22 มี.ค. 2021 เวลา 00:09 • ประวัติศาสตร์
สนธิสัญญาปางโหลง จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในพม่าที่ยากจะสิ้นสุด
1
สถานการณ์การรัฐประหารในพม่า ตลอดจนการประท้วงของประชาชนในพม่าในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศพม่า เพราะความขัดแย้งในพม่านั้นมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หากนับเฉพาะการต่อสู้กันระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยภายในประเทศนั้นก็มีมายาวนานกว่า 72 ปี
1
ย้อนกลับไปในอดีตช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่ายังคงอยู่ในการปกครองของอังกฤษ โดยภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 27 มกราคม 2490 นายกรัฐมนตรีแอตลีแห่งอังกฤษเชิญนายพลอองซาน ผู้นำพม่าในเวลานั้นไปหารือเรื่องการมอบเอกราชคืนแก่พม่า และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า
นายพลอองซาน
หลังจากนายพลอองซาน กลับมาจากอังกฤษ นายพลอองซานได้มีการเชิญผู้นำชนเผ่าต่างๆ ที่มีความสำคัญในพม่า เช่น ไทใหญ่(รัฐฉาน) รัฐฉิ่น เผ่าชิน มาประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ “เวียงปางโหลง” ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงเพื่อแยกออกมาเป็นรัฐเอกราชจากอังกฤษ โดยที่ประชุมได้มีการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง(Panglong Agreement) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 โดยเนื้อหาสาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวคือ บรรดารัฐต่างๆ จะรวมตัวอยู่กับพม่าต่อไปอีก 10 ปี ก่อนจะมีการแยกตัวออกไปตั้งเป็นรัฐอิสระ ซึ่งข้อตกลงนี้จึงเปรียบเสมือนเส้นทางสันติภาพที่นำไปสู่การมีอิสรภาพของบรรดาชนเผ่าต่างๆ ในประเทศพม่า
Panglong Conference
ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2490 พรรค AFPFL ที่มีนายพลอองซานเป็นผู้นำ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยได้รับที่นั่งในสภามากถึง 190 จาก 200 ที่นั่ง ทำให้ นายพลอองซานนั้นก้าวขึ้นเป็นผู้นำพม่า และยังคงยึดมั่นในสนธิสัญญาปางโหลงด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะให้เอกราชกับชนเผ่าต่างๆ เมื่ออยู่ร่วมกันครบ 10 ปี
สนธิสัญญาปางโหลง
อย่างไรก็ตามเส้นทางสันติภาพดังกล่าวก็ต้องพังทลายลง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 เมื่อมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธบุกเข้าไปในอาคารที่ประชุมของรัฐบาลพม่า ก่อนจะทำการกราดยิงเพื่อสังหารบุคคลสำคัญในที่ประชุม ผลจากเหตุการณ์นั้นทำให้รัฐมนตรีและบุคคลสำคัญเสียชีวิตทันทีถึง 6 คน 1 ในนั้นก็คือ นายพลอองซาน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการจ้างวานโดยนายอูซอ ซึ่งเป็นอดีตสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนายพลอองซานในช่วงสงครามและการเรียกร้องเอกราช ซึ่งนายอูซอก็ถูกตัดสินประหารชีวิตตามไป
จนเมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 2491 นายอูนุ ซึ่งขึ้นมาคุมอำนาจในพรรค AFPFL ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า แต่สถานการณ์ระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในพม่ากับรัฐบาลพม่าก็เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลพม่าพยายามที่จะควบคุมอำนาจในรัฐต่างๆ รวมถึงรัฐที่ไม่ได้เข้าเจรจาในสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เช่น กลุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่เชื่อใจพม่า
1
นายอูนุ
จนเมื่อปี 2501 ซึ่งเป็นเวลา 10 ปีหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งตามสนธิสัญญาปางโหลงรัฐต่างๆ จะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ ทำให้รัฐต่างๆ ขอแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า แต่รัฐบาลพม่าของนายอูนุไม่ยินยอม
“ตามข้อตกลงขั้นแรกที่เวียงปางโหลง ที่อูอองซานได้ตกลงทำสัญญานั้น ชาวไตมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะแยกเป็นชาติได้โดยอิสระในปี 2500 แต่เมื่อแยกออกไปแล้วจะกระทบกระเทือนต่อเอกราชและความยิ่งใหญ่ของพม่าเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้พม่าจะปล่อยให้แยกตัวไปไม่ได้เด็ดขาด ชนชาติไตที่คิดจะแยกตัวไปควรล้มเลิกความคิดได้แล้ว เพราะมันเป็นการผิดกฎหมายใหม่ ซึ่งถือว่าการแยกชาตินั้น มีโทษขั้นประหารชีวิตทีเดียว” นี่เป็นคำพูดที่นายอูนุกล่าว
นายพลเนวิน
ส่งผลให้ชนเผ่าในรัฐต่างๆ ต่อต้านรัฐบาลพม่าอย่างรุนแรง จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2505 ประชาชนในรัฐฉาน และรัฐกะยา ได้รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้พม่าให้อิสรภาพในการปกครองตนเอง ทำให้นายพลเนวิน ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ของพม่าในเวลานั้น ใช้เป็นข้ออ้างทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลนายอูนุ ประกาศยุบสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2490 เป็นเหตุให้เกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่า กับกลุ่มติดอาวุธในรัฐต่างๆ ของพม่าอย่างยาวนานก่อนจะเบาบางลงในบางช่วงที่มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ
การประท้วงการรัฐประหารในพม่าปี 2021
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความขัดแย้งในพม่ารอบใหม่จากการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในพม่าครั้งนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งและอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบในพม่าในเวลาอันใกล้ก็เป็นได้
3
กองกำลังทหาร KNU
โฆษณา