21 มี.ค. 2021 เวลา 08:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🚗 10 เรื่องน่ารู้ … หุ้น PACO ที่ไม่มีใครบอกคุณ 🚗
.
หุ้น IPO น้องใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาดในวันพรุ่งนี้ เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่แอร์รถยนต์คือ คอยล์ร้อน และคอยล์เย็น
.
🏎 เวลาเราซื้อรถมาขับ ผ่านไป 5 ปี 10 ปี หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุรถชนด้านหน้า ก็เอามาซ่อมมาเปลี่ยนอะไหล่อาจจะตามร้านหรือเข้าอู่ เข้าศูนย์ ตรงนี้คือ ธุรกิจของ PACO ที่ขายสินค้าให้
..
🏎 PACO เน้นขายอะไหล่ให้รถเก่า และบอกว่ารถแทบทุกคันต้องติดแอร์ EV Car มาก็ต้องมีแอร์ หรือต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ทำความเย็นให้กับแบตเตอรี่ ก็ไม่น่าจะมา Disrupt ออกจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ
..
กำไรสุทธิปีล่าสุด 77 ล้านบาท +150% โตระเบิด แม้เจอ COVID
..
ดูเผินๆ น่าสนใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร วิตามินหุ้นจะเล่าเรื่องที่ไม่มีใครบอกให้คุณฟังกันครับ
..
1.สัดส่วนยอดขายมาจากคอยล์ร้อน และขายในต่างประเทศ
.
🔸 ถ้าแยกตามประเภทสินค้า 65% คอยล์ร้อน 23% คอยล์เย็น 9% สินค้าอื่นๆ เช่น สายน้ำยา รีซีฟเวอร์ ดรายเออร์ คอมเพรสเซอร์
🔸 ถ้าแยกตามประเทศ 53% ต่างประเทศ (หลักๆ คือ ตะวันออกกลาง รองมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และ 47% ขายในประเทศ
🔸 ถ้าแยกตามลูกค้า 92% เรียกว่า REM (Replacement Equipment Manufacturer) ขายให้ตัวแทนจำหน่าย ขายให้ร้านค้าอะไหล่ แล้วเอาไปขายร้านซ่อมแอร์ต่ออีกที
..
2. ยอดขาย 3 ปีหลังไม่ค่อยโต
.
🔸 ปี 2560 ยอดขาย 784 ล้านบาท
🔸 ปี 2561 ยอดขาย 645 ล้านบาท
🔸 ปี 2562 ยอดขาย 678 ล้านบาท
🔸 ปี 2563 ยอดขาย 667 ล้านบาท
..
ยอดขายดูนิ่งๆ มา 3 ปีแล้ว อย่างปีล่าสุด อาจจะพอบอกได้ว่า มาจาก COVID และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
.
แต่ถ้าย้อนไปปี 2561 และ 2562 เกิดจากการที่ประเทศในตะวันออกกลางมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบภาษี ทำให้นำเข้าลดลง และมีการแข่งขันราคาจากจีน ซึ่งตรงนี้กระทบกับคอยล์ร้อนเป็นหลัก ทำให้ยอดขายลดลง
.
จริงๆ คอยล์เย็น ยอดขายปีล่าสุดเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะมีโครงการใหม่กับลูกค้าในประเทศ ผลิต Laminate Superslim Evaporator ซึ่งต้องดูว่าจะโตได้ยาวๆ หรือมาครั้งเดียวจบ
.
3. GPM กระโดด ไม่ใช่แค่ใช้ ROBOT
.
🔹 ปี 2560 GPM 16.5%
🔹 ปี 2561 GPM 15.6%
🔹 ปี 2562 GPM 15.7%
🔹 ปี 2563 GPM 24.4%
..
GPM เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ Q1’63 ถ้าเราฟังสัมภาษณ์ ผู้บริหารจะบอกว่า เพราะลงเครื่องจักรใหม่ ใช้ ROBOT เป็น Auto มากขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพการผลิต และลดคนงานได้มาก กำไรเลยกระโดด
..
แต่สิ่งที่ไม่ได้บอกแบบชัดๆ คือ ต้นทุนวัตถุดิบ คือ อลูมิเนียม ก็ลดลงมากเช่นกัน ถ้าพูดให้ชัดคือ ต้นทุนเก่าที่มีถูก พอเอามาขายได้ราคาแพง ทำให้กำไรส่วนนี้เข้ามาช่วยด้วย แต่ราคาอลูมิเนียมปีนี้เริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องดูว่าจะผลักราคาไปให้ลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าสต๊อกถูกที่มีอยู่เหลือเยอะแค่ไหน
..
เพราะฉะนั้น เราต้องดูประกอบกันทั้งเครื่องจักร จำนวนคน และราคาอลูมิเนียม แล้วจะพอคาดการณ์ได้ว่า GPM ปี 2564 จะเป็นอย่างไร
..
4. NPM เพิ่มตาม GPM ในสัดส่วนใกล้กัน
.
🔘 ปี 2560 NPM 5.3%
🔘 ปี 2561 NPM 4.4%
🔘 ปี 2562 NPM 4.4%
🔘 ปี 2563 NPM 11.3%
NPM มาทรงเดียวกัน นิ่งๆ ระดับ 4.4-5.3% มาตลอด แล้วมากระโดดปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 8 pts ถ้าย้อนไปดูข้างบน GPM ก็เพิ่ม 8-9 pts เช่นเดียวกัน แปลว่า กำไรสุทธิที่โตเยอะๆ มาจากต้นทุนที่ลดลงเป็นหลัก
..
5. กำไรสุทธิ โตกระโดดปีล่าสุด
.
☑ ปี 2560 กำไรสุทธิ 42.5 ล้านบาท
☑ ปี 2561 กำไรสุทธิ 29 ล้านบาท
☑ ปี 2562 กำไรสุทธิ 30.6 ล้านบาท
☑ ปี 2563 กำไรสุทธิ 76.8 ล้านบาท
.
กำไรสุทธิเลยสะท้อนภาพเดียวกันจากนิ่งๆ มา 3 ปี แล้วมาโตเยอะมากเมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นผลมาจากต้นทุนที่ลดลงเยอะ
..
6. หนี้สินปีล่าสุดเพิ่มเยอะผิดสังเกต
.
🔹 ปี 2560 หนี้สินรวม 372 ล้านบาท
🔹 ปี 2561 หนี้สินรวม 463 ล้านบาท
🔹 ปี 2562 หนี้สินรวม 340 ล้านบาท
🔹 ปี 2563 หนี้สินรวม 557 ล้านบาท
..
🏎 ปกติหนี้เพิ่มปีละประมาณ 100 ล้านบาท เป็นในส่วนของเงินกู้ระยะสั้น น่าจะเอามาหมุนเวียนทำธุรกิจ ปีที่แล้วเพิ่มเยอะผิดสังเกต ประมาณ 200 ล้านบาท ก็เป็นเงินกู้เช่นกัน แต่มีเขียนไว้ใน Filing ว่า เอามาใช้จ่ายเป็นเงินปันผล ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด แปลว่า กู้เงินมาจ่ายปันผลก่อนเข้าตลาด
..
🏎 เท่าที่เคยเห็นมา บริษัทหลายแห่งก่อนเข้าตลาดจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนจำนวนมาก เพราะอาจจะมองว่า ตัวเองทำธุรกิจเองมาก่อน กำไรที่ได้ก็ควรจะเป็นของคนที่ทำมา พอเข้าตลาดก็มาเริ่มต้นกันใหม่ แต่ถ้ากู้มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ก็พอมีบ้าง แต่ต้องไปถามบริษัทดูว่าเพราะอะไร
..
7. แผนการลงทุนเอาไปคืนหนี้เป็นหลัก
.
บริษัทได้เงินจากการ IPO หลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 347 ล้านบาท เอาไปใช้แบบนี้
.
📈 200 ล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ที่เอามาจ่ายปันผลและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลองอ่านดูช้าๆ อีกรอบนะครับ จำนวนเงินเท่าไหร่ และเอาไปทำอะไร
📈 107 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน
📈 40 ล้านบาท ลงทุนโครงการในอนาคต แต่หลักๆ 34 ล้านบาท เอามาติดแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงงาน ที่คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 8 แสนบาท
📈 20 ล้านบาท ก่อสร้างคลังสินค้า และย้ายจุดกระจายสินค้าในประเทศ
📈 20 ล้านบาท สร้างศูนย์กระจายสินค้าและสำนักงานขายในมาเลเซีย
.
8. IPO 1.40 บาท P/E 18.4 เท่า
.
IPO 260 ล้านหุ้น จำนวนหุ้นหลัง IPO 1000 ล้านหุ้น P/E คิดจาก กำไรสุทธิ 76.8 ล้านบาท
.
ถ้าเทียบ P/E กับเพื่อนๆ อย่าง SAT 21.6 เท่า STANLY 12.8 เท่า หรือ P/E กลุ่มยานยนต์ 29.7 เท่า
..
9. Cash Cycle 271 วัน เยอะกว่าอุตสาหกรรม
.
🔸 เก็บหนี้ 59 วัน
🔸 ขายสินค้า 250 วัน
🔸 จ่ายหนี้ 38 วัน
..
CC Day 59+250-38 = 271 วัน ที่บวมเพราะว่ามีสต๊อกเยอะ รองรับสินค้าหลายรุ่น บริษัทบอกว่ามีรองรับ 2600 รุ่น ถามว่าตรงส่วนนี้เราต้องระวังอะไร เราต้องระวังเรื่องของสินค้าล้าสมัยถ้ามีการตั้งสำรองขึ้นมา และ PACO ไม่ได้ตั้งตามอายุการใช้งานเป็นหลัก แต่จะดูอายุรถ และรุ่น model ของรถประกอบด้วย
.
10. ครอบครัวเจ้าของยังถือหุ้นใหญ่
.
ครอบครัว “เลิศขจรกิตติ” ยังถือหุ้นใหญ่หลัง IPO กลุ่มคุณสมชายถือ 44.4% กลุ่มคุณสมศักดิ์ถือ 29.6% สองท่านนี้เป็นพี่น้องกัน และก็ยังส่งต่อให้รุ่นลูกเป็นผู้บริหารต่อเนื่อง
..
📌 ใครสนใจหุ้น PACO ลองทำการบ้านกันต่อดูครับ อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง วิตามินหุ้นเพียงให้ข้อมูลประกอบการลงทุนเท่านั้นครับ
..
#PACO #IPO #วิตามินหุ้น
9
โฆษณา