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย"
"ผู้เป็นทั้งศิลปิน และปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์"
จากนาม "คอร์ราโด เฟโรชี" สู่ "ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี"
"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" (Ars longa, Vita brevis) คือประโยคที่เป็นคติพจน์ของมหาวิยาลัยศิลปากร และคงเป็นประโยคที่โด่งดัง จนคุ้นหูของใครหลายๆคน
ประโยคนี้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านได้นำมาจาก ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาผู้ให้กำเนิดวิชาการแพทย์ อาจารย์ได้นำประโยคนี้มาใช้สอนลูกศิษย์ เพื่อให้หมั่นเรียนรู้ ฝึกฝน เร่งทำงานศิลปะ อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เพราะชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น ในขณะที่ชีวิตของงานศิลปะนั้นยืนยาวเป็นอมตะ
1
✒ เรื่องราวชีวิตของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
กล่าวได้ว่าเรื่องราวของวงการศิลปะของไทยส่วนหนึ่ง มีที่มาเริ่มต้นมาจาก ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
รูปภาพจาก Pinterest : โดย Chanin S.
🖌 "จุดเริ่มต้นของชีวิตที่นครฟลอเรนซ์"
"ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี" เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ในเขตตำบลเล็กๆ ซานโจวันนี (San Giovanni) ซึ่งเป็นถิ่นเก่าแก่ที่สุดของเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชี และนางซานตินา เฟโรชี ครอบครัวของคอร์ราโด เป็นครอบครัวของชนชั้นกลาง ที่ดำเนินอาชีพค้าขาย
และย่อมเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่ทางครอบครัวของคอร์ราโด จะคาดหวังให้ลูกชายดำเนินกิจการให้เป็นปึกแผ่นสืบต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะคอร์ราโดมีใจรักในงานศิลปะ จึงไม่สนใจในกิจการของครอบครัวเลย สร้างความผิดหวังให้กับพ่อแม่ของเขาอย่างยิ่ง
1
ศาสตราจารย์ โรมาโน วิเวียนี (Professor Romano Viviani) ใช้นามสกุลมารดา Fanny Viviani ลูกชายของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวให้ฟังว่า....
1
คุณพ่อ (ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี) มีใจรักงานปั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในช่วงแรกนั้นท่านยังไม่ได้ศึกษาทางนี้โดยตรง เพราะทางบ้านไม่ได้สนับสนุน ในช่วงเวลาที่เพื่อนๆต่างชวนกันไปวิ่งเล่นสนุก คุณพ่อกลับเลือกที่จะปลีกตัวไปนั่งเล่นที่ริมน้ำตามลำพัง แล้วเอาดินแถวนั้นขึ้นมาปั้นเป็นรูปสัตว์ คน และเด็ก ในอิริยาบถต่างๆ วันหนึ่งประติมากรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ ได้มาเห็นผลงานเหล่านั้นของเขาเข้าโดยบังเอิญ ก็เกิดความประทับใจ จนกล่าวชวนให้ไปร่วมงานด้วยกันที่โรงงานปั้นของเขา
2
รูปภาพจากเว็บไซต์แหล่งที่มาท้ายบทความ
เมื่อทำงานปั้นมาได้สักระยะนึงแล้ว ประติมากรผู้นั้น ก็ได้สนับสนุนให้คุณพ่อเข้าศึกษาศิลปะโดยตรง ที่มหาวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ และเมื่อคุณพ่อเรียนจบก็ได้ทำงานสอนศิลปะที่นี้ต่อไป
ท่านได้สอบคัดเลือก และได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์ และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรม และจิตรกรรมเป็นอย่างสูง
ลูกชายได้กล่าวต่ออีกว่า เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจของประเทศเกิดสภาพตกต่ำ งานการหายาก แต่คุณพ่อยังคงมุ่งมั่นทำงานปั้นต่อไปให้สำเร็จ ซึ่งงานปั้นที่เขาประทับใจที่สุด คือ อนุสาวรีย์ผู้กล้าทหารนิรนาม บนเกาะเอลบา ซึ่งหนึ่งในรูปปั้นเหล่านั้นมีภาพเหมือนของคุณแม่เขาด้วย
2
รูปภาพจากเว็บไซต์แหล่งที่มาท้ายบทความ
🖌 การเดินทางมาสู่ประเทศไทย
ในช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริจะให้มีจิตกร และประติมากร ผู้มีฝีมือ มาประจำทำงานศิลปะให้กับประเทศไทย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม จึงติดต่อกับรัฐบาลอิตาลี แจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์จึงได้ประกาศรับสมัครศิลปิน ซึ่งมีผู้สมัครถึง 200 คน และศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรชี เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากผลงานปั้นรูปเทวดาไทย
การเดินทางสู่ประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีครอบครัว คือมาดามแฟนนี วิเวียนนี ผู้เป็นภรรยา และอิซซาเบลล่า ลูกสาวซึ่งมีอายุเพียง 1 ขวบ ติดตามเดินทางไปด้วย อาจารย์รู้สึกหลงรักในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และได้เริ่มต้นทำสัญญาเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดราชบัณฑิตยสภา ได้รับพระราชทานเงินเดือน 800 บาท และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469
ชีวิตในการรับราชการในช่วงแรก ไม่ได้ราบรื่น สะดวกสบายสักเท่าไร อาจารย์ต้องพบเจอกับปัญหาในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โต๊ะทำงานที่ไม่ถูกลักษณะ อาจารย์จึงได้ทำเรื่องขอห้องทำงานใหม่ที่มีแสงสว่างส่องเฉียงลงมาจากด้านบน แต่คำร้องนั้นก็ไม่ได้รับการตอบสนอง และท่านเสนาบดียังมองเห็นว่าอาจารย์วุ่นวาย เรียกร้องเกินสมควร ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกมองไม่ดี และไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไรเลย
หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เมื่อทรงทราบเรื่องนี้ จึงกราบทูลปัญหาให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทราบ พระองค์จึงมีพระดำริให้อาจารย์ได้มีโอกาสแสดงฝีมือ โดยให้อาจารย์ปั้นพระรูปพระองค์ขึ้นมา เมื่องานเสร็จสิ้นพระองค์ได้ให้เสนาบดีท่านนั้นได้รับชมผลงาน ซึ่งอาจารย์สามารถปั้นได้สมจริงมาก และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จนเสนาบดีผู้นั้นมีคำสั่งให้สร้างห้องทำงานใหม่ ให้เหมาะสมตามที่อาจารย์ต้องการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงกราบบังคมทูลเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเป็นแบบให้แก่อาจารย์ โดยให้ปั้นหุ่นเฉพาะพระพักตร์ ผลงานของอาจารย์ที่ออกมา เป็นที่พอพระราชหฤทัย และเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวงเป็นอย่างมาก อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นสำคัญๆอย่างต่อเนื่อง เช่น งานแก้ไขหน้าต่างโบสถ์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เปลี่ยนใหม่ให้เป็นงานกระจกสี ที่ใช้เทคนิค และทำขึ้นโดยช่างที่เมืองฟลอเรนซ์
หลังจากที่อาจารย์ได้เดินทางกลับบ้านที่ประเทศอิตาลี และนำงานที่ได้รับมอบหมายจากเมืองไทยกลับไปทำด้วย อาจารย์ได้ตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่สูง อาจารย์จึงได้ปรับปรุงโรงหล่อที่เมืองไทยให้ได้ตามแบบมาตรฐาน เพื่อสามารถทำงานปั้นชิ้นใหญ่ได้ และเพื่อรองรับช่างปั้นชาวไทยที่มีฝีมือ ให้ได้มาทำงานร่วมกัน โดยช่วงนั้นมีช่างปั้นที่ทำงานร่วมกันกับอาจารย์ คือ พิมาน มูลประมุข, สิทธิเดช แสงหิรัญ, แช่ม เขามีชื่อ, แช่ม แดงชมพู, จงกล กำจัดโรค และสุข อยู่มั่น
รูปภาพจาก pantip : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร โดยคุณ JumPoon Bk
🖌 การเริ่มต้นหลักสูตรศิลปะ และก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
เริ่มต้นอาจารย์ได้วางหลักสูตรอบรม ให้แก่ผู้ที่สนใจในงานศิลปะ ประเภทงานประติมากรรม โดยตอนนั้นไม่มีการเก็บเงินค่าเรียน ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้ช่วยงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ซึ่งทางราชการได้ขอให้อาจารย์วางหลักสูตรการศึกษา ในรูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะในยุโรป
และในช่วงที่ปรับปรุงโรงหล่อ อาจารย์ก็ได้ดำริตั้งโรงเรีนนศิลปะขึ้น อาจารย์ได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรม และประติมากรรม ที่มีการสอนประยุกต์กลมกลืนไปกับศิลปะของทางฝรั่ง และทางไทย เพื่อใช้ในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ซึ่งภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากันกับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง”
4
ในช่วงปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพล ป.พิบูล สงคราม ท่านได้ให้ความสำคัญกับงานศิลปะเป็นอย่างมาก จึงได้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้ง และตั้งให้โรงเรียนศิลปากร เปลี่ยนไปเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 มีคณะจิตรกรรม และประติมากรรม เป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย โดยทางอาจารย์ได้รับตำแหน่งคณบดี และผู้สอนของคณะจิตรกรรมนี้ด้วย
โดยการทำงานรับราชการของอาจารย์ มักประสบปัญหาอยู่โดยตลอด ปัญหาของอาจารย์ที่มักพบก็คือ ผู้บังคับบัญชามักไม่ค่อยเข้าใจการทำงานของศิลปิน ระเบียบข้าราชการที่เต็มไปด้วยความล่าช้า โดยเฉพาะในการเบิกจ่าย อาจารย์มักจะจ่ายเงินสำรองด้วยเงินของท่านก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ หรือเรื่องส่วนตัวของลูกศิษย์ อาจารย์ก็เต็มใจพร้อมที่จะช่วยเหลือ เสมือนเป็นเรื่องของตัวเอง โดยหน้าที่การงานของอาจาย์มีอยู่มากมาย แต่ท่านก็ยังคงยิ้มแย้มแจ่มใส เดินฮัมเพลงโปรดอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันเพลงที่ฮัมนี้ได้ถูกนำมาทำเป็นเพลง Santa Lucia เพลงประจำ มหาวิทยาลัยศิลปากร
🖌 จากนาม "คอร์ราโด เฟโรชี" สู่ "ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี" และการได้รับสัญชาติไทย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้ามาสู่ประเทศไทยในฐานะอักษะประเทศ ซึ่งมีเยอรมนี และอิตาลีเข้าร่วมด้วย เมื่อสงครามใกล้สิ้นสุดลง อิตาลีได้ถอนตัวจากกลุ่มอักษะประเทศ ทำให้รัฐบาลพันธมิตรไทยญี่ปุ่น จึงจำเป็นต้องสั่งควบคุมตัวชาวอิตาลีทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งอาจารย์ด้วย เหตุการณ์นี้ได้สร้างความปวดร้าวให้กับบรรดาลูกศิษย์ และผู้ที่รักอาจารย์เป็นอย่างมาก
พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ได้พยายามช่วยเหลือท่านอย่างเต็มที่ ในที่สุดจึงได้เกิดข้อเสนอว่า ถ้าอาจารย์ยอมโอนสัญชาติเป็นคนไทย ปัญหานี้ก็จะหมดสิ้นไป ด้วยความรักความผูกพันที่อาจารย์มีต่อประเทศไทยมากมายอยู่แล้ว อาจารย์จึงได้รับข้อเสนอนี้อย่างเต็มใจ
📍จากนาม "คอร์ราโด เฟโรชี" จึงเปลี่ยนเป็น "ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี" และท่านได้ใช้นามนี้ต่อไปจนถึงมรณกรรม
ในระหว่างสงคราม อาจารย์ประสบปัญหาการดำรงชีพเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นต้องขายรถยนต์ทิ้ง และเปลี่ยนไปขี่จักรยานไปทำงาน จากบ้านพักถนนสุขุมวิท ไปถึงกรมศิลปากรทุกวัน ทั้งที่อาจารย์สายตาสั้นมาก สุดท้ายท่านจึงเขียนจดหมายถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขอให้พิจารณาขึ้นเงินเดือน โดยอาจารย์ได้กล่าวในจดหมายว่า
✒ "ข้าพเจ้าได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ครั้นจะทำงานพิเศษเป็นส่วนตัวเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของตน ข้าพเจ้าก็มีความเคารพต่อราชการ รู้สึกละอายที่เป็นข้าราชการ แล้วจะไปแสวงหารายได้จากภายนอก"
โดยช่วงระหว่างรอการพิจารณานี้ อาจารย์ได้ทำจดหมายลาพักผ่อน มีระยะวลากำหนด 9 เดือน เพื่อกลับบ้านที่ประเทศอิตาลี ซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยว่า อาจจะเป็นการลาที่ไม่กลับมาประเทศไทยแล้วของอาจารย์ก็เป็นได้
🖌ช่วงชีวิตในบั้นปลายของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
เมื่ออาจารย์ได้ส่งจดหมายลาพัก และเดินทางกลับบ้านเกิด ที่เมืองฟลอเรนซ์ อาจารย์ได้ไปทำงานที่โรงงานทำเหรียญแห่งหนึ่ง อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ทำเหรียญสำคัญๆมากมาย เช่น เหรียญพระสันตะปาปา ซึ่งได้รับคำชมเชย และได้รับรายได้ที่งดงาม แต่อาจารย์ไม่คุ้นกับอากาศหนาวของอิตาลีแล้ว ทั้งยังคิดถึงเมืองไทย
5
ประจวบเหมาะกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล อธิบดีกรมศิลปากร ได้ทรงส่งบันทึกให้รัฐบาลเชิญอาจารย์กลับมา และพิจารณาปรับเงินเดือนขึ้นให้เหมาะสม อาจารย์จึงเดินทางกลับประเทศไทยอีกครั้ง แต่คราวนี้ครอบครัวไม่ได้กลับไปด้วย อาจารย์ได้เสียสละเดินทางไปคนเดียว และได้อุทิศเวลาที่เหลือให้กับวงการศิลปะไทย ทั้งการสอน การสร้างสรรค์ผลงาน และรวมไปถึงการได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างมีเอกลักษณ์
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้แต่งงานใหม่กับนางมาลินี เคนนี่ ในปีพ.ศ. 2502 และอาจารย์ได้อุทิศตนทำงานต่อไป จนได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจารย์สิริอายุได้ 69 ปี 241
พิธีพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์ จัดขึ้นที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 โดยอัฐิถูกแยกไปสามส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่หนึ่งถูกส่งไปที่สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ลานศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร
รูปภาพหลุมฝังอัฐิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ Cimitero Evangelico agli Allori เมืองฟลอเรนซ์  (แหล่งที่มาท้ายบทความ)
ตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปี ในประเทศไทยของอาจารย์ คุณงามความดี และผลงานของท่านยังคงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวไทยจวบจนถึงทุกวันนี้
1
📍ท่านเปรียบเสมือนเป็น "บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย" บิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
📍📍 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวได้ว่าเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง มีความเสียสละ รักและห่วงใยลูกศิษย์ของท่านเสมอ ท่านคือปูชนียบุคคล ที่ได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะไทยเป็นอย่างยิ่ง
✒ คำสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
1. "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"
: ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น ในขณะที่ชีวิตของงานศิลปะนั้นยาวนานเป็นอมตะ อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะ อย่างน้อยเมื่อเราไม่อยู่ งานศิลปะนั้นจะยังคงอยู่ต่อไป
1
2. "พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว"
: คนที่ผลัดวันประกันพรุ่ง คิดว่าค่อยทำวันพรุ่งนี้ก็ได้ พอรู้ตัวอีกทีทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว
1
3. "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"
: การศึกษาหาความรู้ หมั่นเพียร ขยันอ่านหนังสือ เข้าใจคน เข้าใจสิ่งแวดล้อม ว่าเขาต้องการอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดี สื่อสารผลงานออกมาได้อย่างเข้าใจ
1
4. "ถ้านายรักฉัน ขอให้นายทำงาน"
: มาจากประโยคที่อาจารย์ได้กล่าว่า นาย..ถ้าฉันตาย..นายคิดถึงฉัน..นายไม่ต้องทำอะไร..นายทำงาน ซึ่งอาจารย์ต้องการจะสื่อให้ลูกศิษย์ ได้ตั้งใจขยัน ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
1
5. "พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน ถึงจะเรียนศิลปะ
: เพราะมนุษย์สามารถเข้าใจศิลปะได้ รู้จักความสุนทรีย์ ก่อนจะเรียนศิลปะ จึงต้องยกระดับจิตใจให้เป็นมนุษย์ที่เข้าใจศิลปะก่อน
1
6. "ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต"
: เพราะศิลปะไม่ได้เป็นเพียงการวาดรูป แต่เป็นการสอนให้รู้จักวิธีคิด เข้าใจชีวิต เพื่อให้นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน
1
7. "ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบแม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุดก็อาจมีความงามซ่อนอยู่"
: อาจารย์สอนให้เราเป็นคนช่างสังเกต เพราะคนที่เรียนศิลปะ ถ้าไม่มีสายตาที่เป็นศิลปินจะสร้างสรรค์งานที่ดีไม่ได้
3
8. "อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองยังคงศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา"
: อาจารย์สอนว่าอย่าหลงคิดว่าตัวเองเป็นคนเก่ง แล้วไม่ต้องเรียน เพราะการหยุดเรียน หยุดหาความรู้ ไม่ต่างจากการที่เราทิ้งขว้างชีวิต
รูปภาพจาก SU Communications 
📍📍📍📍 “นี่เงินหลวงนะนาย ไม่ใช่เงินฉัน ไม่ควรใช้ถ้าไม่จำเป็น ถ้าเป็นเงินฉันไม่เป็นไร” 📍📍📍📍
🙏 ขอบคุณทุกคนมากๆนะคะ ที่เข้ามาร่วมอ่านบทความนี้ด้วยกัน 💕💕
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
โฆษณา