Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Journey Syndrome
•
ติดตาม
20 มี.ค. 2021 เวลา 04:36 • ท่องเที่ยว
Salamat ชวา
Indonesia นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้มาแต่เป็นการเดินทางที่พิเศษกว่าทุกครั้ง ครั้งนี้เป็นเหมือนแขกรับเชิญ ไม่ต้องทำงานที่สำคัญได้สมดังใจปรารถนา เพราะจุดหมายของทริปนี้เราจะไปที่เกาะชวา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 17,500 เกาะ
มีเพียงสองสถานที่ๆคณะพอมีเวลาได้ไปเยี่ยมชมในการมาครั้งนี้ คือพุทธสถานอันลือลั่น บุโรพุทโธและมุ่งหน้าไปสัมผัสบรรยากาศเย็น เมืองคลาสสิคอย่างบันดุง
จะเรียกว่าตามรอยเสด็จของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ก็คงไม่ผิดค่ะ
ภาพวิวจากด้านบน มหาสถูป บุโรพุทโธ
เราเริ่มต้นกันที่เมืองท่าปัตตาเวียหรือจาการ์ต้า แล้วบินด้วยเครื่องบินเล็กภายในประเทศต่อไปที่เมืองยอกยาการ์ต้า
ภาพถ่ายทางอากาศก่อน landing เกาะชวา
Borobodur บุโรพุทโธ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกมายาวนาน กว่า 1,100 ปี สร้างในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย
ซึ่งในขณะนั้น เกาะชวาคือศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนามหายานที่ได้เดิินทางมาจากประเทศอินเดีย
การก่อสร้างมีคติของฮินดูมาประสานทำให้เกิดเป็นพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด แต่ลงตัวและโดดเด่นดังที่เราเห็นกันค่ะ
มหาสถูปนี้ รังสรรค์ขึ้นด้วยความรักและศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนาของชนชาวศรีวิชัยและด้วยการสนับสนุนขององค์กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์
ภาพบนนี้เป็นส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ และในเจดีย์รายเหล่านี้ก็ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ด้านใน
ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามและมีความหมายอันเป็นนัยธรรม ธรรมชาติ จักรวาล
วัตถุดิบจากหินภูเขาไฟ รูปทรงฐานเป็นสี่เหลียมจัตุรัส ทั้งหมดสูง 10 ชั้น
ชั้น 1-6 เป็นฐานสี่เหลี่ยม
ชั้น 7-10 เป็นลักษณะทรงกลม
บุโรพุทโธคงความยิ่งใหญ่ ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18
ใกล้สิ้นยุคศรีวิชัยเต็มทีเป็นเวลาเดียวกับชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามายึดครองบางหมู่เกาะได้แล้ว และอิทธิพลของศาสนาอิสลามก็กำลังเดินทางมาตั้งหลักที่หมู่เกาะนี้เช่นกัน
อีกหนึ่งพุทธสถานเล็กๆ ไม่ไกลจากเจดีย์บุโรพุทธโธ วัดเมนดุต
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ซ้ายขวา
ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2444 ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่5
เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 3 ค่ะ อยากให้เปรียบความต่าง
ต่างเวลา ต่างวาระ ในตำแหน่งเดียวกัน
บันดุงเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ตาและสุราบายา
บันดุงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา หากนั่งรถยนต์ก็ประมาณสองชั่วโมงถึงหากรถไม่ติดหนักหนาสาหัส แต่ว่าอากาศที่บันดุงกลับแตกต่างจากจาการ์ตาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบทำให้บันดุงมีอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี
ความสวยงามของบันดุงทำให้ดัตช์ถึงกับขนานนามว่าเป็น “ปารีสแห่งชวา”
ดัตช์เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) มาที่บันดุง
แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้แผนการนี้ถูกล้มเลิกไป
ในส่วนที่สัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น บันดุงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932)
บันดุงได้เป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองของเจ้านายสยามผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญผู้หนึ่ง
คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ได้ทรงเลือกบันดุงเป็นที่ประทับหลังจากที่ได้เดินทางออกจากสยาม
ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงซื้อที่ดินที่ถนนเนลันด์เพื่อปลูกพระตำหนักเป็นเรือนชั้นเดียวแบบชวาผสมฮอลันดาเพื่อประทับพร้อมครอบครัวและพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ที่ตามเสด็จลี้ภัยมาด้วยกันที่บันดุง
พระตำหนักประเสบัน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาล
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาพระองค์ใหญ่ในทูลกระหม่อมบริพัตร ได้ทรงบันทึกเรื่องราวอันเกี่ยวกับหมู่พระตำหนักที่บันดุงไว้ในหนังสือ “บันทึกความทรงจำ” ความว่า
“พ่อทรงตั้งชื่อบ้านตามชื่อในเรื่องอิเหนาคือ “ประเสบัน” (ของท่าน) อยู่ติดถนนด้านหน้า “ปันจะรากัน” (ของเสด็จย่า) ถัดเข้าไปเป็นตำหนักเล็กของแม่มีสวนชื่อ “สะตาหมัน” สมเด็จอาทรงปลูกหลังใหญ่ระดับเดียวกับประเสบัน มีถนนคั่นกลาง ชื่อ “ดาหาปาตี” แต่ชื่อเหล่านี้ชาวบันดุงไม่รู้เรื่องเลย หน้าบ้านมีถนนใหญ่ มีสนามกลมเลยได้ชื่อว่า “บุนดารันเซียม” (แปลว่าวงเวียนสยาม) ชื่อนี้เรียกต่อมาอีกหลายปี”
โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
ตามเสด็จด้วย พระองค์ได้ทรงสร้างพระตำหนักอย่างเรียบง่ายและประทานชื่อว่า พระตำหนักประเสบัน (Preseban) ส่วนพระตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล มีชื่อว่า พระตำหนักดาหาปาตี (Dahapati)
พระตำหนักดาหาปาตีได้เปลี่ยนมาเป็นร้านอาหารชื่อเดียวกัน ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://happeningbkk.com/post/8170
พระตำหนักสองหลังนี้ตั้งอยู่ที่ถนนจีปากันตี (Cipaganti) ทั้งสองพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ชาวพื้นเมืองรู้จักพระตำหนักทั้งสองนี้เป็นอย่างดี บริเวณหน้าพระตำหนักมีวงเวียนเล็กๆ ซึ่งถูกเรียกชื่อว่า “วงเวียนสยาม” (Bunderan Siam) มาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันพระตำหนักประเสบันกลายเป็นโรงเรียนอนุบาล ส่วนพระตำหนักดาหาปาตีกลายเป็นร้านอาหารซึ่งไม่ได้ขายอาหารไทย แต่เป็นอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซีย
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://blogazine.in.th/blogs/onanong
และสำหรับการมาครั้งนี้หัวใจของผู้เดินทางคือที่นี่ บันดุง
เพราะติดใจตั้งแต่ครั้งได้อ่านวรรณกรรมเพื่ออาเซียน เขียนโดย คุณประภัสสร เสวิกุล เรื่อง..จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว.. เป็นการแสดงภาพความเป็นไปของอินโดนีเซียนับแต่ช่วงปลายสมัยที่ถูกปกครองโดยฮอลันดา
ต่อกับการถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น การกอบกู้เอกราช จนถึงการสิ้นสุดอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ผ่านความสัมพันธ์ช่วงวัยเด็กของตัวละครที่เป็นคนไทยและอินโดนีเซีย รวมถึงเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังคงไม่เคยทำลายมิตรภาพต่างเชื้อชาติ...
นี่คืองานเขียนที่สร้างความประทับใจจนต้องออกตามหา
เส้นทางระหว่าง บันดุง-จาการ์ต้า
เมืองนี้แวดล้อมไปด้วยภูเขาไฟ ไร่ชา อากาศดี
ความเป็นไปของชาวอิเหนา...
ด้านล่างนี้เป็นบรรยากาศยามเช้าๆ หน้าวัดพุทธในยอกยาการ์ต้า
ฟ้าใสกับดอกไม้เหลือง อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราว เห็นเพียงว่าสวยตัดกับฟ้าเคลียร์ๆและเป็นที่พึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้อีก
...ทั้งงามรูป งามน้ำใจ....
และเงาแห่งธรรมะกำลังทอดทอสู่อดีตศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาอีกครั้ง
1 บันทึก
5
6
5
1
5
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย