20 มี.ค. 2021 เวลา 14:16 • การเมือง
10 ปี สงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
เศรษฐกิจพังทลาย คนตายเกือบล้าน ไม่มีวันจบสิ้น
5
ฝันร้ายที่ยาวนานของประเทศซีเรีย ที่แม้จะผ่านมาถึง 10 ปีกับสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่ปี 2554 ที่กระแสลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่นำไปสู่การกวาดล้างปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงไปทั่วประเทศ
5
เพียงไม่นานหลังจากการชุมนุมที่เป็นเพียงการต่อต้านรัฐบาล ยกระดับกลายเป็นการสร้างกลุ่มติดอาวุธเพื่อทำลายล้างกันเอง รวมทั้งการแบ่งแยกกันครอบครองดินแดนในส่วนต่างๆ ของประเทศภายใต้การนำของกองทัพติดอาวุธ ที่รัฐบาลซีเรียให้คำนิยามว่า “กลุ่มก่อการร้าย”
กองกำลังชาวเคิร์ด กองกำลังจีฮัด กองทัพรัฐบาลซีเรีย กลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มกบฏซีเรีย และกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนโดยตุรกี ต่างครองพื้นที่กันในแต่ละมุมของประเทศ โดยมีกองทัพรัฐบาลซีเรียที่ครองพื้นที่มากที่สุด ตามมาด้วยกองกำลังชาวเคิร์ดที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทางทิศตะวันออกของประเทศ
จริงๆ แล้วซีเรียไม่ใช้จุดเริ่มต้นของสงครามยุคศตวรรษที่ 21 ในตะวันออกกลาง เพราะหากใครจำได้เหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นที่ตูนีเซีย ตามมาด้วยอียิปต์ ลิเบีย และเยเมน ซึ่งมีชื่อเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “อาหรับสปริง”
4
แต่ในซีเรียเป็นพื้นที่ที่เหตุการณ์รุนแรงและยืดเยื้อ เกิดความเสียหายมากที่สุด เพราะการไม่ยอมลงจากอำนาจของอัสซาด แม้ และการตอบโต้อย่างหนักกับผู้ประท้วง แม้ว่าจะมีการกดดันจากนานาชาติ หรือมีกองกำลังนานาชาติเข้าไปจัดการ แต่กลับไม่กระเทือนต่อฐานที่มั่นของรัฐบาล ผ่านมา 10 ปี เก้าอี้ของอัสซาดยังคงมั่นคง แข็งแรง ตรงกันข้ามกับสภาพของบ้านเมือง และเศรษฐกิจที่พังพินาศ
แม้จะเป็นความมั่นคงบนซากปรักหักพัง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อัสซาดสนใจ และยังคงสืบทอดอำนาจต่อแบบไม่สนใจว่าใครจะเป็นตายร้ายดี
นี่ไม่ใช่โลกในมายาคติที่พลังประชาชนรวมกันจะโค้นล้มใครสักคนที่ดื้อด้านลงได้ง่ายๆ เพราะในโลกความเป็นจริงแล้วอำนาจบารมีที่ถือมั่นยึดครองไว้ของผู้ที่ครองอำนาจ ไม่มีวันที่จะปล่อยให้ตัวเองลงจากอำนาจนี้ได้ง่ายๆ และไม่จำเป็นต้องสนใจว่าจะต้องมีคนตายสักกี่คน ขอให้ตัวเองยังรักษาอำนาจได้ก็พอ เรียกๆ ง่ายๆ ว่า คนจะตายช่างหัวมัน ฉันสุขสบายทำไมต้องแคร์
4
สมรภูมิซีเรียไม่ใช่พื้นที่เพียงสงครามจากภายใน แต่เป็นพื้นที่ที่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้อย่างง่ายได้ ทั้งการแทรกแซงเพื่อสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลซึ่งชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นรัสเซีย และอิหร่าน
2
ส่วนสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ในตอนแรกสนับสนุนกลุ่มที่พวกเขามองว่าเป็นกลุ่มกบฏ “สายกลาง” แต่ทั้งสามชาตินี้เน้นช่วยเหลือในด้านที่ไม่ร้ายแรง เพราะนักรบจีฮัดกลายเป็นกองกำลังหลักในฝ่ายต่อต้านที่ติดอาวุธ
ขณะที่อิรัก อัฟกานิสถานและเยเมน ให้การสนับสนุนนักรบมุสลิมนิกายชีอะห์ เพื่อร่วมต่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกองทัพซีเรียสู้กับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองกำลังจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน
นอกจากนั้นก็มีตุรกีที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ อิหร่าน กาตาร์ สนับสนุนกลุ่มเดียวกับอิรัก เพื่อต้องการแข่งการมีอำนาจเหนือกลุ่มติดอาวุธ ส่วนอิสราเอลก็ให้การสนับสนุนขนส่งอาวุธของอิหร่านให้แก่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์และนักรบชีอะห์อื่นๆ
สุดท้ายเมื่อต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนจากภายนอก ใยจะต้องเกรงกลัวที่จะเข้าห้ำหั่นกัน ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้สงครามไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมาเนิ่นนาน
เศรษฐกิจพังทลายที่ไม่อาจกู้คืน
ซีเรียเคยเป็นประเทศที่เป็นอู่อารยธรรม เป็นแหล่งการค้าและมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง ประเทศนี้มีความสวยงามด้วยศิลปะวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว แต่ทุกอย่างมันกลายเป็นอดีตไปแล้วหลังที่ที่ระเบิด กระสุน และความตาย ถูกระดมใส่ดินแดนที่สวยงามแห่งนี้มานานหลายปี จนไม่เหลือเค้าโครงความรุ่งเรืองอีกต่อไป
8
เศรษฐกิจของซีเรียก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามรายงานของมูลนิธิ ‘เวิลด์ วิชัน’ (World Vision)
1
ค่าเงินปอนด์ซีเรียต่อเงินดอลลาร์ก็ลดลงถึง 98% ส่งผลให้ค่าอาหารทั่วประเทศ สูงขึ้นจากเดิม 33 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนเกิดสงคราม
1
โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณูปโภค พลังงานเสียหายทั้งประเทศถึง 70% โรงพยาบาล โรงเรียน 2 ใน 3 ถูกทำลาย เด็กๆ ในซีเรีย 2.4 ล้านคนไม่มีโรงเรียนให้ไปเรียน
5
จากข้อมูลของสหประชาชาติถึงเดือน ม.ค. 2021 มีประชาชน 13.4 ล้านคนในซีเรียจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบางอย่าง ในจำนวนนี้มี 6 ล้านคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ผู้คนมากกว่า 12 ล้านคน เผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารในแต่ละวันและเด็กมากกว่า 5 แสนคนขาดสารอาหารเรื้อรัง
#ตายละสูญหายใกล้ล้านคน_ลี้ภัย_พลัดถิ่นอีก_12_ล้าน
ครึ่งหนึ่งของประชากรชาวซีเรียที่ 22 ล้านคนต้องลี้ภัยสงครามไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชาวซีเรีย 6.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ หลายคนยังคงอาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพที่กระจายตัวอยู่ตามชายแดน ขณะที่อีก 5.6 ล้านคนได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านของซีเรีย ทั้งเลบานอน จอร์แดนและตุรกี รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ขณะที่ผู้เสียชีวิตและสูญหายมีจำนวนราว 7 แสนคน หรืออาจจะมากกว่านั้น โดยยูนิเซฟ (Unicef) หน่วยงานด้านเด็กของสหประชาชาติ ระบุว่า มีเด็กเกือบ 12,000 คน เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ และอัตราการเสียชีวิตของทารกและเด็กเล็กยังพุ่งสูงขึ้นเพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์ก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้ไปเกือบพันคน ทำให้ระดับสาธารณสุขเข้าขั้นล่มสลาย
#แล้วสงครามจะหยุดลงเมื่อไหร่?
คำตอบคือไม่มีใครรู้ ที่ผ่านมานานาชาติใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็งสารพัดวิธีเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำทุกทางให้รัฐบาลซีเรียลงจากอำนาจ แต่ดูแล้วก็ไม่เป็นผล คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการบังคับใช้แถลงการณ์ร่วมเจนีวา (Geneva Communiqué) ปี 2012 ซึ่งกำหนดให้มี "การตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่านบนพื้นฐานของการยินยอมร่วมกัน"
1
การเจรจาสันติภาพที่สหประชาชาติเป็นตัวกลางจัดขึ้น 9 รอบ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กระบวนการเจนีวา 2 (Geneva II process) ไม่มีความคืบหน้า โดยประธานาธิบดีอัสซาดปฏิเสธที่จะเจรจากับทุกๆ กลุ่มตรงข้ามทางการเมืองต่างๆ
ส่วนรัสเซีย อิหร่าน และตุรกี จัดการประชุมคู่ขนานชื่อว่าการประชุม ‘อัสตานา’ ในปี 2560 โดยบรรลุข้อตกลงให้กำหนดการก่อตั้งคณะกรรมการ 150 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก่ซีเรียให้นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยมียูเอ็นและนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่สุดท้ายแล้วในมกราคมที่ผ่านมา นายเกียร์ พีเดอร์เซน ทูตพิเศษของยูเอ็น ยอมรับว่า พวกเขาไม่สามารถจะร่างแบบการปฏิรูปใดๆ ได้เลย เพราะเวลานี้สถานการณ์ภายในซีเรียยังไม่สงบพอที่จะทำ กองกำลังต่างชาติทั้ง 5 ประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในซีเรีย ประชาคมนานาชาติไม่อาจหาทางแก้ไขความขัดแย้งโดยพึ่งแต่ซีเรียฝ่ายเดียวได้
1
สรุปแล้ว 10 ปีสงครามซีเรียคือ โมเดลของการใช้ความรุนแรงของการโต้มาโต้กลับที่ไม่มีวันโค้นล้มรัฐบาลลงได้อย่างที่คาดฝัน ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างหายนะแก่ประเทศทุกๆ ด้านโดยไม่รู้ว่าจะมีวันสร้างขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่หรืออีกนานแค่ไหน
1
สุดท้ายถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ผลกระทบที่ตามมาก็คงไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านที่รั้วติดกันที่จะได้รับความเดือนร้อนนี้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อสงครามเกิดขึ้นบรรยากาศการค้า การลงทุน และการอพยพของประชาชนคงไปไหนไม่ได้นอกจากไหลเข้ามาในเขตเพื่อนบ้านเพื่อหนีไฟสงครามแน่นอน
โฆษณา