20 มี.ค. 2021 เวลา 13:51 • ความคิดเห็น
เมื่อกัญชากำลังเป็นพระเอก....ในอาหาร
1
สวัสดีค่ะพี่ๆน้องๆBD⚘ สำหรับช่วง "รู้ทันข่าว รู้ทันศัพท์" เป็นช่วงใหม่ของทางเพจ ซึ่งมีความตั้งใจอยากนำเสนอคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจผ่านทางข่าวสารต่างๆทั้งไทยและต่างประเทศ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์เล็กๆน้อยๆกับท่านผู้อ่านนะคะ
ข่าวในวันนี้จะเกี่ยวกับวงการอาหารของไทย นอกจากกระแส plant based ที่กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น...
"กัญชา และกัญชง" ก็ดูเหมือนจะเป็นพระเอกดาวรุ่งพุ่งแรงอยู่ในตอนนี้ และน่าจะมีอนาคตที่สดใสด้วยเพราะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่เรารู้จักกัน ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาในส่วนของ ใบ ราก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ที่ต้องไม่มีส่วนของยอดหรือช่อดอกติดมาด้วย(เพราะส่วนนี้ยังถือเป็นส่วนที่อยู่ในกลุ่มของสารเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5) สามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารได้
ส่วนกัญชงนั้น ทาง อย. อนุญาตให้ใช้ได้ในส่วนของเมล็ด น้ำมันจากเมล็ด โปรตีนสกัดจากเมล็ด ตลอดจนอาหารที่ใช้ส่วนประกอบดังกล่าวได้ค่ะ
จึงทำให้เจ้าของกิจการร้านอาหารที่เปิดหน้าร้านส่วนตัว และแบรนด์อาหารต่างๆในไทย ตื่นตัวและได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง ออกมาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองกัน
โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ ถือว่ามีข้อได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า การมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง รวมถึงการที่สามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตได้ดีกว่าร้านเล็กๆ แอดมินจึงอยากยกตัวอย่างแบรนด์ร้านอาหารที่เข้ามาในธุรกิจนี้แล้ว ณ ตอนนี้
🍀 บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด หรือ SAPPE
ได้มีการเปิดตัวเครื่องดื่มชุดใหม่ที่มีชื่อว่า
"มาเพรียวกัญ" และ "หอมอร่อยด้วยกัญ" ที่มีการเปิดตัวที่ร้าน Have a sip Day Cafe by เพรียว ที่สยามสแควร์ และร้าน All Coco ที่เซนทรัล อีสวิลล์
ภาพจาก positioning magazine
🍀 เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ได้มีการเปิดตัวร้านอาหารในเครือทั้งหมด 4 แบรนด์ที่มีการนำกัญชามาเป็นส่วนผสม ถือเป็นการสร้างการจดจำในแบรนด์ได้ดีเลยทีเดียว ในความคิดของแอดมินนะคะ
🔸️เปิดตัวที่แรกคือ "ร้าน เดอ ตำมั่ว" สาขาเกษร ทาวเวอร์ โดยมี 2 เมนู คือ ไก่ต้มอารมณ์ดี และ ยำอารมณ์ดี😋
ภาพจาก positioning magazine
และมีแผนจะขยายธุรกิจกัญชานี้ไปยัง.....
🔸️"ร้านตำมั่ว" สาขา I AM Chinatown และ สาขา ปตท.เมืองทองธานี นอกจากนี้ทางบริษัทกำลังทำการพัฒนาน้ำปลาร้าผสมใบกัญชา ซึ่งคาดว่าจะวางขายที่ร้านตำมั่วทุกสาขา และตามช่องทางโมเดิร์นเทรด
🔸️"ร้านเขียง" ซึ่งเป็นร้านแนวสตรีทฟู้ด กำลังเตรียมเปิดตัวเมนู "กะเพราใบกัญชา" ที่สาขา เกษร ทาวเวอร์ชั้นใต้ดิน และสาขาเมืองทองธานี
🔸️"ร้านลาวญวณ" ยังไม่มีเมนูเฉพาะเจาะจงออกมาในตอนนี้ แต่แอดมินคาดว่าจะเป็นเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านอยู่แล้วและเอากัญชาไปเป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างสีสันและมูลค่าให้น่าสนใจมากขึ้น
🍀สิ่งที่น่าสนใจ และควรรู้เกี่ยวกับกัญชา-กัญชง
🔸️ ผู้ประกอบการ ต้องใช้ส่วนประกอบของกัญชา-กัญชง เฉพาะในส่วนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
🔸️วัตถุดิบที่นำมาใช้ ต้องได้รับใบรับรองจากทาง อย.ก่อน ซึ่งตอนนี้มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำการปลูกกัญชาและได้รับใบรับรองจากทาง อย. แล้ว ซึ่งแอดมินมองว่าเป็นเรื่องดีในแง่การสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้ทั้งในด้านองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ ช่วยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้ดีก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังภาคอุตสากรรม และช่วยส่งเสริมด้านรายได้
🔸️การบริโภคในส่วนของใบกัญชา ไม่ควรเกินวันละ 5 ใบ และหากเป็นใบสดจะดีกว่าการที่กินใบที่มีการผ่านความร้อนมา เนื่องจากความร้อนจะทำให้สาร THC (tetrahydrocannabinol) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท (ทำให้เมา)
🔸️ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา คือ กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ, กลุ่มคนที่ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต, คนที่อายุต่ำกว่า 25ปี, ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร, กลุ่มผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท
🔸️กัญชากับกัญชง ต่างกันมั้ย? เรามักคุ้นกับกัญชามากกว่า แต่กัญชงก็ถูกจัดเป็นสารเสพติดกลุ่มเดียวกับกัญชา เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกันและมีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกัน
ส่วนต่างกันคือ กัญชงมักใช้ในอุตสากหรรมสิ่งทอ เครื่องสำอางค์ อาหารและยา เพราะมีเส้นใยและโปรตีนสูง ในขณะที่กัญชาจะมีประโยชน์ในทางการแพทย์มากกว่า อย่างไรก็ตามทั้ง 2 อย่าง มีสาร THC เหมือนกัน แต่กัญชงจะมี THC น้อยมาก ไม่เกิน 1% ในขณะที่กัญชาจะมีสารนี้มากกว่าค่ะ
1
🍀คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ
🔸️Medical cannabis : cannabis จริงๆก็หมายถึงกัญชาค่ะ แต่พอเติมคำว่า medical ก็จะเกี่ยวกับทางการแพทย์ คือเป็นการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการรักษา มีความน่าเชื่อถือ และมีขั้นตอนในการทำอย่างถูกต้อง
🔸️Marijuana/Marihuana : คือกัญชาในแง่การนำมาเสพเพื่อทำให้เสพติด
🔸️Hemp : คือกัญชงนั่นเอง บางคนอาจยังไม่คุ้นกับคำนี้ ในต่างประเทศ เช่นในออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้เมล็ด และน้ำมันจากเมล็ดกัญชงเพื่อการบริโภคได้ใน พย. 2560
🔸️Hemp Protein Concentrate : มีโปรตีนสกัดจากเมล็ดกัญชงตั้งแต่ 65%ขึ้นไป
🔸️Hemp Protein Isolate : มีโปรตีนสกัดจากเมล็ดกัญชงตั้งแต่ 90% ขึ้นไป
🔸️Modern trade : คือรูปแบบการค้าขายสินค้าและบริการอย่างมีระบบ ที่เราน่าจะเข้าใจได้ชัดขึ้นก็คือระบบค้าส่ง-ค่าปลีก เช่น Makro, Lotus, Big C, 7-11, Family mart, Tops, MaxValu, เป็นต้น
ขอบคุณที่อ่านจนถึงตอนนี้นะคะ แอดมินก็หวังว่าจะมีประโยชน์เล็กๆน้อยๆ และถ้าใครได้ลองชิมอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา-กัญชง มาแล้ว ก็มาเล่าให้แอดมินฟังหน่อยนะคะว่าเป็นยังไงบ้าง😊
พบกันใหม่ในครั้งต่อไปค่า
English is all around 🍀🤓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา